‘รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง’ ข้อคิดเชิงปรัชญาจาก ตำราพิชัยสงครามซุนวู ที่นำมาปรับใช้ได้ในทุกวงการ ยิ่งในยุคที่ใครก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ คนที่รู้ข้อมูลลึกกว่าย่อมมีแต้มต่อในการแข่งขัน
โดยเฉพาะคนทำธุรกิจที่มองหาโอกาสในตลาดที่ไม่คุ้นเคย การเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นภาพรวมของเศรษฐกิจ การเมือง หรือเสน่ห์ของแต่ละประเทศที่จะเข้าไปทำตลาดในแต่ละธุรกิจมีมากน้อยแค่ไหน อาจารย์สมชนก ภาสกรจรัส อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือด้านธุรกิจ ‘อาเซียน เซียนธุรกิจ: Mastering ASEAN’ จะมาฉายภาพให้เห็นถึงความท้าทายของ ‘Political Economy’ ที่คนทำธุรกิจไม่อาจมองข้าม หากคิดจะบุกตลาดต่างประเทศ พร้อมสอนวิธีดูทิศทางลมของธุรกิจในแต่ละประเทศ จุดไหนเหมาะ จังหวะไหนดี ทั้งหมดนี้คือหนึ่งในบทเรียนของ ‘คัมภีร์ธุรกิจไทยบุกอาเซียน’ ฉบับพร้อมใช้ เตรียมธุรกิจทุกไซซ์ให้พร้อมก่อนไปบุกตลาดอาเซียน
ประเด็นแรกที่น่าจะต้องรู้ไว้คือ กฎหมายและการเมืองในตลาดอาเซียนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศมากน้อยแค่ไหน?
อาจารย์สมชนกชวนมองให้ครบทั้ง 3 มุมคือ การเมือง กฎหมาย และเศรษฐกิจ หรือเรียกว่า ‘Political Economy’
“หากมองให้ดีจะเห็นว่าทั้ง 3 มุมนี้มันกระทบกันไปมา และนี่คือความยากของการทำธุรกิจระหว่างประเทศ แต่กฎหมายบางอย่างก็เอื้อต่อการทำธุรกิจ เช่น นโยบายดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเพื่อลงทุนในเขตอุตสาหกรรม สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ กฎหมายการลงทุน กฎหมายการค้า นโยบายด้านการต่างประเทศ กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษี หรือการอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมใดบ้าง การครอบครองอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา”
หลักคิดเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางสู่เส้นทางใหม่ในต่างประเทศ
เนื่องจากความแตกต่างของธุรกิจที่หลากหลาย แต่ละประเทศก็มี Political Economy ที่ต่างกัน เช็กลิสต์ตายตัวอาจไม่สำคัญเท่า ‘หลักคิด’ อาจารย์สมชนกกล่าวว่า “ทุกอย่างมันเป็น Industry Specific จึงต้องดูก่อนว่าอุตสาหกรรมของเราเกี่ยวข้องกับภาคส่วนไหนบ้าง ต้องเข้าไปดีลกับใคร ติดต่อหน่วยงานไหน เช่น สภาอุตสาหกรรม หอการค้า หรือประเทศนั้นๆ มีโครงสร้าง ข้อกฎหมายอะไรที่ต้องรู้ ยกตัวอย่าง หากทำธุรกิจส่งออก อาจต้องไปดูเรื่องภาษีศุลกากร ถ้าต้องการขาย Know-how ก็ต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา”
แต่สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทส่งเสริม และให้ข้อมูลแก่นักลงทุนไทยที่ต้องการไปทำธุรกิจที่ต่างประเทศ สามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ https://toi.boi.go.th/ หรือทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ ก็พร้อมที่จะเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจไทยกับพันธมิตรที่ต้องการ และให้ข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ ที่หาไม่ได้จากอินเทอร์เน็ต
9 ประเทศอาเซียน จุดเด่นที่นักลงทุนควรรู้
เมื่อมองภาพใหญ่แล้ว อาจารย์สมชนกค่อยๆ คลี่ให้เห็นถึงความน่าสนใจ และสิ่งที่นักลงทุนต้องรู้ไว้ในแต่ละประเทศ
- กัมพูชา รัฐบาลค่อนข้างเปิดเสรีในเรื่องการลงทุนของต่างชาติ ยกเว้นแค่เรื่องการถือครองที่ดิน ผู้บริโภคชื่นชอบสินค้าไทยเป็นทุนเดิม ทรัพยากรเยอะ แต่อาจต้องพัฒนาฝีมือแรงงาน
- สปป.ลาว ประชากรไม่เยอะ แต่ผู้บริโภคชื่นชอบสินค้าจากไทยอยู่แล้ว เหมาะกับธุรกิจประเภทสินค้าอุปโภคบริโภค และคลินิกเสริมความงาม
- เมียนมา มีทรัพยากรธรรมชาติเยอะ ทั้งป่าไม้ พลอย หยก ฯลฯ แต่จะต้องได้สัมปทานจากภาครัฐ และช่วงนี้ยังอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- เวียดนาม มีธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนเยอะมาก ทั้งอสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร อุปโภคบริโภค และยังไปได้อีกหลายอย่าง แรงงานเวียดนามค่อนข้างขยัน
- บรูไน เป็นประเทศที่ค่อนข้างเล็กเกิน เน้นการส่งออกน่าจะเหมาะกว่า คนบรูไนอยู่ดีกินดีเพราะมีเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นโอกาสที่เจ้าของธุรกิจจะนำเสนออะไรใหม่ๆ มาตอบโจทย์ได้
- อินโดนีเซีย เป็นประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่ มีความหลากหลายของเชื้อชาติสูง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังไปได้อีกไกล ทรัพยากรเยอะ แต่ Know-how ยังมีจำกัด โอกาสในการทำธุรกิจค่อนข้างเยอะ
- มาเลเซีย ประชาชนมีการศึกษาที่ดี เรื่องของ Know-how และเทคโนโลยีดีมาก การจะเข้าไปลงทุนต้องดูว่าเราจะใช้ประโยชน์จากคนของเขาได้ไหม การส่งออกทั่วไปยังมีโอกาสหลายอย่าง
- ฟิลิปปินส์ คล้ายอินโดนีเซีย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังไปได้ เครือโรงแรมต่างชาติหลายแห่งที่ไปลงทุนก็ประสบความสำเร็จ คนฟิลิปปินส์ชอบความสนุกสนานรื่นเริง สินค้าประเภทอาหารการกินและความบันเทิงน่าจะไปได้ดี
- สิงคโปร์ สินค้าประเภทอาหารน่าจะไปได้สวย เพราะอาหารไทยมีความหลากหลาย บวกกับคนสิงคโปร์มีไลฟ์สไตล์ชอบกินข้าวนอกบ้าน เพราะทำเองแพงกว่า หรือจะเลือกเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนประเภทอาหารก็ได้
“หากอยากจะลงหลักปักฐานในประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียน ต้องพิจารณาตามประเภทของอุตสาหกรรม ถ้าเป็นอุปโภคบริโภค สปป.ลาวและกัมพูชาก็น่าสนใจ เพราะคนที่นั่นนิยมชมชอบสินค้าของไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากเป็นภาคการผลิต ต้องดูลึกไปอีกว่าผลิตอะไร เป็นแรงงานเข้มข้นหรือไม่ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือเปล่า”
อาจารย์สมชนกยังบอกด้วยว่า การมองหาแหล่งลงทุนต่างประเทศ จะมองแค่ว่าเขาคล้ายกับเราไม่พอ ต้องดูด้วยว่าเขาเก่งอะไร แล้วเราต้องเข้าไปทำในสิ่งที่เขาไม่เก่ง สร้างในสิ่งที่เขาไม่มี หรืออาจจะเป็นการศึกษาให้ลึกลงไปอีกว่าเขาเก่งอะไร แล้วเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมสนับสนุนก็ได้เช่นกัน
เตรียมตั้งรับความเสี่ยงด้วยเกราะป้องกัน
สิ่งที่นักลงทุนต้องเตรียมตัวในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศคือ การคาดการณ์ความเสี่ยง อาจารย์สมชนกบอกว่า ความเสี่ยงระดับประเทศ หรือ Country Risk มาจาก 2 ส่วนใหญ่คือ Political Risk และ Economic Risk
“เกราะป้องกันที่ดีที่สุดคือการสร้างพันธมิตร ซึ่งตีความไปถึงการสร้างพันธมิตรกับทูตพาณิชย์ กงสุล ธนาคารพาณิชย์ของไทยที่อยู่ในต่างประเทศ พนักงานในสาขาที่เป็นคนท้องถิ่น หรือแม้แต่การวางตัวเป็นมิตรที่ดีในชุมชน”
ซึ่งการจะสร้างพันธมิตรนั้น อาจารย์สมชนกได้ให้กฎการเลือกพันธมิตรไว้ หรือที่เรียกว่า 3C มาจาก
- Compatible ให้มองความเข้ากันได้ในเรื่องของวัฒนธรรม กระบวนการทำงาน
- Complimentary เคารพนับถือ ยกย่องความเก่งของพันธมิตร มองหาสิ่งที่เราเก่ง และสิ่งที่เขาไม่มี จะช่วยให้เราเป็นต่อในการแข่งขันได้
- Commitment ต้องยึดถือคำมั่นสัญญาในการทำธุรกิจ
เมื่อถามว่าการไปตลาดต่างประเทศเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจไทยมากน้อยแค่ไหน คุ้มเสี่ยงหรือไม่ อาจารย์สมชนกบอกว่า “ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปถ้าดูแล้วไม่คุ้มเสี่ยง” พร้อมฉายภาพให้เห็นว่า อาเซียนยังเนื้อหอมเพราะเป็น ‘Emerging Market’ หรือที่เรียกว่า ‘ระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่’ ยังมีช่องในการขยายธุรกิจได้อีกมาก การทำตลาดนี้ยังสามารถโตไปได้อีก ถ้าเราผนึกกำลังทำให้การค้าในอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นได้ก็น่าจะเป็นสิ่งดี เพราะเรามี AEC ซึ่งมีแรงผลักดัน และนโยบายหลายอย่างที่จะทำให้กลุ่มอาเซียนเติบโตขึ้น เช่น การลดข้อจำกัดการลงทุนของต่างชาติในหลายๆ ภาคอุตสาหกรรม เฟรมเวิร์กเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้อาเซียนยังเป็นโซนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะประเทศไทยที่อยู่ในอาเซียนเช่นกัน
หากผู้ประกอบการไทยอยากโตในอาเซียน
อาจารย์สมชนกยังย้ำว่า การขยายไปอาเซียนสามารถทำได้หลายรูปแบบ อาจเลือกวิธีที่ง่ายที่สุดก่อนคือ ส่งออก หรือนำ Know-how ที่มีไปต่อยอดผ่านการขายแฟรนไชส์
“เรื่องพันธมิตรก็สำคัญ แต่ไม่ใช่ในมิติของการลงทุนอย่างเดียว กินความไปถึงความสัมพันธ์กับคนในประเทศ ลูกค้า หรือหน่วยงานภายในประเทศนั้นๆ แต่การมีพันธมิตรก็ไม่ใช่ว่าดีเสมอไป ที่ขาดไม่ได้เลยคือคอนเนกชันอย่างไรก็ต้องมีไว้ หลักๆ เป็นเรื่องของข้อมูลที่เราต้องสร้าง ที่ต้องออกไปค้นหาด้วยตัวเอง อาจจะพบบทเรียนและราคาที่ต้องจ่ายบ้าง ก็ต้องยอมรับกับผลที่ตามมาด้วยเช่นกัน”