×

เจาะลึกโปรไฟล์ 5 กุนซือ ที่ปรึกษานโยบายข้างกายนายกฯ แพทองธาร

โดย THE STANDARD TEAM
18.09.2024
  • LOADING...
ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก หลังลงนามแต่งตั้งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 317/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ถูกสังคมจับตามองว่า นี่อาจเป็นการพลิกฟื้นคณะที่ปรึกษา ‘บ้านพิษณุโลก’ เหมือนในสมัยของ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ให้กลับมาคืนชีพอีกครั้ง

 

พล.อ. ชาติชาย ในเวลานั้นได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 84/2531 เทียบเชิญนักวิชาการให้เข้ามาเป็นคณะทำงานของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสมาชิกที่มีชื่อเสียง เช่น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร, ณรงค์ชัย อัครเศรณี, ชวนชัย อัชนันท์, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, สุรเกียรติ์ เสถียรไทย, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ร่วมด้วย ชัยอนันต์ สมุทวณิช, วิษณุ เครืองาม และนักวิชาการอีกจำนวนมาก โดยมีผลงานที่มีชื่อเสียงคือ ‘นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ 

หมายเหตุ: บ้านพิษณุโลกเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย ถูกปรับเปลี่ยนเป็นสำนักงานของคณะที่ปรึกษา โดยคณะที่ปรึกษาส่วนใหญ่ใช้ห้องชั้นล่างด้านซ้ายเป็นห้องทำงาน ใช้พื้นที่ด้านขวาเป็นห้องรับแขกและประชุมร่วมกับ พล.อ. ชาติชาย

 

ทั้งนี้ คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา พิจารณาเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ซึ่งมีรายชื่อบิ๊กเนมจำนวน 5 คน ดังนี้ 

 

  1. พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา
  2. นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา 
  3. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา 
  4. ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษา 
  5. พงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษา 

 

ในประกาศแต่งตั้งดังกล่าว มีการระบุรายละเอียดถึงอำนาจและหน้าที่ของที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน ดังนี้ 

 

  1. วิเคราะห์และศึกษาโอกาสในการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและเสนอแนะแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านนโยบายของรัฐบาล

 

  1. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

 

  1. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ชี้แจง แสดงความคิดเห็น ส่งเอกสาร ให้ข้อมูล หรือดำเนินการอื่นที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี

 

  1. ปฏิบัติงานอื่นที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

 

นอกจากนี้ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอ และให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

 

เจาะลึกโปรไฟล์ 5 กุนซือนายกรัฐมนตรี 

 

บุคคลทั้ง 5 รายชื่อข้างต้น ล้วนเป็นขุนพลและเป็นกุนซือคนสนิทที่ร่วมงานกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ บิดาของนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของพรรคไทยรักไทย และตั้งแต่สมัยยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเกือบ 2 ทศวรรษที่แล้วมาด้วยกันทั้งสิ้น 

 

พันศักดิ์ วิญญรัตน์ 

ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันอายุ 81 ปี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เคยเป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก’ 

 

ต่อมาได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาด้านนโยบายในรัฐบาลทักษิณ และต้องยุติบทบาทที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีลงอีกครั้งพร้อมกับการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปี 2549 โดยเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายสำคัญหลายนโยบาย เช่น นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual Track) หรือที่รู้จักว่า ‘ทักษิโณมิกส์’

 

จากนั้นในปี 2551 พันศักดิ์ได้เข้าร่วมคณะที่ปรึกษาของรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ต่อมาในปี 2566 ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ได้แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ 

 

ณ วันนี้ นักคิดและนักเศรษฐศาสตร์วัย 81 ปี กลับมาเป็นกุนซือข้างกายนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ ในตำแหน่งประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร

 

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี 

รองประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันอายุ 67 ปี เคยเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช เคยเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ปัจจุบันคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) 

 

นพ.สุรพงษ์ เป็นหนึ่งในบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค จนประสบความสำเร็จเมื่อ 20 ปีที่แล้วในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย และเป็นผู้ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีและการสื่อสารของประชาชนด้วยคอมพิวเตอร์ราคาประหยัด ลดค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลภายในประเทศและโทรศัพท์ระหว่างประเทศ รวมถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วย

 

ปี 2564 นพ.สุรพงษ์ กลับมามีตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้งด้วยการเป็นผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย ต่อมาในปี 2566 ในรัฐบาลเศรษฐา เป็นรองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ร่วมผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย เป็นคีย์แมนคนสำคัญที่ทำงานข้างกายแพทองธารมาโดยตลอด

 

ศุภวุฒิ สายเชื้อ 

ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันอายุ 67 ปี เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง เคยเป็นกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ (หัวหน้าสายงานวิจัย) บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) มาโดยตลอด 

 

หลังจากเกษียณก็ยังคงนั่งเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) จนกระทั่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

 

ในปี 2563 ศุภวุฒิเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม CARE ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างนักการเมืองหน้าเก่าสังกัดพรรคไทยรักไทย ขุนพลข้างกายทักษิณ อาทิ ภูมิธรรม เวชยชัย, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, ลักขณา ปันวิชัย (คำ ผกา) ,วีรพร นิติประภา, ดวงฤทธิ์ บุนนาค, พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล ลูกชายของ พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ด้วย

 

ศุภวุฒิเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินอย่างมาก เคยเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยร่วมกับเศรษฐา และเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อปรากฏเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ 

ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี

 

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันอายุ 69 ปี เป็นที่รู้จักในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม รวมทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางราชสำนักงานพระราชพิธีเป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นผู้ชำนาญด้านกฎหมายมหาชน เนื่องจากเป็นอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

ธงทองเป็นอดีตข้าราชการที่ได้รับหน้าที่สำคัญในรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย เคยเป็นอดีตที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายและการบริหารงานยุติธรรมในรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เคยเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมและรองโฆษกกระทรวงยุติธรรมในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร 

 

ทั้งยังเคยเป็นอดีตกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และเป็นอดีตโฆษกพิเศษศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำหน้าที่สื่อสารในภาวะวิกฤตช่วงเกิดมหาอุทกภัยปี 2554 ก่อนได้รับตำแหน่งเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในปีเดียวกัน

 

จากนั้นในปี 2557 ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกย้ายไปเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีจนเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ด้านนิติศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2563

ปี 2565 ธงทองถูกแต่งตั้งให้ประธานคณะกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ต่อมาในปี 2566 ในรัฐบาลเศรษฐา ถูกแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ และล่าสุดได้รับแต่งตั้งให้ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีแพทองธารร่วมกับบิ๊กเนมอีก 4 คน

 

พงศ์เทพ เทพกาญจนา 

ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี

 

 

พงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันอายุ 68 ปี เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีหลายกระทรวง เคยเป็นอดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านการพัฒนาพรรค พรรคเพื่อไทย 

 

พงศ์เทพเข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการลงสมัคร สส. พรรคพลังธรรม ก่อนจะเข้ามาสังกัดพรรคไทยรักไทยในตำแหน่งรอง​เลขาธิ​การพรรค ได้ตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เช่น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

 

พงศ์เทพเป็นอีกหนึ่งคนที่ยืนเคียงข้างทักษิณมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วงที่ทักษิณเดินทางกลับมาจากต่างประเทศเพื่อต่อสู้คดีความที่ถูกฟ้องร้องโดย คตส. หลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2549 ณ เวลานั้นเขารับหน้าที่เป็นโฆษกประจำตัวให้

 

ต่อมาในปี 2555 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการได้นำเสนอแนวความคิดในการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเชิงสนับสนุนและคัดค้าน และ 1 ปีต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพียงตำแหน่งเดียว

 

หลังผ่านเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ในการเลือกตั้งปี 2557 พงศ์เทพลงสมัคร สส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 9 พรรคเพื่อไทย แต่การเลือกตั้งก็ถูกขัดขวางและเป็นโมฆะไปในที่สุด ต่อลงสมัคร สส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 13 ในการเลือกตั้งปี 2562 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งและได้ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2564 เพื่อล้างมือทางการเมือง

 

พงศ์เทพให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand กล่าวถึงการกลับมาบนเส้นทางการเมืองอีกครั้งว่า ตอนที่ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้แจ้งกับผู้บริหารพรรคไว้แล้วว่ายังพร้อมที่จะช่วยงาน หากสามารถช่วยให้มีประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ ที่ผ่านมาก็ช่วยงานส่วนรวมมาโดยตลอด

 

พงศ์เทพกล่าวอีกว่า การเข้าร่วมเป็นคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ไม่ใช่การเป็นข้าราชการทางการเมืองแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่เราเห็นว่าสามารถทำประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ มองว่าเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน อย่าง ศุภวุฒิ สายเชื้อ หรือ ธงทอง จันทรางศุ ที่ร่วมคณะอยู่ ก็ไม่ใช่นักการเมือง จึงถือว่าการกลับมาครั้งนี้ไม่ได้เป็นการกลับสู่เส้นทางการเมือง

 

พงศ์เทพกล่าวถึงโครงสร้างการทำงานของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีว่า ทั้ง 5 คนเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ที่หลากหลายมารวมกัน ซึ่งข้อได้เปรียบของคณะที่ปรึกษาที่มีอายุมากนั้นคือ ได้เห็นตัวอย่างมามากกว่า แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการยึดติดกับกรอบเดิมๆ และทุกคนไม่ได้แก่ในมุมมองความคิดต่อประเทศและโลกใบนี้ โดยขอให้ดูผลของการเสนอแนะของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีดีกว่า 

 

ส่วนการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลแพทองธารนั้น พงศ์เทพกล่าวว่า เป็นสิ่งที่คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีจะต้องมีการหารือกัน ซึ่งเชื่อว่าประธานจะนัดประชุมในเร็วๆ มีนโยบายหลายเรื่องจะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ นโยบายที่ควรทำก่อน นโยบายไหนควรทำทีหลัง เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะกระตุ้นอย่างไร เนื่องจากมีวิธีการจำนวนมาก, การพัฒนาประเทศจะก้าวเดินไปทางไหน จะต้องเตรียมพร้อมไว้อย่างไร เป็นเรื่องที่ที่ปรึกษาจะต้องหารือกันต่อไป

 

สุดท้ายผลลัพธ์ของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายด้านมารวมกัน เพื่อมุ่งหน้าสู่การกำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีโจทย์สำคัญคือ พลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชน ‘มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี’ จะสามารถคืนชีพประเทศไทยเหมือนในยุคของรัฐบาลชาติชาย เป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปข้างหน้าได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องจับต่อดูกันต่อไป

 

อ้างอิง: 

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising