×

กสม. ชี้ ตำรวจสลายชุมนุม ‘จะนะรักษ์ถิ่น’ หน้าทำเนียบ 6 ธ.ค. 64 เป็นการละเมิดสิทธิทั้งผู้ชุมนุมและสื่อมวลชน

โดย THE STANDARD TEAM
16.06.2022
  • LOADING...
จะนะรักษ์ถิ่น

วันนี้ (16 มิถุนายน) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ตามที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียน ขอให้ตรวจสอบกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล สืบเนื่องจากเครือข่ายฯ กว่า 30 คน ได้เดินทางมารวมตัวเพื่อทวงสัญญาจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา โดยให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) แบบมีส่วนร่วมก่อนดำเนินการโครงการนั้น 

 

กสม. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ผู้ถูกร้อง และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ดุสิต มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นหรือไม่ โดยพิจารณาออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้ 

 

ประเด็นที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการเข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า การชุมนุมของเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธที่ไม่ถือว่าเป็นความรุนแรง ในส่วนของเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมการชุมนุมเป็นไปตามแผนปฏิบัติการ โดยมีการเจรจากับผู้ชุมนุมหลายครั้ง เพื่อขอให้เคลื่อนย้ายไปชุมนุมนอกบริเวณพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล แต่เมื่อล่วงเลยเวลาที่กำหนดให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้าย กลับใช้วิธีเข้าสลายการชุมนุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย 

 

โดยอ้างว่า เนื่องจากในวันที่ 7 ธันวาคม 2564 เป็นวันเปิดทำการ จะมีการใช้เส้นทางหนาแน่น และการชุมนุมมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยผิดกฎหมาย 

 

กสม. เห็นว่า เหตุผลตามที่กล่าวอ้างนี้ยังไม่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นเหตุแห่งความจำเป็นในการเข้าสลายการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุม ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองและคุ้มครองไว้ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

 

ประเด็นที่ 2 การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ต่อผู้ชุมนุมมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะอยู่ภายใต้การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายควรพิจารณาถึงความได้สัดส่วนเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม ตลอดจนไม่กระทำการอันใดที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้เสรีภาพดังกล่าวเกินสมควรแก่เหตุ 

 

ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหาผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวในฐานความผิดตามกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 ส่งผลให้ผู้ชุมนุมที่ถูกจับต้องเดินทางไปรายงานตัวตามหมายเรียกอยู่เป็นระยะจนถึงปัจจุบัน 

 

กสม. เห็นว่า การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมกรณีนี้ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เนื่องจากการชุมนุมมีวัตถุประสงค์เพื่อการติดตามและทวงถามการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลต่อโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งสุดท้ายแล้วรัฐบาลได้รับข้อเสนอของผู้ชุมนุมไว้เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง การกระทำของพนักงานสอบสวนจึงเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ และสร้างภาระแก่ผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

 

ประเด็นที่ 3 การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์การชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสื่อมวลชนหรือไม่ จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงพบว่า ในการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศให้สื่อมวลชนออกจากพื้นที่การชุมนุม และมีการใช้อุปกรณ์ยิงแสงเลเซอร์ส่องไปยังสื่อมวลชนและอุปกรณ์ถ่ายภาพ ทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถถ่ายภาพขณะเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการสลายการชุมนุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมได้ ทั้งยังอาจทำให้เซ็นเซอร์กล้องได้รับความเสียหาย และมีผลต่อการมองเห็นชั่วคราวของดวงตาได้

 

ดังนั้นหากการใช้สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ เจ้าหน้าที่จะต้องอำนวยความสะดวกและไม่ปิดกั้นสื่อมวลชนในการทำหน้าที่รายงานสถานการณ์และข้อเท็จจริงอย่างเสรี โดยไม่สร้างอุปสรรคอันเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนเกินความจำเป็น จึงเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองและคุ้มครองไว้ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

 

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 จึงมีข้อเสนอแนะแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปได้ดังนี้ 

 

  1. ทบทวนแนวทางปฏิบัติในการควบคุมและจัดการการชุมนุม ซึ่งจะต้องไม่กระทำการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุม และจัดสถานที่ที่ปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุมที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ 

 

  1. กำชับแนวทางปฏิบัติต่อการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม อันสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ โดยให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง ซึ่งต้องคำนึงถึงความได้สัดส่วนและความจำเป็นตามแต่ละกรณี โดยหลีกเลี่ยงการตั้งข้อหาหรือฐานความผิดที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวเกินสมควรแก่เหตุ

 

  1. กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมและดูแลสถานการณ์การชุมนุม อำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนทำหน้าที่รายงานสถานการณ์และข้อเท็จจริงอย่างเสรี โดยไม่สร้างอุปสรรคอันเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่เกินความจำเป็น หากการใช้สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้

 

ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบกรณีนี้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising