แม้ทุกวันนี้กล้องถ่ายรูปจะถูกผนวกรวมไปในสมาร์ทโฟน จนทำให้ทุกคนเลิกพกกล้องดิจิทัลเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังมี ‘กล้องโพลารอยด์’ ที่คงเอกลักษณ์และเป็นตัวแทนของความป๊อปยุควินเทจได้ชัดเจนที่สุด เจ้าของหน้าตารูปถ่ายขอบขาวที่กลายเป็นหนึ่งไอเท็มโปรดของผู้คน ไม่ว่าจะยุค 90s หรือเหล่ามิลเลนเนียลก็ตาม
กล้องโพลารอยด์ตัวแรกถูกคิดค้นขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่มีชื่อว่า เอ็ดวิน แลนด์ (ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Polaroid Corporation ในเวลาต่อมา และปัจจุบันก็ยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์) เขาเริ่มจากการคิดค้นฟิล์มแบบ Instant Film ในเมืองนิวยอร์ก ก่อนที่จะพัฒนาออกมาเป็นกล้องโพลารอยด์สำหรับขายตัวแรกในปี 1948 ในชื่อ Model 95 วางขายที่แรกในห้างสรรพสินค้า Jordan Marsh เมืองบอสตัน
หลังจากนั้น Polaroid Corporation ก็ทำงานร่วมกับบริษัทอื่นๆ เพื่อพัฒนาตัวกล้องโพลารอยด์ จนกระทั่งในปี 1963 ที่มีการผลิตกล้องโพลารอยด์ไปแล้วกว่า 5 ล้านตัว ซึ่งคนยุคนั้นรู้จักมันในชื่อ กล้องแลนด์ หรือ Land Camera ตามชื่อผู้ก่อตั้งนั่นเอง
ส่วนกล้องโพลารอยด์ที่เราคุ้นตากันมากที่สุดน่าจะเป็น Instax Camera จาก Fujifilm ซึ่งเป็นบริษัทที่ครองตลาดผู้ใช้งานกล้องโพลารอยด์ทั่วเอเชีย เริ่มตั้งแต่ช่วงปี 1980 ที่ผ่านมา Fujifilm พัฒนากล้องโพลารอยด์มาแล้วหลายรุ่น ทั้งการแปลงโฉมหน้าตา ช่องใส่ฟิล์ม การเพิ่มโหมดถ่ายรูปที่แตกต่างจากกล้องโพลารอยด์รุ่นก่อนๆ จนกระทั่งในช่วงปี 1990 ที่ Fujifilm เปิดตัว Instax ซึ่งกลายเป็นที่นิยมทั้งในเอเชียจนถึงปัจจุบัน นอกจาก Fujifilm แล้ว ยังมีแบรนด์อื่นๆ ที่ได้ขอลิขสิทธิ์ในการผลิตกล้องโพลารอยด์ อาทิ Mint Camera, Lomography, Polaroid และ Leica เป็นต้น
กล้องโพลารอยด์จึงกลายเป็นตัวแทนความเท่ที่ป๊อปปูลาร์มากๆ ในอดีต ถึงขั้นที่ภาพยนตร์ และสื่อต่างๆ ก็หยิบเอาไปใช้เพื่อนำเสนอถึงความทันสมัย จนเรามีโอกาสได้เห็นกล้องโพลารอยด์อยู่ในซีนหนังมากมาย ตั้งแต่ Beetlejuice (1988) ของ ทิม เบอร์ตัน และ Boogie Nights (1997) ของ พอล โทมัส แอนเดอร์สัน ที่บันทึกยุคสุดฮิตแห่งโพลารอยด์ได้อย่างดี
แม้กล้องโพลารอยด์จะลาจากวงการไปสักพัก แต่ทุกวันนี้ก็ต้องยอมรับว่าเรายังเห็นเพื่อนหยิบกล้องโพลารอยด์มาใช้ในโอกาสพิเศษต่างๆ ทั้งในงานรับปริญญา ปาร์ตี้ หรือแม้กระทั่งในงานแต่งงาน กล้องโพลารอยด์ถือเป็นกล้องที่ใช้สำหรับบันทึกความทรงจำ และยังเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำของพวกเราทุกคนด้วย!
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์