×

บทวิเคราะห์ CNN ชี้ หน่วยงานสหรัฐฯ ชูทฤษฎีโควิดรั่วจากแล็บจีน ชวนยิ่งฉงน มากกว่าได้คำตอบ

โดย THE STANDARD TEAM
06.03.2023
  • LOADING...

การสืบหาต้นกำเนิดของโควิดกลับมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อมีการเผยแพร่รายงานการประเมินล่าสุดของกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา ที่สนับสนุนความเป็นไปได้ว่าโควิดอาจรั่วไหลจากห้องปฏิบัติการในประเทศจีน จนเกิดการตอบโต้สวนกลับด้วยความไม่พอใจจากปักกิ่ง ซ้ำเติมความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ให้ร้าวลึกยากเกินเยียวยา

 

“เราขอเรียกร้องให้สหรัฐฯ เคารพวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริง หยุดนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง หยุดการติดตามสืบเสาะต้นตอจากข่าวกรองและการเมือง” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงเมื่อวันที่ 1 มีนาคม

 

รายงานการประเมินของกระทรวงพลังงานเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของสหรัฐฯ สืบเนื่องจากเมื่อปี 2021 ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ขอให้หน่วยข่าวกรองต่างๆ สืบหาต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนา ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นของจีน

 

โควิดรั่วจากแล็บ vs. โควิดเกิดจากธรรมชาติ

การประเมินโดยรวมจากหน่วยข่าวกรองต่างๆ ของสหรัฐฯ ตามที่ระบุในรายงานเมื่อปี 2021 นั้น ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ หน่วยงาน 4 แห่ง และสภาข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ (National Intelligence Council) ประเมินด้วย ‘ความเชื่อมั่นในระดับต่ำ’ ว่าไวรัสน่าจะแพร่จากสัตว์สู่คนผ่านการสัมผัสตามธรรมชาติ ในขณะที่อีกหน่วยงานหนึ่งประเมินด้วย ‘ความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง’ ว่าการระบาดเป็นผลมาจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการ ขณะที่หน่วยข่าวกรองอีก 3 แห่งไม่สามารถสรุปได้ว่าเห็นพ้องกับทฤษฎีใดหากไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่านี้ 

 

หน่วยงานส่วนใหญ่ยังคงไม่แน่ใจ หรือไม่ก็เอนเอียงไปทางทฤษฎีที่ว่าไวรัสมีต้นกำเนิดตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสมมติฐานที่นักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานี้เห็นด้วยเป็นวงกว้าง แต่รายงานฉบับปรับปรุงจากกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่ายังคงมีความเห็นแตกต่างกันของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เกี่ยวกับประเด็นแหล่งที่มาของโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้อำนวยการ FBI ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในสัปดาห์นี้ถึงการประเมินที่คล้ายกันของ FBI ด้วย ‘ความเชื่อมั่นปานกลาง’

 

ทั้งนี้ หน่วยข่าวกรองสามารถประเมินด้วยความเชื่อมั่นในระดับต่ำ ปานกลาง หรือสูง ซึ่งการประเมินด้วยความเชื่อมั่นในระดับต่ำนั้นโดยทั่วไปแล้วหมายถึงข้อมูลที่หน่วยงานนั้นๆ ได้รับมานั้นไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ หรือกระจัดกระจายเกินกว่าจะตัดสินได้ชัดเจน

 

อย่างไรก็ดี แม้การประเมินและการแสดงความเห็นใหม่ๆ ทำให้ทฤษฎีโควิดรั่วไหลจากแล็บจีนกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง แต่ขณะเดียวกันกลับไม่มีหน่วยงานใดเปิดเผยหลักฐานหรือข้อมูลที่สนับสนุนการตัดสินใจของตนเอง นั่นทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับต้นกำเนิดที่แท้จริง และดึงความสนใจกลับไปที่ปัญหามากมายที่ยังไม่ได้รับคำตอบ รวมถึงความจำเป็นในการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

 

หลักฐานใหม่?

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าไวรัสน่าจะเกิดจากการแพร่ระบาดตามธรรมชาติ จากสัตว์สู่คน เช่นเดียวกับไวรัสหลายชนิดก่อนหน้านั้น แต่ขณะเดียวกันบรรดานักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่ายังจำเป็นที่จะต้องวิจัยเพิ่มเติม ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนยังตั้งคำถามถึงการขาดข้อมูลเพื่อยืนยันข้อกล่าวอ้างล่าสุด

 

เธีย ฟิสเชอร์ นักไวรัสวิทยา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ตรวจสอบขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เดินทางไปยังอู่ฮั่นเมื่อปี 2021 เพื่อตรวจสอบหาต้นตอของโควิด และปัจจุบันยังคงเป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานติดตามตรวจสอบของ WHO กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่การประเมินใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับต้นกำเนิดของไวรัสจะต้องมีเอกสารหลักฐานประกอบ

 

“นี่เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงต่อห้องปฏิบัติการวิจัยสาธารณะในจีน และเป็นไปไม่ได้หากไม่มีหลักฐานที่แน่นหนามารองรับ” ฟิสเชอร์ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนกล่าว “หวังว่าพวกเขาจะแบ่งปันหลักฐานกับ WHO ในเร็วๆ นี้ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระหว่างประเทศได้ทราบและประเมิน เช่นเดียวกับหลักฐานอื่นๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับต้นกำเนิดของการระบาดใหญ่”

 

เจ้าหน้าที่ข่าวกรองอาวุโสรายหนึ่งของสหรัฐฯ กล่าวกับ The Wall Street Journal ซึ่งเป็นสื่อรายแรกที่รายงานการประเมินล่าสุดของกระทรวงพลังงานว่า การปรับปรุงการประเมินของกระทรวงนั้นเกิดจากการได้รับข่าวกรองใหม่ การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวรรณกรรมทางวิชาการ และการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญภายนอกรัฐบาล

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนที่มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในการตรวจสอบข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันกลับตั้งข้อสงสัยกับการประเมินใหม่ดังกล่าว 

 

“ในเมื่อข้อมูลมากมายที่เรามีชี้ไปที่เหตุการณ์ระบาดที่ตลาดค้าส่งอาหารทะเลหัวหนานในช่วงปลายปี 2019 ผมจึงสงสัยว่ามีอะไรที่สำคัญมากในนั้น หรือมีข้อมูลใหม่ที่เปลี่ยนความเข้าใจในปัจจุบันของเรา” ศาสตราจารย์เดวิด โรเบิร์ตสัน จากโรงเรียนการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันแห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งผลการวิจัยที่ได้นั้นสนับสนุนทฤษฎีต้นกำเนิดตามธรรมชาติ

 

ศาสตราจารย์โรเบิร์ตสันตั้งข้อสังเกตว่า สถานที่ที่พบผู้ป่วยรายแรกๆ มีศูนย์กลางอยู่ที่ตลาด ตัวอย่างแวดล้อมมีผลตรวจเป็นบวก และสัตว์มีชีวิตที่ไวต่อไวรัสก็มีขายอยู่ที่ตลาด ซึ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานที่สนับสนุนทฤษฎีต้นกำเนิดตามธรรมชาติ ในขณะที่ไม่มีข้อมูลที่สนับสนุนทฤษฎีการรั่วไหลจากห้องปฏิบัติการ

 

“ขอบเขตของหลักฐานนี้มักถูกมองข้ามในการรายงานของสื่อ…ในขณะที่ในความเป็นจริงเรารู้เรื่องที่เกิดขึ้นมากมาย และบางทีอาจมากกว่าที่เรารู้เกี่ยวกับโรคระบาดอื่นๆ เสียด้วยซ้ำ” เขากล่าว

 

การตอบสนองของจีน

ความพยายามที่จะทำความเข้าใจว่าการระบาดใหญ่เริ่มต้นขึ้นอย่างไรนั้นซับซ้อนยิ่งขึ้น เนื่องจากการขาดความโปร่งใสของจีน 

 

ปักกิ่งขัดขวางการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะทำงานระหว่างประเทศ ทั้งยังไม่อนุญาตให้ตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ และสงวนท่าทีในการแบ่งปันรายละเอียดและข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยในประเทศ 

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่าจีนมีความโปร่งใสและร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก โดยในปี 2021 ปักกิ่งอนุญาตให้คณะทำงานของ WHO เข้าประเทศเพื่อตรวจสอบหาต้นกำเนิดของโควิด แต่เป็นการอนุญาตภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด โดยอ้างว่าเป็นมาตรการควบคุมโรค ทางการจีนจำกัดให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าพักในโรงแรมเป็นเวลาแค่ครึ่งหนึ่งของการเดินทาง และป้องกันไม่ให้พวกเขารับประทานอาหารร่วมกับผู้เชี่ยวชาญชาวจีน ซึ่งเป็นการตัดโอกาสในการแบ่งปันข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ

 

จีนปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวต่อสมมติฐานที่ว่าไวรัสเกิดจากอุบัติเหตุในห้องแล็บ และพยายามยืนยันหลายครั้งว่าไวรัสที่แพร่ระบาดครั้งแรกในประเทศนั้นอาจเข้ามาจากที่อื่น เช่น ห้องปฏิบัติการของสหรัฐฯ โดยไม่ได้แสดงหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างดังกล่าว

 

อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนที่แล้วเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ WHO ออกโรงเรียกร้องจีนให้เปิดทางให้ผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศได้ร่วมมือและประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญในประเทศมากขึ้น เพื่อพัฒนาการศึกษาที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งรวมถึงการศึกษาตลาดและฟาร์มที่อาจเกี่ยวข้อง

 

“การศึกษาเหล่านี้จำเป็นต้องดำเนินการในประเทศจีน และเราต้องการความร่วมมือจากเพื่อนของเราที่นั่น เพื่อพัฒนาความเข้าใจของเรา” มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโควิดขององค์การอนามัยโลกกล่าวในการแถลงข่าว

 

ขณะที่ผู้แทนคนหนึ่งขององค์การอนามัยโลกตอบคำถามของ CNN เกี่ยวกับรายงานการประเมินล่าสุดจากกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ โดยกล่าวว่า WHO และคณะที่ปรึกษาด้านการติดตามต้นกำเนิดไวรัสของ WHO “จะคอยตรวจสอบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้เราพัฒนาความรู้เกี่ยวกับต้นกำเนิดของ SARS-CoV-2 และเราขอเรียกร้องให้จีนและชุมชนวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาวิจัยที่จำเป็นในทิศทางนั้น

 

“จนกว่าเราจะมีหลักฐานเพิ่มเติม สมมติฐานทั้งหมดยังไม่ถูกปัดทิ้ง” ผู้แทนของ WHO กล่าว

 

ภาพ: Chip Somodevilla / Getty Images 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising