×

บทสรุปภารกิจ ‘บ่มเพาะว่าที่นักธุรกิจรุ่นเยาว์’ จากโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ ทำธุรกิจได้จริงใน 66 วัน! [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
11.07.2023
  • LOADING...
เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

HIGHLIGHTS

  • เสร็จสิ้นภารกิจ ‘บ่มเพาะว่าที่นักธุรกิจรุ่นเยาว์’ จากโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 ภายใต้แนวคิด ‘66 วัน เรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง’ โดยมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา 
  • ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 จนเสร็จสิ้นโครงการ ตลอด 66 วัน เยาวชนจาก 8 โรงเรียน จำนวน 40 คน ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในการทำธุรกิจจริง เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนในจังหวัดบ้านเกิดผ่านกิจกรรม 3 แคมป์ ได้แก่ แคมป์กล้าเรียน, แคมป์กล้าลุย และแคมป์กล้าก้าว 
  • ฟังเสียงสะท้อนของน้องๆ รุ่นที่ 1 ถึงองค์ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ และประสบการณ์จริงที่ได้รับ รวมทั้งมุมมองจากครูพี่เลี้ยงที่สัมผัสถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนักเรียน มองเห็นการส่งต่อโอกาสที่สามารถปรับใช้กับชีวิตในอนาคต 
  • บทสรุปห้องเรียนสร้างนักธุรกิจวัยเยาว์ได้ส่งมอบประสบการณ์จริงที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน และผลสำเร็จโครงการที่ไม่ได้วัดด้วยยอดขาย แต่วัดจากพัฒนาการในตัวเยาวชน สะท้อนความมุ่งมั่นของมูลนิธิฯ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเยาวชนและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ

“การรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอ เราต้องนำมันมาปรับใช้ ความตั้งใจอย่างเดียวนั้นยังน้อยไป เราต้องลงมือทำ” หนึ่งในคำพูดสร้างแรงบันดาลใจของ บรูซ ลี ซูเปอร์สตาร์กังฟูเชื้อสายเอเชียคนแรกของโลก ที่ดูจะเหมาะเจาะกับโลกยุคนี้ที่ใครก็สามารถเข้าถึงความรู้ได้จากทุกที่ ทุกเวลา แต่กลับขาดทักษะหรือแนวทางที่จะนำความรู้มาปรับใช้ 

 

โดยเฉพาะสังคมไทยที่กำลังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ ‘ความรู้’ ที่นำไปปรับใช้ได้จริงจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำได้ ซึ่งเป็นหนึ่งภารกิจใหญ่ของ ‘มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา’ ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคนผ่านระบบการศึกษาที่เป็นกลไกพื้นฐานทางความคิด หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะลดทอนความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน จึงริเริ่มโครงการ ‘เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1’ เสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ และประสบการณ์ใหม่ ผ่านการลงมือทำธุรกิจจริง ให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายจาก 8 โรงเรียนในจังหวัดน่าน ภายใต้แนวคิด ‘66 วัน เรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง’   

 

 

ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 จนเสร็จสิ้นโครงการ ตลอด 66 วัน เยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 จาก 8 โรงเรียน จำนวน 40 คน ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในการทำธุรกิจจริง เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนในจังหวัดบ้านเกิดผ่านกิจกรรม 3 แคมป์ ได้แก่ 

 

  1. แคมป์กล้าเรียน ปูพื้นฐานสร้างไอเดียธุรกิจและเรียนรู้สิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ 
  2. แคมป์กล้าลุย บุกตลาด ลงมือขาย พบลูกค้าตัวจริง เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์
  3. แคมป์กล้าก้าว สรุปผลประกอบการต่อหน้าคณะกรรมการ     

 

ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา

 

ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา กล่าวว่า “มูลนิธิฯ มีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งการให้โอกาสทางการศึกษาจะเป็นก้าวแรกที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง เด็กๆ ที่เข้าโครงการจะได้รับโอกาสที่ไม่สามารถหาได้จากหลักสูตรปกติ การเรียนรู้นอกห้องเรียนจะช่วยติดอาวุธให้เขาพร้อมลงแข่งในสนามจริง สิ่งที่เราทำแม้ว่าจะลดความเหลื่อมล้ำได้เพียงเล็กน้อย แต่เราก็ดีใจที่ได้มีส่วนร่วมทำให้มันลดลง 

 

“กิจกรรมที่จัดขึ้นไม่เพียงสร้างองค์ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ และประสบการณ์ใหม่ แต่เรายังมุ่งหวังให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะและเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงสามารถแบ่งปันความรู้และวิธีการให้ชุมชนได้รับโอกาสเดียวกัน เพื่อพัฒนาชุมชนและสร้างความยั่งยืนในจังหวัดน่าน”

 

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท อุ๊คบี จำกัด

 

ในแต่ละแคมป์ยังได้วิทยากรมืออาชีพและนักธุรกิจตัวจริง ไม่ว่าจะเป็น ศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น อาจารย์ นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC), ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท อุ๊คบี จำกัด (Ookbee) และผู้ร่วมก่อตั้ง 500 TukTuks, วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทค จำกัด ผู้พัฒนาโปรตีนจากพืชแบรนด์ More Meat รวมทั้ง มนูญ ทนะวัง และ จารุวรรณ จิณเสน ผู้ก่อตั้ง Cocoa Valley แห่งอำเภอปัว จังหวัดน่าน มาร่วมแชร์ประสบการณ์จริงจากการทำธุรกิจ ทั้งกระบวนการมาถ่ายทอดให้กับผู้เรียนและสร้างแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจในแคมป์กล้าเรียน 

 

ดาริน สุทธพงษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Hato Hub

 

ในแคมป์กล้าลุยได้วิทยากรอย่าง ดาริน สุทธพงษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอจาก Hato Hub และ ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ ผู้ก่อตั้งกิจการศิริวัฒน์แซนด์วิช มาแบ่งปันประสบการณ์จริงที่ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ อย่างไม่ยอมแพ้ เรียนรู้ที่จะผิดพลาดและก้าวข้ามความผิดหวัง เพื่อช่วยสร้างความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายที่จะเข้ามาในอนาคต  

 

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย
ผู้วางรากฐานและแนวปรัชญามูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา

 

และสุดท้ายในแคมป์กล้าก้าว บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ผู้วางรากฐานและแนวปรัชญามูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา มาแบ่งปันแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและแนวทางเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำธุรกิจในจังหวัดน่านจาก อารีย์ เพ็ชรรัตน์ ผู้บริหาร บริษัท บ้านถั่วลิสง จำกัด 

 

ตลอดโครงการเยาวชนทั้ง 40 คน ยังได้รับทักษะและประสบการณ์ใหม่ๆ ตั้งแต่องค์ความรู้ใหม่และคุณค่ามิติต่างๆ ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการคิดหาไอเดียที่ตลาดต้องการ การทดสอบผลิตภัณฑ์ในตลาด กระบวนการตั้งราคา การทำแพ็กเก็จ การทำบัญชีธุรกิจ การบริหารจัดการบริษัท การตลาด และกระบวนการเปิด-ปิดบริษัท การบริหารคน สร้างความเข้าใจคุณค่าของทุนในการทำธุรกิจ และการสร้างผลตอบแทน

 

กว่าจะผ่านกระบวนการแปลงก้อนไอเดียเพื่อพัฒนาเป็นสินค้าจากสิ่งที่มีในท้องถิ่นให้กลายเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ พวกเขาต้องร่วมกันวางแผนทำงาน ฝึกหัดเป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์สร้างแบรนด์ด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น ผลิตสินค้าจริง ทดลองขาย ล้มเหลว ปรับปรุง และทดลองใหม่ โดยมีมูลนิธิฯ สนับสนุนเงินทุนเริ่มต้นในการทำธุรกิจ และนี่คือ 8 สินค้าจากนักธุรกิจรุ่นเยาว์ที่เราอยากให้คุณรู้จัก

 

 

  1. คุกกี้ แบรนด์ Ten Bites ที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบแต่ละชาติพันธุ์ในจังหวัดน่าน จากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน 
  2. กาแฟและพิซซ่าม้ง แบรนด์ มองเดอพี กาแฟจากบ้านมณีพฤกษ์ แหล่งกาแฟที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในไทย มาจำหน่ายควบคู่ไปกับการยกระดับพิซซ่าม้ง อาหารชนเผ่า ให้ผู้คนเข้าถึงมากขึ้น จากโรงเรียนพระธาตุพิทยาคม 
  3. ข้าวแคบ แบรนด์ลินา จากโรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี ที่เปลี่ยนเมนูกินเล่นที่มีมาแต่ดั้งเดิมของชุมชน ให้มีรสชาติที่หลากหลาย กินง่าย เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนมากขึ้น 
  4. น้ำพริก แบรนด์ น้ำพริกสามช่า น้ำพริกมะเขือเทศสูตรเด็ด 3 สไตล์ เสิร์ฟพร้อมสาหร่ายไกยี สาหร่ายน้ำจืดที่หาได้ในจังหวัดน่าน จากโรงเรียนเชียงกลาง ประชาพัฒนา   
  5. สแน็กบ็อกซ์ แบรนด์ NALANA จากโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร จังหวัดน่าน ยกระดับ 6 ขนมดังของแต่ละชุมชนในจังหวัดน่าน มารวมไว้ในบรรจุภัณฑ์ลวดลายพิเศษที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นน่าน 
  6. ข้าวหลามถอดเสื้อ แบรนด์ หลามรวย ไอเดียจากโรงเรียนสา แก้ปัญหาข้าวหลามแกะยากให้กินง่ายขึ้น มีไส้หลากหลายรสชาติ พร้อมพัฒนาสูตรใหม่ใช้มะแขว่น ของดีท้องถิ่น เป็นส่วนผสมของไส้  
  7. น้ำสลัดอะโวคาโด แบรนด์ KADO ที่ทำจากเนื้ออะโวคาโดแท้ เพิ่มความละมุนด้วยดอกเกลือสินเธาว์ ของดีจังหวัดน่าน ไอเดียยกระดับอาหารคลีนจากโรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม 
  8. เนยถั่วมะมื่น แบรนด์ มะมื่นบัตเตอร์ จากโรงเรียนปัว ที่เพิ่มมูลค่ามะมื่น ของดีท้องถิ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นอัลมอนด์เมืองไทย นำมาทำเป็นเนยถั่วที่ดีต่อสุขภาพและรสชาติอร่อย

 

ดร.อดิศวร์ เผยว่า “หลังเสร็จสิ้นโครงการเยาวชนทุกทีมมีพัฒนาการที่ดีอย่างเห็นได้ชัด มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นจากการได้ลงมือแก้ปัญหาด้วยตัวเอง สามารถวิเคราะห์ปัญหาและบอกได้ว่าต้นเหตุของปัญหาคืออะไร แม้ระหว่างทางจะเจอปัญหา แต่ทุกคนก็ทำต่อด้วยความตั้งใจและพร้อมจะแก้ไข จนสามารถจับมือเดินมาจนถึงจบค่ายได้” 

 

โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร

 

“โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ทำให้ชีวิตช่วงปิดเทอมใหญ่ของพวกเราเปลี่ยนไป” เยาวชนจากโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารกล่าว พร้อมทั้งเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อโครงการและบทเรียนที่ได้รับในครั้งนี้ว่า 

 

“ตอนแรกคิดว่าเป็นแคมป์ธุรกิจที่นำคนมาสร้างธุรกิจและแข่งขันกัน แต่จริงๆ แล้วมีมากกว่านั้น ตอนเข้าแคมป์แรกค่อนข้างเครียด เพราะไม่รู้เกี่ยวกับธุรกิจดีพอ แต่พอแคมป์ที่ 2 และ 3 ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทีมเราสามัคคีกันมาก รับฟังความเห็นของกันและกัน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจนตามความถนัดของแต่ละคน แล้วจึงนำไอเดียและผลงานมาแชร์กันว่าแต่ละคนทำอะไรและผลลัพธ์ที่ได้คืออะไร ทำให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้แม่นยำกว่า”  

 

โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร ผลงาน: สแน็กบ็อกซ์ แบรนด์ NALANA

 

“อย่างช่วงแรกสินค้าขายไม่ดี เพราะเราโปรโมตน้อยไป ก็มีไปออกบูธ ออกรายการวิทยุ ลองขายสินค้าแยกกล่องทำให้ขายง่ายขึ้น กลายเป็นบทเรียนที่ดีว่า การทำธุรกิจต้องมีความยืดหยุ่น ต้องพร้อมปรับเปลี่ยนและพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเป็นวิธีคิดที่เรานำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ แค่เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมอง อาจทำให้พบวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ อีกบทเรียนที่สำคัญคือ ทำธุรกิจต้องกล้าเสี่ยง กล้าแตกต่าง รับฟังความเห็นต่างของเพื่อนในทีม และเรียนรู้ที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเราทั้งกับเพื่อนร่วมทีมและผู้บริโภค เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น” 

 

โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม

 

ด้านโรงเรียนท่าวังผาพิทยาคมบอกว่า “ถึงจะเหนื่อยแต่ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่ามากๆ เพราะทำให้เราเก่งขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น และได้ลงมือทำธุรกิจจริง เพราะถ้าไม่ได้ลงมือทำ พวกเราก็ไม่มีทางได้เรียนรู้ประสบการณ์เหล่านี้ 

 

“หลายทักษะสามารถนำไปต่อยอดได้ อย่างแรกคือเรื่อง Plan Do Check Act (PDCA) สามารถนำไปปรับใช้กับการเรียน การอ่านหนังสือสอบได้ คือเมื่อเราตั้งเป้าว่าจะเรียนต่ออะไร ก็ให้เดินหน้าทำ และมีวิธีการตรวจสอบว่าสิ่งที่ทำมีผลลัพธ์อย่างไร ถ้ายังไม่ดีก็นำไปแก้ไขเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย

 

โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม ผลงาน น้ำสลัดอะโวคาโด แบรนด์ KADO

 

“บทเรียนต่อมาคือฝึกแก้ปัญหาให้ตรงจุด เช่น ตอนแรกๆ ลูกค้าไม่รู้ว่าจะกินซอสอะโวคาโดกับอะไร เราก็ปรับไปขายพร้อมชุดสลัด ทำให้เราขายดีขึ้น เหตุการณ์นี้ยังฝึกให้เราเรียนรู้ที่จะฟังคนอื่นมากขึ้น แทนที่จะคิดจากมุมมองของตัวเองอย่างเดียว ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ทำและได้เรียนรู้ทั้งหมดจากโครงการนี้เหมือนเป็นการลงทุนกับตัวเราเองและคิดว่าสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตจริงได้ สุดท้ายแล้วพอได้ทำธุรกิจจริง ทำให้พวกเราเริ่มสนใจอยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับสายธุรกิจมากขึ้นด้วย”  

 

โรงเรียนปัว

 

โรงเรียนปัว เจ้าของไอเดียเนยถั่วมะมื่น บอกว่า การยกระดับมะมื่น ซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นบ้านพื้นถิ่นที่ถูกลืม ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น คือสิ่งที่พวกเขาคิดว่าทำได้ดีที่สุด 

 

“เราช่วยกันเลือกวัตถุดิบที่หลายคนอาจหลงลืมมาปรับลุคใหม่ จนสามารถเพิ่มมูลค่าและพาขึ้นเวทีระดับประเทศได้ ถือเป็นเรื่องท้าทายมากๆ ทำให้เราอยากจะพัฒนาวัตถุดิบท้องถิ่นอีกหลายอย่างให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น 

 

“ความสำเร็จเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากทีมไม่มีความสามัคคี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ นอกจากเพื่อนในทีมเรายังดึงเพื่อนนอกค่ายมาช่วยงาน ถือเป็นการแบ่งปันการเรียนรู้จากโครงการฯ ให้กับเพื่อนนอกค่าย โดยให้เพื่อนนอกค่ายมาช่วยทำงานในส่วนที่พวกเราไม่ถนัด เช่น การออกแบบสินค้า โลโก้ ถ่ายรูปสินค้าเพื่อโปรโมต

 

โรงเรียนปัว เนยถั่วมะมื่น แบรนด์ มะมื่นบัตเตอร์

 

“ถ้าพวกเราไม่ได้มาเข้าโครงการนี้ คงไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และแสดงความสามารถแบบนี้ ทำให้เรากล้าลุย กล้าก้าว และกล้าลงมือทำจริง ได้ทดลองพัฒนาสินค้า ลงตลาดจริง ขายจริง ได้วางแผนและทำตามแผนที่เรากำหนดไว้ รู้สึกขอบคุณมากๆ ที่มอบโอกาสนี้ให้กับพวกเรา กลายเป็นว่าตอนนี้มองอะไรรอบตัวก็เกิดเป็นไอเดียธุรกิจได้หมด มีความคิดที่เป็นระบบมากขึ้น กว้างขึ้น มองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ นี่คือบทเรียนที่เราได้เรียนรู้” 

 

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56

 

สำหรับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 ตัวอย่างของทีมที่ล้มแล้วลุก สามารถปรับตัว แก้ปัญหา และเดินหน้าโครงการได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเจออุปสรรค เล่าว่า “ช่วงแรกยอมรับว่ามีปัญหา เพราะคิดว่าเป็นโครงการที่ให้ทดลองทำสินค้าเท่านั้น ไม่คิดว่าจะต้องทำจริง จึงเลือกผลิตภัณฑ์มาสก์หน้า กว่าจะรู้ว่าต้องทำจริงก็ผ่านมาครึ่งทาง เลยต้องเปลี่ยนแผนใหม่มาทำเป็นคุกกี้จาก 10 ชนเผ่าแทน 

 

“ถึงจะผิดพลาดแต่เราไม่ยอมแพ้ เมื่อล้มก็ต้องลุกให้เป็น บทเรียนที่ได้จากการเข้าแคมป์คือ จะทำอะไรต้องวางแผน นอกจากจะช่วยให้การทำงานราบรื่นกว่าไม่มีแผน การวางแผนช่วยให้เราบรรลุตามเป้าหมายได้เร็วขึ้น น่าจะนำไปปรับใช้กับการเรียนได้ อย่างเช่น วางแผนการอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย หรือวางแผนเพื่อพัฒนาตัวเอง สุดท้ายคืออย่าหยุดที่จะเรียนรู้ แม้แต่ความผิดพลาดก็เป็นบทเรียนที่เราสามารถเรียนรู้จากมันได้”   

 

 

ดร.อดิศวร์ กล่าวว่า “สำหรับเด็กๆ การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เกิดขึ้นแน่นอนคือ ประสบการณ์จากความสำเร็จและล้มเหลวล้วนเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีให้พวกเขานำไปใช้วิเคราะห์ ต่อยอด และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างตรงจุด พวกเขาได้เรียนรู้การวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ พัฒนาทักษะการแก้ปัญหา เรียนรู้ที่จะล้มแล้วลุก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ภายใต้ความท้าทายของระยะเวลาที่จำกัด อีกทั้งได้เรียนรู้และเห็นความสำคัญของการทำงานเป็นทีม ทั้งการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบตามทักษะความชำนาญของแต่ละคน การไว้วางใจและเชื่อใจกันในทีม การเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ได้เรียนรู้ที่จะรับฟังและหาจุดร่วม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกัน 

 

“ขณะเดียวกันครูที่มาในฐานะผู้สังเกตการณ์จะเห็นว่า กระบวนการเรียนรู้ของเด็กเป็นแบบไหน สามารถนำไปใช้และช่วยให้เด็กบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ส่วนผู้ปกครองจะเห็นได้ว่า วิธีคิด วิธีมองปัญหา และแก้ปัญหาของเด็กๆ เปลี่ยนไปอย่างแน่นอน” 

 

นันท์ณิภัค วังแสง และ อดิศักดิ์ สิทธิยศ ครูจากโรงเรียนพระธาตุพิทยาคม กล่าวว่า จะนำวิธีการเรียน-การสอนไปปรับใช้ในการจัดกิจกรรมของโรงเรียน โดยจะเน้นกิจกรรมสร้างประสบการณ์ที่สามารถนำไปใช้ในอนาคต นำไปทำเป็นอาชีพ หรือสร้างรายได้ช่วงปิดเทอม 

 

กิตติพันธ์ ท่าชัย และ วรรณศร แสงสง่า ครูจากโรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี บอกว่า ที่ผ่านมายังไม่เห็นหลักสูตรไหนที่สอนเรื่องการทำธุรกิจจริง เด็กๆ จึงได้รับประโยชน์อย่างมาก หลังจบโครงการได้มีการคุยกับเด็กๆ ถึงการนำองค์ความรู้ที่ได้มาไปส่งต่อให้กับเพื่อนๆ ในโรงเรียน อาจจัดเป็นกิจกรรมเสริมความรู้ต่อไป 

 

ดาราลักษณ์ อินปา และ เจนภพ วิถาน ครูจากโรงเรียนเชียงกลาง ประชาพัฒนา เผยว่า ในฐานะผู้สังเกตการณ์ก็ได้รับความรู้ไปด้วยเช่นกัน ทั้งความรู้ในแง่ธุรกิจ รวมถึงวิธีการสอนรูปแบบใหม่ที่พี่เลี้ยงจะเน้นให้แนวคิดและให้เด็กได้ทดลองลงมือทำเอง น่าจะนำไปปรับใช้ในห้องเรียนและสร้างประสบการณ์ให้กับนักเรียนต่อได้  

 

 

หากย้อนกลับไปที่ความมุ่งมั่นของมูลนิธิที่ต้องการมอบโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ และประสบการณ์จริง เพื่อให้เยาวชนมีความพร้อมที่จะใช้ชีวิตอย่างสมดุลในอนาคต ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคงเป็นที่ประจักษ์ถึงความสำเร็จของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ 

 

จะเห็นว่าไม่มีการนำตัวเลขยอดขายมาเป็นตัวตัดสิน แต่วัดผลลัพธ์จากประสบการณ์และบทเรียนที่เยาวชนทั้ง 40 คนได้รับ 

 

“จริงๆ แล้วเราจัดทำแคมป์นี้ขึ้นมาไม่ได้ต้องการเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่คิดคืออะไร ทำกำไรหรือไม่ แต่มันคือการผจญภัยตั้งแต่จุดแรกที่เข้ามาจนถึงจุดสุดท้าย พวกเขาได้อะไร และสิ่งที่ได้คือองค์ความรู้อะไรใหม่ๆ และได้รู้ว่าการทำธุรกิจไม่ง่าย ต้องมีความรู้ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการ การบัญชี และเรื่องอื่นๆ อีกมากมายให้ต้องเรียนรู้ไม่จบสิ้น แต่เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่าน้องๆ ที่ผ่านแคมป์เพาะพันธุ์ปัญญาจะคิดว่าเขาไปต่อได้ และเข้าใจว่าเมื่อไรที่การเรียนรู้จบ การพัฒนาก็จบลงเช่นกัน” ดร.อดิศวร์ กล่าว

 

และทั้งหมดนี้คือปรัชญาการทำงานของมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาที่จะพัฒนาความรู้และทักษะด้วยการสร้างประสบการณ์จริงให้แก่เยาวชน เพื่ออนาคตที่ยังยืน และจะเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโอกาสทางการศึกษาจากประสบการณ์จริง พัฒนาทุนมนุษย์ให้มีสมรรถนะในการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising