×

โดพามีน สารเคมีในสมองเบื้องหลังรักหมดโปรฯ

24.12.2022
  • LOADING...

เคยไหม เวลาแอบชอบหรืออยู่ในช่วงทำความรู้จักใครสักคนแล้วรู้สึกหัวใจเต้นแรงเวลาอยู่ใกล้ๆ หรือได้ทำอะไรร่วมกัน แต่พอคบกันได้สักพัก ความรู้สึกตื่นเต้นกลับลดน้อยลง อย่างนี้เรียกว่าหมดโปรโมชันแล้วหรือเปล่า?

 

‘โดพามีน’ คือกุญแจที่จะมาไขความลับจักรวาลของหัวใจ แม้หลายคนอาจจะรู้จักสิ่งนี้ในฐานะฮอร์โมนแห่งความสุข แต่แท้จริงแล้วคุณสมบัติของโดพามีนซับซ้อนยิ่งกว่านั้น เพราะมันยังมีส่วนในการควบคุมความรู้สึกและการตัดสินใจของเราด้วย ซึ่งถ้าเจาะจงกันในเรื่องของความรักความสัมพันธ์แล้ว ก็เป็นไปได้ว่าอาจมีส่วนที่ทำให้คนเราหมดรักกันได้จริงๆ 

 

โดพามีน คืออะไร

โดพามีน เป็นสารเคมีที่สมองมนุษย์สร้างขึ้นมาได้เอง ซึ่งแม้จะมีไม่เยอะ แต่เมื่อไรก็ตามที่ร่างกายเราหลั่งออกมา เราจะรู้สึกตื่นตัว หัวใจเต้นแรง ความดันเลือดสูงขึ้น รู้สึกกระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อพร้อมทำงาน อยากจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง 

 

นอกจากนี้โดพามีนจะหลั่งในปริมาณมากขึ้นเมื่อเรารู้สึกพอใจหรือมีความสุขจากการได้ในสิ่งที่ต้องการ และไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร โดพามีนก็ยังคงหลั่งออกมาได้เสมอ แต่โดยปกติจะหลั่งออกมาเยอะที่สุดในวัยเจริญพันธุ์ คือในช่วงอายุประมาณ 18-30 ปี 

 

หนังสือ ‘The Molecule of More โมเลกุลแห่งความพอใจที่ไม่พอจริง’ ที่เขียนโดย Daniel Z. Lieberman และ Michael E. Long ได้เล่าถึงการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโดพามีนเอาไว้น่าอย่างสนใจมากๆ ในหลายแง่มุม 

 

ในอดีตเรารู้เพียงว่าโดพามีนเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีอื่นๆ เช่น อะดรีนาลีน ที่จะหลั่งมากขึ้นเวลาเรามีความสุข จนกระทั่งวันหนึ่ง Katharine Montagu นักวิจัยที่ทำงานในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ค้นพบว่าเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตโดพามีนกินพื้นที่ในสมองเพียง 0.0005% เท่านั้น และแม้ว่าจะผลิตออกมาไม่เยอะ แต่อิทธิพลของมันยิ่งใหญ่มาก 

 

การศึกษาทดลองปฏิกิริยาของโดพามีนที่เกิดขึ้นในสมอง

Katharine ได้ทำการทดลองโดยนำโคเคนผสมน้ำตาลเข้าไปในกระแสเลือดของผู้ที่ร่วมทดลองเพื่อให้พวกเขารู้สึกมีความสุข และในจังหวะนั้นเธอจะคอยสังเกตการณ์ไปด้วยเพื่อดูว่าส่วนไหนของสมองทำงานมากกว่าปกติ และพบว่าพื้นที่เล็กๆ ที่สร้างโดพามีนนี่เองที่ทำงานเยอะขึ้น หมายความว่าฮอร์โมนนี้จะถูกผลิตออกมาเยอะขึ้นในเวลาที่เราพอใจหรือมีความสุขกับอะไรสักอย่าง ทำให้โดพามีนมีชื่อเล่นว่า ‘ฮอร์โมนแห่งความสุขใจ’ ในการค้นพบช่วงแรกๆ

 

ในเวลาต่อมาก็เริ่มมีคนศึกษาและให้ความสนใจโดพามีนมากขึ้น จนได้พบข้อมูลเพิ่มเติมที่ซับซ้อนกว่านั้น เพราะแม้แต่ตอนที่เรากินอาหาร โดพามีนก็หลั่งเหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มศึกษาโดยสังเกตการตอบสนองของหนูทดลองเมื่อได้รับอาหารว่ามันจะตอบสนองเหมือนมนุษย์หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าโดพามีนของหนูก็หลั่งมากขึ้นเช่นกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือพอหนูทดลองได้อาหารบ่อยๆ เหมือนเดิมไปนานๆ สักพักโดพามีนก็ไม่หลั่ง ซึ่งแปลว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง อาหารก็ไม่สามารถเป็นตัวกระตุ้นโดพามีนได้อีกต่อไป

 

จนกระทั่งนักวิจัยคนหนึ่งที่ชื่อ Wolfram Schultz ได้ทำการทดลองโดยฝังขั้วไฟฟ้าไว้ในสมองของลิงเพื่อคอยดูว่าโดพามีนจะหลั่งตอนไหนบ้าง วิธีการคือให้ลิงไปอยู่ในห้องที่มีกล่องสองใบพร้อมสัญญาณไฟ อาหารจะถูกนำไปวางสลับกันในกล่องใดกล่องหนึ่ง ช่วงแรกๆ นั้นลิงเปิดกล่องแบบสุ่ม เจอบ้างไม่เจอบ้าง แต่เมื่อเจออาหารก็ดีใจ และโดพามีนก็หลั่งออกมาตามปกติ แต่ไม่นานมันเริ่มสังเกตได้ว่าทุกครั้งที่ไฟติด กล่องนั้นจะมีอาหารเสมอ เมื่อลิงเกิดการเรียนรู้ กลายเป็นว่าโดพามีนไม่หลั่งตอนที่กินอาหารแล้ว แต่จะหลั่งตอนเห็นสัญญาณไฟติดแทน 

 

จากการทดลองนี้ นักวิจัยจึงได้ค้นพบว่าลิงตื่นเต้นจากการเห็นไฟมากกว่าตอนเปิดกล่องแล้วเจออาหารเสียอีก นั่นเป็นเพราะมันจะเห็นไฟติดในจังหวะที่คาดเดาไม่ได้ ระหว่างนั้นมันจึงรู้สึกลุ้นหรือตื่นเต้นว่าเมื่อไรไฟจะมา นำมาซึ่งข้อสรุปที่ว่าจริงๆ แล้วโดพามีนไม่ได้เป็นฮอร์โมนแห่งความสุขใจ แต่เป็นการตอบสนองต่อโอกาสและความคาดหวังในสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน โดยนักวิทยาศาสตร์เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า ‘ความผิดพลาดจากการคาดเดารางวัล’ (Reward Prediction Error) คือเราจะหลั่งโดพามีนเมื่อเจอสิ่งที่ผิดคาด และสิ่งนั้นจะต้องให้ผลลัพธ์ดีกว่าที่เราคาดไว้ด้วย

 

เช่นเดียวกับในบริบทของความรัก การที่เรารู้สึกตื่นเต้นน้อยลงกับคนรักที่คบกันมาสักระยะ เพราะเราเจอกับสิ่งที่จำเจ เรารู้อยู่แล้วว่าเขาจะมีปฏิกิริยาตอบสนองแบบไหน จนเหมือนไม่มีอะไรน่าค้นหาอีกต่อไป แต่เมื่อได้เจอหรือได้คุยกับคนใหม่ที่ไม่เคยรู้จัก เรากลับเกิดความรู้สึกตื่นเต้นอีกครั้ง เพราะเขาคนนั้นมีอะไรที่เรายังคาดเดาไม่ได้นั่นเอง 

 

มีการศึกษาพบว่าโดพามีนจะทำงานได้ดีในช่วง 12-18 เดือนแรกของสิ่งกระตุ้นนั้นๆ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมช่วงโปรโมชันของการจีบกันมักจะอยู่ในช่วงเวลาไม่เกิน 1 ปี หรือบางคนอาจจะสั้นกว่านั้น และนี่อาจเป็นคำตอบที่ว่าทำไมเราถึงหมดรักกันได้ในระยะเวลาหนึ่ง

 

ไม่อยากหมดรัก สมองจะต้านทานโดพามีนได้ไหม

คำตอบคือได้ เพราะแม้จะหมดช่วงของความตื่นเต้นเร้าใจไปแล้ว แต่รูปแบบของความรักและความสัมพันธ์ยังสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่เฟสของความผูกพันได้ ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาไม่เท่ากันในแต่ละคน 

 

การที่ความรักในรูปแบบความผูกพันจะเข้ามาแทนที่ความตื่นเต้นได้ จำเป็นต้องอาศัยกลุ่มฮอร์โมนอีกชุดหนึ่งคือ H&N (Hear & Now) เช่น เซราโทนิน ออกซิโทซิน เอ็นดอร์ฟิน รวมไปถึงสารเคมีในกลุ่มแอนโดรแคนาบินอยด์ ซึ่งถือว่าเป็นกัญชาของสมองก็ว่าได้

 

กลุ่มฮอร์โมน H&N จะก่อให้เกิดความรักที่ผูกพัน ลึกซึ้ง ในแบบของคู่ชีวิต ไม่ใช่ความรักหวือหวา เพราะคู่รักที่ได้ผ่านการใช้ชีวิตมาด้วยกันมากขึ้น หรือมีเพศสัมพันธ์กันบ่อยๆ จะเป็นการกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนกลุ่มนี้ และทำให้เรารู้สึกผูกพันกันมากยิ่งขึ้น โดยการเปลี่ยนผ่านจากเฟสโดพามีนเป็นเฟส H&N อาจไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่ก็สามารถทำได้ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของคู่นั้นๆ ด้วย  

 

ไม่ใช่แค่เรื่องความรัก แต่โดพามีนมีอิทธิพลยิ่งกว่านั้น 

โดพามีนไม่ได้มีอิทธิพลกับเราแค่เรื่องความรักและเซ็กซ์เท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลในการควบคุมการใช้ชีวิตและการตัดสินใจในแง่มุมอื่นๆ อีกมาก เช่น ขณะขับรถไปทำงานตอนเช้า เราอาจจะเคยคิดวางแผนว่าควรออกจากบ้านกี่โมง หรือใช้เส้นทางไหนเพื่อหนีรถติด และเราจะมีความสุขถ้าทุกอย่างเป็นไปอย่างที่คิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกขับเคลื่อนด้วยโดพามีนในสมองของเราเช่นกัน 

 

นอกจากการตัดสินใจแล้ว โดพามีนยังมีความสามารถในการควบคุมด้วย ยกตัวอย่างสถานการณ์เช่น ถ้าอยากจะซื้อรถยนต์สักคน เราคงไม่วางเงินซื้อทันทีทันใด แต่โดพามีนจะหลั่งออกมาเพื่อควบคุมการตัดสินใจ รั้งให้เราใช้เวลาเพื่อกลับไปคิด รวบรวมข้อมูล เปรียบเทียบราคาว่าตอบโจทย์หรือเปล่า ควรซื้อหรือไม่

 

ไม่เพียงเท่านั้น ในบางสถานการณ์โดพามีนก็ทำให้เราหยุดไม่อยู่ ห้ามตัวเองไม่ได้ เพราะว่าพอใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากเหลือเกิน เช่น สาวๆ ที่เสพติดการช้อปปิ้ง นักธุรกิจที่อยากหาเงินให้มากขึ้นเรื่อยๆ หรือที่เห็นภาพชัดสุดๆ คือเหล่านักพนันทั้งหลาย ที่ไม่ว่าเกมนั้นจะได้หรือเสีย เราก็อยากจะเล่นต่ออีกสักตาอยู่ดี

 

ข้อมูลสนุกๆ ของโดพามีนยังมีอีกเยอะมากๆ ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลด้านการเมืองหรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตในแง่มุมต่างๆ ใครที่สนใจอยากได้ข้อมูลมากขึ้น แนะนำให้ลองไปหาหนังสือ ‘The Molecule of More โมเลกุลแห่งความพอใจที่ไม่พอจริง’ อ่านกันดู 

 


 

Credits


The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง

Proofreader ชนเนตร ลอยครุฑ

Webmaster วิศิษฏ์ นิติพัฒนาภิรักษ์

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



X
Close Advertising