×

บาดเจ็บจากการออกกำลังกาย แค่ไหนต้องผ่าตัด

02.12.2022
  • LOADING...

เส้นเอ็น สำคัญแค่ไหน แล้วตัวคุณเองเคยใส่ใจดูแลมันบ้างหรือเปล่า ยิ่งสำหรับคนที่ชอบออกกำลังกาย หากหลงลืมการวอร์มอัพและคูลดาวน์ ก็อาจมีความเสี่ยงในการบาดเจ็บมากกว่าคนอื่น เพราะเส้นเอ็นเหล่านี้นับว่าเป็นส่วนสำคัญสำหรับการเคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วนไม่แพ้กับกระดูกและข้อเลยก็ว่าได้ 

 

เอพิโสดนี้ ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ ชวน หมอนิก-นพ.กนกพล ธนกิจรุ่งทวี แพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อ ชำนาญการด้านข้อเข่าและสะโพก มาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของเส้นเอ็นว่ามีความสำคัญแค่ไหน ถ้าเส้นเอ็นขาดจะเกิดอะไรขึ้น แล้วถ้าบาดเจ็บกะทันหัน เราจะมีวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นอย่างไร

 

เส้นเอ็นอยู่ตรงไหน สำคัญอย่างไรกับร่างกายของเรา 

เบื้องต้นต้องทำความรู้จักเส้นเอ็นในร่างกายก่อนว่าหลักๆ จะมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือ Ligament เป็นเอ็นที่เชื่อมระหว่างข้อ คือระหว่างกระดูกกับกระดูกด้วยกัน โดยจะมีหน้าที่คือทำให้ข้อเกิดความมั่นคง แข็งแรงในขณะที่ขยับ ทำให้เคลื่อนไหวได้อย่างมั่นคงมากขึ้น

 

อีกแบบหนึ่งคือ Tendon เป็นเส้นเอ็นที่เชื่อมอยู่ระหว่างกระดูกกับกล้ามเนื้อ เวลามีการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อจะต้องดึงให้ข้อเกิดการขยับ ซึ่ง Tendon จะเป็นตัวที่ถ่ายทอดแรงจากกล้ามเนื้อไปเกาะกระดูก และทำให้ข้อสามารถเคลื่อนไหวได้

 

ฉะนั้นเส้นเอ็นเหล่านี้จึงมีความสำคัญมาก เพราะเราใช้มันตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว เปรียบเสมือนตัวที่กำหนดให้ข้อยังสามารถใช้งานต่อไปได้ ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวในรูปแบบไหนก็ตาม 

 

เส้นเอ็นบาดเจ็บหรืออักเสบ เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

  • การใช้งานซ้ำๆ ในท่าเดิมนานๆ ยกตัวอย่างเช่น พ่อครัวที่ต้องกระดกข้อมือทำกับข้าวทุกวัน หรือเกมเมอร์ที่ต้องจับเมาส์ในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ 
  • พฤติกรรมประจำวันที่อาจจะอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม จนทำให้เส้นเอ็นเกร็งตัวตลอดเวลาและเกิดการอักเสบได้ เช่น นั่งทำงานผิดท่า หรือนอนผิดท่า
  • อุบัติเหตุ อาจเป็นการกระแทกแรงๆ หรือเกิดจากการเล่นกีฬา
  • อายุมากขึ้น ความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นก็จะลดลง ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย

 

ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงการบาดเจ็บของเส้นเอ็นก็ไม่ได้หมายความว่าเส้นเอ็นฉีกขาดต้องผ่าตัดเย็บซ่อมไปซะทั้งหมด บางครั้งเรายังสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ เพราะแต่ละข้อของร่างกายเราประกอบไปด้วยหลายเส้นเอ็น ช่วยกันทำงานให้ข้อต่อขยับได้อย่างมั่นคง เมื่อมีการบาดเจ็บของเส้นเอ็นก็อาจจะเป็นแค่การฉีกขาดบางส่วน (Sprained) อาจจะมีอาการปวด บวมแต่ก็ยังพอจะใช้งานต่อได้ เช่นเวลาเราข้อเท้าแพลง เราก็สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นง่ายๆ ได้โดยใช้หลักการ RICE 

 

R = Rest พักใช้งานของบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติม

I = Ice ประคบเย็น โดยใช้น้ำแข็งหรือเจลเย็นประคบในบริเวณที่บาดเจ็บ เพื่อลดอาการบวมและความเจ็บปวด  

C = Compression การรัดด้วยผ้ายืด เพื่อป้องกันการบวมเพิ่มขึ้น โดยต้องพันให้พอดี ไม่รัดแน่นจนเกินไป 

 

E = Elevation ยกส่วนที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เช่น การนอนยกขาสูง เพื่อให้เลือดไหลเวียนกลับสู่หัวใจได้สะดวก ลดการบวมบริเวณที่บาดเจ็บได้ 

 

หากมีอาการเส้นเอ็นบาดเจ็บหรืออักเสบ โดยทั่วไปแล้วหากดูแลและได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี เส้นเอ็นก็จะสามารถสมานและซ่อมแซมตัวเองได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่จะมีอยู่เส้นหนึ่งที่ถ้าขาดเมื่อไร มันไม่มีทางจะสมานเองได้เลย นั่นก็คือ ‘เอ็นไขว้หน้า’ ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น และโดยส่วนมากจะพบปัญหานี้ในกลุ่มของคนที่เล่นกีฬา

 

เอ็นไขว้หน้าขาด อันตรายแค่ไหน

เอ็นไขว้หน้าจะอยู่ที่บริเวณหัวเข่า มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้กระดูกหน้าแข้งเคลื่อนไปด้านหน้าเมื่อมีการขยับ หากเล่นกีฬาอยู่แล้วมีการปะทะรุนแรง เช่น เหยียดขามากเกินไป หรือมีการบิดหมุนของเข่า ก็มีโอกาสที่เอ็นไขว้หน้าจะขาดได้ 

 

อาการของเอ็นไขว้หน้าขาด เราจะไม่ได้ปวดอย่างรุนแรง แต่จะรู้สึกเหมือนเข่าไม่มั่นคง วิ่งแล้วแกว่งๆ รู้สึกเสียวๆ ที่บริเวณเข่าขณะเดินหรือวิ่ง เนื่องจากกระดูกเคลื่อนตัวไปด้านหน้าโดยไม่มีเส้นเอ็นมาหยุดไว้ เพราะมันขาดไปแล้วนั่นเอง

 

โดยสาเหตุที่เอ็นไขว้หน้าไม่สามารถสมานหรือซ่อมแซมตัวเองได้ เป็นเพราะภายในข้อเข่ามีน้ำไขข้อซึ่งจะไปยับยั้งการสมานของเส้นเอ็น จึงเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถรักษาโดยไม่ผ่าตัดได้

 

ถ้าเอ็นไขว้หน้าขาด แต่ไม่อยากผ่าตัด ก็สามารถทำได้ในบางกรณี โดยจะเหมาะกับคนที่ไม่ได้ใช้งานเยอะ ถ้าไม่ได้มีกิจกรรมที่ต้องขยับตัวมากก็จะไม่มีผลกระทบเท่าไรนัก แต่สิ่งที่ต้องรู้คือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว เพราะถ้าปล่อยให้เอ็นไขว้หน้าขาดนานๆ โดยไม่ทำอะไร กระดูกบริเวณเข่าของเราจะมีการเคลื่อนไหวทุกครั้งที่เราขยับ ทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อถูกเสียดสีมากขึ้น และมีโอกาสที่ข้อเข่าจะเสื่อมได้เร็วมากกว่าคนปกติ

 

ชอบเล่นกีฬา จะลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บได้อย่างไร 

เรื่องของการลดความเสี่ยงการบาดเจ็บของเส้นเอ็น สามารถเริ่มได้ตั้งแต่การเลือกอุปกรณ์เลย สมมติว่าชอบไปวิ่ง แทนที่จะใส่รองเท้าแตะ ก็ต้องเลือกรองเท้าที่วิ่งที่รับน้ำหนักได้ดี ออกแบบมาให้การซัพพอร์ตกับรูปเท้า นอกจากนี้เรื่องสถานที่ก็สำคัญ ถ้าวิ่งบนพื้นปูน เข่าจะได้รับแรงกระแทกมากกว่า แต่ถ้าวิ่งบนพื้นดินหรือยางสังเคราะห์ น้ำหนักและการกระแทกต่อเข่าจะน้อยกว่า และพื้นที่วิ่งก็ควรจะเรียบ ไม่ควรลาดเอียง เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ

 

เลเวลถัดมาที่จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้อีกขั้นหนึ่งคือการวอร์มอัพก่อนออกกำลังกายทุกครั้งด้วยการยืดเหยียด หรือ Stretching ซึ่งโดยทั่วไปมีอยู่ 2 รูปแบบคือ Dynamic Stretching และ Static Stretching

 

Static Stretching คือรูปแบบการยืดเหยียดที่เรามักจะเห็นคนส่วนใหญ่ทำกันอยู่แล้ว ซึ่งก็คือการยืดเหยียดอยู่กับที่ เช่น ดึงข้อ ดึงเข่า ซึ่งจริงๆ แล้ววิธีนี้ไม่ได้ลดการบาดเจ็บได้ดีเท่ากับ Dynamic Stretching ที่มีการขยับไปมาของข้อก่อนที่จะออกกำลังกาย คล้ายๆ กับการวิ่งจ็อกกิ้ง คือการวอร์มด้วยการวิ่งยกขาสูงช้าๆ สั้นๆ แล้วค่อยเพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อยๆ ภายในเวลาประมาณ 5 นาที แล้วต่อด้วย Static Stretching ปิดท้ายด้วยการออกกำลังกายจริง

 

หลังออกกำลังกายก็ต้องไม่ลืมที่จะคูลดาวน์ด้วย ซึ่งอาจจะเลือกทำแค่ Dynamic Stretching ก็ได้ แต่หากไม่เหนื่อยเกินไป การทำ Static Stretching ร่วมด้วยก็จะดีมาก เพราะจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อที่เคยยืดหดเร็วๆ จากการออกกำลังกายค่อยๆ ช้าลงจนอยู่ในระดับปกติ

 

สำหรับบางคนที่อาจจะเคยมองข้ามเส้นเอ็นว่าไม่สำคัญ และมัวไปให้ความสำคัญกับกระดูกและข้อมากเดินไป จนลืมคิดไปว่าเส้นเอ็นก็เป็นโครงสร้างสำคัญกับความมั่นคงของข้อเช่นกัน ฉะนั้นบางทีที่รู้สึกเราปวดเล็กๆ น้อยๆ ก็อย่าปล่อยทิ้งไว้ หรือกินยาแก้ปวดไปเฉยๆ ถ้ามีการปวดก็อย่านิ่งนอนใจ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่ามีความผิดปกติมากน้อยแค่ไหน ต้องรักษาอย่างไร หรือเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรเพื่อลดการบาดเจ็บของข้อได้บ้าง เพื่อที่เราจะได้สามารถเคลื่อนไหวอย่างอิสระไปได้นานๆ 

 


 

Credits


The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

The Guest นพ.กนกพล ธนกิจรุ่งทวี 

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising