×

แก่แล้วสายตาสั้นจะหายไปไหม เพราะสายตายาวเข้ามาแทน?

03.09.2022
  • LOADING...

สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ปัญหาด้านการมองเห็นที่คนจำนวนมากต้องประสบพบเจอจนเหมือนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วความเชื่อที่ว่า คนที่สายตาสั้น เมื่ออายุมากขึ้นแล้วสายตายาวจะมาแทนที่จนทำให้มองชัดขึ้น ข้อมูลนี้เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า

เอพิโสดนี้ ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ ชวน หมอยุ้ย-พญ.วัธนีย์ ศรีพวาทกุล จักษุแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านดวงตาโดยตรง เจ้าของเพจ ‘เลสิคหมอยุ้ย- LASIK by Dr. Yui’ จะมาคลี่คลายทุกข้อสงสัยให้ทุกคนได้ฟังกัน

 

สายตาสั้น-สายตายาว-สายตาเอียง เกิดขึ้นได้อย่างไร 

กระบวนการมองเห็นของเราจะมีองค์ประกอบหลักคือ กระจกตาและเลนส์ตา สองส่วนนี้ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเลนส์นูนที่รวมแสงจากภายนอกให้เข้าไปตกที่จอตา โดยตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับค่าสายตาคือ ‘จุดรับภาพชัด’ ซึ่งตำแหน่งของมันจะขึ้นอยู่กับความยาวกระบอกตาของแต่ละคน หลังจากแสงหักเหผ่านกระจกตาและเลนส์ตาแล้ว ถ้าหากมาตกที่จุดรับภาพชัดพอดีจะเรียกว่าสายตาปกติหรือไม่มีค่าสายตา (Emmetropia) แต่ถ้าแสงหักเหแล้วมาตกก่อนที่จะถึงจุดรับภาพชัดเรียกว่าสายตาสั้น (Myopia) และถ้าแสงหักเหตกเลยจุดรับภาพชัดออกไปเรียกว่าสายตายาว (Hyperopia) 

 

และการที่แสงไม่ได้หักเหตกในตำแหน่งที่ควรจะเป็น คนคนนั้นก็จะมีอาการตามัว ถ้าเป็นสายตาสั้นก็จะมองได้ชัดแค่เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถมองไกลได้ แต่จะมองชัดที่ระยะเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับค่าสายตาด้วย 

 

ส่วนสายตาเอียง (Astigmatism) คือการที่แสงหักเหตกที่จุดรับภาพชัดของดวงตาแต่ละข้างคนละตำแหน่งกัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาการตาเหล่หรือตาเขอย่างที่บางคนอาจเคยเข้าใจผิด ซึ่งอาการของคนสายตาเอียงจะมองไม่ชัดเหมือนกัน แต่เป็นการมองไม่ชัดแบบที่ภาพหรือตัวอักษรไม่คมมากกว่า ไม่ได้ไม่ชัดไปทั้งภาพเหมือนกับคนที่สายตาสั้นหรือสายตายาวเป็น 

 

โดยรวมแล้วการมองเห็นไม่ชัด ไม่ว่าสายตาสั้น ยาว หรือเอียงก็ตาม บางคนจะพบว่าการหรี่ตาจะทำให้การมองเห็นดีขึ้น นั่นก็เพราะกล้ามเนื้อในตาพยายามเพ่งเพื่อปรับโฟกัสให้ชัด จึงเป็นที่มาว่าถ้าเราเพ่งสายตาไปนานๆ ก็จะทำให้มีอาการปวดหัวหรือปวดตานั่นเอง 

 

สายตายาวกับสายตายาวตามวัย

เป็นประเด็นที่เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน เพราะอาการ สายตายาว (Hyperopia) ที่เกิดจากการที่แสงหักเหตกเลยจุดรับภาพชัดออกไปตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้า เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดได้ทั่วไปเหมือนอาการสายตาสั้นและสายตาเอียง ซึ่งอาการสายตายาวนี้บางทีอาจพบได้ในเด็กอายุ 4-5 ขวบ โดยจะยาวไม่มาก ค่าสายตาประมาณ 100-200 เท่านั้น แต่เพราะว่าความยาวลูกตาของเด็กยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงยังไม่จำเป็นต้องใส่แว่น เพราะมีโอกาสที่ค่าสายตาจะค่อยๆ กลับเข้าใกล้ศูนย์ ซึ่งเป็นค่าสายตาปกติที่อายุประมาณ 12 ปี  

 

สายตายาวตามวัย (Presbyopia) เป็นอาการที่มักถูกเข้าใจผิดกับสายตายาวปกติ เพราะภาษาไทยใช้คำเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วสายตายาวตามวัยเป็นความเสื่อมที่ทุกคนจะต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะเคยผ่านการเลสิกมาแล้วก็มีโอกาสเจอสายตายาวตามวัยได้เช่นกัน โดยจะเริ่มมีอาการเมื่ออายุประมาณ 40 ปี ซึ่งความผิดปกติส่วนนี้เกิดจากเลนส์ ซึ่งเป็นกลไกส่วนหนึ่งในการหักเหแสง

 

ในการมองใกล้หรือมองไกล เลนส์ตาจะมีการเปลี่ยนรูปเพื่อให้มีกำลังหักเหแสงได้ดีขึ้น ถ้ามองไกลเลนส์จะเรียว ถ้ามองใกล้เลนส์จะโป่งออก แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น เลนส์ตาของเราจะเริ่มแข็งและไม่สามารถเปลี่ยนรูปให้นูนได้เท่าเก่า ทำให้ระยะที่เราเคยมองใกล้ได้ดีเปลี่ยนตามไปด้วย แบบเดียวกับการที่เราเห็นพ่อแม่ต้องยื่นของในมือออกไปให้ไกลขึ้น เพื่อให้มองเห็นชัดขึ้นนั่นเอง 

 

เพราะฉะนั้นความเชื่อที่ว่า เมื่ออายุมากขึ้น สายตายาวจะมาลดทอนสายตาสั้นให้ดีขึ้นได้จึงไม่เป็นความจริงเสียทีเดียว แต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่ว่าตอนเด็กคุณจะมีสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ถ้าหากอาการสายตายาวตามวัยมาถามหาในช่วงวัย 40 คนคนนั้นก็จะมีสองค่าสายตาในคราวเดียว ค่าสายตาก่อนหน้าไม่ได้หายไปไหน แต่อาจจะลดลงแค่บางส่วน ซึ่งน้อยมากๆ เช่น เคยสายตาสั้น 500 อาจลดลงมาเหลือ 450 เป็นต้น 

 

ซึ่งในกรณีของคนที่มีสายตาปกติมาตลอดชีวิต ถ้ามีอาการสายตายาวตามวัยก็สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใส่แว่น เพื่อให้มองใกล้ได้ชัดขึ้น แต่ถ้าเคยสายตาสั้นมาก่อนแล้วมาเจอสายตายาวตามวัยซ้ำอีก ก็จะต้องใส่แว่นที่มีเลนส์สองระยะในอันเดียว ซึ่งปัจจุบันนี้มี 2 แบบ คือ เลนส์ Bifocal ที่จะมีรอยบากตรงกลาง ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไร เพราะจะทำให้ภาพกระโดด ส่วนอีกแบบคือ เลนส์ Progressive ที่ช่วยให้มองเห็นได้ทุกระยะในคราวเดียวแบบไร้รอยต่อ 

 

เราควรตรวจสุขภาพตาเมื่อไรและบ่อยแค่ไหน

ค่าผิดปกติของสายตาจะค่อยๆ เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และมักจะหยุดที่อายุประมาณ 18-20 ปี ผู้ปกครองจึงควรต้องคอยสังเกตอาการเด็กๆ ในช่วงวัยนี้ เพราะถ้าหากเด็กมองไม่ชัดแล้วไม่ได้รับการแก้ไข อาจทำให้ค่าสายตาเปลี่ยนเร็วกว่าที่ควรจะเป็น และส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ในช่วงวัยนั้นๆ  

 

แต่ถ้าตรวจแล้วเจอว่ามีปัญหาด้านค่าสายตา ปัจจุบันนี้ก็มีหลายทางเลือกในการแก้ไข เพื่อรักษาค่าสายตาของเราให้สามารถใช้ชีวิตได้ดีขึ้นในการมองเห็น

 

  1. การใส่แว่น ข้อดีคือ ง่าย ราคาถูก และปลอดภัย แต่อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกอยู่บ้างในการทำกิจกรรมบางอย่าง 

 

  1. ใส่คอนแท็กเลนส์ เหมาะกับคนที่ต้องการความคล่องตัว มีค่าสายตาเยอะ หรือค่าสายตาสองข้างต่างกันมากกว่า 400 (เช่น ข้างขวาสั้น 200 ข้างซ้ายสั้น 600) เพราะในการใส่จะไม่มีระยะห่างระหว่างเลนส์กระจกตา ทำให้คุณภาพการมองเห็นดีกว่า แต่จะมีข้อควรระวังหลายอย่างในเรื่องการดูแลตัวเอง เพราะถ้าใส่ไม่ถูกต้องหรือดูแลความสะอาดไม่ดีพอ ก็มีโอกาสติดเชื้อถึงขั้นตาบอดได้เลย 

 

  1. การทำเลสิก เรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาอย่างถาวร เพราะทำแล้วจะไม่ต้องกลับไปใส่แว่นหรือคอนแท็กเลนส์อีก วิธีนี้จะเป็นการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนความโค้งของกระจกตา ถ้าสายตาสั้นก็จะใช้เลเซอร์เจียกระจกตาให้มันแบนลง ถ้าสายตายาวก็จะเจียกระจกตาให้นูนขึ้น แต่ก่อนจะเข้าผ่าตัดได้ต้องผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญก่อนว่าสภาพตาและร่างกายอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมที่จะทำหรือไม่ โดยในปัจจุบันสามารถผ่าตัดค่าสายตาสั้นได้จนถึง 1,200 

 

 


Credits
The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

The Guest พญ.วัธนีย์ ศรีพวาทกุล

 

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์, ฉัฐนภา โพธิ์เงิน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising