Tomorrow is Now เอพิโสดนี้ ซู่ชิง-จิตต์สุภา ฉิน ชวนเดินทางออกไปสำรวจอวกาศ กับเด็กรุ่นใหม่ไฟแรง เจ้าของเว็บไซต์และแฟนเพจ SPACETH.CO เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ กร-กรทอง วิริยะเศวตกุล
ทำไมคนไทยถึงสนใจเรื่องอวกาศ
จริงๆ คนไทยสนใจเรื่องนี้มานานแล้ว แต่มันมีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วงปี 2015 เทคโนโลยีไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กกำลังเป็นของใหม่มาแรง นาซาจึงได้ถ่ายทอดสดระหว่างส่งยานอวกาศชื่อนิวฮอไรซันส์ (New Horizons) ไปสำรวจดาวพลูโต
‘ดาวพลูโต’ ที่อยู่ห่างไกล อาจคล้ายเป็นสัญลักษณ์ของความเหงาโดดเดี่ยวสำหรับคนไทย เมื่อเห็นเช่นนั้น ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกผูกพัน และมองว่าอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว ถึงขั้นมีการเข้าไปถล่มคอมเมนต์จำนวนมากจนเป็นที่จดจำไปทั่วโลก
ความเคลื่อนไหวล่าสุดจากนอกโลก
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพิ่งมีข่าวดีแรกจากยานอวกาศชื่อว่าอินไซท์ (Insight) ที่ไปสำรวจดาวอังคาร โดยระยะเวลาจากการสำรวจดาวเคราะห์ดวงนี้รอบที่แล้วกับรอบใหม่ห่างกันถึง 6 ปี ทันทีที่นักสำรวจส่งเสียงลมที่พัดผ่านบนดาวอังคาร จึงนับเป็นความตื่นเต้นครั้งใหญ่ เพราะนั่นคือเสียงแรกที่มนุษย์สามารถได้ยิน
เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่สักวันหนึ่ง มนุษย์จะย้ายไปอยู่บนดาวอังคาร
ตอนนี้หลายหน่วยงานเริ่มวางเป้าหมายที่การไปตั้งฐานอยู่อาศัยไกลถึงดาวอังคาร นาซาเรียกภารกิจนี้ว่า ‘การกลับไปดวงจันทร์ เพื่อเดินหน้าไปสู่ดาวอังคาร’ เป็นโครงการสำรวจใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เริ่มต้นจากการตั้งสถานีอวกาศรอบดวงจันทร์ ก่อนปล่อยยานสำรวจไปที่นั่น รอจนเทคโนโลยีต่างๆ มีความพร้อม ถึงเริ่มเดินทางสู่อวกาศชั้นลึก คือการไปอยู่บนดาวอังคารนั่นเอง
หากสงสัยว่าทำไมถึงมีช่องว่างอันยาวนานระหว่างการไปถึงดวงจันทร์และการรอสำรวจดาวอังคาร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ผ่านมา โครงการอวกาศอย่างอะพอลโล 13 ที่นักอวกาศเกือบไม่ได้กลับบ้าน หรือมีกระสวยอวกาศระเบิดไปถึง 2 ครั้ง ทำให้ต้องสูญเสียชีวิตของนักบิน ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าการสำรวจอวกาศยังคุ้มค่าอยู่หรือไม่ ถ้าเรามีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทำไมไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำไมต้องเอามนุษย์ไปเสี่ยงชีวิตอีก
เก็บกระเป๋าเตรียมท่องเที่ยวอวกาศ
จากเดิมที่คนมักคิดว่าการสำรวจอวกาศเป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐบาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอวกาศโดยตรงเท่านั้น แต่สมัยนี้หลายบริษัทอย่าง SpaceX ของอีลอนมัสก์ หรือ Virgin Galactic ของริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) ทำให้การเดินทางไปอวกาศดูเป็นเรื่องง่ายขึ้น อีกไม่นานเกินรอ เราอาจขึ้นสู่วงโคจรเหมือนกับการมีเครื่องบินโดยสารเดินทางจากนิวยอร์กไปลอนดอนเลยก็เป็นได้
จริงๆ เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ด้วยความร่ำรวยของมหาเศรษฐีเงินเหลือใช้ที่ขอจ่ายเงินให้หน่วยงานอวกาศของรัสเซีย เพื่อแลกกับการไปเที่ยวบนสถานีอวกาศ เขาต้องฝึกทักษะกับนักบินนานถึงครึ่งปี ก่อนจะได้บินไปอยู่บนสถานีนานาชาติอีก 1 สัปดาห์ เป็นประสบการณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟที่ได้ใช้ชีวิตเหมือนนักอวกาศ
ภาพคอนเซปต์การท่องเที่ยวและอยู่อาศัยในยานอวกาศ โดย Rick Guidice
ทั้งหมดที่เราพูดถึงยังอยู่ในรอบวงโคจรของโลก แต่เมื่อกลางปี 2018 นี้เอง SpaceX เพิ่งประกาศพาคุณยูซากุ มาเอซาวา (Yusaku Maezawa) นักท่องเที่ยวอวกาศชาวญี่ปุ่นคนแรกที่เหมาเที่ยวบินของยาน BFR เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวดวงจันทร์ในปี 2023 นี้
มนุษย์ต่างดาวมีจริงไหม
เป็นเรื่องที่ยังหาคำตอบไม่ได้ ถ้ามีจริง มันอาจไม่ได้มีรูปลักษณ์แบบที่เราเห็นตามภาพยนตร์ หากวันหนึ่งมีการสำรวจแล้วเจอแค่ในระดับไมโครเซลล์ ก็นับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่แล้ว ที่ทำให้มนุษย์รู้ว่าเราไม่ได้อยู่กันลำพังในจักรวาลแห่งนี้
ถ้าหากเราอยู่ลำพังบนจักรวาลแห่งนี้จริงๆ ก็อาจเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะที่ผ่านมาความพยายามสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบ หรือสำรวจหาสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะกลายเป็นเรื่องสูญเปล่าทั้งหมด
The Great Filter แนวคิดที่เชื่อว่า มีฟิลเตอร์ขนาดใหญ่ที่สิ่งมีชีวิตไม่สามารถผ่านข้ามไปได้ เป็นการทำลายล้างครั้งใหญ่ เทียบกับโลกเหมือนยุคไดโนเสาร์ที่โดนกวาดล้างครั้งใหญ่โดยอุกกาบาต ถึงขั้นมีการตั้งสมมติฐานว่าโลกเราอาจเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่ผ่าน The Great Filter มาได้แล้ว แต่ดวงอื่นยังคงติดอยู่ตรงนั้น ทำให้เราไม่อาจค้นพบสิ่งมีชีวิตอื่นได้ กลับกัน เราอาจเป็นสิ่งเดียวที่ยังไม่ผ่านจุดนั้น และกำลังรอเผชิญมันอยู่ก็ได้เช่นกัน
สามารถฟังพอดแคสต์ Tomorrow is Now
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host จิตต์สุภา ฉิน
The Guests ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน, กรทอง วิริยะเศวตกุล
Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข
Show Producer ปิยพร อรุณเกรียงไกร
Show Co-producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์