×

FemTech คลื่นธุรกิจลูกใหม่ที่รันโดยผู้หญิง เพื่อผู้หญิง

13.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time Index

01:14 FemTech คืออะไร

03:10 วางแผนครอบครัว ใครว่ายาก

11:35 โอกาสมหาศาลจาก Sheconomy

23:22 เปิดกว้างและเท่าเทียม?

เคยสงสัยไหม…

 

ทำไมเมื่อก่อนผู้หญิงมีตัวเลือกในการประกอบอาชีพน้อย

 

ทำไมคนทำสตาร์ทอัพส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย

 

ทำไมสินค้าบางอย่างก็ไม่เข้าใจหัวอกผู้หญิงเอาเสียเลย

 

แล้วทุกวันนี้สังคมเราเปิดกว้างสำหรับผู้หญิงอย่างเท่าเทียมแล้วหรือยัง

 

พอดแคสต์ Tomorrow is Now เอพิโสดนี้ ซู่ชิง-จิตต์สุภา ฉิน ชวนผู้หญิงสุดเก่งแห่งวงการสตาร์ทอัพ คุณอ้อ-พรทิพย์ กองชุน 
COO เเละผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta 
แพลตฟอร์มการลงทุนแบบเน้นคุณค่า และ หมอจิ๊บจี้-พ.ญ.พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Chiiwii แอปพลิเคชันที่ปรึกษาด้านสุขภาพสำหรับผู้หญิงมาพูดคุยกันถึง FemTech คลื่นธุรกิจลูกใหม่ที่รันโดยผู้หญิง เพื่อผู้หญิง

 

รู้จัก FemTech กันหน่อย

กระแส FemTech มีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์สนองอารมณ์หรือกระตุ้นเร้าความต้องการทางเพศของผู้หญิง ทั้งนี้ก็เพราะว่าเซ็กซ์ทอยในท้องตลาดส่วนใหญ่นั้นออกแบบโดยผู้ชาย และมักจะมีหน้าตารูปร่างประหลาด นักออกแบบหญิงจึงเกิดไอเดียออกแบบเซ็กซ์ทอยที่ดูเฟรนด์ลี่และสนองอารมณ์ของผู้หญิงได้จริง จนเกิดเป็นธุรกิจ SexTech นั่นเอง

 

Photo: Clue

 

นอกจากนี้ FemTech ยังครอบคลุมถึงสตาร์ทอัพที่คิดค้นพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะ เพื่อสุขภาพสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ เช่น แอปพลิเคชัน Clue ช่วยให้ผู้หญิงวางแผนการมีลูก หรือแม้แต่คุมกำหนดได้สะดวกง่ายดาย เพราะแอปฯ นี้จะช่วยบันทึกข้อมูลรอบประจำเดือนมา และคำนวณวันไข่ตกให้เสร็จสรรพ โดยไม่ต้องนับวันเองให้ยุ่งยาก

 

คุณอ้อแชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่า เธอเคยใช้แอปพลิเคชันนี้ เพื่อวางแผนมีลูกหลังแต่งงาน

 

“เชื่อไหม สิ่งที่ตลกคือ ตลอดเวลาที่เราใช้เทคโนโลยีพวกนี้ กลับไม่ตั้งท้องเลย วิเคราะห์เอาเองว่าอาจเป็นเพราะเราเข้มงวดกับมันมากเกินไป เหมือนกลายเป็นหน้าที่ที่ต้องทำไปเสียอย่างนั้น แต่หลังจากเลิกใช้ไปได้ 1 เดือน เรากลับตั้งท้องเฉย อาจเพราะมันเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องเครียด และเราก็รู้รูทีนร่างกายของตัวเองแล้วด้วย”

 

คุณอ้อยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อดีของการใช้เทคโนโลยีมาช่วยดูแลสุขภาพสำหรับผู้หญิงอีกแรงก็คือ เราสามารถเก็บข้อมูลสถิติเกี่ยวกับสุขภาพได้ เพื่อคอยเช็กว่ารอบเดือนมาปกติไหม หรือแม้แต่บันทึกอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวัน ระบบจะช่วยวิเคราะห์และแนะนำว่าช่วงไหนเราควรปรับอารมณ์หรือเตรียมตัวรับมือกับอารมณ์แปรปรวนของตัวเองอย่างไรนั่นเอง

 

ฝ่ายคุณหมอจิ๊บจี้ชี้ว่า การคิดค้นนวัตกรรมในยุคนี้จะเริ่มจากดูว่าปัญหาเกิดจากอะไร ถ้าเป็นปัญหาสุขภาพของผู้หญิง ผู้หญิงก็ย่อมเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีกว่าจากประสบการณ์ของตนเอง เช่น เครื่องออกกำลังกาย Pelvic Floor First ที่จะช่วยเพิ่มความกระชับส่วนอุ้งเชิงกรานของผู้หญิง (Pelvic Floor) ป้องกันปัญหาปัสสาวะเล็ดของผู้สูงอายุ ซึ่งมักเกิดกับผู้หญิงที่เคยคลอดลูกมาก่อน และเป็นปัญหาที่ผู้หญิงเท่านั้นจึงจะเข้าใจ

 

 

โอกาสมาชัวร์ เพราะผู้หญิงกำลังครองโลก!

บริษัท Frost & Sullivan คาดการณ์ว่า มูลค่าของตลาดเฟมเทค (FemTech) จะแตะ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 ตั้งแต่แอปฯ ที่เกี่ยวกับสุขภาพและ Well-Being ของผู้หญิง ไปจนถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่ออกแบบโดยผู้หญิง เพื่อผู้หญิง

 

คุณอ้อมองว่า ตลาด FemTech นั้นใหญ่แน่นอน สังเกตได้จากจำนวนประชากรโลกมีสัดส่วนของผู้หญิงครึ่งต่อครึ่งกับผู้ชาย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ในประเทศไทยเองก็มีจำนวนประชากรผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 1.2 ล้านคน และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

 

ที่สำคัญผู้หญิงยังมีพลังในการจับจ่ายใช้สอยมากกว่า 85% ของการจับจ่ายมาจากผู้หญิง ธุรกิจต่างๆ จึงพยายามพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อสร้าง Engagement กับผู้หญิงมากขึ้น จนเกิดเป็นเทรนด์ ‘Sheconomy’ ขึ้นมา

 

จากประสบการณ์การทำงาน Jitta คุณอ้อเริ่มเห็นแนวโน้มของผู้หญิงที่สนใจเรื่องการลงทุนเยอะขึ้น สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะผู้หญิงเลือกอยู่เป็นโสด และสัดส่วนของแม่เลี้ยงเดี่ยวก็เพิ่มขึ้น การวางแผนการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงแนะนำให้พัฒนาฟีเจอร์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน เข้าใจง่าย เพื่อลดกำแพงที่ผู้หญิง รวมทั้งผู้ใช้คนอื่นๆ มองว่าการลงทุนเป็นเรื่องเข้าใจยาก

 

ด้านหมอจิ๊บจี้เล่าถึงที่มาของ Chiiwii ว่า ผู้ที่เข้ามาสอบถามปัญหาสุขภาพมักจะเป็นผู้หญิง เพราะรู้สึกอายและไม่กล้าบอกใคร จึงพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันสำหรับขอคำปรึกษาจากแพทย์โดยตรง โดยผู้ใช้สามารถเลือกแพทย์ นัดวันและเวลา รวมถึงพูดคุยผ่านการแชท เสียง หรือวิดีโอ

 

สังคมเปิดกว้าง แต่ยังไม่มากพอ

เมื่อถามว่าปัจจุบันวงการธุรกิจและวิชาชีพอื่นๆ เปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงมากเพียงพอแล้วหรือยัง ทั้งสองมองว่าเปิดกว้างมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับมีสัดส่วนเท่าๆ กัน โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารนั้นมีผู้หญิงน้อยกว่ามาก ถ้าบริษัทสามารถดึงเอาจุดเด่นด้านดีของแต่ละฝ่ายมารวมกันก็จะกลายเป็นข้อได้เปรียบที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วและมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

 

แล้วเราจะบาลานซ์ได้อย่างไร นี่คือ 5 ข้อแนะนำเกี่ยวกับการทำงานที่ไม่ควรพลาด

 

1. เปลี่ยนภาพจำเดิม ผู้ชายไม่จำเป็นต้องเก่ง Tech ผู้หญิงก็เก่งได้

หมดยุคของการแบ่งแยกตีตรา (Stereotype) ว่าเพศไหนต้องเรียนหรือทำงานสายอะไร ศักยภาพของผู้หญิงไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้ชาย เพราะสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความสามารถความเชี่ยวชาญ ความชอบของแต่ละบุคคล และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย คุณหมอจิ๊บจี้ยังบอกกับเราว่า ปัจจุบันมีสัดส่วนของผู้หญิงในวงการแพทย์มากกว่าผู้ชายเสียอีก

 

2. เปลี่ยนทัศนคติใหม่ การมีลูกไม่ใช่อุปสรรค

ที่น่าตกใจคือ มีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งระดับผู้บริหารในแวดวงเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาเพียงแค่ 15% เท่านั้น บริษัทยักษ์ใหญ่มักจะมีพนักงานผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายในอัตรา 3:7 ซึ่งใน 3 คนนี้มีเพียงแค่ 1 คนเท่านั้นที่ก้าวไปถึงระดับผู้บริหารได้ ทั้งนี้ก็เพราะบริษัทมองว่า ผู้หญิงมีโอกาสจะต้องไปเลี้ยงดูลูกหรือดูแลครอบครัว อาจจะมี Commitment กับงานไม่มากพอ หรือไม่ก็ตัดสินใจลาออกด้วยเหตุผลอื่นในที่สุด

 

3. การปิดกั้นยังมีอยู่จริง

อีกข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ องค์กรส่วนใหญ่มีผู้บริหารเป็นผู้ชาย เมื่อต้องเลือกผู้บริหารคนใหม่มารับช่วงต่อหรือทำงานด้วยก็อาจจะเกิดอคติโดยไม่รู้ตัว (Unconscious Biased) และมีแนวโน้มจะเลือกผู้ชายมากกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ยังมีข่าวว่านักลงทุนในประเทศจีนประกาศว่าจะไม่ลงทุนกับสตาร์ทอัพที่มีซีอีโอเป็นผู้หญิง ทำให้เกิดกระแสโต้กลับ นักลงทุนและบริษัทกองทุนที่ไม่เห็นด้วยพากันประกาศว่าจะลงทุนในบริษัทที่มีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้หญิงทันที เช่น Gobi Partner

 

4. เทรนด์สนับสนุนกำลังมา

ไม่ใช่แค่ VC แต่บรรดาศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ Incubator และ Accelerator ก็ออกโรงสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยผู้หญิง เกิดการแข่งขัน Hackathon และโครงการ Women Entrepreneur เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้ามาพิตช์แข่งกัน ไอเดียใครน่าสนใจและมีศักยภาพโดดเด่นก็จะได้รับเงินทุนสนับสนุนไปปั้นธุรกิจต่อ ขณะที่กองทุนชื่อดังแห่งซิลิคอนแวลลีย์ 500 Startups เปิดตัวโครงการ 500 Women สำหรับลงทุนสนับสนุนผู้ก่อตั้งหญิงโดยเฉพาะ

 

5. อย่าสบประมาทตัวเอง และอย่าขัดขากันเอง

กว่าผู้หญิงจะก้าวไปถึงตำแหน่งระดับ C-Level ในสังคมการทำงานที่ผู้ชายเป็นใหญ่ได้ว่ายากแล้ว เจอผู้หญิงเขม่นกันเองอาจจะยิ่งแย่กว่า ที่จริงแล้วการอิจฉาเพื่อนร่วมงานเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ห้ามกันยาก ท้ายที่สุดแล้วสภาพแวดล้อมการทำงานและความเป็นมืออาชีพจะหล่อหลอมให้เรารู้จักแบ่งแยกหน้าที่กับความรู้สึกส่วนตัวได้เอง


แทนที่จะมองว่าการเป็นผู้หญิงเป็นอุปสรรค ลองมองข้ามเรื่อง ‘เพศ’ ใช้ชีวิตในแบบที่อยากใช้ และมั่นใจในความสามารถและจุดยืนของตัวเอง เท่านี้เราก็บรรลุเป้าหมายได้เช่นกัน

 


สามารถฟังพอดแคสต์ Tomorrow is Now
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย


 

Credits

 

The Host จิตต์สุภา ฉิน

The Guests พรทิพย์ กองชุน, พ.ญ.พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer ปิยพร อรุณเกรียงไกร

Show Co-producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์  

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X