ถ้าใครติดตามวงการหนังไทยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จะพบว่ามีหนังไทยเรื่องหนึ่งที่ตระเวนฉายตามเทศกาลหนังและกวาดรางวัลมากมาย ‘มะลิลา’ คือหนังเรื่องนั้น
นี่คือหนังยาวเรื่องที่ 2 ของ นุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับ LGBT ไทยเพียงไม่กี่คนที่พาหนังตัวเองไปสู่สายตาชาวโลกและได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ ที่ทุกขั้นตอนของหนังเต็มไปด้วยความใส่ใจ ละเมียดละไม และมีสายตาที่มองเพศทางเลือกอย่างเข้าใจและเป็นจริง
คุณเติบโตมาในครอบครัวที่มีการเลี้ยงดูแบบไหน
คุณพ่อคุณแม่เป็นหมอกับพยาบาลค่ะ ตอนเด็กๆ เราก็จะอยู่ในโรงพยาบาล จำได้ว่าเป็นเด็กค่อนข้างโลกส่วนตัวสูง เราก็จะชอบเล่นอะไรที่ไม่ค่อยเหมือนกับคนอื่นสักเท่าไร ไม่ได้เล่นตุ๊กตา แต่เราจะเล่นทำยาพิษ เป็นคนชอบดูสมุนไพรในสวนสมุนไพรค่ะ แล้วศึกษาว่าพืชชนิดนี้กินแล้วก็ตาย โอเคชอบมาก (หัวเราะ) จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก อุ๊ย ชอบ แล้วก็ชอบผสมยาพิษ อย่างกบต้องมีพิษแน่เลย ฉันต้องเอาเมือกลูกอ๊อดมาจัดการทำยาพิษดีกว่า แล้วก็ชอบทำเขื่อน สร้างเขื่อนใต้ถุนบ้าน เพราะสมัยก่อนมีน้ำไหลลงมาจากการล้างจานลงมาใต้ถุนบ้าน เราก็จะขุดเป็นเขื่อนว่าน้ำตรงนี้ไหลมา เราก็จะกั้นเขื่อนไว้ให้มันไหลลงมา ประหลาดมาก
แล้วเรารู้ตัวเรื่องเพศสภาพของเราเมื่อไร
ไม่รู้ เพราะสมัยเด็กเรายังขโมยหนังสือโป๊ของพ่อของอามาดู แล้วก็รู้สึกว่าเรามีอารมณ์กับผู้หญิง เรารู้สึกว่าชอบผู้หญิงได้ ตอนเด็กมีแฟนด้วย คนก็แซวกัน แต่อย่างหนึ่งก็คือชอบเล่นกับเด็กผู้ชาย หรือชอบจับเนื้อต้องตัวเด็กผู้ชาย ผู้หญิงเราจะไปแตะเนื้อต้องตัวไม่ได้ไง แต่ผู้ชายเราจะเล่น เราชอบจับพุง
แสดงว่าเราไม่มีชีวิตที่แตกต่าง หรือเพื่อนๆ ก็ไม่ได้เห็นว่าเราแตกต่างอะไร
เพื่อนก็จะรู้สึกว่าคนคนนี้เรียบร้อย และมีความเป็นผู้หญิง เพราะฉะนั้นผู้ชายจะรู้กันอย่างนั้น แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าถูกแกล้งอะไร เราเป็นเด็กนิ่งเงียบ แต่ไม่ได้นิ่งเงียบแล้วรู้สึกน่าแกล้งจัง แต่นิ่งเงียบแบบลึกลับ แกล้งอีนี่แล้วจะต้องถูกทำอะไรสักอย่างหนึ่ง
สนใจละครหรือภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า
ไม่เลย คือคุณพ่อก็ซื้อการ์ตูนมาให้ดู แต่ว่าไม่ได้อะไรมาก คุณพ่ออยากให้เรียนภาษาอังกฤษจากการ์ตูนมากกว่า คือสภาพแวดล้อมตอนนั้นมันไม่ได้มีอะไรที่จะทำให้เราไปนึกถึงเรื่องภาพยนตร์เลย โรงหนังประจำจังหวัดก็มีแค่โรงเดียว แล้วคุณพ่อก็ไม่ได้เป็นคนที่ชอบดูหนังมาก แล้วโรงหนังต่างจังหวัดก็ไม่ได้ฉายหนังโปรแกรมที่คุณพ่ออยากดู เพราะฉะนั้นการที่เราจะได้ไปดูหนังในโรงก็ไม่มีหรอก เพราะว่าเราอยู่นครพนม เราก็เล่นอะไรตามประสาเด็กทั่วไป
แล้วทำไมถึงมาเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ได้
คือก็เรียนสายวิทย์มาเพราะว่ามันเป็นธรรมดาของเด็กที่เรียนดี มีหัวไปได้ พ่อแม่เขาก็จะให้เลือกเรียนวิทย์ไปก่อน เพราะตอนนั้น ม.ต้น จะขึ้น ม.ปลาย ใครจะไปเลือกถูกว่าเราจะศิลป์หรือเราจะวิทย์ เราเลือกเท่าที่เราคิดว่าเหมาะและเพื่อนเราเลือกไปทางไหน
แล้วพอเข้ามาเรียนจริงๆ ชีวิตมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไรบ้าง
ปี 1 เราเริ่มทำหนัง หลังจากนั้นเราเลยชอบ เรารู้สึกว่าดีที่สุดเท่าที่เลือกได้แล้ว มันต่างจากผู้กำกับหนังคนอื่นเนอะ เรารู้สึกว่าเราทำได้ในหลายๆ ส่วน
ได้ทำหนังเยอะไหมระหว่างที่เรียน
ประมาณ 3 เรื่อง เรื่องแรกตอน ปี 1 จริงๆ ไม่ได้มีอะไรมาก รู้สึกว่าชอบผู้ชายจังเลย ชอบคนนี้ คนนี้ก็น่ารักดี คนนี้อยู่คณะนี้ก็น่ารักดี ก็เลยคิดพล็อตมาว่าจะเอาผู้ชายทั้งหมดมาเล่น แล้วก็มามีอะไรกับฉัน ก็เลยเป็นพล็อตกะเทยร่วมกับผู้หญิงฆ่าโหดผู้ชาย 6 ศพ เอาแล้วก็ฆ่า เอาแล้วก็ฆ่า อุ๊ย มันมาก ประสาทเนอะ แต่ทำแล้วคนฮือฮาไง เพราะมันบ้าจังเลย แล้วสมัยนู้นเกือบจะ 20 ปีมาแล้ว พอทำหนังเกย์แล้วมีฉากเลิฟซีนนัวเนียกับผู้ชายมันไม่มี มันมีแค่หนังกะเทย สมัยนั้นยังไม่มีการรับรู้เรื่องเกย์แมนๆ
มีผลตอบรับอย่างไรบ้าง
บ้ามาก เพราะว่าโชว์ก้น จริงๆ คนฮือฮาเพราะว่าหนังได้รางวัลจากการฉายประกวดที่คณะ พี่ปื๊ด-ธนิตย์ จิตนุกูล ชอบมาก บอกว่าหนังเอาคนดูอยู่หมัดมาก เราเลยได้ผู้กำกับยอดเยี่ยม เราได้รางวัลตั้งแต่ปี 1 โอเค แปลว่าเราทำได้ดี
แล้วจริงๆ เหตุผลที่เราเลือกจะทำหนังเกย์ เพื่อจะสนองความต้องการของตัวเองเลยหรือเปล่า หรือมีเหตุผลอื่นอยู่เบื้องหลังด้วย
เราคิดว่าเราอยากทำผลงานอะไรสักอย่างออกมามากกว่า จริงๆ หนังเกย์เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังที่เราชอบ เราดูเรื่อง The Last Emperor แล้วพบว่าเราชอบภาพเขามาก การจัดแสง การให้สี เพราะฉะนั้นภายใต้หนังเกย์ฆ่า มันก็มีอาร์ตไดเรกชัน มีการคุมสี จัดแสง ตามแบบ The Last Emperor ส่วนโปรเจกต์จบเราชื่อ ตามสายน้ำ พอมีนักวิจารณ์ได้ดูหนังเรื่องนี้เขาก็บอกว่ามันจะเป็นตัวก่อกำเนิดสไตล์ของเรา
แล้วลายเซ็นของคุณจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร
เราต้องมานั่งมอง ยังบอกกับน้องเวลาเราไปพูดตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่า สิ่งที่เราจะศึกษาตัวตนของเราได้ดีที่สุดคือการศึกษาผลงานเก่าๆ ของเรา เป็นส่วนที่สำคัญมาก คือดูแล้วรู้ว่าเราชอบอะไร หรือเราทำตรงไหนได้ดี แล้วเราจะหยิบจับมาปั้นแต่งให้เป็นสไตล์เราได้ ซึ่งอย่าง ตามสายน้ำ มันเป็นเรื่องราวของผู้ชาย 2 คน ชื่อกฤติกับวิน กฤติเขาหลงรักวินมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น แล้วตอนท้ายก็เลิกกันเพราะว่าวินไม่ยอมรับตัวตนในความเป็นเกย์ของเขา เขาก็ไปมีผู้หญิงอื่นและดำเนินชีวิตไปจนมาเจอกัน กฤติพยายามพาวินไปน้ำตกชั้นที่เจ็ดเพื่อจะเป็นการพิสูจน์รักอะไรบางอย่าง ระหว่างนั้นจะแฟลชแบ็กความสัมพันธ์ในอดีตออกมา พอขึ้นไปตามน้ำตกก็เลยชื่อเรื่องว่า ตามสายน้ำ สไตล์จะมีความผสมผสานกันระหว่างตัวละครที่เป็นเพศทางเลือก เรื่องพระพุทธศาสนา ความละเมียดละไม และความอ่อนหวานบางอย่าง รวมทั้งหนังมันมีการใช้สัญญะต่างๆ ที่ค่อนข้างซับซ้อน และดำเนินเนื้อเรื่องไม่ตามลำดับเวลา นี่ก็เป็นตัวกำเนิดสไตล์ของเรา คือมันเป็นการมิกซ์ระหว่างองค์ประกอบที่ไม่ค่อยเข้ากันเท่าไร เช่น เกย์ ศาสนา ความดาร์กบางอย่าง แต่มันผสมออกมาแล้วมันจะดูอ่อนหวานนุ่มนวล
แล้วทำไมถึงจับเอาสิ่งที่แตกต่างกันมาอยู่ด้วยกัน
สำหรับเราเวลาทำหนังมันจะเป็นเหมือนคอลเล็กชันสิ่งที่เราชอบ เวลาเราเจออะไรที่ชอบก็จะพยายามหยิบมาใส่ในหนัง แต่เราก็ต้องจัดวางเพื่อไม่ให้มันสะเปะสะปะ ถ้าเรารู้สึกว่าสิ่งนี้ที่เราชอบอาจจะไม่ได้เหมาะกับการอยู่ในหนังเรื่องนี้ เราก็ตัดออก แต่ทุกสิ่งที่อยู่ในหนังมันก็จะเป็นสิ่งที่เราชอบทั้งสิ้น มันเลยเป็นอะไรที่มิกซ์ความคอนทราสต์แบบนี้
ในผลงานของคุณส่วนใหญ่จะวางที่ทางของเพศทางเลือกอย่างไรบ้าง
จริงๆ ที่เราเลือกทำหนังเพศทางเลือกเพราะว่าเราเข้าใจตัวละครนี้ได้ดี เป็นเหตุผลที่ทำให้เราทำได้ เวลาเราทำ ตัวละครหลักของเราบางส่วนคือตัวเราเอง เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นเพศทางเลือก เราไม่ได้คิดว่าจะวางโพสิชันไหน แค่เป็นมนุษย์ปกติ อย่างหนังเรื่อง อนธการ ตอนไปฉายตามเทศกาลเมืองนอก มันก็แปลกนะ มันเป็นหนัง LGBT ก็จริง แต่หนังกลับไปฉายในเทศกาลทั่วไป ไม่ได้ระบุว่าเป็นเทศกาลหนัง LGBT บางเทศกาลฉายในเทศกาลหนังผีด้วยซ้ำ เพราะมันมีความสยองขวัญปนกับโรแมนติก แต่ว่าไม่ค่อยได้ฉายในเทศกาล LGBT เท่าไร เหตุเพราะว่าตอนท้ายตัวละครเกย์มันฆ่าพ่อฆ่าแม่ ก่ออาชญากรรม เลยคิดว่าเทศกาลที่เป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนเขาอาจไม่ชอบหนังเรื่องนี้ เพราะทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับเกย์หรือเปล่า
แต่สำหรับเราเราคิดว่าเกย์มีดี มีชั่ว เราไม่ได้ทำหนังมาเพื่อบอกว่าเกย์ต้องดี ต้องเลิศ ต้องเป็นคนที่คนอื่นต้องยอมรับ เราคิดแค่ว่าตัวละครแบบนี้คือตัวละครปกติ เพียงแต่เขามีเพศสภาพเป็นเกย์บ้าง กะเทยบ้าง เท่านั้นเอง
แล้วทำไมหนังที่คุณทำมักเริ่มต้นด้วยความละเมียดละไม แต่สุดท้ายจบด้วยความดาร์กหลอน
เป็นสไตล์เรามั้ง เราชอบทั้งคู่ เราชอบสิ่งที่ดูสวยงาม แต่ก็ชอบสิ่งที่ดูน่ากลัว มันเป็นรสนิยมแบบนี้ อย่าง อนธการ มันสตาร์ทมาด้วยความอ่อนหวานนุ่มนวล แล้วจบลงด้วยความตายและดาร์ก อย่าง มะลิลา นี่ก็เหมือนกัน มันไม่ใช่หนังผีเหมือน อนธการ แต่มันเป็นหนังชีวิตดราม่า แต่มันก็ยังแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่สวยงามมากๆ อย่างเช่น ดอกไม้บายศรีต่างๆ แต่หนังก็มีอีกส่วนที่แสดงถึงความน่าเกลียดน่ากลัวมากๆ อยู่ ซึ่งต้องไปดูในโรง
แรงบันดาลใจในการทำหนังเรื่อง มะลิลา คืออะไร
เราสนใจศิลปะการทำบายศรีดอกไม้อยู่แล้ว เพราะเรามองว่าเป็นศิลปะที่ค่อนข้างถ่อมตน ถ้าคนไม่ได้สนใจมันจะมองเลยผ่านไป เช่น งานศิลปะพวกนี้ไปอยู่ในงานพระเมรุมาศ คนก็จะมองเห็นพระเมรุ รูปปั้นสัตว์ ภูมิสถาปัตย์ ราชรถลวดลายทอง แต่งานดอกไม้ ต่อให้วันงานจริงมองก็อาจผ่านเลยไป เรามองว่ามันเป็นศิลปะที่ humble คือคนทำทำแทบตายเลยนะ คิดดูสิว่ามันเป็นงานที่ยากมาก แล้วต้องระดมทำเท่าไร เพราะมันต้องทำเดี๋ยวนั้น มันทำเตรียมไว้เป็นเดือนไม่ได้ ต้องทำ ณ วันนั้น เพราะมันจะเหี่ยว และพอทำเสร็จมันสวยมากถ้าเราดูในรายละเอียด เราจะรู้สึกประณีตงดงามมาก แต่คนก็จะไม่ค่อยนึกถึง เรารู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ humble และอยากทำตรงนี้ออกมาให้เห็น เราเลยไปเรียน ซึ่งการแสวงหาการเรียนการทำดอกไม้แบบนี้มันยากเหมือนกัน เพราะว่าเขามีสอนอยู่ในวิทยาลัย ในวังหญิง ทีนี้วิทยาลัยในวังหญิงเขาไม่ให้ผู้ชายเข้า เพราะมันอยู่ในวัง หรือเขตพระราชฐานชั้นใน เลยมีแต่ผู้หญิงที่ไปเรียน เราเลยไปหาน้องผู้ชายคนหนึ่งที่เรียนอยู่ในวังชาย ซึ่งเขาสนใจงานทำดอกไม้และไปเรียนต่อจากวังหญิงอีกทีหนึ่ง ซึ่งวังชายเราเข้าได้ ศิลปะในวังชายจะมีการเรียนทำดอกไม้เครื่องสดเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องการแทงหยวก เพราะผู้หญิงแทงหยวกไม่ได้ เราเรียนร้อยมาลัย ทำบายศรี ทุกสิ่งทุกอย่างกับน้องคนนี้ เราอยากรู้ว่าจะเป็นอย่างไรในแง่มุมที่นำเสนอคือมันสวยถูกแล้ว เราไปเรียนแล้วรู้สึกว่าบายศรีหรืองานเครื่องสดดอกไม้มันสวยแน่ล่ะ แต่สิ่งที่ประทับใจเรามากที่สุดไม่ใช่ความสวยหรอก แต่เป็นความ absurd ของมัน คือเดี๋ยวมันก็เหี่ยวแล้ว ทำทำไม มันเลยเกิดความรู้สึกว่ามันเป็นศิลปะที่ดูเหมือนไร้สาระหรือเปล่า หรืออีกแง่หนึ่งถ้าไร้สาระแล้วคุณค่ามันอยู่ที่ไหน มันทำให้เรานึกถึงชีวิต ความรัก และทุกๆ อย่างที่มันมีความย้อนแย้งบางอย่างอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งงานศิลปะตัวนี้มันนำเสนอตรงนี้ออกมาได้
การเล่าเรื่องของ มะลิลา จะดูง่ายขึ้นไหม
อย่าง อนธการ คนบอกว่าดูยากมากเลย ดูไม่รู้เรื่อง ก็แน่ล่ะเพราะฉันตั้งใจให้มันงง ชั่วมาก ก็มันเป็นหนังอย่างนั้น มันพูดถึงความรุนแรงในครอบครัว เอาข่าวอาชญากรรมที่เด็กฆ่าพ่อแม่มาทำ แต่เราไม่ต้องการตัดสินกับเด็กเหล่านั้นว่าถูกหรือผิด หรือเหตุการณ์จริงๆ มันเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นมันก็เลยเป็นห้วงความฝันผสมความจริง คือคนดูไปเรื่อยๆ จะเริ่มแยกไม่ออกว่าตรงไหนฝัน ตรงไหนจริง หรือในความฝันนั้นก็คงมีเรื่องจริง เหมือนเราฝันน่ะ ตอนเราฝัน เราเจอเหตุการณ์หนึ่งแล้วเก็บไปฝันมันก็สับสนปนเปมั่วซั่ว สลับหัวกลับหางกันบ้าง แต่มันก็มีความจริงบางอย่างที่อยู่ในนั้น ถ้าเราดูภาพความฝัน เราอาจแกะไปถึงความจริงหรือสภาพจิตใจของตัวละครได้ว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่ อนธการ เป็นหนังลักษณะนั้น จึงไม่แปลกใจถ้าคนดูบอกว่าทำไมแบบนี้ ทำไมถึงงง
แต่สำหรับ มะลิลา ไม่ได้เป็นอย่างนั้น มะลิลา เป็นหนังชีวิต เอาเข้าจริงๆ เรียบง่ายมาก ทุกคนมีส่วนร่วมได้ สามารถเข้าใจได้ง่าย และมีประสบการณ์ร่วมกับมันได้อย่างไม่ยาก เพียงแต่ มะลิลา มีแนวคิดที่ลึกซึ้งในความเห็นของเรา เราคิดว่ามันนำเสนอเรื่องของชีวิต ปรัชญาต่างๆ ขึ้นอยู่กับว่าคนดูดูแล้วจะคิดไปในแง่มุมไหน ซึ่งจากคนที่ได้ดูหนังมา เขาบอกว่าเป็นหนังที่ดูแล้วถ้ามีปมอะไรบางอย่างในชีวิตก็จะหายไป
การถ่ายทำหนังที่นักแสดงมีความเป็นชายมากๆ แล้วมาแสดงหนัง LGBT มีความยากง่ายอย่างไรบ้าง
ในกองจะยอมรับในแสดงทั้งคู่มาก อย่าง เวียร์ (ศุกลวัฒน์ คณารศ) เราชื่นชมเขามากในหลายแง่มุม ในฐานะผู้กำกับ เราว่าเวียร์มีความจริงใจในการแสดงมาก เขาจะไม่แสดงในสิ่งที่เขาไม่ได้รู้สึก นั่นเป็นเพราะเราบอกเขาเองว่า ‘ถ้าเธอไม่รู้สึกเธอไม่ต้องแสดงออกมานะ ฉันไม่ต้องการให้ดูเฟก’ แต่เราว่าโดยเนื้อแท้ของเขาจากการแสดงที่เราดูผลงานก่อนหน้านี้ เขามีคุณสมบัติข้อนี้อยู่ คือมีความจริงใจต่อบทบาทการแสดงมาก เราชอบตรงนี้ แล้วเรารู้สึกว่าในบางอย่างตอนเราเขียนบท เราคิดว่าบางฉากความรู้สึกมันสับสนปนเปกันหลายอย่างมาก มันเป็นการแสดงที่ยาก แล้วเราก็ยังไม่รู้ว่าตัวละครจะเป็นอย่างไร แต่เวียร์ทำโมเมนต์นั้นได้ดีในฉากที่สำคัญ มันทำให้เรารู้สึกว่าอันนี้มันมากกว่าที่เราคิดไว้
ในมุมของการทำงาน คือปกติการทำหนังอินดี้เราจะเป็นหลัก ผู้กำกับต้องเป็นหลักให้กองอยู่ได้ ยิ่งกองอย่าง มะลิลา นี่ลำบากมาก เพราะมันถ่ายอยู่ในป่า แล้วเราก็ต้องการโลเคชันที่ไม่ใช่ป่าไว้ถ่ายหนังที่กองถ่ายทั่วไปเขาไปอยู่แล้ว มีห้องน้ำอะไรสบาย ไม่รก ไม่อันตรายอะไรมาก แต่อย่าง มะลิลา เราถ่ายในป่าที่คนยังไม่เคยถ่าย โลเคชันหนึ่งเป็นป่าที่คนนำศพมาทิ้ง มันน่ากลัว คือก่อนหน้านี้ประมาณ 1 อาทิตย์ มีข่าวว่ามีคนเอาเด็กขี้ยามัดใส่ถุงมาโยนทิ้งเหว ซึ่งเราต้องการโลเคชันตรงนั้น เพราะมันเป็นเหวลงไป แต่ทุกคนกลัว ที่พูดมาทั้งหมดเพื่อให้เห็นว่าผู้กำกับต้องเป็นคนที่เข้มแข็งพอสมควรที่จะทำให้กองไม่ระส่ำระสายกันไป ไม่ใช่เฉพาะเรื่องผีอย่างเดียว ทำกองถ่ายมันมีปัญหาหมด แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้ทีมงานมีกำลังใจในการถ่าย สิ่งที่ยากลำบากสำเร็จลุล่วงไปได้คือนักแสดง โดยเฉพาะเวียร์คือคนที่เป็นหลักอีกคนหนึ่ง เราพูดกับเวียร์เลยว่า ‘ถ้าเกิดเธอมาเล่นหนังเรื่องนี้แล้ว เธอต้องเป็นหลักให้กับทีมงาน เพราะถ้าเกิดเธอทำไม่ professional ไม่ได้ให้ความสนใจทุ่มเทเท่ากับทีมงานที่ทุ่มให้ งานมันจะดรอปลง’ ซึ่งเราคิดว่าเวียร์เขาทุ่มมาก อย่างฉากที่ถ่ายอยู่ในเหวมันต้องเป็นฉากฝนตก ที่เราเลือกเหวเพราะเราต้องเอารถน้ำดับเพลิงไปไว้ข้างบนเราต้องการแรงดันน้ำมหาศาลเหมือนฝนตกหนัก
วันนั้นฟ้าฝนเป็นใจ ตกอยู่ 3-4 ชั่วโมงกลางป่า โดยมากนักแสดงคนอื่นเขาก็จะขึ้นไปพักหรือไปหลบในเต็นท์ แต่ขณะเดียวกันทีมไฟเขาจะทิ้งไฟหรืออุปกรณ์ไว้ไม่ได้ ตัวนักแสดงจริงๆ ไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ตรงนั้นก็ได้ แต่เวียร์เขาก็นั่งอยู่ตรงนั้น
จริงๆ นักแสดงทั้งคู่เขาทุ่มหมด อย่างโอ (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) เขามีสปิริตนักแสดงที่สูงมาก มันมีซีนที่โหดกับการถ่ายทำ ต้องคลุกกับของเหม็นเน่าหนอน ทรมานทรกรรมมาก แล้วโอเขาต้องลดน้ำหนักเกือบ 10 กิโลกรัม ซึ่งเขาเป็นคนน้ำหนักลงยากอยู่แล้ว แล้วเขาจะเอาลงให้ได้ ซึ่งเขาก็ทุ่มและทำให้คนนับถือในสปิริตของเขา ทำให้เวลาทีมงานทำอะไรหรือทุ่มเทลงไปในหนังมันไม่สูญเปล่า เพราะมันส่งให้นักแสดงได้ shine ส่งให้หนังได้มีพลัง
การที่เป็นคนไทยแล้วทำหนังสื่อสารให้คนต่างชาติเข้าใจและยอมรับ ยากง่ายขนาดไหน
โอย เป็นลม ฉันอยากจะกรี๊ดมากในข้อนี้ อย่างหนัง มะลิลา นี่ปวดตับมาก คือมันเป็นเรื่องวัฒนธรรมไทยมาก มันพูดเรื่องบายศรี ศาสนาพุทธ ไม่ใช่ต่างชาติมาดูแล้วดอกไม้นี้ก็ไม่เข้าใจ ศาสนาพุทธก็ไม่เข้าใจ ความสัมพันธ์เกย์นี่ก็งงๆ ยากจัง ก็ไม่รู้เรื่องกันไปใหญ่ พังกันไปให้หมด แต่ฝรั่งเขาบอกว่าไม่เข้าใจและไม่รู้เรื่องบายศรี ศาสนาพุทธมาก่อน แต่เขาเข้าใจหนังเรา มันก็โอเค ถือว่ารอดแล้ว คือตอนแรกคิดว่าถ้าเขาไม่เข้าใจเราจะทำอย่างไรดี ถ้าเขาวอล์กเอาต์ ดอกไม้อะไรไม่รู้เรื่องไปดีกว่า
จริงๆ แล้วปัญหาที่หนังไทยก้าวไม่ถึงระดับต่างประเทศมากนักเป็นเพราะอะไร
มันพูดยาก เพราะมีปัจจัยที่ซับซ้อนหลายอย่างที่จะทำให้หนังก้าวไปสู่ระดับอินเตอร์ได้หรือไม่มีในแง่มุมของคุณภาพหนังด้วยว่าเป็นอย่างไร ในเมืองไทยเองสเกลหนังก็เล็กมาก ในบางทีหนังบางเรื่องทำออกมาแล้วเป็นหนังที่ดีแต่ไม่มี production value เพราะการที่หนังจะไปขายได้ตามต่างประเทศ หนังต้องมี production value คือไม่ใช่ว่าคนดูดูแล้วเสียดายสตางค์จังเลย แต่บางครั้งหนังที่มี production value ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังดี หรือหนังที่ดีอาจไม่มี production value ก็ได้ มันมีข้อจำกัดข้อนี้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งสไตล์ของผู้กำกับบางคนก็พูดได้ยาก เพราะผู้กำกับที่เป็นอินดี้ทุกคนเขาต้องทำหนังที่เป็นสไตล์ของเขาเองอยู่แล้ว บางอันมันก็ไปในระดับสากลได้ บางเรื่องไปได้ประมาณหนึ่ง แต่ก็มีผู้กำกับไทยหลายคนที่ไปได้ รุ่นใหญ่อย่างเช่น พี่อุ๋ย (นนทรีย์ นิมิบุตร), พี่เป็นเอก (เป็นเอก รัตนเรือง), พี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล), พี่วิศิษฐ์ (วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง) รุ่นต่อมาก็เช่นพี่จุ๊บ (อาทิตย์ อัสสรัตน์) พี่ใหม่ ดาวคะนอง (อโนชา สุวิชากรพงศ์) ไม่ใช่เฉพาะแค่เรา
หนังของคุณไปฉายกี่เทศกาลแล้ว
อย่าง อนธการ ไปหลายที่ทั่วโลก เพราะหนังเรื่องนี้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังเบอร์ลิน เริ่มที่ยุโรป มาเอเชีย แล้วค่อยมาอเมริกา แต่ มะลิลา จะเปิดที่เอเชียก่อนแล้วค่อยไปที่ยุโรป
ตอนไปเบอร์ลินครั้งแรกเป็นอย่างไรบ้าง
จริงๆ เคยไปเบอร์ลินก่อนหน้านี้แล้ว เพราะหนังสั้นเรื่อง Erotic Fragments เคยไปประกวดที่เบอร์ลิน พอหนังยาวเรื่องแรกอย่าง อนธการ ก็ไปฉายที่เบอร์ลิน ตอนนั้นมันก็ดีใจมากนะ แต่มันก็วุ่นมากเป็นธรรมดาของการไปเทศกาลสำหรับเวิลด์พรีเมียร์ เราไม่มีเวลามาดีใจกันมากมายหรอกค่ะ ทุกอย่างมันจะยุ่งไปหมด เรามีเวลาดีใจแค่ชั่วโมงหนึ่ง หลังจากนั้นเทศกาลเขาจะตามแล้วว่า material ส่งอย่างไร คุณยังไม่ได้ DCP ที่จะฉายให้เสร็จ ก็ต้องไปดูสี แก้สี ดูเสียง แก้ทุกอย่าง ต้องมีโปสเตอร์ ก็ต้องออกแบบไป ต้องส่ง material อันนี้ ต้องตัด exserv เสียงยุ่งเยอะไปหมด เหมือน มะนิลา ไปฉายที่เทศกาลหนังปูซานก็วุ่นมากเหมือนกัน ต้องเตรียมนู่นนี่ พอไปถึงเทศกาลปูซานฉันต้องไปเดินพรมแดงสวยๆ ไฮโซ มันไม่ใช่เลย มันเหมือนเราทำงานอยู่ตลอดเวลา ตายแล้วจะทำอย่างไร ต้องส่งข่าวให้สื่ออย่างไร ต้องสัมภาษณ์อันนี้ ต้องเตรียมรอบพรีเมียร์คนจะถามว่าอย่างไร มันจะยุ่งและมันจะเหนื่อย
ได้รางวัลจากเทศกาลหนังปูซานมาด้วย รู้สึกอย่างไร
วินาทีที่รู้ว่าได้รางวัลก็จะเป็นอย่างนี้ มันก็แบบ ได้เหรอ แต่ความรู้สึกจริงๆ พอเรามาลองพิจารณาดูแล้ว มันรู้สึกเป็นเกียรติมากนะ ตัวชื่อรางวัลคือรางวัล Kim Ji-Seok Awards เขาตั้งรางวัลนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่คุณ Kim Ji-Seok ผู้ร่วมก่อตั้งเทศกาลหนังปูซาน แล้วเขาเป็นคนที่ทุ่มเทที่จะสนับสนุนหนังเอเชีย ผู้กำกับเอเชียหน้าใหม่ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา อย่างเช่น หนังพี่อุ๋ย พี่เป็นเอก ฯลฯ เขานำหนังเหล่านี้ไปฉายที่ปูซานเพื่อออกสู่ตลาดโลก รวมทั้งผู้กำกับใหม่ๆ ทั้งของไทยและหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งเขาเป็นคนที่ได้รับการเคารพมากในวงการ แต่ก็เสียชีวิตไปเมื่อต้นปี เพราะฉะนั้นรางวัลนี้เป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงเขา และเราได้รางวัลนี้ในปีแรกมันก็รู้สึกว่าเป็นเกียรติมาก
แล้วรู้สึกอย่างไรที่หนังเป็นหนัง LGBT และได้รับรางวัลนี้ด้วย
เรารู้ว่ามันเป็นหนัง LGBT เรารู้สึกว่าตัวละครเหล่านี้คือมนุษย์ปุถุชนธรรมดา มันคือหนังเรื่องหนึ่งที่ได้รางวัล เรารู้สึกว่าเราดีใจกับทีมงาน นักแสดงมากกว่าที่เขาทุ่มเทขนาดนี้ อย่างน้อยก็มีอะไรให้เขาได้ชื่นใจ แล้วหนังมันก็สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ แล้วก็มีคนที่อยากดูหนังเรื่องนี้มากขึ้น ได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น มันเป็นเรื่องที่ดี
Credits
The Host นันท์ณภัส ธิปธรารัตนศิริ
The Guest อนุชา บุญยวรรธนะ
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Editor นทธัญ แสงไชย
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริณ ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Photographer เตชนันท์ จิรโชติรวี
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Music Westonemusic.com
- หนังสั้นเรื่องแรกของอนุชา ชื่อ Scarlet Desire กำกับร่วมกับกานต์ วงศ์มณี ว่าด้วยเรื่องเกย์ฆาตกรต่อเนื่องที่มีเซ็กซ์กับผู้ชายเสร็จแล้วฆ่าทิ้ง
- เรื่องที่ 2 คือ The White Diary เรื่องราวครอบครัวพฤติกรรมประหลาด โดยอนุชาได้ชวนเพื่อนร่วมคณะมาเล่นหนังสั้นเรื่องนี้ หนึ่งในนั้นคือ โอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล
- เรื่อง 3 คือ ตามสายน้ำ ได้รับรางวัลวิจิตรมาตรา และถ่ายภาพยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 8 ถูกซื้อลิขสิทธิ์จำหน่ายเป็นดีวีดีในประเทศสหรัฐอเมริกา
- Erotic Fragments คือหนังสั้นที่ได้เข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน สาขาหนังสั้น ว่าด้วยการสำรวจร่างกายของชายชนชั้นแรงงาน เพื่อสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น
- หนังยาวเรื่องแรกของอนุชาคือ อนธการ ซึ่งห่างจากหนังสั้นเรื่อง ตามสายน้ำ 10 ปี
- มะลิลา หนังยาวเรื่องที่ 2 คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Kim Ji-Seok Awards และเวียร์ ศุกลวัฒน์ นักแสดงนำได้รับรางวัล Face of Asia Award หรือนักแสดงเอเชียที่น่าจับตามองจากเทศกาลภาพยนตร์ปูซานด้วย
- หลังจากอัดพอดแคสต์ตอนนี้แล้ว มะลิลา ยังคว้ารางวัล NETPAC Award จากเทศกาลหนังม้าทองคำ Taipei Golden Horse Film Festival และรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์สิงคโปร์อีกด้วย
- หนังยังเดินสายประกวดในเอเชียก่อนจะเข้าฉายให้ชมในประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2561
- DCP คือการแก้ไขและรวมไฟล์ภาพยนตร์ทุกส่วน ทั้งภาพ เสียง ฯลฯ ก่อนนำออกมาเป็นไฟล์เพื่อฉายในระบบดิจิทัล