เทคนิคในการ Picth งานจาก Paperspace บริษัทที่เปรียบเสมือนอูเบอร์แห่งวงการนักออกแบบ ที่ได้ร่วมงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง เฟซบุ๊ก, กูเกิล และแอร์บีเอ็นบี
เคน นครินทร์ คุยกับ สมบัติ งามเฉลิมศักดิ์ ผู้ก่อตั้ง Paperspace ในพอดแคสต์รายการ The Secret Sauce
จากประสบการณ์ทำงานเป็นนักออกแบบของนายสมบัติ ทำให้เขามองเห็นช่องว่างของคนทำอาชีพเดียวกัน ที่มักมีความรู้เรื่องดีไซน์อย่างเดียว แต่ขาดความเชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจ กฎหมาย รวมถึงระบบการจัดการต่างๆ จึงคิดแพลตฟอร์มตรงกลางระหว่าง ‘นักออกแบบ’ และ ‘ลูกค้า’ ที่มีชื่อว่า Paperspace ขึ้นมา
Paperspace ถือเป็นโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เข้ามาปฏิวัติวงการนักออกแบบโดยสิ้นเชิง เขามีสมาชิกเป็นสตูดิโอทั้งขนาดเล็กและใหญ่กว่า 70 รายที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์งานออกแบบหลากหลาย ทั้งสำนักงาน โรงแรม ร้านอาหาร โชว์รูม บ้านพักอาศัย พร้อมรองรับทุกความต้องการของลูกค้า
เคล็ดลับความสำเร็จที่อยู่เบื้องหลังความไว้วางใจของลูกค้าคืออะไร ทำไม Paperspace ถึงเป็นบริษัทไทยรายเดียวที่มีโอกาสดีลงานออกแบบให้กับองค์กรยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก และกูเกิล
หัวใจสำคัญในการ Picth งานให้ผ่านฉลุยของ Paperspace
1. หาเป้าหมายที่แท้จริงของคนตัดสินใจให้เจอ
ทุกครั้งก่อนไปพรีเซนต์งาน สมบัติจะทำการบ้านอย่างดีที่สุด ไล่อ่านตั้งแต่ประวัติบริษัท รวมไปถึงทำความรู้จักกับเรื่องราวของ Managing Director หรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ เพราะเขาเชื่อว่าการเลือกจ้างงานของลูกค้า มักเลือกจากนักออกแบบที่สามารถบรรลุเป้าหมายของตัวเอง ไม่ใช่ขององค์กร บางคนมีเป้าหมายอยากให้บริษัทได้เข้าตลาดหุ้น บางคนอยากให้พนักงานรักกัน บางคนอยากให้นักวิจัยสามารถทำงานร่วมกันได้ ดังนั้นหาเป้าหมายของลูกค้าให้เจอ และสร้างสรรค์ไอเดียที่ตอบโจทย์มากที่สุด
ผมมักถามลูกค้าเสมอว่า เขามองงานออกแบบนี้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร เขามององค์กรตัวเองอยู่ที่จุดไหน คำตอบที่ได้คือจุดเชื่อมสำคัญในการสร้างสรรค์งานที่บรรลุเป้าหมายของเขา โดยที่มันไม่เคยอยู่ในบรีฟเลย
2. ศึกษาเรื่องราวนอกเหนือจากความสนใจของตัวเอง
แม้อาชีพหลักของสมบัติคือนักออกแบบ แต่เขาก็ไม่ลืมหาความรู้เรื่องธุรกิจ หรือการตลาดอยู่เสมอ เพราะเขารู้ดีว่านักธุรกิจที่ต้องร่วมงานด้วยไม่ได้อยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการออกแบบ เช่น ผนังจะเป็นสีอะไร ใช้ไม้แบบไหน โครงสร้างทำมาจากวัสดุอะไร แต่นักธุรกิจอยากรู้ว่าสิ่งที่ออกแบบทั้งหมดจะไปช่วยให้ธุรกิจดีขึ้นได้อย่างไรต่างหาก
ข้อดีในการทำงานร่วมกับธุรกิจหลากหลายวงการ ทำให้สมบัติสามารถปรับองค์ความรู้จากธุรกิจหนึ่งไปสู่อีกธุรกิจได้ เช่น การนำความรู้ที่ได้จากการออกแบบให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาปรับใช้กับบางเรื่องของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
3. เรียนรู้จากความผิดพลาด
ในช่วงปีแรกที่สมบัติเริ่มต้นทำ Paperspace เขาต้องพบเจอกับความผิดหวัง หลังไม่มีลูกค้าตลอด 12 เดือนเต็ม เพราะไม่เข้าใจเรื่องการสื่อสารกับลูกค้า ยังเลือกโฟกัสไม่ถูกจุด แต่ทุกครั้งเขากับทีมงานก็มักถอดบทเรียนจากความผิดพลาด สกัดแต่ละจุดออกมาดูว่าข้อบกพร่องไหนที่ทำให้ลูกค้ายังไม่เลือกซื้องาน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ปรับทีละจุด ไล่ตั้งแต่วิธีการสื่อสาร วิธีการนิยามบริษัทตัวเองให้คนเข้าใจ วิธีการใช้ช่องทางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จนท้ายสุดก็เริ่มมีลูกค้าที่เข้าใจและให้โอกาสในที่สุด
ข้อควรระวังของงานที่ Pitch ยังไงก็แพ้ คืองานที่เข้าหาลูกค้าโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง มองแต่ความต้องการของตัวเองว่าอยากสร้างงานแบบไหน โดยไม่คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของคนจ่ายเงิน ยังไงก็ไม่ถูกเลือกแน่นอน
หัวใจสำคัญที่ทำให้ Paperspace ประสบความสำเร็จ
สมบัติมั่นใจว่าสิ่งที่ Paperspace ให้กับกลุ่มนักออกแบบและลูกค้า เป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากที่อื่น ในมุมของลูกค้า เขาเชื่อว่าทุกครั้งที่ออกแบบ เขามองลึกลงไปกว่าแค่ความสวยงาม แต่ให้ความสำคัญกับคำถามที่ว่า ‘สิ่งที่กำลังทำสามารถสร้างคุณค่าอะไรให้กับพื้นที่นั้นได้บ้าง’ นี่คือจุดที่ทำให้แตกต่าง
ส่วนในมุมของนักออกแบบเองก็ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้โอกาสในการขยายสเกลธุรกิจตัวเองให้เติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กัน
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์
The Guest สมบัติ งามเฉลิมศักดิ์
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Podcast Intern วริษฐ์ โกศลศุภกิจ