×

‘จิราธิวัฒน์’ เปิดแผนฟื้นธุรกิจ ช่วยร้านค้า รับ New Normal ชูเศรษฐกิจไทยช่วยไทย

13.05.2020
  • LOADING...

ผู้นำศูนย์การค้าอย่าง ‘เซ็นทรัล’ มีวิธีการดูแลพนักงานอย่างไร ลดค่าเช่าให้มากน้อยแค่ไหน ถ้าห้างกลับมาเปิดได้อีกครั้ง เขามีมาตรการอะไรบ้าง 

 

รวมถึง New Normal หลังจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปอย่างไร เซ็นทรัลมองและเตรียมพร้อมกับเรื่องนี้อย่างไร 

 

เคน นครินทร์ พูดคุยกับ วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จํากัด (มหาชน) หรือ CPN ในรายการ The Secret Sauce 

 

คุณวัลยาอยู่กับ CPN มาเกือบ 20 ปี และผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง ครั้งนี้ถือว่าหนักที่สุดหรือเปล่า 

หนักที่สุด เพราะวันแรกที่ทราบว่าต้องปิดศูนย์การค้าทั้งหมด 33 ศูนย์ทั่วประเทศไทย และ 1 ศูนย์การค้าที่ประเทศมาเลเซีย เพราะโดนกระทบเหมือนกัน เป็นอะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตการทำงาน มีบ้างที่ปิดบางศูนย์จากผลกระทบต้มยำกุ้ง ผลกระทบวิกฤตทางการเมือง หรือเกิดไฟไหม้ แต่จะเป็นการปิดประปราย ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่สุด 

 

ในฐานะผู้นำ เราต้องทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเราผ่านพ้นไปได้ด้วยกัน ต้องคิดและหาทางแก้ปัญหา ช่วง 2 สัปดาห์แรกไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากคิดว่าทำอย่างไรให้สามารถเปิดศูนย์การค้าบางส่วนที่เป็นเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านยาได้ เพราะเราไม่เคยเปิดศูนย์การค้าแบบนี้มาก่อน ถือเป็นความท้าทายที่เราไม่เคยทำ

 

อยากให้คุณวัลยาลองประเมินภาพความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าหนักแค่ไหน 

ผลกระทบและความเสียหายในภาคธุรกิจกระทบอยู่แล้ว หนักที่สุดของเราเป็นภาคบริการ เพราะเราต้องดูแลคู่ค้ากว่า 15,000 ราย และมีพนักงานในเครือข่ายทั้งหมดเป็นแสนคน ถ้ารวมเซ็นทรัลกรุ๊ปด้วยจะประมาณ 2 แสนราย ผลกระทบรวมการค้าปลีกและศูนย์การค้าอยู่ที่ประมาณ 2.4 ล้านคน หรือมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 40 วัน นับว่าเป็นผลกระทบใหญ่มาก แต่วิกฤตนี้เราไม่ได้เผชิญคนเดียว มันเกิดขึ้นกับคนทั้งโลก และเกิดขึ้นกับทุกอุตสาหกรรม ดังนั้นหน้าที่เราคือทำอย่างไรเมื่อมีการเปิดศูนย์การค้าแล้ว คู่ค้าของเราทั้งหมดจะสามารถลุกขึ้นมาเปิดได้พร้อมกับเราและแข็งแกร่งได้เหมือนเดิม เป็นความมุ่งมั่นที่พยายามผลักดันให้ทุกฝ่ายไปด้วยกัน

 

ทั้งปีนี้หากประเมินของเซ็นทรัลเอง เป้าหมายและแผนต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งหมดเลยใช่ไหม

ใช่ ในทุกๆ บริษัทจะมีงบประมาณและสิ่งที่ต้องทำได้ ตอนนี้เราทราบว่ารายได้คงไม่ได้ตามเป้า เราก็พยายามลดค่าใช้จ่ายก่อนเพื่อให้สอดคล้องหรือให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ การปิดศูนย์การค้าคือการที่เราลดค่าเช่าให้ผู้ประกอบการ เป็นการช่วยเหลือกัน เขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ แต่การลดแบบนี้เราก็มีค่าใช้จ่าย เพราะเราเปิดบางส่วน เราต้องดูแลพนักงานทุกคน ที่ผ่านมาบริษัทให้ความสำคัญกับพนักงานมาก เพราะเราคิดว่าพนักงานเป็นสินทรัพย์ ไม่ได้คิดว่าเป็นค่าใช้จ่าย ดังนั้นเราพยายามจะไม่แตะค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับคนเลย พนักงาน CPN 5,000 คน เราดูแลอย่างดี ไม่มีการปลดพนักงานและการลดเงินเดือนใดๆ ทั้งสิ้น

 

การลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นคือทำอะไรบ้าง

ค่าใช้จ่ายของศูนย์การค้าก็คือการเปิดศูนย์การค้าและบริการ ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าแอร์ ค่าทำความสะอาด ตรงนี้เราพยายามปรับตัว แต่ประเด็นสำคัญคือเราเป็นบ้านหลังใหญ่ เราเป็นคู่ค้ากับร้านค้า 15,000 ราย เราต้องดูแลพนักงานที่เป็นพนักงานต่อเนื่อง ถ้าเราดูแลเขาดี เขาก็จะดูแลพนักงานและคู่ค้าของเขาดีด้วย นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำ คนที่เปิดร้านเราก็ลดค่าเช่าให้ ส่วนคนที่ปิดเราก็ไม่เก็บค่าเช่า เรายังมีนโยบายนี้อยู่ ถ้าศูนย์การค้าเปิดได้เมื่อไร เราก็ยังดูแลอยู่จนกว่าเขาจะขายดีได้เหมือนเดิม นี่เป็นนโยบายของเราที่แชร์ความเจ็บปวดด้วยกัน ดูแลกันไป และต้องลุกขึ้นมาให้แข็งแรงด้วยกัน อย่างธนาคารที่เปิด เราก็ลดค่าเช่าให้ประมาณครึ่งหนึ่ง และร้านมือถือน่าจะทยอยเปิด เราก็ต้องมีส่วนลดให้แน่นอน 

 

หลังจากเริ่มผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้น ถ้าศูนย์การค้ากลับมาเปิดอีกครั้ง ไม่แน่ใจว่าคนจะกลับมาเดินเหมือนเดิมหรือเปล่า และค่าเช่าก็ไม่แน่ใจว่าศูนย์การค้าจะกลับมาเก็บเต็มเหมือนเดิมไหม ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ทาง CPN มองการเก็บค่าเช่าในช่วงผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์อย่างไร

จริงๆ เราให้มาตลอดอยู่แล้วตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 เริ่ม ที่ทางภาครัฐยังไม่ได้มีการสั่งปิด เพราะคนเข้ามาเดินในศูนย์การค้าน้อยลงอยู่แล้ว ในเดือนมีนาคมที่ยังไม่มีการปิด เราก็มีส่วนลดให้ประมาณ 20-50% กับร้านค้าแต่ละหมวด โดยดูจากความแข็งแกร่งและความใหญ่ของคู่ค้าแต่ละหมวด ในขณะที่เดือนเมษายนที่ปิดหมดทั้งเดือน ค่าเช่าก็ฟรี เพราะฉะนั้นเดือนพฤษภาคม ถ้าเรามีโอกาสได้เปิดมาวันไหน เราก็จะใช้หลักการเดียวกันคือเราแชร์ความเจ็บปวดด้วยกัน ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้ส่วนลด 20-50% กับร้านค้า แล้วแต่การค้าขายของแต่ละหมวดสินค้า เป็นความตั้งใจของเราอยู่แล้ว

 

ความเจ็บปวดแม้ว่าจะแชร์กัน แต่สำหรับศูนย์การค้าเจ็บปวดหนักที่สุด เพราะค่าเช่าและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เราต้องจ่าย เราลำบากใจหรือมีข้อเรียกร้องอะไรไหม

เรารู้ว่าค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่เราต้องบริหาร แต่เรามองอนาคตว่าถ้าวันไหนที่เราช่วยให้เขากลับมายืนได้เร็วที่สุด เราก็จะเก็บค่าเช่าในอนาคตได้ เราไม่ได้มองว่าวันนี้ค่าใช้จ่ายเรามากกว่า ดังนั้นคู่ค้าต้องรับไปทั้งหมด เราไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะฉะนั้นวันที่เราประกาศไปช่วงเดือนเมษายนว่าร้านที่ไม่ได้เปิด เราไม่เก็บค่าเช่า เพราะเรามีความตั้งใจที่จะเป็นคู่ค้ากันจริงๆ 

 

การกลับมาเปิดศูนย์การค้าอีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้มีการเตรียมการอย่างไรบ้าง และมาตรการต่างๆ ออกมาด้วยเหตุผลอะไรบ้าง

เนื่องจากเราเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่มีคู่ค้ามาก มีคนต้องเข้ามาใช้บริการเยอะ เราจึงวางแผนเรื่องมาตรการโดยนำมาตรการของหลายๆ ประเทศมาศึกษา ที่เห็นชัดที่สุดจะเป็นประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยมาตรการที่ออกมานี้เราต้องการขึงให้ตึงเพื่อสร้างวินัยให้คนไทย เมื่อสร้างวินัยจนคนปฏิบัติคุ้นชิน โดยเรามีการส่งมาตรการนี้ไปให้คู่ค้าของเราในทุกธุรกิจ เพราะทุกคนต้องรับทราบมาตรการในการปฏิบัติตน ซึ่งมี 75 มาตรการอย่างที่ออกข่าวไป มาตรการนี้เราสร้างขึ้นมาเป็นแม่บท แต่เราไม่ได้อยากใช้คนเดียว เราส่งมาตรการนี้ไปให้สมาคมศูนย์การค้า สมาคมค้าปลีก เมื่อเขารับทราบเขาก็ยินดีมาก เพราะมาตรการเหล่านี้สามารถนำไปใช้ได้ และทุกคนควรจะใช้พร้อมกันทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ศูนย์การค้า ค้าปลีก ควรจะใช้ทั้งตลาดสด ชุมชน และที่อื่นๆ ด้วย เพราะการสร้างวินัยเป็นเรื่องสำคัญ การตรวจวัดอย่างเข้มข้น เข้ามาใส่หน้ากาก ตรวจวัดอุณหภูมิไม่เกิน 37.5 องศา เหยียบพรมเช็ดเท้าที่มียาฆ่าเชื้อโรค ใช้เจลล้างมือ พอผ่านเข้าไปเราจะมี Social Distancing รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร บันไดเลื่อน 1 ขั้นเว้น 2 ขั้น เข้าไปในลิฟต์มีการตีตารางให้ยืน ในแง่ของร้านค้าจะติดป้ายไว้หน้าร้านว่าเข้าได้ไม่เกินกี่คน ที่เหลือให้เข้าแถว โดยสร้างระยะห่างในการเข้าแถวทุกเมตร ส่วนการบันทึกประวัติคนให้ครบ 14 วันก็มีความหมาย เราจะมีล็อกบุ๊กให้คู่ค้าของเรา ซึ่งเขาจะต้องกรอกว่าพนักงานของเขาเข้ากี่โมง อุณหภูมิเท่าไร เดินทางด้วยรถอะไร วันหยุดไปไหนมา ในแง่ของลูกค้า เราแนะนำให้โหลดแอปพลิเคชันหมอชนะ หรือเปิดเมือง จะทำให้รู้ว่าสถานที่นี้ปลอดภัยหรือไม่ ต่อมาเป็นเรื่องการทำความสะอาดอย่างเข้มข้นทุกจุดสัมผัสในทุก 30 นาที และมีการทำบิ๊กคลีนนิ่งทุกสัปดาห์ สุดท้ายคือลดการสัมผัส มีคนกดลิฟต์ให้ คนเปิดประตูให้ จ่ายเงินก็ใช้ E-Payment หรือ Cashless Payment มาตรการหลักเหล่านี้เราพยายามสร้างให้เป็นวินัยจริงๆ เพื่อการมาช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ที่สะอาดและมั่นใจ

 

จากมาตรการที่ค่อนข้างรัดกุมมาก คิดว่ามีอะไรที่ยังเป็นช่องโหว่ไหม

ศูนย์การค้าเราใหญ่มาก ดังนั้นถ้าคนเข้าศูนย์การค้ามาก เราก็จะปิดประตูและจัดให้มีคิวข้างนอก ส่วนถ้ามีคนเข้าร้านค้าย่อยจำนวนมากก็จะมีการกั้นเชือกไม่ให้เข้า เพราะเรามีป้ายบอกว่าร้านนี้เข้าได้กี่คน ขณะเดียวกัน เราก็จะมีพนักงานของเราคอยเดินดูไม่ให้คนใกล้ชิดกันเกินไป และทุกที่จะมีป้ายเตือนความจำ เพราะการสร้างวินัยคือการสร้างป้าย เราจะมีภาพหรือโปสเตอร์ทุกๆ 2 เมตรเพื่อเตือนให้คนจำได้ สำหรับร้านชาบูสุกี้อาจใช้ได้ 2 แนวทาง แนวทางแรกคือใช้หม้อหรือชามส่วนตัว แนวทางที่สองคือทุกครั้งที่จะรับประทานต้องใช้ช้อนกลางส่วนตัวของเราเองตักแยกออกมา โดยเราแนะนำว่าโต๊ะ 2 คนให้นั่งได้ 1 คน โต๊ะ 4 คนให้นั่งได้ 2 คน และนั่งเยื้องกัน

 

มาตรการเหล่านี้ทาง ศบค. มาขอคำแนะนำไหม เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำสามารถนำมาใช้กับที่ไหนก็ได้ 

เรามองในส่วนของประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน สำหรับประชาชนต้องสร้างวินัย เราบอกวินัยให้เขาสร้าง เพราะเขาเป็นผู้ปฏิบัติ ภาครัฐดูแลเรื่องสาธารณสุข โดยมีทาง ศบค. ดูแลในภาพรวม ส่วนภาคเอกชนดูแลเรื่องการสร้างมาตรการ นั่นคือการทำให้สถานที่ปลอดภัย ดังนั้น 3 เสานี้จะต้องช่วยกัน ในฐานะที่เราเป็นทั้งเอกชนและผู้ประกอบการ เราต้องพยายามบาลานซ์ระหว่างสุขภาพ เศรษฐกิจ และปากท้องประชาชน เราจึงนำร่องในการสร้างมาตรการและมาตรฐาน เพราะถ้าประชาชนปฏิบัติตนได้จริง เศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนไปได้ และทาง ศบค. หรือภาครัฐจะมีความมั่นใจว่าภาคเอกชนทำได้จริง ซึ่งทางเราคิดและนำเสนอผ่านภาครัฐไปแล้วหลายขั้นตอน เชื่อว่าทุกคนได้นำของเราไปศึกษา แม้จะมีคำถามว่าเราขึงตึงมากเลย แบบนี้จะปฏิบัติได้จริงไหม เราก็บอกว่าอยากให้ปฏิบัติได้จริง และเราจะพยายามเทรนนิ่งลูกค้าของเราทั้งหมด

 

สถานการณ์ตอนนี้ทำให้พฤติกรรมของคน ทั้งเรื่องการจับจ่ายใช้สอย การเสพสื่อ รวมถึงมายด์เซตเริ่มเปลี่ยนมากขึ้น คุณวัลยามองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เราจะปรับตัวกับ New Normal อย่างไร ความหมายของคำว่าศูนย์การค้าในยุคหลังโควิด-19 คืออะไร

แน่นอนว่า New Normal เกิดขึ้นอยู่แล้ว จริงๆ เราเรียกตัวเองว่า Central of Life คือศูนย์กลางการใช้ชีวิตของทุกคน มาถึงตอนนี้ต้องเป็น New Normal Central Life คือ ศูนย์กลางการใช้ชีวิตของคนที่มีพฤติกรรมแบบใหม่ ช่วงที่มีการปิดดำเนินการ เราได้ทำ Chat & Shop ขึ้นมา จริงๆ เราตั้งใจทำมานานแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ประชาชนยังต้องการเข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าอยู่ ตอนนี้เรามี One Call One Click ที่คนสามารถโทรเข้ามาบอกว่าต้องการใช้บริการอะไร เรามีไดรฟ์ทรูให้สามารถสั่งสินค้าได้ เมื่อขับรถมาก็รับของไปเลย ไม่ต้องเดินเข้าศูนย์การค้า เรารู้ว่าถึงตอนนี้ออนไลน์จะมา ผู้บริโภคเปลี่ยน แต่ท้ายที่สุดแล้วเราคิดว่า Physical Store ก็ยังสำคัญ เพราะยอดขายออนไลน์ทั้งหมดไม่สามารถทดแทนยอดขายเดิมได้ ถ้าทำแค่นี้เศรษฐกิจจะไม่เดินหน้าและไม่เพียงพอแน่นอน เพราะฉะนั้นเราต้องมีการผสมผสานการใช้ชีวิต โดย New Shopping Center ต้องเป็นการผสมผสานระหว่าง Physical Store กับ Online Store ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่เราพยายามผลักดันเทคโนโลยี นวัตกรรม และไลฟ์สไตล์แบบใหม่เข้าด้วยกัน

 

ทาง CPN คิดว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของออนไลน์มากขึ้นกว่านี้ไหม และในรูปแบบใดบ้าง

แน่นอน ตอนนี้เรามีทีมที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ และเราพยายามปรับปรุงอยู่ตลอด เพราะช่วงนี้มันอาจกระชั้นเกินไปในการจะทำเทคโนโลยีต่างๆ มาเสริมให้สะดวกในเรื่องออนไลน์ แต่หลังจากนี้เราต้องทำต่อเนื่อง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ต้องไปด้วยกัน ดังนั้นเราต้องเร่งด้านออนไลน์ขึ้นมาด้วย ไม่ว่าจะในวันนี้หรือในรูปแบบใหม่ CPN มีวัตถุประสงค์ที่สามารถใช้ได้ทั้งก่อนโควิด-19 ปัจจุบันโควิดโควิด-19 และหลังโควิดโควิด-19 ก็คือ Imagine a Better Future for All คำนี้มีความหมายดีมาก เราต้องวาดฝันในสิ่งที่ดีไปด้วยกันสำหรับทุกคน ส่วนเรื่องแผนการลงทุนเราก็ไม่หยุด ตอนนี้ประกาศไปแล้วว่าเรามีแผนการลงทุน 3 ศูนย์การค้าหลักๆ ปีหน้าเรายืนยันที่จะเปิดที่ศรีราชาและอยุธยา ปีถัดไปก็จะเปิดที่จันทบุรี 

 

คุณวัลยามอง E-Commerce และ Social Commerce รวมถึงแชตแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ตอนนี้เติบโตมากเป็นภัยคุกคามไหม หรือเราสามารถอยู่ร่วมกับเขาได้

ส่วนตัวเป็นคน Low Technology แต่เป็นคนที่ยอมรับในวิถีชีวิตของคนรูปแบบใหม่ ส่วนตัวเราคิดว่ามันไปด้วยกันได้ ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งชอบ Physical Store แล้วจะไม่ชอบออนไลน์ หรือคนที่ชอบออนไลน์จะไม่ชอบ Physical Store สองอย่างนี้เบลนด์เข้าหากันได้ และมันเสริมซึ่งกันและกัน เหมือนสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์หรือออฟไลน์ เป็นกระดาษหรือเป็นมือถือ คนเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นการผสมผสานกันทั้งหมด อย่างที่บอกว่าเราเป็น Central of Life เราไม่ได้กังวลเรื่องดิสรัปชัน แต่เรามองว่าจะทำอย่างไรให้เขามามีส่วนร่วมกับเรา เราพยายามปรับตัวเข้าหากัน และท้ายที่สุดศูนย์การค้าจะเป็นศูนย์รวมของทุกคน รวมถึงเป็นศูนย์รวมของออนไลน์ด้วยเช่นกัน

 

ศูนย์การค้าแห่งอนาคตหน้าตาจะเป็นอย่างไร

ศูนย์การค้าของเราปรับเปลี่ยนรูปแบบและความต้องการตามผู้บริโภคเสมอ เรามีการวิจัยตลอดเวลา ทุกๆ ปีเราจะมองว่าอะไรเป็นสิ่งที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ดีที่สุด ยกตัวอย่างในปีที่ผ่านมา เราทำ Central of Life ในแง่ที่ว่าทำอย่างไรให้ศูนย์การค้าของเรามีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด เราเอาต้นไม้มาใส่มากขึ้น มีการเอาพื้นที่ใช้สอยและโต๊ะเก้าอี้มานั่งทำงาน และให้คนมาใช้ชีวิตในศูนย์การค้าโดยที่ไม่เกี่ยวกับการซื้อของเลย เราอยากให้ศูนย์การค้าเป็นที่ให้ข้อมูล เป็นนิทรรศการ เป็นที่แลกเปลี่ยนความรู้ และเกษตรกรสามารถนำสินค้าเข้ามาแลกเปลี่ยนกับเราได้ด้วย ซึ่งเราให้พื้นที่ฟรี ศูนย์การค้าจะกลายเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการใช้ชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เราพยายามสร้างศูนย์การค้าของเราให้เป็นจุดที่ทุกคนมาใช้ชีวิตได้ทุกรูปแบบ โดยเรามีการทำงานร่วมกับภาครัฐ เกษตรกร และชุมชนด้วย  

 

นอกจากจะเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตแล้ว ยังอยากเป็นแพลตฟอร์มให้เกษตรกรด้วย ทำไมจึงอยากเน้นเรื่องนี้มาก

เพราะว่าเซ็นทรัลเล็งเห็นถึงตรงนี้ เราทำโครงการชื่อ ‘จริงใจมาร์เก็ต’ เพราะเราคิดว่าชุมชนและการสร้างรากฐานให้ชุมชนเข้มแข็งเป็นเรื่องที่สำคัญ เรามีท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นพันธมิตรของเรา เขาจะแนะนำเกษตรกรได้ว่าสินค้าอะไรที่ลูกค้าต้องการ ปลูกอะไรได้ราคา ลูกค้าต้องการสินค้าแบบไหน โดยเราสามารถกระจายสินค้าของเกษตรกรจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่งได้ หมายความว่าเขาจะต้องปลูกสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ไม่ใช่ปลูกในสิ่งที่เขาถนัด เราช่วยเขาในเรื่องแพ็กกิ้ง มาร์เก็ตติ้ง และทำอย่างไรให้มูลค่าสินค้าของเขาได้ราคามากขึ้น โดยเราไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ปัจจุบันเรามีโครงการ CSR ที่ทำโดยคุณพิชัย จิราธิวัฒน์ เช่น ไปสนับสนุนเรื่องความรู้ในการปลูก โรงบ่มฆ่าเชื้อมะขาม การปลูกข้าวสังข์หยดที่จังหวัดพัทลุง เป็นต้น เรามีโครงการมากมายในการกระตุ้นและส่งเสริมเกษตรกร โดยให้เงินซึ่งเป็นเสมือนเบ็ดตกปลาไปฟรีๆ เพื่อให้เขารู้ว่าเขาต้องทำอะไร ท้ายที่สุดเขาจะสร้างชุมชน สร้างความเข้มแข็ง และสร้างรายได้กลับมาสู่ครอบครัวของเขาได้ เขามีความสุข เราก็มีความสุขไปด้วย

 

คิดว่าหลังจากนี้พอเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว คิดว่าต้องใช้เวลานานเท่าไรที่คนจะกลับมาเข้าห้างเหมือนเดิม

ต้องใช้เวลา ในวันนี้ไม่ได้คาดหวังอะไรมากไปกว่าการผลักดันให้ทุกคนลุกขึ้นมายืนได้และทยอยขึ้นมาเข้มแข็งไปด้วยกัน ค่อยๆ ยืน ค่อยๆ ก้าว ค่อยๆ วิ่ง การที่เราผลักดันเศรษฐกิจให้เคลื่อนไปอย่างนี้ บาลานซ์ระหว่างสุขภาพ ความปลอดภัย เศรษฐกิจ ปากท้องประชาชน นั่นคือหน้าที่ของเรา

 

แต่ในช่วงที่เราไม่เก็บค่าเช่า เราก็พยายามลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ด้วย ไม่อย่างนั้นคงไม่สามารถลากยาวต่อไปได้

ใช่ ในเรื่องการผลักดันเศรษฐกิจในอนาคต เรามีการคุยกันว่าเมื่อเปิดศูนย์การค้าแล้ว นอกจากที่เราจะลดค่าเช่าให้ร้านค้าเอสเอ็มอีกว่า 15,000 ราย ซึ่งได้ทำไปแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม เมษายน และในเดือนพฤษภาคมถ้าได้เปิดศูนย์การค้าก็จะมีการลดค่าเช่าต่อไปอีก 3-6 เดือน เพราะฉะนั้นนอกจากลดค่าเช่าแล้ว เราต้องการให้พื้นที่ฟรีกับเกษตรกรและเอสเอ็มอีประมาณ 40,000 ตารางเมตร รวมกับการลดค่าเช่า เราประเมินมูลค่าส่วนนี้ได้ประมาณ 3,500 ล้านบาท นอกจากนี้เราจะจัดลดราคาอาหาร โดยเฉพาะในศูนย์อาหารประมาณ 20% และอาจมีอาหารจานเริ่มต้นประมาณ 19 บาท เพื่อให้ทุกคนจับต้องได้และเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่วนร้านค้าโดยเฉพาะเสื้อผ้าและสปอร์ตแฟชั่นที่ถือสต๊อกมาเกือบ 6 เดือนแล้ว เขาต้องการเงินสดหมุนเวียน เมื่อเปิดมาก็ต้องมีการทยอยลดราคาสินค้า เพื่อที่สต๊อกจะได้ลดลงและนำเงินสดไปดำเนินการส่วนอื่นๆ ต่อได้ มาตรการในเรื่องค่าครองชีพเป็นสิ่งที่เราต้องดูแล เพราะการช่วยร้านค้าก็ถือเป็นการช่วยผลักดันเศรษฐกิจ การผลักดันเศรษฐกิจก็ถือเป็นการผลักดันประเทศไทย เรามองเชิงรุก การสร้างเศรษฐกิจให้กลับมาคือแผนงานที่เราตั้งใจจะทำเพื่อที่ทุกคนจะได้ฟื้นขึ้นมาแข็งแรงดังเดิมเร็วที่สุด

 

มองอนาคต CPN ไว้อย่างไร อยากขยายไปต่างประเทศมากกว่านี้ไหม หรือในประเทศมีแผนกลยุทธ์อย่างไรบ้าง

ในประเทศเรามีแผนผลักดันเปิดศูนย์การค้าอยู่แล้วปีละ 2-3 ศูนย์การค้า เป็นแผนต่อเนื่อง ส่วนต่างประเทศ เราไปแล้วที่มาเลเซีย และตอนนี้เรากำลังศึกษาที่เวียดนาม เราอยากนำพาธุรกิจของคนไทยไปต่างประเทศ นำสิ่งดีๆ สิ่งที่เราเชี่ยวชาญและชำนาญไปในทุกๆ ที่ที่เราสามารถไปได้

 

อะไรคือความท้าทายที่ต้องรีบแก้มากที่สุดสำหรับอนาคตของ CPN 

ไม่ได้กังวลอะไรมากไปกว่าความต้องการให้ทุกคนกลับมาเข้มแข็งดังเดิม และการใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 เราอาจจะต้องยอมรับว่าโรคอาจจะไม่ได้หายไปเร็ว แต่เราต้องอยู่กับมันได้โดยการสร้างวินัย และเราต้องสร้างเศรษฐกิจ ดังนั้นบาลานซ์สองเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด อยากให้ประชาชนทุกคนมีวินัย ภาครัฐเข้าใจและเข้มแข็งทางด้านสาธารณสุข เราในฐานะภาคเอกชนก็อยากผลักดันและขับเคลื่อน โดยเฉพาะธุรกิจในภาคบริการ อย่างที่บอก เศรษฐกิจก็ต้องเดินหน้า ปากท้องของประชาชนก็สำคัญ

 

ถ้ามองในภาพใหญ่ ยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูประเทศซึ่งมีหลายมิติมาก ในมุมมองของผู้ที่ทำภาคบริการมองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

เรามองว่าคนไทยมีกำลังซื้อถึง 66 ล้านคน ถ้าเราช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจกันเอง บริโภคกันเอง น่าจะกลับมาฟื้นฟูได้แข็งแรง เช่น คนไทยที่ตอนนี้เดินทางไปต่างประเทศไม่ได้ ก็ควรมาบริโภคกันเอง เรามีสินค้าดีๆ มากมาย ถึงแม้สินค้าบางอย่างเราส่งออกไม่ได้ในช่วงนี้ เราก็มาช่วยกันบริโภคกันเองเพิ่มเติม เศรษฐกิจก็จะหมุนไปได้อย่างรวดเร็ว

 

บทเรียนที่คุณวัลยาได้จากวิกฤตในครั้งนี้คืออะไร

ค่อนข้างไม่สะดวกสบายเหมือนกันกับทุกคน แต่ไม่ได้ย่อท้อ มีวิกฤตก็มีโอกาส CPN เราเจอวิกฤตมากมาย ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกือบจะครบ 40 ปีแล้ว ทุกครั้ง CPN ก็ผ่านและกลับขึ้นมายืนได้แข็งแรงกว่าเดิม อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้หยุดการลงทุน เพราะฉะนั้นเราไม่ได้มองว่าวิกฤตครั้งนี้มันแย่แล้วเรานั่งอยู่เฉยๆ แต่เรามองว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสที่เราต้องเรียนรู้ ปรับปรุง ผลักดัน สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัยให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นหลังจากผ่านวิกฤตนี้ไป เราก็มั่นใจว่าเราจะต้องกลับมาแข็งแรงดังเดิม

 

ฝากกำลังใจและคำแนะนำอะไรให้กับผู้ประกอบการ อาจจะเป็นคู่ค้าของ CPN หรือคนอื่นๆ ที่จะต้องปรับตัวหลังจากผ่านวิกฤตครั้งนี้ไป

เราเหมือนบ้านหลังใหญ่ ทุกคนต้องปรับตัว CPN เราก็ต้องปรับตัว และคาดหวังว่าคู่ค้าของเราไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ทุกคนก็ต้องปรับตัว อาจจะปรับตัวไม่เหมือนกัน แต่ขอให้ทราบว่า CPN ไม่ทิ้งคู่ค้าของเราแน่นอน และเราจะดูแลทุกคนให้กลับมาแข็งแรงได้ดังเดิม ถ้ามีอะไรที่ CPN ทำได้ เราจะทำ

 

 

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


Credits

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์

Sound Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Video Editor ฐิติกาญจน์ กาญจนภักดี
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Show note หนึ่งฤดี ธนสารวิสุทธิ์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

Music westonemusic.com

 

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising