รักฉุดใจนายฉุกเฉิน, เลือดข้นคนจาง, Hormones วัยว้าวุ่น, I Hate You, I Love You ฯลฯ
ทำไม ‘นาดาว บางกอก’ ทำคอนเทนต์อะไรออกมาก็เป็นที่พูดถึงระดับปรากฏการณ์ เบื้องหลัง วิธีคิดคืออะไร รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วนาดาว คือบริษัท Artist Management แต่ทำทั้งซีรีส์ ละคร และล่าสุดคือเพลง
เรียนรู้ทั้งวิชาแบบ Content Marketing และการบริหารงานที่รับรองว่าไม่เหมือนบริษัทไหน
เคน นครินทร์ คุยกับ ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับและผู้บริหาร บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด
The Secret Sauce ของ ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ แห่งนาดาว บางกอก
1. ไม่มีใครเป็นตัวประกอบของใคร
ในแง่ของการสร้างเรื่องราวตัวละคร พี่ย้งจะให้ความสำคัญว่าตัวละครนั้นเรื่องราวเป็นอย่างไร ไม่ได้สนใจแค่ตัวบทเพียงอย่างเดียว ธุรกิจหลักที่เป็น Core Value ของนาดาว คือนักแสดงและศิลปิน เพราะเขาคือบริษัท Artist Management การเขียนบทละครหรือซีรีส์ จะเขียนจากนักแสดงคนนั้นๆ เป็นหลักก่อน ไม่ใช่ดูจากตัวบทแล้วไปหานักแสดงที่น่าสนใจ วิธีคิดแบบนี้ทำให้เราสามารถสร้างเรื่องราว ดึงจุดแข็ง ดึงเสน่ห์ จุดที่น่าสนใจที่สุดออกมาได้ ไม่ว่าสินค้าหรือคนที่คุณบริหารจัดการนั้นจะเป็นใคร
มองได้สองมุม การสร้างเรื่องราวสร้างให้ตัวละครทุกตัวมีคุณค่า มีเรื่องราวของเขา ฉากเล็กๆ แม้แต่ฉากเดียว แต่ถ้าสามารถทำให้ตัวละครตัวนั้นมีมิติได้ ทำให้เรื่องราวน่าสนใจมากยิ่งขึ้น มองอีกมุมหนึ่ง ธุรกิจของเรา สินค้าแต่ละชิ้น พนักงานแต่ละคน จริงๆ เขามีจุดเด่นของตัวเอง ทุกคนมีจุดแข็งในแบบของตัวเอง DNA ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราสามารถเอาจุดนี้มาปรับใช้กับองค์กรของเราได้ ไม่มีใครเป็นตัวประกอบของใคร ทุกคนสามารถเป็นพระเอก-นางเอกได้ในแบบของตัวเอง ในจังหวะและเวลาที่เหมาะสม
2. ทำข้อจำกัดให้เป็นของหวาน
เวลาที่พี่ย้งทำงานแต่ละชิ้น เขามีเงื่อนไข กรอบ มีข้อจำกัด มีโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ ละครเรื่อง เลือดข้นคนจาง โจทย์ที่สำคัญที่สุดคือการทำละครช่วงไพรม์ไทม์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พี่ย้งเคยกระโดดเข้าไป พอได้โจทย์แบบนี้จะไม่รับผิดชอบเรตติ้งก็ไม่ได้ พี่ย้งเอาเรตติ้งที่หลายคนมองเป็นข้อจำกัดมาตั้งต้นว่าควรจะทำละครเรื่องอะไร พี่ย้งเลยเลือกทำเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว เพราะมันใกล้ตัวที่สุด และเขายังศึกษาต่อด้วยว่าการตั้งชื่อเรื่องแบบที่ผ่านมาอย่าง I Hate You, I Love You หรือ Hormones วัยว้าวุ่น ที่อาจฟังแล้วงงๆ จะตั้งแบบนั้นอีกไม่ได้ เพราะต้องการที่จะสื่อสารกับกลุ่มแมส เขาเลยไปศึกษาชื่อละครแต่ละเรื่องในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ดูว่าชื่อไหนที่เขาชอบและสามารถสื่อสารได้กับคนจำนวนมาก พบว่าชื่อมันควรจะคล้องจองหน่อยๆ ฟังแล้วรู้เลยว่าเรื่องจะเป็นแนวไหน เลยได้ออกมาเป็นเรื่องที่ชื่อว่า เลือดข้นคนจาง ซึ่งตอบโจทย์มากๆ การทำงานของพี่ย้งเป็นแบบนี้ทั้งสิ้น เขามองว่าโจทย์ เงื่อนไข คือตัวตั้งต้นในการทำงาน ไม่ได้มองเป็นปัญหา
ในโลกธุรกิจก็เช่นเดียวกัน ไม่มีทางที่เราจะทำอะไรก็ได้ตามที่เราต้องการ หลายครั้งเราได้รับโจทย์ มีเงื่อนไขด้านเวลา ด้านต้นทุน ทรัพยากรบุคคล แต่เรามักจะโทษว่าที่สู้คนอื่นไม่ได้เพราะเงื่อนไขต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งแท้ที่จริงแล้วทุกคนล้วนมีเงื่อนไขที่ไม่แตกต่างกันเลย แต่อาจจะคนละบริบทเท่านั้นเอง วิธีการคิดแบบนี้ผมเรียกว่า การเอาข้อจำกัดมาทำเป็นของหวานให้น่ากินขึ้นนั่นเอง
3. การทำคอนเทนต์ยุคนี้ แค่ดีไม่พอ ต้องแปลกใหม่ (ที่โลกไม่เคยเห็น!)
Content is King ยังถูกต้อง แต่กับปัจจุบันนี้ไม่พออีกต่อไป แค่คอนเทนต์ดีโลกไม่จำ แต่ต้องแตกต่าง แปลกใหม่ น่าสนใจ ต้องมีเสน่ห์ ผมไม่แปลกใจเลยที่ซีรีส์หรือละครจากนาดาว จะได้รับความสนใจอยู่เสมอ เพราะเขาใช้แนวคิดนี้อยู่ตลอดเวลา
คำว่าแปลก ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวละคร หรือบท แต่อาจจะเป็นในเชิงวิชวล สีสัน กราฟิก การเล่าเรื่อง ดนตรี เป็นไปได้ทั้งหมด
4. ลดความเร็วลงบ้าง ไม่ต้องโตแบบก้าวกระโดดตลอดเวลา
นาดาวมีช่วงที่เติบโตเร็วเกินไปจนคิดไม่ทัน การเติบโตแบบนี้ส่งผลต่อคุณภาพของงาน ส่งผลต่อพนักงาน และความสัมพันธ์ของคนทำงาน บางครั้งการลดความเร็วลงมาบ้าง ไม่จำเป็นต้องเติบโตแบบก้าวกระโดดเสมอ เพราะความเร็วของแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน นาดาวเริ่มลดระดับความเร็วลงแล้วในโอกาสครบรอบ 10 ปีนี้ เพื่อไปข้างหน้าอย่างช้าๆ ไม่อยู่ที่เดิม แต่ก้าวไปอย่างมั่นคง
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์
The Guest ทรงยศ สุขมากอนันต์
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์