อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของรายการทีวีที่มีแฟนๆ ติดตามกว่า 8 แสนคน จนสามารถต่อยอดคอนเทนต์ไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้อีกมาก เช่น การจัดสัมมนา เป็นมาร์เก็ตติ้งโซลูชัน ไปจนถึงเปิดคอร์สออนไลน์
เคน นครินทร์ คุยกับ คุณก้อง-อรรฆรัตน์ นิติพน เจ้าของรายการ ‘อายุน้อยร้อยล้าน’ และ CEO แห่งบริษัท Mushroom Group
อายุน้อยร้อยล้าน เป็นเพียงหนึ่งในรายการที่ผลิตโดย บริษัท Mushroom Group ที่ตอนนี้มีถึง 8 หน่วยธุรกิจ ได้แก่ (1) โปรดักชันเฮาส์ ผลิตรายการทีวี ละคร เรียลิตี้ (2) ผลิตหนังโฆษณา ปีหนึ่งประมาณ 80-100 ชิ้น (3) ทำมีเดีย วางแผนงานให้กับบริษัทเองรวมถึงลูกค้า (4) จัดสัมมนาใหญ่ๆ ปีละ 2 ครั้ง (5) Marketing Solution วางแผนโฆษณาอย่างครบวงจรให้เหล่า SME (6) ทำสตูดิโอให้เช่า (7) ขายลิขสิทธิ์รายการ ไปยังประเทศ กัมพูชา, ลาว, พม่า, เวียดนาม และใหม่ล่าสุดก็คือ (8) Mushroom Superclass คอร์สออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์ ที่ทาง Mushroom เองเชื่อว่าจะเป็นธุรกิจหลักได้ในอนาคต
Mushroom Superclass คืออะไร ทำไมถึงคิดว่าจะเป็นธุรกิจหลักในอนาคตได้
จากที่สัมภาษณ์คนมาจำนวนมาก คนที่เก่งๆ มักมีความเชื่อว่า การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด จึงเกิดเป็นไอเดียที่รวมความรู้และประสบการณ์ของคนเหล่านั้น มาทำให้สามารถเรียนรู้ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ แต่ก่อนได้แค่คิดเพราะยังไม่มีเทคโนโลยีมารองรับ แต่ตอนนี้ทุกอย่างพร้อมแล้ว เราเลยเอาคนเก่งๆ ในทุกวงการมาเปิดคอร์สออนไลน์ แบ่งเป็น 5 หมวด คือ Business, Journey, Cooking, Kids and Parenting และ Passion
ตอนนี้มันมีสิ่งที่ทำให้คนได้เรียนรู้เยอะมาก แต่เราก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าความรู้เหล่านั้นมันน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่ผมทำคือเอาประสบการณ์ของ Super Master มาย่นย่อให้เข้าใจง่ายและสามารถพกพาไปได้ทุกที่
ภาพรวมรายได้ของแต่ละหน่วยธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง
เราเติบโตมาจากโปรดักชันเฮาส์ ยูนิตนี้อยู่ที่ 100 ล้าน ปีนี้ผลิตหนังโฆษณาไป 81 เรื่อง รายได้อยู่ที่ 60 ล้าน มีเดียรายได้เข้ามา 40 ล้าน จัดงานสัมมนาได้อีก 70 ล้าน ขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศ และ Superclass อยู่ในช่วงเติบโต ปีหน้าคาดว่าน่าจะมาทดแทนโปรดักชันเฮาส์ที่เราทำ
จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจ
เริ่มต้นตอนอายุ 25 ปี มีความฝันว่าอยากทำรายการแบบที่ตัวเองชอบ เพราะได้มีโอกาสทำงานเป็นพิธีกร แต่ตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจฝึกฝนตัวเองให้เป็นพิธีกรที่ดีพอ ไม่ได้ตั้งใจท่องสคริปต์ จนในที่สุด 6 เดือนเขาก็เลิกจ้างเราไป ได้แต่เก็บความรู้สึกตอนนั้นไว้ว่าการเป็นพิธีกรมันดียังไงบ้าง ได้ไปที่ต่างๆ ได้สัมภาษณ์คน เลยเฝ้ารอว่าเมื่อไรจะมีคนจ้างเราอีก สรุปว่าไม่มีเข้ามา เลยตัดสินใจทำรายการของตัวเองเลย
จุดเปลี่ยนแรกคือ คุณอ่ำ อัมรินทร์ (พี่ชาย) ได้รายการจากช่อง 9 เลยตัดสินใจตั้งบริษัทด้วยกัน เราทำเบื้องหลัง พี่ชายดูเบื้องหน้า ฝึกวิชาอยู่ 3-4 ปี จนมีจุดเปลี่ยนอีกครั้งตอนที่ UBC Inside อยากมีโลคัลโปรดักชันของตัวเอง เลยทำรายการไปเสนอเขาชื่อ ‘แซ่บ same same’ คอนเซปต์คือคนเราชอบเปรียบเทียบ เลยเอาคนท่ีเก่งที่สุดในแต่ละวงการมาเปรียบเทียบกันแล้วจัดอันดับไปเลย เช่น ถ้ามีร้านหมูกระทะ ก็ต้องมี 3 เจ้ามาเปรียบเทียบกันว่าต่างยังไง
มันดีที่เราได้ทำตามฝันตัวเอง เหมือนมีกระสุนมาเลี้ยง ตอนหนึ่งได้ 55,000 บาท เดือนหนึ่งได้ 220,000 บาท ทำรายการทีวีหนึ่งรายการ พอในการจ้างเป็นเงินเดือนเรา และทีมงานอีก 3 ชีวิต สนุกมาก ทำเองทุกอย่าง แต่งหน้า ขับรถ ดูคิวตัด ต้องไปเช่ากล้อง ตอนนั้นยังไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย
ได้บทเรียนอะไรบ้างจากการทำรายการทีวีในช่วงแรก
การทำรายการทีวีคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทุกอย่าง ไม่มีอะไรตามแผนหรือสคริปต์ที่เราวาง โดยเฉพาะหน้ากอง ปัญหาเกิดได้ตลอดเวลา และยิ่งพอมาทำรายการท่องเที่ยว ปัญหายิ่งมาก ภาพฝันที่จะเป็นพิธีกรยืนดูพระอาทิตย์ตกดินมันไม่มีอยู่จริง ความจริงคือเราต้องตื่นออกกองแต่เช้า เคยไปโดนจับที่ญี่ปุ่น โดนกักตัวที่ออสเตรเลีย โดนหน่วยงานที่ญี่ปุ่นส่งหนังสือกลับมาฟ้อง หรือบางครั้งส่งเทปไม่ทัน ผมติดฝนที่ภูเก็ต และต้องรีบส่งเทปไปออนแอร์ ต้องนั่งรถตู้มาถ่ายต่อที่พัทยา ตอนนั้นก็จะเป็นจะตายนะ แต่เดี๋ยวนี้มันทำให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัญหาและไม่ผิดซ้ำสองอีก
อะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญ
ด้วยความเป็นบริษัท SME ถ้าอยากโตต่อไปได้ ต้องเข้าใจถึงแหล่งทุน ผมเพิ่งกู้เงินเป็น มันเหมือนเป็นการติดอาวุธในการลงทุนทำสิ่งอื่นๆ ต่อได้อีกมากมาย จนเจอจุดที่ทำให้รู้ว่าถ้าอยากมีความสามารถในการแข่งขันต้องมีสเกลธุรกิจในขนาดที่กำลังพอดี ถ้าอยากเพิ่มจำนวนรายการ เพิ่มทีมงาน จากมีเงินทำรายการละ 2 แสนบาท พอเพิ่มเป็น 3 ล้าน เพื่อสร้างทีมงานให้อยู่ได้ มีคนทำบัญชี มีเมสเซนเจอร์ มีทีมตากล้อง มีทีมตัดต่อ แต่จะไปถึงจุดนั้นมันต้องมีกระสุนมากพอให้เงินเข้ามา
หัวใจของการทำรายการทีวีให้ดี ดัง ปัง
พวกเราเชื่อว่าคอนเทนต์ที่ดีสามารถสร้างคอมมูนิตี้ได้ เพราะฉะนั้นเราจะทำรายการที่สร้างคอมมูนิตี้ถูกใจกลุ่มของเรา มีแฟนของเรา และมีโปรดักต์ที่จะไปเซอร์วิสเขาได้ อย่างเช่น รายการ อายุน้อยร้อยล้าน คอมมูนิตี้คือกลุ่มคนที่มีความฝัน มีความตั้งใจ อยากทำธุรกิจให้เข้าสู่ร้อยล้าน พอมีกลุ่มคนแล้ว เราก็ใส่เซอร์วิสเพิ่มเข้าไป คือการเชิญคนมาสัมมนา บางสัมมนาก็เป็นงานฟรี มีสปอนเซอร์ เราเชิญคนมาสัก 1,000 คน ใช้เวลาสัก 2 เดือน เป็นการได้ดูแลคนในคอมมูนิตี้ไปด้วย
ถ้าทำรายการที่ดีแต่ไม่มีคอมมูนิตี้มารองรับได้ไหม
จากประสบการณ์ที่ทำมา 100 กว่ารายการ เราพอสรุปได้ว่า บางอันถ้ามันไม่มีกลุ่มมารองรับ การเติบโตในอนาคตมันค่อนข้างยาก เพราะมันต้องอยู่ได้ด้วยสปอนเซอร์ และตอนนี้มีเดียแพลตฟอร์มเปลี่ยนไป เป็นความท้าทาย เพราะฉะนั้นการทำรายการให้มีคอมมูนิตี้รองรับ เช่น Kids and Parenting ผมมองว่า ใน 1 ปี มีเด็กเกิด 550,000 คน นับไปจนถึงเด็กอายุ 6 ขวบ มีกลุ่มประมาณ 3 ล้านคน เด็ก 3 ล้านคนมีพ่อและแม่ ลองคูณกันไป นั่นคือคอมมูนิตี้ของเรา
ส่วนหนึ่งที่ทำรายการมันต้องมาจากคอนเทนต์ที่เรารัก ผมเพิ่งมีลูกเลยทำ Kids and Parenting เพราะอยากให้ลูกมีความสุข และพอมองย้อนกลับไป ทุกรายการทีมงานต้องรัก เราทำมันทุกสัปดาห์ เข้าใจมัน ดูมัน เรามีความเชื่อในแบบ Mushroom คือ ต้องทำรายการที่มีประโยชน์ เปลี่ยนแปลงความรู้ ให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กๆ ที่มีความฝัน และภูมิใจในความเป็นไทย
วิธีคิดในการสร้างรายการ ‘อายุน้อยร้อยล้าน’
จุดเริ่มต้นมาจากเราเองก็เป็นคนทำธุรกิจ ผมมักพูดว่าการทำธุรกิจเหมือนเป็นการเดินทางขึ้นภูเขาอันหนาวเหน็บ ยิ่งเดินยิ่งเหงา ยิ่งเดินยิ่งหนาว เลยคิดว่าถ้ามีคนถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นให้เราฟังได้ก็คงดี ประกอบกับเวลาเราดูรายการทีวี จะเจอรายการมากมายที่ทำให้นักแสดงหรือนักร้องเป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ แต่ผมคิดว่านักธุรกิจเองก็สามารถเป็นได้ เลยตั้งใจทำรายการชูให้นักธุรกิจเป็นไอดอลของคนที่อยากทำธุรกิจ ไอดอลจะสำคัญในวันที่เราเหงา ท้อแท้ การมีคนกลุ่มนี้จะทำให้เรามีแรงบันดาลใจให้เดินตาม
การทำธุรกิจสิ่งที่สำคัญมากพอๆ กับ know how มันคือแรงใจ
พอทำไปรู้สึกว่ามันเวิร์กเลยไหม
ธุรกิจหลายอย่างมันอยู่ได้ด้วยความสม่ำเสมอ ต้องมีแบรนด์ดิ้ง อย่างทีวีกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างก็ต้อง 3 เดือน สมมติว่ารายการจะออกอากาศเดือนมกราคม ต้องถ่ายทำเดือนพฤศจิกายน นั่นหมายความว่าเราลงทุนล่วงหน้าไป 2 เดือนแล้ว และการวางบิลต้องทำหลังจากออกอากาศ เท่ากับว่าวางบิลเดือนกุมภาพันธ์ เครดิตอีก 120 วัน เห็นเงินประมาณเดือนเมษายน cash flow ต้องดีระดับหนึ่งเลย และช่วงแรกสปอนเซอร์ยังไม่เห็นภาพรายการเรา ก็ต้องใช้เวลาอีก
ได้เรียนรู้อะไรจากรายการนี้
ต้องทำให้สนุกและต้องชอบในสิ่งที่ทำ ไม่งั้นเราจะไม่สามารถอยู่ตั้งแต่รีเสิร์ช ออกกอง ยันตัดต่อได้ ความลับของคนเป็นพิธีกรคือ คุณต้องเรียนรู้และสามารถที่จะลืมมันได้ ทุกอย่างต้องใหม่สดเสมอ เราจะเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งดีกว่าอีกสิ่งไม่ได้ เราต้องหามุมที่ดีที่สุดของคนที่เราไปสัมภาษณ์ คุณเลือกเขามาแล้ว คุณต้องศรัทธาเขา และสามารถดึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ได้ มันคือหน้าที่ของพิธีกรและคนทำคอนเทนต์
วิธีการดึงศักยภาพหรือจุดเด่นที่สุดจากแขกรับเชิญ
ถ้าเราอยากได้ output มาหนึ่ง ต้องมี input ไปสี่ คือถ้าอยากได้คอนเทนต์จากเขาหนึ่งชั่วโมง ก็ต้องซัดไปสี่ เราต้องรู้จักตัวเขาเท่าๆ กับที่เขารู้จักตัวเอง หรือบางครั้งต้องรู้แง่มุมอื่นที่เขาอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับตัวเองด้วยซ้ำ
ในรายการเราแบ่งเป็น 3 เบรก ช่วงแรกพูดถึงความสำเร็จของแขกรับเชิญ คนดูจะฟังคนที่ประสบความสำเร็จก่อน และวิธีการคือต้องถ่ายทอดออกมาเป็นตัวเลข เบรกที่สองเราจะเริ่มดึงคนดูลงมา จากก้าวแรกที่แต่ละคนทำต้องเจออะไรบ้าง ปัญหา อุปสรรค จนมาถึงเบรกที่สาม เราให้คุณค่าของความเป็นคน คนมันต้องมีช่วงที่ท้อแท้และผิดหวัง แต่มันต้องมีคีย์ที่สามารถทำให้ก้าวผ่านความทุกข์ได้ และไม่ใช่ทุกคนที่จะเจอคีย์นี้
มีจุดร่วมอะไรไหมที่ทำให้คนไปถึงร้อยล้านได้บ้าง
ถ้าอยากมีร้อยล้านให้มีทัศนคติแบบร้อยล้าน ทุกคนจะมีความเชื่อว่าวันหนึ่งเขาจะประสบความสำเร็จ แม้ว่าวันนี้เขาจะยังไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม เขาจะไม่ยอมแพ้ เขาจะทำมัน วันหนึ่งที่มีปัญหา เขาจะสู้กับมัน นั่นคือจุดต่างของคนที่ประสบความสำเร็จ คือการไม่ยอมล้มเลิกอะไรง่ายๆ
ในยุคที่ทุกธุรกิจออกมาพูดถึงการโดน disruption คนดูเปลี่ยนจากทีวีมาดูในออนไลน์มากขึ้น วางแผนรับมืออย่างไรบ้าง
แต่ก่อนบริษัทชื่อ Mushroom Television แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็น Mushroom Group เราเชื่อว่าตัวเองไม่ได้ทำทีวี แต่ทำคอนเทนต์และต้องไปได้ทุกแพลตฟอร์ม ยกตัวอย่าง อายุน้อยร้อยล้าน เรามีคอนเทนต์ในช่องเวิร์คพอยท์ 1 ชั่วโมง มีคอนเทนต์ให้คนในเฟซบุ๊ก 3 นาที เราแตกไลน์ไปทำสัมมนา เวิร์กช็อปออนไลน์
แม้มันจะท้าทายมาก แต่เราเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจที่เราต้องเรียนรู้และตามมันให้ทันตลอดเวลา เราเป็นเจ้าแรกๆ ที่ใช้กล้อง DSLR ถ่าย มันก็ยากเหมือนกัน เจออุปสรรคมาหลายอย่าง แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันจะเป็น archive และฟุตเทจกว่าพันชั่วโมงของเราได้ เราก็พยายามเรียนรู้และปรับมัน
จุดเปลี่ยนที่น่าสนใจอีกอย่างของ Mushroom Group คือตอนที่ Bangkok Post เข้ามาซื้อหุ้น
พอเราทำบริษัทมาถึงจุดหนึ่ง มีคนมาขอทาบทามขอร่วมทุน ตอนนั้นก็งงว่าวิธีการมันเป็นอย่างไร ต้องทำอะไร สุดท้ายก็ได้ร่วมทางกับ Bangkok Post เพราะเขาก็เป็นสื่อที่อยู่มาหลายสิบปี มีความรู้ น่าจะสอนเราได้ดี เขาก็ตีมูลค่าให้เรา และมาขอร่วมทุนกับเรา มูลค่า 300 ล้านบาท เราเริ่มมาจากบริษัทบ้านๆ ออฟฟิศเช่าราคาถูกๆ มาถึงจุดนี้ได้มันก็ภูมิใจ ทำให้รู้ว่าสิบกว่าปีที่เราทำมา มันเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจอันกว้างใหญ่ไพศาล มันยังมีความรู้ ระเบียบวิธีการอีกมากให้เราได้เดินทาง และมีภารกิจที่ทางบอร์ดมอบหมายให้พา Mushroom Group เข้าตลาดหุ้นในปี 2562 ซึ่งเราก็เตรียมการมาสักพักแล้ว
แพสชันในการทำธุรกิจ
ตอนแรกผมทำธุรกิจโดยไม่ได้คิดถึงธุรกิจด้วยซ้ำ แค่อยากทำรายการตัวเองให้เจ๋งกว่ารายการคนอื่น ถ้าคนอื่นพาไปเที่ยวเกาะเสม็ด ผมจะพาไปเท่ียวมัลดีฟส์ หรืออย่างทุกครั้งที่ทำรายการ อายุน้อยร้อยล้าน เวลาเจอแขกรับเชิญเก่งๆ ผมมีความรู้สึกอยากอวด อยากเล่าเรื่องราวของเขาไปให้ถึงผู้ชมเหลือเกิน
อีกเรื่องคือผมอยากเห็นครอบครัวของผม ทีมงาน Mushroom ที่เริ่มต้นด้วยกันมาตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้วเติบโตด้วยกัน ในฐานะ CEO ผมมีหน้าที่ต้องทำให้บริษัทก้าวหน้า มีสิ่งใหม่ท้าทายให้กับทีมงาน เพราะทุกคนอยากมีเงินเดือนเพิ่มขึ้น อยากมีโบนัส อยากมีความมั่นคงในชีวิต ผมเลยต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เหมือนพันธกิจที่ให้ไว้กับพวกเขา รวมถึงหุ้นส่วนที่เห็นคุณค่าของเรา เอาเงินมากมายมาลงทุน ผมต้องทำความคาดหวังของนักลุงทุนให้มันเติบโตต่อไปให้ได้ และถ้าเรามีโอกาสไปสู่ตลาดหลักทรัพย์ หมายความว่ามีนักลงทุนรายย่อยที่เราต้องเที่ยงตรงและโปร่งใส ก็เป็นความท้าทายที่ต่อยอดไปเรื่อยๆ
เรามีความเชื่อว่าคอนเทนต์ของเราต้องทำคอมมูนิตี้ให้ดีขึ้น ใหญ่ขึ้น แต่ก่อนผมมีข้ออ้างในการทำธุรกิจว่า เราไม่ได้มีทุนเยอะนี่หว่า หรือเราก็ไม่ได้ทีมงานหรือเครือข่ายอะไรมากมาย แต่ตอนนี้เรามีพร้อมทุกอย่างแล้ว เราต้องลงมือทำให้ดีสิ เป็นสิ่งที่บอกตัวเองอยู่เสมอ
Data สำคัญอย่างไรในการทำธุรกิจ
คนที่ผมเคยสัมภาษณ์มีประมาณ 2,000 คน ร้านอาหารจากรายการอาหารอีกหลายพันร้าน โลเคชันโรงแรมเหนือจรดใต้ไปทุกจังหวัด สถานที่ท่องเที่ยวอีกไม่รู้เท่าไร ถ้าเป็นยูนิตของโปรดักชันที่ผลิตแบรนด์คอนเทนต์ให้กับลูกค้าเป็นโปรไฟล์บริษัท บางทีเราแทบไม่ต้องออกกองไปถ่ายใหม่เลย หรือบางทีทำรายการใหม่ แค่ถ่ายคิวพิธีกรเปิดหัวท้ายก็ได้ ที่เหลือเป็นฟุตเทจที่มีอยู่แล้ว รวมถึงการดีลงานกับลูกค้า เราก็สามารถใช้คอนเน็กชันที่มีทำให้งานมันสำเร็จได้ง่ายขึ้นด้วย
ถ้าเหมือนเบรกที่สามในรายการอายุน้อยร้อยล้าน คุณก้องเองผ่านแต่ละปัญหามาได้อย่างไร
สิ่งที่เราบอกตัวเองคืออุปสรรคเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต บางครั้งผมกลับบ้านตอนกลางคืน พยายามมองบนฟ้าหาพระจันทร์แล้วถามว่า มันจะมีอะไรอีกไหม มากันให้หมดเลย เราจะผ่านมันไปให้ได้
การทำธุรกิจเต็มไปด้วยบาดแผล บางอันมีบาดแผลน้อย บางอันมีบาดแผลมาก แต่เราจะเรียนรู้ และไม่กลับไปเจ็บที่แผลเดิม
ฝากถึงคนทำธุรกิจ
ไม่มียุคใดที่เหมาะจะทำธุรกิจเท่ายุคนี้ มันเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยคุณประหยัดต้นทุนได้ มันเต็มไปด้วยเงินของธนาคารและนักลงทุนที่พร้อมจะใส่มาทำให้ธุรกิจของคุณไปได้ไกล แต่คุณอย่าลืมว่า ในระหว่างที่คุณทำได้ คนอื่นเขาก็ทำได้เช่นกัน สิ่งหนึ่งที่คุณชนะได้คือแสวงหาความรู้ไม่หยุด ไม่ยอมแพ้กับสิ่งที่ทำ แม้บางครั้งจะมีคำถามที่ถามตัวเองว่า เรามาถูกทางไหม แต่ขอให้เชื่อมั่นว่าคุณจะแก้ไขปัญหาที่ผ่านเข้ามาได้ และผมเชื่อว่าถ้าคุณทำเช่นนั้นได้ คุณจะได้พบกับผมในฐานะแขกรับเชิญรายการ อายุน้อยร้อยล้าน
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
The Guest อรรฆรัตน์ นิติพน
Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์, เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริณ ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Music Westonemusic.com