×

5G เกิดขึ้นจริงหรือยัง ใครเป็นผู้นำ ทำไม Huawei กล้าบอกว่ายังไม่มีใครตามพวกเขาทัน

09.09.2019
  • LOADING...

5G เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ทุกประเทศทั่วโลกแข่งขันและให้ความสนใจกันมาก มันคือรากฐานของโลกอัจฉริยะ 5G จะเปิดศักราชใหม่ของโลกยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง เป็นโครงสร้างสำคัญให้กับเทคโนโลยีอื่นๆ คลาวด์, IoT และ AI ที่จะช่วยพลิกโฉมโลก ที่ซึ่งทุกสิ่งจะรับรู้ถึงกัน เชื่อมโยงกัน และมีความอัจฉริยะ

 

เคน นครินทร์ ร่วมงาน Huawei Asia-Pacific Innovation Day ครั้งที่ 5 ณ เมืองเฉิงตู ประเทศจีน ที่มีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐบาล อุตสาหกรรม และนักวิชาการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่นๆ เข้าร่วมงานกว่า 200 คน เพื่ออภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องเทคโนโลยีและการใช้งาน 5G ใหม่ๆ การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงเทคโนโลยี มนุษยชาติ และธรรมชาติ

 

รวมทั้งยังได้เยี่ยมชมเคสการใช้งานจริง (use case) ทั้งรถบัส 5G, 5G+VR, วิดีโอ 5G+8K, 5G+โดรน, การแพทย์ทางไกล 5G 

 

ทำไม 5G จึงจะเปลี่ยนโลก

5G มีข้อดีหลัก 3 อย่าง

 

1. ความเร็ว (Speed): จากเดิมในยุค 4G ที่เราเคยใช้งานอินเทอร์เน็ตรับส่งข้อมูลที่ความเร็วหลักร้อย Mbps ใน 5G จะเพิ่มขึ้นไปเป็นระดับ Gbps (ระดับ 1000 Mbps ขึ้นไป) หรือเร็วกว่าเดิมอย่างน้อย 10 เท่า

 

2. ความหน่วงต่ำ (Low Latency): ความพิเศษที่สุดของ 5G ที่เหนือปัจจัยความเร็วถูกคาดหวังว่าจะนำไปใช้งานในระบบรถยนต์ไร้คนขับ 5G จะช่วยให้การรับส่งข้อมูลของตัวรถทำได้ทันที ไม่มีความหน่วงเกิดขึ้น ตัวรถสามารถตัดสินใจที่จะหักหลบหรือเบรกได้แบบเรียลไทม์เมื่อตรวจพบวัตถุและสิ่งกีดขวาง 

 

หรือนำไปใช้ประโยชน์กับเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยเฉพาะ ‘การผ่าตัดทางไกล’ ซึ่งผมได้ไปทดสอบการใช้อัลตราซาวด์ทางไกลโดยมี Robotic Machine มาช่วย ทุกการขยับของมือเราจะส่งผลไปที่มือหุ่นยนต์ซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตรได้แบบเรียลไทม์

 

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์ในรูปแบบ Remote Driving หรือโดรน 5G ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เหมือง หรือช่วยชีวิตในภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งมนุษย์ไม่ต้องเข้าไปเสี่ยงภัยเอง

 

3. การเชื่อมต่อที่หลากหลาย (Mass Connectivity): 4G ตามคอนเสิร์ตต่างๆ ที่มีฝูงชนหนาแน่น เราก็จะพบว่าสัญญาณโทรศัพท์มือถือกลับใช้การไม่ได้ ปัญหานี้จะหมดไปเช่นกัน เพราะ 5G บอกว่าในทางทฤษฎีแต่ละจุดจะใช้ได้เป็นหลักล้านเครื่อง นั่นหมายความว่าในทางปฏิบัติก็น่าจะรองรับหลักแสนเครื่องได้สบาย

 

ใครเป็นผู้นำ ทำไม Huawei กล้าบอกว่ายังไม่มีใครตามพวกเขาทัน

ถ้าในแง่ของผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน 5G ต้องบอกว่า Huawei คือผู้นำ ซึ่งเชื่อกันว่ามีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดถึงขั้นที่ เหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง เคยบอกว่าอีกหลายปีกว่าสหรัฐฯ จะตามทัน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ กังวลว่าความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ จะเสียเปรียบจีน เพราะใครที่กุมเทคโนโลยี 5G หรือยึดครองพื้นที่การเซ็นสัญญาได้ ผู้นั้นจะเปรียบเสมือนว่าได้กุมอนาคตยุคใหม่ไว้ในมือ เหมือนกับยุคที่อังกฤษเป็นเจ้าโลกอย่างการคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำ หรือสหรัฐฯ เป็นผู้นำด้านอินเทอร์เน็ต

 

ที่สำคัญคือ Huawei เป็นบริษัทเทคโนโลยีแรกของจีนที่ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานจนถึงผลิตภัณฑ์ผู้บริโภค

 

คำถามคือทำไม Huawei จึงเป็นผู้นำ 5G พวกเขาคิดและทำอย่างไร

 

วิลเลียม สวี กรรมการบริษัท Huawei และประธานบริหารของสถาบันแห่งการวิจัยยุทธศาสตร์ ได้กล่าวในงานว่าเหตุผลที่ทำให้ Huawei เป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G ของโลกมี 3 ข้อ 

 

1. เริ่มค้นคว้าวิจัยก่อนตั้งแต่ปี 2009 

 

2. ทุ่มงบลงทุนรวมกันถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

และ 3. ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาตามศูนย์วิจัยทั่วโลก (Leveraging Global Resources)

 

จากการสัมภาษณ์พนักงานระดับสูงใน Huawei หลายคน พวกเขาอ้างเหมือนกับที่ เหรินเจิ้งเฟย ให้สัมภาษณ์บ่อยๆ ว่า Huawei ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีนอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจกัน และไม่มีการแทรกแซง

 

ล่าสุด (3 ก.ย.) Huawei เพิ่งประกาศคว้าสัญญา 5G กว่า 50 ฉบับ และส่งมอบสถานีฐาน 5G (Massive MIMO AAU) ไปแล้วกว่า 200,000 หน่วย 

 

การประกาศคว้าสัญญา 5G กว่า 50 ฉบับทั่วโลก ประกอบด้วย ยุโรป 28 ฉบับ, ตะวันออกกลาง 11 ฉบับ, เอเชียแปซิฟิก 6 ฉบับ, อเมริกา 4 ฉบับ และแอฟริกา 1 ฉบับ ทำให้ Huawei นำคู่แข่งเจ้าสำคัญอย่าง Nokia และ Ericsson ซึ่งสำนักข่าว CNBC รายงานว่าตัวเลขสัญญาล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมของ Nokia คือ 45 ฉบับ ขณะที่ Ericsson อยู่ที่ 24 ฉบับ

 

ตัวเลขสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นแม้ว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีนจะถูกบล็อกการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงใส่รายชื่อ Huawei ลงไปในบัญชีดำ และพยายามโน้มน้าวรัฐบาลประเทศอื่นๆ ให้กีดกันอุปกรณ์จาก Huawei ล่าสุดคือการทำข้อตกลงเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบอุปกรณ์ 5G ระหว่างสหรัฐฯ กับโปแลนด์

 

สหรัฐฯ เป็นอีกประเทศที่เร่งพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยี 5G อย่างใกล้ชิด

 

ด้านยุโรปเป็นสนามรบใหญ่และเป็นภูมิศาสตร์สำคัญของผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน 5G ซึ่งหลายประเทศยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะใช้ของเจ้าใด (บอริส จอห์นสัน ประกาศทันทีหลังจากรับตำแหน่งนายกฯ ว่าจะเร่งการพัฒนา 5G)

 

ส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ต้องบอกว่าได้กลายเป็นภูมิภาคชั้นนำของโลกในด้านการเปิดให้บริการ 5G มากที่สุดแล้ว

 

5G เกิดขึ้นจริงหรือยัง ประเทศไหนไปไกลกว่า

เกาหลีใต้กลายเป็นมาตรฐานของโลกสำหรับการเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ หลังจากเป็นประเทศแรกในโลกที่เปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ และตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ 5G เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน จำนวนผู้สมัครใช้บริการเทคโนโลยี 5G ได้เพิ่มสูงเกิน 2 ล้านรายแล้ว 

 

จีนเองก็มีการสร้างเครือข่าย 5G ขนาดใหญ่สำหรับการทดลองให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยมีหมุดหมายการเริ่มต้นครั้งประวัติศาสตร์ในวันที่ 6 มิถุนายน 2019 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) ออกใบอนุญาตการค้า 5G แก่ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมภายในประเทศ 4 แห่ง ได้แก่ China Telecom, China Mobile, China Unicom และ China Broadcasting Network Corporation

 

ปัจจุบันผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ดังกล่าวได้ติดตั้งเครือข่าย 5G ในเมืองหลักๆ รวมถึงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น และเฉิงตู ซึ่งมีอัตราความเร็วของการดาวน์โหลดสูงถึง 1 Gbps หรือเทียบได้กับการดาวน์โหลดภาพยนตร์ HD ความละเอียดสูงระดับ 1080P เรื่องหนึ่งได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที

 

จีนและเกาหลีใต้คือสองประเทศที่แข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยี 5G อย่างดุเดือดและเดินหน้าไปไกลมากๆ สาเหตุก็เพราะพวกเขามีผลประโยชน์ต่อเนื่องจากตัวเทคโนโลยี ทั้ง Samsung ที่เตรียมวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนรองรับการใช้งาน 5G หรือ Huawei ซึ่งพร้อมทั้งด้านการเป็นผู้วางจำหน่ายเน็ตเวิร์ก อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และสมาร์ทโฟน

 

แหล่งข่าวจาก Huawei กล่าวกับผมว่าจากที่เคยวางแผนว่าจะเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ปี 2020 รัฐบาลจีนกำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันภายในปลายปีนี้ ซึ่งถ้าทำได้ก็น่าสนใจมาก

 

ปัจจุบันเทคโนโลยี 5G เกิดขึ้นจริง ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม 35 รายใน 20 ประเทศทั่วโลกได้เปิดให้บริการ 5G แล้ว และอีก 33 ประเทศได้มีการจัดสรรคลื่น 5G แล้วเช่นกัน 

 

รายงาน Global Industry Vision (GIV) จาก Huawei คาดการณ์ว่า 58% ของประชากรทั่วโลกจะสามารถเข้าถึง 5G ได้ในปี 2025

 

ส่วนในปี 2034 Huawei คาดการณ์ว่า 5G จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับเอเชียแปซิฟิกถึง 890 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 49% มาจากเซกเตอร์การผลิตและสาธารณูปโภค (Manufacturing & Utilities) 

 

แล้วประเทศไทยเราไปถึงไหน

ด้านประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ต่างจับมือกับ Huawei ประกาศความเป็นไปได้ในการร่วมมือเพื่อพัฒนาเครือข่าย 5G เช่นกัน ไล่ตั้งแต่กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย 

 

ในประเทศไทย Huawei ได้สร้างสนามทดสอบเครือข่าย 5G (5G Testbed) ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถือได้ว่าเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้เข้าพบ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่องการลงทุนและการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในไทยแล้ว ซึ่งรัฐบาลเคยตั้งเป้าผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในปี 2020

 

อย่างไรก็ตาม สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ซีอีโอ AIS เคยกล่าวกับผมว่าในมุมของการดำเนินงานและการนำไปใช้งานจริงในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานทั่วๆ ไป เขาเชื่อว่าเราอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 2 ปีกว่าจะสามารถใช้งาน 5G ได้จริง 

 

เหตุผลเพราะการที่เอกชนจะลงทุนนั้นจำเป็นที่จะต้องมีองค์ประกอบหลายๆ อย่าง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเกิดภาพความเป็นจริงและความเป็นไปได้ที่ชัดเจนเสียก่อน 

 

พวกเขาจะลงทุนได้ก็ต่อเมื่อมี ‘ความพร้อม’ ทั้งการเกิดยูสเคสที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงแบบเห็นประโยชน์ชัดเจน 

 

นอกจากนี้ก็ต้องมี ‘ระบบนิเวศ’ ที่เป็นรูปธรรม มีอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งาน 5G ในตลาดด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ทุกวันนี้มีการนำเข้าสมาร์ทโฟนมาจำหน่ายในไทยปีละประมาณ 20 ล้านเครื่อง ในจำนวนนี้กลับมีสมาร์ทโฟนที่ใช้งาน 5G ได้ไม่ถึงหลักหมื่นเครื่องด้วยซ้ำ เขาจึงเชื่อว่าเราควรต้องรอให้เกิดความพร้อมทั้งด้านยูสเคสและอุปกรณ์ที่จะรองรับการใช้งานให้ได้เป็นอันดับแรก

 

สมชัยไม่กังวลว่าประเทศไทยจะมี 5G ช้ากว่าประเทศอื่น ตรงกันข้าม เขากลัวการมี 5G ที่เร็วเกินไปมากกว่า เพราะอาจจะทำให้เราเสียโอกาสได้ ประเทศไทยเราอยู่ในโพสิชันของการเป็น ‘ผู้ใช้-ผู้บริโภค’ ถ้าวันนี้ยูสเคสหรือความเป็นไปได้ของการนำไปใช้งานจริงยังไม่พร้อม ‘เราอาจจะเสียมากกว่าได้’ ไหนจะต้องมาซื้ออุปกรณ์ที่รองรับระบบในราคาสูง เอามาแล้วจะใช้ประโยชน์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ก็ไม่มีใครรู้

 

สมชัยยังกล่าวอีกว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญไทยบัญญัติไว้ชัดเจนว่าคลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติ และต้องนำออกมาประมูลเท่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะจีนหรือเกาหลีใต้ที่รู้อยู่เต็มอกว่ายูสเคสการใช้งาน 5G จริงยังไม่ค่อยมีมากนัก และผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องลงทุนอีกมหาศาลเพื่อผลักดันให้เกิด 5G ขึ้น รัฐบาลเขาให้คลื่นความถี่ไปใช้กันฟรีๆ เลย หรือบางประเทศก็ให้ไปด้วยราคาถูกๆ ไม่ต้องมาประมูลแข่งกัน

 

ในส่วนนี้แหล่งข่าวระดับสูงจาก Huawei ก็คุยกับผมบนโต๊ะอาหารว่า เขาเห็นด้วยว่าตอนนี้ยังไม่มีใครรู้แน่นอนว่าจะหาเงินจาก 5G อย่างไรจึงจะมีรายได้คุ้มกับที่ลงทุน แต่รัฐบาลก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวิสัยทัศน์ สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ 

 

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทยก็คงต้องรักษาสมดุล ทั้งการเปิดประมูลหาเงินเข้ารัฐบาล การต้องคำนึงถึงการประกอบธุรกิจของโอเปอเรเตอร์ภาคเอกชน และสำคัญที่สุดคือประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ

 

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนไว้ในเว็บไซต์ the101.world ว่า “โลกวันนี้ได้มาถึงจุดจบของการนำเดี่ยวของสหรัฐฯ แต่ต้องย้ำว่าไม่ใช่จุดจบของสหรัฐฯ โลกวันนี้มาถึงจุดเริ่มต้นของการผงาดขึ้นของจีน แต่ต้องย้ำเช่นกันว่าไม่ใช่จีนที่นำเดี่ยวเช่นกัน ในโลกสงครามเย็น 2.0 ซึ่งแตกโลกเป็นสองแกนและสองห่วงโซ่ดุลกัน ประเทศและคนที่อยู่รอดจึงไม่ใช่คนที่เลือกข้างแบบเชียร์มวย แต่คือคนที่เล่นเกมและเล่นตัวไปกับสองมหาอำนาจอย่างรู้เท่าทัน”

 

นี่คือความเคลื่อนไหวล่าสุดของ 5G เทคโนโลยีที่จะพลิกโฉมโลกทั้งใบ ยกระดับประเทศให้รุดหน้าผู้อื่น พวกเราจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดแบบห้ามกะพริบตา!

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising