“ไม่มี Data ในวันนี้คุณแพ้แน่นอน”
แจ็ค หม่า ก็เคยกล่าวไว้ว่า “Data is the new oil.” คือขุมทรัพย์แห่งใหม่ คือน้ำมันที่มีมูลค่ามหาศาล บางคนถึงกับพูดว่า ถ้าไม่มี Data ก็เหมือนคนตาบอด มองอะไรไม่เห็น
เราจะนำ Data มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กรได้อย่างไร พร้อมช่วยลดความผิดพลาด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในโลกธุรกิจ
เคน นครินทร์ คุยกับ ดร.ต้า-วิโรจน์ จิรพัฒนกุล อดีต Data Scientist ของเฟซบุ๊ก และ CEO ของ Skooldio สถาบันสอนเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องของ Data
Data Science คืออะไร
พูดง่ายๆ คือการนำข้อมูลมาสร้างคุณค่าทางธุรกิจ มันถูกพัฒนามาจากการทำสถิติ ซึ่งมาจากข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตามจำนวน Touch Point ของผู้ใช้งานในอินเทอร์เน็ตที่มีมากขึ้น ในภาคธุรกิจก็ต้องการนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ โดยมี Data Scientist ช่วยวิเคราะห์ คนที่เป็น Data Scientist จะต้องเขียนโปรแกรม สามารถดึงข้อมูล และประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้
ทำไมเราจึงใช้ Data มากขึ้นในปัจจุบัน
ยุคก่อนเราก็ใช้ แต่ไม่เป็นทางการ ข้อมูลมักถูกจัดเก็บอยู่เฉพาะบุคคล เช่น เจ้าของร้านรู้จักลูกค้า และรู้ว่าลูกค้าคนไหนต้องการอะไร ไม่เคยถูก Formalize เพื่อนำมาใช้อย่างจริงจังเหมือนในปัจจุบัน แทนที่จะอยู่ในหัวของเจ้าของร้าน ก็สามารถนำมาใช้อย่างอัตโนมัติ ใครก็สามารถนำไปใช้ได้ ทำให้เราบริหารจัดการลูกค้าของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ไม่นำ Data มาใช้ จะส่งผลเสียอะไรบ้าง
หลักๆ เลยคือ องค์กรนั้นเสียโอกาส เสียโอกาสในการรู้ว่าตอนนี้องค์กรตัวเองอยู่จุดไหน และจำเป็นต้องปรับปรุงส่วนไหนบ้าง องค์กรจะเดินหลงทิศทาง หากนำมาใช้ อย่างน้อยก็จะรู้ว่าควรจะเดินไปทางไหน
ควรเริ่มต้นอย่างไร
เริ่มต้นด้วยการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด และเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปวิเคราะห์ต่อ เพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ สามารถนำไปทำการตลาดได้ตรงกับกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และที่สำคัญ ธุรกิจควรรู้เป้าหมายให้ชัด และรู้ว่าข้อมูลจะมาช่วยได้อย่างไร
สำหรับคนที่ไม่รู้วิธีการใช้ Data มีข้อแนะนำอย่างไร
ทำงานกับคนที่เก่งในด้านนี้เยอะๆ โดยปัจจุบันตลาดขาด Data Scientist ที่มีความเข้าใจเชิงลึกว่าควรจะวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร วิเคราะห์แบบไหนที่ทำให้ธุรกิจมีโอกาสในการแข่งขันมากขึ้น Data Scientist จะต้องใช้ประสบการณ์และทำความเข้าใจธุรกิจควบคู่ไปกับการเขียนโปรแกรม
ตัวอย่างการใช้เครื่องมือในการเก็บ Data
สำหรับธุรกิจขนาดเล็กสามารถใช้เครื่องมือบนเฟซบุ๊กได้ Facebook Pixel เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ได้ เพียงแค่นำไปวางไว้ที่หน้าเว็บไซต์ หากลูกค้าเปิดเฟซบุ๊กอยู่ด้วย เราก็จะได้ข้อมูลผู้ใช้คนนั้นในทันที ข้อมูลที่ได้เราก็สามารถนำมาวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เขาสนใจ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการทำการตลาดได้ กำหนดเงื่อนไขการยิง Ad ได้ตรงจุดมากขึ้น เครื่องมืออื่นๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้ อีกตัวคืออีเมล ซึ่งสามารถ Track ได้เหมือนกันว่ามีคนคลิกและเข้าดูคอนเทนต์เท่าไร
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากบริษัทที่เป็น Data Driven
บริษัทกลุ่มค้าปลีก เช่น Walmart เป็นธุรกิจเน้นเรื่องการจัดโปรโมชัน การตั้งราคาดึงดูดลูกค้าให้กลับมา ซึ่งมักจะเก็บข้อมูลของเราและพยายาม Optimize หรืออย่าง DHL ที่ติดตามข้อมูลรถบรรทุกเพื่อวิเคราะห์เส้นทางขนส่งให้ประหยัดที่สุด แต่กว่าจะได้ผลการวิเคราะห์ที่ส่งผลกับธุรกิจได้จริงก็ต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลพอสมควร
คุณสมบัติของคนที่จะเป็น Data Scientist มีอะไรบ้าง
เป็นคนที่ตั้งคำถามเป็น ช่างสังเกต พยายามคิดจากสิ่งที่เจอ คิดต่อยอดจากข้อมูลที่มีได้ เช่น เรื่องการขาย หากต้องการขายให้ดีขึ้นทำอย่างไร จะต้องทำอะไรกับลูกค้าบ้าง ก็ต้องไล่ถามอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อย่างเวลาผมทำเวิร์กช็อปก็จะพยายามให้คิดร่วมกัน และห้ามตั้งคำถามจากข้อมูล ให้ตั้งจากธุรกิจว่าต้องการแก้ปัญหาอะไร ค่อยมาดูว่าต้องเก็บ Data อะไร เริ่มเอาข้อมูลมาดู และลองทำเท่าที่ทำได้ ให้พอเห็นกระบวนการ แล้วค่อยหาผู้เชี่ยวชาญจริงๆ มาช่วยเพิ่มก็ได้
เราจะสร้างองค์กรแบบ Data Driven ได้อย่างไร
เลเวลแรกคือ การเก็บข้อมูล ซึ่งต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและพร้อมใช้งาน เลเวลที่สองคือ เครื่องมือ ทุกคนในองค์กรควรมีเครื่องมือที่สามารถใช้ดึงข้อมูลมาใช้ได้ง่ายๆ อย่างน้อยให้พอใช้ Excel หรือทำ Visualize ทำกราฟได้ ก็จะช่วยให้การนำข้อมูลไปใช้ง่ายขึ้นอีก ที่ขาดไม่ได้คือการเข้าถึงข้อมูล การทำ Data Governance สำหรับการบริหารข้อมูล เพื่อให้คนในองค์กรสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้จริง สุดท้ายคือ เรื่องความรู้ จะใช้ข้อมูลได้เยอะต้องเริ่มรู้สถิติ เริ่มเข้าใจ ต้องวิเคราะห์เป็นและถูกต้อง คีย์ของ Data Driven คือทุกคนในองค์กรจะต้องสามารถนำข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจได้ และต้องระบุได้ว่ามีโอกาสจะนำข้อมูลมาใช้ตรงไหนได้บ้าง
ความเข้าใจผิดในการใช้ Data
การได้รับความกดดันและความไม่พร้อมในหลายๆ เรื่อง ทำให้เริ่มต้นทำ Data ไม่ได้สักที ทุกคนชอบคิดภาพใหญ่และปลายทาง ที่จริงแล้วให้เริ่มในจุดเล็กๆ และค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เก็บข้อมูลเพิ่มขึ้น คู่กับการวิเคราะห์ในเชิงลึกมากขึ้น อยากให้เริ่มเป็นสเตปไป
มองอนาคตของการใช้ Data อย่างไร
คนตามไม่ทันต้องรีบ และคนที่ไม่ใช้แพ้ชัวร์ อันนี้ฟันธง และเรื่องยากๆ หลายๆ เรื่อง เช่น Machine Learning และ AI จะถูกทำให้ง่ายขึ้น มีเครื่องมือพร้อมให้ใช้งานแค่ส่งข้อมูลให้เท่านั้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีทีมขนาดใหญ่ แต่ความยากจะอยู่ที่ความเข้าใจในข้อมูล และการรู้ว่าโอกาสของเราอยู่ที่ไหน จะเอามาใช้ในส่วนไหนของธุรกิจ และสุดท้าย เราต้องบอกให้ได้ว่าเราจะทำอย่างไรกับข้อมูล
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์
The Guest วิโรจน์ จิรพัฒนกุล
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์