เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจาก ไอ.เอ็ม. เพ (I.M. Pei) สถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ผู้ออกแบบพีระมิดลูฟวร์, หอสมุดจอห์น เอฟ. เคนเนดี, อาคาร Bank of China และสถานที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย การันตีความสำเร็จด้วยรางวัลสูงสุดอย่าง รางวัลพริตซ์เกอร์ ซึ่งเปรียบเสมือนรางวัลโนเบลในสาขาสถาปัตยกรรม
ไอ.เอ็ม. เพ เสียชีวิตด้วยอายุ 102 ปีในวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผลงานและเบื้องหลังแนวคิดไม่ธรรมดาที่เขาฝากไว้ ยังคงส่งต่อให้ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรก็ตาม
เคน-นครินทร์ เล่าถึงเบื้องหลังวุ่นๆ ของพีระมิดลูฟวร์ กับ 4 แนวคิดจาก ไอ.เอ็ม. เพ สถาปนิกจีนดังระดับโลก ในรายการ The Secret Sauce
1. เหลียวอดีต แลอนาคต
ปรัชญาอันโดดเด่นในการออกแบบของไอ.เอ็ม. เพ คือการเคารพในอดีต และไม่ลืมมองไปข้างหน้า เปรียบเหมือนการสร้างสะพานเชื่อมจากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต
เขาเสริมวิธีคิดเพิ่มเติมจากปรัชญาที่หลุยส์ ซัลลิแวน (louis sullivan) เคยกล่าวถึง ‘Form Follows Function’ การออกแบบตามการใช้งาน เปลี่ยนเป็น ‘Form Follows Intention’ หรือการออกแบบตามเจตจำนงอะไรบางอย่างที่ไม่เน้นแค่การใช้งานหรือความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่พยายามวิเคราะห์และทำความเข้าใจไปให้ลึกถึงความเป็นแก่นแท้ของสถานที่เหล่านั้น โดย 3 เรื่องท่ีเขาให้ความสำคัญคือ 1) เวลา 2) สถานที่ และ 3) เป้าหมาย
ยกตัวอย่างการออกแบบพีระมิดลูฟวร์ แน่นอนว่าสถาปัตยกรรมแห่งนี้สวยงามโดยไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีจุดประสงค์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งตรงกับ 3 เรื่องที่กล่าวไปครบสมบูรณ์ โดย ไอ.เอ็ม. เพ ยังกล่าวเสริมไว้ด้วยว่า นักออกแบบจะไม่มีทางปกป้องความคิดตัวเองได้เลย ถ้าเขาไม่รู้ว่าออกแบบไปเพื่ออะไร
อาคาร Bank of China เขตปกครองพิเศษฮ่องกง
ภาพ: Gerhard Joren / LightRocket / Getty Images
“You cannot defend your design without knowing what you’re designing for.”
― I. M. Pei
2. ซึมลึกไปเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ทำ
ไอ.เอ็ม. เพ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในวอชิงตันโพสต์ว่า เมื่อไรก็ตามที่คุณสร้างสิ่งก่อสร้างท่ามกลางประวัติศาสตร์ คุณต้องซึมลึกประวัติศาสตร์เข้ามาเป็นหนึ่งในชีวิต และใช้มันเป็นแรงขับเคลื่อนต่อการทำสิ่งต่างๆ
ตอนที่เขาออกแบบหอประชุมเมืองแดลลัส รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมจริงๆ คอยสังเกตการณ์ว่าบรรยากาศในนั้นเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกแบบไหน คนทำงานกันอย่างไร หรืออย่างตอนออกแบบพีระมิดลูฟวร์ เขาก็อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสอยู่หลายเดือน พร้อมทั้งเดินไปตามแกลเลอรีหลายแห่งในกรุงปารีส ใช้ชีวิตราวกับเป็นคนในเมืองนั้น จนกว่าจะได้มาเป็นผลงานชื่อดัง โดยไม่นึกถึงแค่ความสนุกของตัวเองเพียงอย่างเดียว
หอประชุมเมืองแดลลัส รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
ภาพ: Raymond Boyd / Getty Images
“Architecture is the very mirror of life. You only have to cast your eyes on buildings to feel the presence of the past, the spirit of a place; they are the reflection of society.”
― I. M. Pei
3. การเมืองของการต่อรอง
ส่วนประกอบสำคัญของการเป็นสถาปนิกที่ดี คือคุณต้องมีลูกค้าที่ดี
ย้อนกลับไปปี 1981 ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสมีความคิดอยากรีโนเวตพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ เพื่อให้มันกลับมามีชีวิต และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง แน่นอน ไอ.เอ็ม. เพ ถูกเลือกให้เป็นสถาปนิกของโปรเจกต์นี้ ระหว่างส่งแบบร่างพีระมิดให้ฝั่งรัฐบาลพิจารณา แม้ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะชอบแนวคิดนี้อยู่ไม่น้อย แต่อีกด้านหนึ่ง ไดเรกเตอร์ของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์กลับต่อต้าน และไม่เห็นด้วยกับผลงานของเขา รวมถึงเหล่านักวิจารณ์ยังมองว่างานนี้จะเป็นเพียงแก็ดเจ็ตที่มาทำลายล้างประวัติศาสตร์ของปารีส
ไอ.เอ็ม. เพ จึงพยายามหาแนวร่วมที่เป็นผู้มีอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมหลายต่อหลายคน เพื่อให้กระแสวิจารณ์มีทิศทางที่ดีขึ้น ท้ายสุดเขาเข้าไปเจรจากับนายกเทศมนตรีของกรุงปารีส ขอทดลองวางโมเดลพีระมิดลูฟว์เท่าของจริงในพื้นที่จริงเป็นระยะเวลา 4 วัน ปรากฏว่ามีคนมาเยี่ยมชมมากถึง 60,000 คน กลายเป็นที่ตื่นเต้นฮือฮา เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของผู้คนไปได้มากทีเดียว
พีระมิดลูฟวร์ กรุงปารีส ฝรั่งเศส
ภาพ: Chesnot / Getty Images
“Great artists need great clients.”
― I. M. Pei
4. อดทนและเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำ
หอสมุดจอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ทำให้ไอ.เอ็ม. เพ ต้องเจออุปสรรคระหว่างออกแบบ แต่เดิมเขาตั้งใจสร้างที่แห่งนี้ออกมาในทรงพีระมิด แต่กลับต้องเปลี่ยนแผน เมื่อเจ้าของโปรเจกต์ไม่อยากให้หอสมุดเป็นสถานที่เช็กอินของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก อีกทั้งยังเกิดปัญหาการเมือง และปัญหาเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกไม่รู้จบ ถึงขั้นที่ ไอ.เอ็ม. เพ เคยพูดว่าการออกแบบครั้งนั้นเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่สุดของชีวิต และเป็นความล้มเหลวที่สุดครั้งหนึ่งเช่นกัน
ท้ายสุดหอสมุดแห่งนั้นใช้เวลาสร้างยาวนานถึง 16 ปี แต่เขาก็ได้บทเรียนล้ำค่า และพิสูจน์ตัวเองถึงความไม่ย่อท้อ จนทำมันออกมาสำเร็จได้เป็นอย่างดี
หอสมุดจอห์น เอฟ. เคนเนดี รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา
ภาพ: John Greim/LightRocket / Getty Images
“Success is a collection of problems solved.”
― I. M. Pei
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์