×

กรณ์ จาติกวณิช เมื่อไวรัสเปิดแผลเศรษฐกิจไทย และอนาคตไล่ล่าตลาดการเงิน

28.04.2020
  • LOADING...

เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าต่อไปทางไหน 

GDP จะติดลบหนักกว่านี้หรือไม่ 

โจทย์ใหญ่หลังจากนี้ของรัฐบาลคืออะไร 

ความเหลื่อมล้ำของ ‘คนรวย’ และ ‘คนจน’ จะเป็นอย่างไรต่อ

เคน นครินทร์ คุยกับ กรณ์ จาติกวณิช ถึงอนาคตตลาดการเงินประเทศไทย ในรายการ The Secret Sauce: Executive Espresso

 



ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่า เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะถดถอย ประเทศไทยคาดการณ์ออกมาติดลบ 5-6 หรือแบงก์ชาติคาดว่า ติดลบ 5.3 ในมุมมองคุณกรณ์คิดว่าจะสามารถไปได้ไกลกว่านี้ไหม
ผมว่าได้ มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในประเทศอื่นๆ เพราะเศรษฐกิจประเทศไทยต่างกับประเทศอาเซียนตรงที่เราพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศมากกว่า เวลาเศรษฐกิจโลกดี เราก็ดีกว่าเขา เวลาเศรษฐกิจโลกไม่ดี ก็กระทบเรามากกว่าคนอื่น 

 

การพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในความหมายคือ การส่งออกและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สองตัวนี้รวมกันจะมีผลกับเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก ตอบคำถามว่า เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร มันต้องดู 2-3 องค์ประกอบ ได้แก่ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเราจะฟื้นตัวเมื่อไร, ความมั่นใจในแง่ของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะกลับคืนมาเมื่อไร,

สถานะทางการเงินของครัวเรือนไทยในแง่กำลังซื้อจะกลับคืนมาเมื่อไร, การใช้เงินของรัฐบาลจะมีประสิทธิภาพแค่ไหน ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวตัดสิน ซึ่งมันดูไม่ค่อยโอเคสักเท่าไรตอนนี้

 

มีองค์ประกอบไหนที่ดูมีความหวังไหมครับ

ผมคิดว่าตัวที่เป็นไปมากที่สุด แต่มีส่วนสำคัญน้อยที่สุดในแง่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมคือ การใช้เงินโดยรัฐ สถานะทางการเงินและการคลังของเราดีมาก ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ผมใช้คำว่าดีมาก ไม่ว่าจะเทียบกับประเทศไทยในอดีต หรือเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน ตัววัดก็คือ ระดับหนี้สาธารณะ เราดูหนี้สาธารณะเทียบกับเศรษฐกิจโดยรวมของเราอยู่ที่ 41% ซึ่งประเทศอื่นๆ เขาทะลุ 100% ไปแล้ว เท่ากับว่ารัฐบาลไทยยังมีศักยภาพในการกู้เงินได้เพิ่มเติม นี่คือสาเหตุที่รัฐบาลบอกว่า จะกู้ 1 ล้านล้านบาท แล้วไม่มีเสียงวิจารณ์ในระดับมหภาคเลย ส่วนระดับจุลภาคว่าจะใช้เงินอย่างไรนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในระดับมหภาคทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า รัฐบาลไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทในภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดจากโควิด-19

ส่วนการเงินก็วัดด้วยอัตราเงินเฟ้อหรือวัดด้วยทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพสูงมาก ทำให้เราสามารถออกมาตรการทางการเงินมาช่วยแก้ปัญหาได้ ตรงนี้ถือว่าเป็นข้อดี ยังไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการคลังหรือทางการเงินระดับประเทศ ต่างจากสมัยต้มยำกุ้ง รัฐบาลไทยเจ๊ง แบงก์ชาติเจ๊ง ต้องไปกู้เงินจาก IMF ในขณะที่ครัวเรือนโดยทั่วไปกลับไม่ค่อยกระทบ มันกลับด้านกัน สังเกตได้ว่าตอนนั้นโรงงานวิกฤต แรงงานไทยที่เป็นแรงงานจากชนบทเดินทางกลับบ้านเพราะไม่มีงานทำในเมือง ความต่างคือ เดินทางกลับบ้านแล้วมีงานให้ทำ การเกษตรดีเพราะสินค้าเกษตรหลายตัวของเราส่งออกเป็นเงินดอลลาร์ เช่น ราคาส่งออกของข้าว เขาวัดกันเป็นเงินดอลลาร์ เมื่อค่าเงินอ่อน มีการปรับค่าเงินบาท ก็เท่ากับขายข้าวจำนวนเท่าเดิมแต่ได้เงินบาทมากขึ้น ฉะนั้นเศรษฐกิจชนบทกลับดี รองรับแรงงานที่อพยพจากตัวเมืองได้เป็นอย่างดี

กลับมาที่โควิด-19 วันก่อนผมไปโคราช เยี่ยมหลายหมู่บ้าน เห็นว่าทุกหมู่บ้านมีคนหนุ่มสาวที่เคยทำงานในเมืองต้องอพยพกลับไปพักที่บ้านเพราะขาดรายได้ แต่ความต่างเทียบกับ 20 กว่าปีที่แล้ว เขากลับไปแล้วไม่มีอะไรให้ทำเลย แล้วยังเจอวิกฤตภัยแล้งอีก ราคาพืชผลไม่ดี ฉะนั้นเที่ยวนี้ผมจึงบอกว่า มันเดือดร้อนในวงกว้าง ลึกกว่า แรงกว่าช่วง 10 ปีที่แล้วตอนวิกฤตซัพไพรม์แน่นอน

 

แสดงว่าการเงินและการคลังของภาครัฐตอนนี้ยังพอใช้ได้ จากกรอบที่ให้ตัวเลขมา งบ 1.9 ล้านล้านของมาตรการชุดที่ 3 คิดว่าเพียงพอไหม

ถ้าวัดโดยรวม มันมีมาตรการทางการคลังคือ พ.ร.ก. กู้เงิน และมาตรการทางการเงิน Soft Loan ของแบงก์ชาติและเอกชน ทั้งสองตัวรวมกันบวกกับการโอนงบประมาณบางส่วนจากงบปี 2563 มาใช้ต่อสู้กับโควิดโดยเฉพาะ รวมเกือบ 2 ล้านล้านบาท ถ้าเทียบกับ GDP อยู่ที่ 12% ผมคิดว่าเหมาะสม น่าจะเพียงพอ ถ้าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปรับลดลงอย่างที่หลายสำนักเขาประมาณการไว้คือ ติดลบ 6% ตัวเม็ดเงินส่วนนี้ถ้าใช้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดผลกระทบลงได้ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องวกกลับมาที่เรื่องประสิทธิภาพการใช้ ต้องระมัดระวัง ต้องมีการตรวจสอบความโปร่งใส เพราะในทุกวิกฤตอาจมีการฉวยโอกาส เราต้องระวังทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นเงินกู้ ซึ่งเป็นภาระของคนไทยทุกคนที่จะต้องชำระในอนาคต ต้องนำไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์

ผมเห็นความพยายามในการร่างพระราชกำหนดนี้ พระราชกำหนดคือกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารและไม่ได้มีการกลั่นกรองโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งสามารถออกในรูปของพระราชกำหนดแบบนี้ได้ในกรณีจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วนเท่านั้น ฉะนั้นมันต้องเข้มงวดในรายละเอียดว่า ในกรณีที่เป็น พ.ร.ก. การกู้เงิน เงินส่วนนี้เอาไปใช้ได้ในกรณีไหนบ้าง เขาเห็นมีการเขียนว่าใช้ได้ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาและการฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดจากโควิดเท่านั้น แม้จะพูดอย่างนี้ก็ต้องคอยระมัดระวัง สมมติในอนาคตมีการใช้เงินกู้ไปทำถนน แล้วก็อ้างว่าทำถนนก็คือกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาจากวิกฤตโควิด อย่างนี้ได้ไหม ผมคิดว่าไม่ควรได้ เพราะว่าโครงการแบบนั้นควรใช้เงินงบประมาณประจำปี ซึ่งก็มีอยู่ปกติทุกปี และมีการตรวจสอบที่เข้มข้นโดยรัฐสภา ส่วน พ.ร.ก. กู้เงินควรจะใช้ในการเยียวยาประชาชนโดยตรงที่รอไม่ได้ จะไปรองบประมาณปีใหม่ กว่าจะบังคับใช้เดือนตุลาคม ประชาชนอดตายพอดี ตรงนี้เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมต้องมีการกู้เงินด้วย พ.ร.ก. เช่น มาตรการ 5,000 หรือมาตรการอื่นๆ ไปถึงมือประชาชนที่เดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้ แต่จะเอาไปใช้กับโครงการประเภทต่างๆ ทั้งที่ควรใช้งบประมาณปกติ ผมคิดว่าอันนั้นต้องตรวจสอบให้ดี

 

ถ้าดูในรายละเอียดจะมีการกันส่วนหนึ่งของโครงการ

ถูก เขาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 6 แสนล้าน จำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉิน เป็นการช่วยเหลือประชาชน อันนี้ถูกต้อง ต้องรีบดำเนินการเพราะประชาชนเดือดร้อนอยู่จริงๆ ส่วนที่สอง 4 แสนล้าน เขาบอกว่า เอาไว้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตรงนี้ผมมีความกังวลอย่างมาก เพราะโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจมันไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงินทันที กว่าจะใช้เงินจริงๆ อย่างเร็วคือปลายปีนี้ ซึ่งเข้าสู่ช่วงงบประมาณปี 2564 เป็นงบประมาณใหม่ ทำไมไม่เอาโครงการทั้งหมดนี้ไปใส่ไว้ในงบประมาณปี 2564 ที่ต้องมีการอนุมัติโดยสภาฯ อยู่ดี ผมมีความเชื่อว่า ถ้าทำอย่างนั้นมันถูกต้องกว่า โปร่งใส และรัฐสภามีโอกาสตรวจสอบได้ดีกว่า

 

คุณกรณ์กำลังจะบอกว่า 4 แสนล้าน อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ใน พ.ร.ก. ตอนนี้ 

จำเป็นในการใช้ ต้องดูก่อนว่าเขาจะใช้ทำอะไร แต่อย่าลืมว่านี่คือ พ.ร.ก. กู้เงิน จำเป็นในการใช้เงินที่เร่งด่วนถึงขั้นต้องออก พ.ร.ก. หรือไม่ มันต่างกับกรณีเยียวยาประชาชน ซึ่งต้องใช้เดี๋ยวนี้เลย ต้องออกมาเป็น พ.ร.ก. อย่างเดียว เพราะงบประมาณปี 2563 ไม่พอ จะรอเงินปี 2564 ก็ไม่ทัน นั่นคือสาเหตุที่พวกเราพยายามผลักดันให้รัฐบาลออก พ.ร.ก. มาตั้งแต่แรก เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน แต่การฟื้นฟูโครงการเหล่านี้คิดว่ามันคนละเรื่องกัน 

 

อยากชวนคุยเรื่องฟื้นฟูสักเล็กน้อย โจทย์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้คืออะไร

เราจะต้องเยียวยาฟื้นฟูให้ผู้ประกอบกิจการอยู่รอด รัฐบาลจะคิดว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลทำเองทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ กลไกที่มีประสิทธภาพสูงสุดคือ กลไกผ่านการสร้างเศรษฐกิจโดยภาคเอกชน แต่ประเด็นปัญหาก็คือ ภาคประชาชนโดยผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลุ่ม SMEs จะไปกันไม่รอด ถ้าสมมติว่าเขาขาดรายได้ไปอีก 1 เดือนผมคิดว่า เขามีโอกาสเจ๊งครึ่งหนึ่งจากผู้ประกอบการทั้งหมดที่มีอยู่ 2 ล้านกว่าราย หรืออาจมากกว่านั้นด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจจะไปได้ จะมีการว่าจ้างหรือสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศโดยรวม ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ต้องรอด อย่าลืมว่าคนไทยที่เป็นลูกจ้างประมาณ 90% เป็นลูกจ้าง SMEs ไม่ใช่ลูกจ้างบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่เขารอดอยู่แล้ว 

 

ล่าสุดกลุ่มธนาคารพาณิชย์เพิ่งประกาศผลประกอบการไตรมาสแรก กำไรมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วโดยเฉลี่ยเกือบ 10% เพราะฉะนั้นเขายังไปได้ แต่ SMEs กลับเดือดร้อน ที่ผมมีความกังวลคือ มาตรการของรัฐบาลเท่าที่ออกมาให้เราเห็น มีมาตรการที่ช่วยเหลือ SMEs น้อยมาก เกือบจะไม่มีเลย โดยส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.ก. แบงก์ชาติซื้อพันธบัตร จริงๆ ถามว่าจำเป็นไหมที่จะต้องมีมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเสถียรภาพ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงก็คือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เพราะแบงก์ชาติจะเข้ามาซื้อพันธบัตรของผู้ประกอบการขนาดใหญ่เท่านั้น พันธบัตรของผู้ประกอบการขนาดเล็กมันอยู่ในเกรดที่ต่ำเกินไปที่จะเอาเงินทุนมาเสียบ แต่ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือ SMEs เรายังไม่เห็นความชัดเจน

 

พักชำระหนี้ Soft Loan ไม่พอเหรอครับ

ไม่พอครับ ผมว่ามันยังไปไม่ถึง จริงๆ แล้วหัวใจคือ แก้ปัญหาเรื่องการมีเงินสดในมือให้กับ SMEs อันดับแรกตอนนี้เลยคือ Cash is king คือเขาต้องมีเงินสดไว้ในมือ เราต้องมาดูว่าอะไรคือภาระค่าใช้จ่ายสำคัญของ SMEs มี 3 เรื่องหลัก 1. ภาระเงินเดือน ตรงนี้น่าจะหนักที่สุดสำหรับผู้ประกอบการ  2. ภาระดอกเบี้ย บวกกับเงินต้นที่ต้องชำระ 3. ภาระค่าเช่า สามเรื่องนี้รัฐบาลควรจะมีความชัดเจนในการกำหนดมาตรการช่วยเหลือ

ภาระเงินเดือน รัฐบาลหลายๆ ประเทศออกมาตรการมาเลยว่า เขาจะช่วยจ่ายเงินเดือนให้ อย่างน้อยก็บางส่วน เราก็มานั่งคิดตามความเหมาะสมในบริบทของประเทศไทย เราได้เสนอไปแล้วว่า รัฐบาลควรที่จะช่วยออกเงินเดือนให้กับ SMEs คิดต่อหัวพนักงานคือคนละ 6,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน พูดง่ายๆ คือ สมมติว่า คุณจ่ายลูกจ้าง 15,000 รัฐจะออกให้ 6,000 คุณจ่ายเอง 9,000 อย่างนี้ช่วยเยอะและตรง ลองเปรียบเทียบกับที่อังกฤษ รัฐจ่ายเงินเดือนให้ 75% เลย มีเพดานให้ลูกจ้างทุกคนในประเทศ ช่วยจริงไม่ซับซ้อน คนไม่ตกงาน

เรื่องดอกเบี้ย รัฐบาลมีการให้พักดอกพักต้น แต่มันขาดความชัดเจนว่า วันที่ประกาศคือวันที่เริ่มเลยไหม หรือว่าลูกหนี้ทุกคนต้องไปยื่นสถาบันการเงินของเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น มันได้บ้างไม่ได้บ้าง มันขาดความชัดเจน สิ่งที่เราเสนอไปก็คือ วันที่รัฐประกาศคือ 7 เมษายน 2563 น่าจะมีผลตั้งแต่วันนั้นเลยว่า ให้พักดอก 6 เดือนความจริงแค่นั้นก็ยังไม่พอ เพราะการพักดอกคือการผลักภาระไปอีก 6 เดือน ยังไม่ดีแน่นอน พอครบ 6 เดือนเจอหนี้ก่อนโต ฉะนั้นเราเลยเสนอว่า สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก รัฐควรจะเข้ามาช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนเขาเลย ซึ่งเรากำหนดเพดานไว้ที่ 30,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน มันเทียบเท่ากับสมมติคุณมีหนี้อยู่ประมาณ 2 ล้านกว่าบาท คุณก็จะได้รับการช่วยเหลือโดยรัฐบาล โดยที่รัฐจะเข้ามาชำระดอกเบี้ยให้คุณแทน ซึ่งมันก็ช่วยสถาบันการเงินด้วย ทำให้เขาสามารถที่จะรักษาสภาพคล่องไว้ได้ สำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ก็ไม่ต้องไปช่วยเขา ขีดเส้นไว้ก็ได้ว่า SMEs มียอดขายไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี จะได้รับความช่วยเหลือด้วยมาตรการแบบนี้

เรื่องค่าเช่า เราเห็นตัวอย่างจากเยอรมนีและสิงคโปร์ เขาออกกฎหมายมาเลยว่า ช่วงโควิด-19 นี้ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า 6 เดือน เขามีมาตรการที่จะเยียวยาให้แลนด์ลอร์ดและเจ้าของอาคารเองว่าการสูญเสียนี้รัฐจะช่วยอย่างไรได้บ้าง ข้อดีคือมันลดภาระค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ให้ผู้ประกอบการ วันก่อนผมไปคุยกับชาวบ้าน เขากังวลมาก ผมถามว่า 1 พฤษภาคมนี้จะกลับมาค้าขายได้ไหม เขาขายของอยู่ที่มาบุญครอง เขาบอกว่าเขากลับไปขายได้ แต่เขาเป็นห่วงมาก เพราะเขากลัวว่ายิ่งกลับเร็วยิ่งเจ๊ง เพราะถ้ากลับไปเขาต้องเสียค่าเช่าเหมือนเดิม ความหมายคือตอนนี้น่าจะได้รับการผ่อนปรนจากเจ้าของอาคารอยู่ ประเด็นก็คือ คนจะกลับมาซื้อของเขาไหม เขาบอกว่าถ้าคนกลับมาแค่ 30-40% เทียบกับปริมาณเดิม แล้วด้วยภาระค่าเช่าที่ต้องแบกรับเขาอยู่ไม่ได้แน่นอน ฉะนั้นความช่วยเหลือมันไม่ใช่แค่ช่วงล็อกดาวน์อย่างเดียว มันต้องช่วยต่อเนื่องไปด้วย โดยที่ต้องคาดการณ์ไว้ว่าสภาวะเศรษฐกิจมันยังต้องฝืดเคืองไปอีกระยะหนึ่ง แต่มันต้องช่วยโดยตรงด้วยมาตรการแบบนี้ 

 

คุณกรณ์คิดว่าเรื่องค่าเช่าจะใช้กลไกอะไร

สิงคโปร์และเยอรมนีใช้กลไกกฎหมาย เราต้องพิจารณาว่าทำอย่างนั้นได้ไหม ด้วย พ.ร.ก. จะมาช่วยอะไรได้ไหม แต่เขาหมายถึงแลนด์ลอร์ดเชิงพาณิชย์เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงแลนด์ลอร์ดชาวบ้าน ทีนี้มาดูมาตรการระดับมหภาค เช่น การปล่อย Soft Loan อย่างที่ผ่านมา ล็อตแรกออกไปแล้วผ่านธนาคารออมสิน ล็อตหลังแบงก์ชาติกำลังจะออกเอง ซึ่งถ้าเราดูจากล็อตแรก จะเห็นว่ามันไปไม่ถึง SMEs ที่แท้จริง เพราะเขายังอาศัยกลไกของธนาคารพาณิชย์อยู่ ถ้าลองไปคุย เขาจะบอกว่า สิ่งที่ยังขาดคือขาดความชัดเจนว่าเขาเอาเงินก้อนนี้ไปช่วยใครได้บ้าง ยกตัวอย่าง สมมติมีลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้มาแล้วตั้งแต่ต้นปี เขาสามารถเอา Soft Loan ตรงนี้ไปช่วยลูกหนี้ประเภทนั้นได้ไหม เพราะสมมติในอนาคตลูกหนี้เกิดมีปัญหา สุดท้ายแล้วไปไม่รอดอยู่ดี เจ๊ง แบงก์ชาติจะมาตามเล่นงานเขาไหมว่าทำไมคุณถึงปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ NPL มันผิดกฎ เขาต้องการความชัดเจน พอมันขาดตรงนี้ สุดท้ายเขาเลยต้องเอาเงินไปช่วยลูกค้าชั้นดีของเขา หรือ SMEs ที่ไม่ได้เป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์ หรือไม่ใช่ลูกค้าชั้นดี ไม่มีหลักประกันเพิ่มเติม ยิ่งไม่มีสิทธิ์เลย มันไม่ใช่ครั้งแรกนะ ในอดีตมีความพยายามที่จะใช้มาตรการแบบนี้ผ่านกลไกแบบนี้ แล้วก็เจอปัญหาแบบนี้ ดูเหมือนว่ามันซ้ำรอยปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต 

 

ชวนคุยเรื่องหนี้ เป็นอีกมิติที่คุณกรณ์บอกว่าสำคัญมากต่อปัจจัยเศรษฐกิจไทย ต่อจากนี้คุณกรณ์มองว่าหนี้เสีย หนี้ครัวเรือน หนี้ต่างๆ มันจะเป็นอย่างไร

มันต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วมากที่สุดอยู่แล้ว ความจริงตั้งแต่ที่มีน้ำท่วมใหญ่ปี 2554-2559 หนี้ครัวเรือนเพิ่มจาก 60% มาเป็น 80% ของ GDP ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนี้ครัวเรือนไทยขยายตัวเร็วที่สุดในโลกเลย

ประเด็นปัญหาคือ จากวันนั้นถึงวันนี้หนี้ก็มีแต่เพิ่มขึ้น ตรงนี้คาดการณ์ได้เลยว่า รายได้ไม่มี ภาระค่าใช้จ่ายยังมีเหมือนเดิม บางกรณีอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นกำลังซื้อครัวเรือน สถานะทางการเงินครัวเรือน ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ดังนั้นวิธีการที่ดีคือ เสริมรายได้ให้เขา เพราะการไปแก้ปัญหาหนี้สินขาเดียวมันคงไม่ตอบโจทย์ เป็นเรื่องท้าทายมากในภาวะเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้

 

หนี้ที่บอก 70-80% หลังจากนี้คุณกรณ์คิดว่ามันจะขึ้นไปถึงประมาณเท่าไร

ตอนนี้ผมคิดว่ามันขึ้นไปสูงกว่านั้นอยู่แล้ว เพราะว่าหนี้นอกระบบมันไม่ได้อยู่ในการคำนวณ ซึ่งผมมั่นใจว่าการพึ่งพาการกู้ยืมนอกระบบเพิ่มขึ้นแน่นอน ส่วนหนี้ในระบบจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าสถาบันทางการเงินพร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมหรือเปล่า มันมีข้อจำกัดตรงนั้นอยู่ในตัวของมันเอง แต่ว่าเรื่องของการล้มละลาย ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคลหรือระดับประกอบการ ผมคิดว่าจะเป็นปัญหาให้กับเราอีกสักพักหนึ่ง นี่คือสาเหตุที่มาตรการที่จะยิงตรงให้สภาพคล่องมีในระบบระดับฐานรากเป็นเรื่องที่สำคัญมาก 

 

หลายคนเป็นห่วงเรื่องหนี้นอกระบบมากพอสมควร แม้ว่าแบงก์ชาติจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับ Non-Bank หลายที่ อยากให้คุณกรณ์ลองวิเคราะห์ว่า ถ้าเกิดมาตรการที่ออกยังไม่เข้าเป้าเพียงพอ ประสิทธิภาพยังไม่เพียงพอ ซึ่งเราคงต้องรอดูกันต่อไป ผลที่ตามมามันจะเกิดอะไรกับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทย ทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ กิจการที่ล้มละลาย
ตั้งแต่ก่อนโควิด ผมคิดว่าภาคส่วนที่ผมเป็นห่วงมากที่สุดคือ ภาคครัวเรือน ฉะนั้นเราจะสังเกตว่าเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ก่อนโควิดมีอัตราการขยายตัวที่ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะว่ากำลังซื้อของคนไทยไม่เพิ่ม ยิ่งเจอโควิด-19 ผมคิดว่ายิ่งได้รับผลกระทบเพิ่มหนักมาก เพราะมาตราการล็อคดาวน์ของเราก็เข้มงวดกว่าหลายประเทศ ในส่วนตรงนี้จึงเป็นปัญหา 

 

มีหลายเรื่องที่รัฐบาลทำได้ดีในช่วงที่ผ่านมา เช่น การพยายามจะส่งเสริมสถาบันสินเชื่อครัวเรือน เช่น พิโกไฟแนซ์ ที่จริงๆ มันมีไว้เพื่อที่จะมาแข่งและมาทดแทนนายทุนนอกระบบโดยตรง แต่จำนวนมันยังจำกัดอยู่ ผมพยายามเสนอว่า เวลาคุณปล่อยสินเชื่อ Soft Loan ทำไมปล่อยให้แค่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เท่านั้น สิ่งที่คุณควรทำ ไหนๆ คุณอุตส่าห์สร้างกลไกเครือข่ายที่มีไว้ดูแลประชาชนอยู่แล้ว คุณน่าจะยิง Soft Loan ผ่านสถาบันพวกนี้ด้วย ให้เขาไปปล่อยต่อให้กับประชาชนที่เดือดร้อนอีกชั้นหนึ่ง คือเราต้องขยันที่จะคิดวิธีการที่ทำให้การเข้าถึงสินเชื่อในระบบในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม มันมีโอกาสมากขึ้น ไม่เช่นนั้นเวลาชาวบ้านเดือดร้อนต้องเข้าถึงเงิน เลี่ยงไม่ได้หรอกที่จะไปพึ่งพานายทุนนอกระบบ

 

เท่าที่ฟังมา หลายกรณีเป็นโจทย์ใหญ่ของทุกที่ อยากชวนคุณกรณ์คุยข้ามช็อต เราเห็นโจทย์เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว หลังจากนี้ New Normal เศรษฐกิจของประเทศไทย โครงการเศรษฐกิจ ทุนนิยมแบบสมัยใหม่ หรือที่หลายคนพูดว่า ระบบเศรษฐกิจใหม่ของโลกมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์อีกครั้งหนึ่ง คุณกรณ์มองว่ามีกรอบอะไรที่เราควรจะมอง และเป็นโจทย์ที่เราควรช่วยกันแก้บ้าง

ถ้าพูดถึง New Normal ผมคิดว่าในมิติที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์มันคงมีอยู่หลายเรื่อง Social Distancing คงอยู่กับเราไปสักพักหนึ่ง ผมยังมีคำถามเลยว่า ฝรั่งเขาจะกลับไปเชกแฮนด์กันเหมือนเดิมไหม หรือวัฒนธรรมแบบนั้นหายไปจากโลกมนุษย์เลย นั่นคือตัวอย่างเล็กๆ แต่มันก็ส่งผลในด้านจิตวิทยา

ทางด้านวิธีการทำงานหรือการอยู่ร่วมกัน เช่น Co-Working Space อาจเปลี่ยนเลย คนอาจมีความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ถ้าจะไปนั่งตรงจุดที่ใครก็ไม่รู้เพิ่งนั่งมา อาจต้องมีการแบ่งพื้นที่ว่างระหว่างกันที่มีความชัดเจนมากขึ้น

ผมเพิ่งอ่านมาตรการการบริการสายการบิน เห็นมีข้อตกลงในเรื่องของกฎกติกาการใช้บริการที่สะท้อนให้เห็นว่า ถ้ายังต้องรักษาสภาพเช่นนี้ไว้ ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นแน่นอน เพราะจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวบินที่ต้องลดลง ยังไม่นับเรื่องค่าใช้จ่ายในเรื่องการรักษาความสะอาดที่เพิ่มขึ้น

ทุกคนที่อยู่ในแต่ละภาคธุรกิจต้องลองจินตนาการดูว่า พฤติกรรมหรือความต้องการประชาชนในฐานะผู้บริโภคในแง่ความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขมันเพิ่มขึ้นแน่นอน แล้วมันจะส่งผลอย่างไร ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์จะต้องปรับตัวอย่างไร ต้องมานั่งคิดว่า ความกังวลของคน การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาปลอดภัยจะทำให้เราต้องปรับตัวอย่างไร ผมคิดว่าผลกระทบมีไปอีกระยะหนึ่ง ถามว่าถาวรไหม พูดยาก เพราะว่ามนุษย์เราก็ขี้ลืมเหมือนกัน เวลานี้เราอาจจะนึกไม่ออกว่าจะลืมเรื่องนี้ได้อย่างไร แต่เชื่อเถอะ ถึงวันหนึ่งเราก็จะลืม คนตายมาแล้ว 50 ล้านคนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่แป๊บเดียวคนก็ลืม กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนหนึ่งมันก็ขึ้นกับว่าวัคซีนมันจะออกมาได้ไหม ให้ความมั่นใจได้แค่ไหน แต่จะมีระยะหนึ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงแน่นอน 

 

ระดับมหภาคเรื่องของการส่งออกคงไม่เท่าไร ถ้าโรงงานเปิดและผลิตสินค้าตามปกติได้ แนวโน้มที่จะกลับสู่ภาวะปกติก็มากขึ้นเท่านั้น แต่ภาคอุตสาหกรรม เช่น ท่องเที่ยว คงเปลี่ยนเยอะในความคิดของผม ทั้งในแง่การฟื้นฟูความเชื่อมั่นสำหรับผู้โดยสาร ซึ่งผมคิดว่าประเทศไทยมีจุดแข็งและได้เปรียบในหลายด้าน ภาพลักษณ์ในด้านสาธารณสุขของเราจากประเด็นโควิด-19 ดีมากในสายตาชาวโลกเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ฉะนั้นความมั่นใจในส่วนของนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวประเทศไทย ผมคิดว่ามีแนวโน้มที่จะมีมากกว่าประเทศอื่นๆ ตรงนี้คือจุดแข็งที่ผมคิดว่าในอดีตอาจจะไม่ได้เป็นจุดขาย แต่ว่าในอนาคตเป็นประเด็นที่เราต้องประชาสัมพันธ์โฆษณา ส่งเสริมภาพลักษณ์นี้ให้เป็นที่ประจักษ์ในสายตานักท่องเที่ยวทั่วโลก

เรื่องอื่นในช่วงโควิด-19 ธุรกิจไหนเป็นธุรกิจที่ไปได้ดี ผมคิดว่า ธุรกิจคอนเทนต์ ยกตัวอย่างง่ายสุด นั่งดูเน็ตฟลิกซ์ที่บ้าน หรือเทคโนโลยี Video Conferencing ตอนนี้คนทั้งโลกรู้จัก Zoom จากที่เมื่อก่อนเป็นแอปฯ ที่คนไม่คุ้นเคยมากนัก รวมถึงคอนเทนต์ต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย เพราะฉะนั้นการสร้างคอนเทนต์ ผมคิดว่าจะเป็นธุรกิจสำคัญในอนาคต พื้นฐานของประเทศไทยเราก็ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมอนาคตของเราได้ พวกเราจะเรียกว่า Soft Power ซึ่งมันมีความหมายกว้างกว่าคอนเทนต์ แต่มันต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่ในอดีตผมคิดว่าเรายังไม่มี อาจจะมีการพูดถึง แต่ยังไม่มียุทธศาสตร์หรือนโยบาย ไม่มีรัฐบาลไหนที่เวลาแถลงนโยบายจะพูดถึงยุทธศาสตร์การสร้าง Soft Power มันมีผลมหาศาลกับความมั่งคั่งของประเทศและโอกาสในการทำมาหากินของประชาชน สำหรับเรา ผมคิดว่าเราไปได้ทั้งทางด้านอาหาร มีความได้เปรียบ คนทั้งโลกชอบอาหารไทยอยู่แล้ว ร้านอาหารไทยมีอยู่แล้วทั่วโลก ถามว่าเราเพิ่ม Soft Power ของเราทางด้านอาหารได้อย่างไร ซึ่งมันจะมีผลไปถึง Supply Chain ไปถึงอุตสาหกรรมการเกษตร มันจะทำให้ภาคการเกษตรสามารถพัฒนาไปในรูปแบบเกษตรพรีเมียมได้ แทนที่จะเป็นผู้ผลิตที่ไม่มีการแปรรูป ในเรื่องกีฬาก็เป็น Soft Power สำคัญของหลายๆ ประเทศ มีกีฬาประเภทไหนที่เราสามารถที่จะเสริมให้เป็น Soft Power ของไทยได้ ชัดเจนที่สุด สิ่งที่เรามีแต่ชาวโลกไม่มี แต่เราไม่เคยได้พัฒนาอย่างเป็นระบบก็คือ มวยไทย มันดังมากแต่มันยังไม่มีการพัฒนาให้เป็นระบบเหมือนยูโดและเทควันโดของญี่ปุ่นและเกาหลี ส่วนเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์เราก็เห็นฝีมือของโปรดิวเซอร์คนไทย จริงๆ ไม่ได้ด้อยกว่าหรอก เพียงแต่ว่าเราอาจจะยังขาดยุทธศาสตร์ในการที่จะเจาะตลาดหลักต่างประเทศอย่างเป็นระบบ สมมติเราต้องการให้คนจีนคลั่งกระแสไทยฟีเวอร์ เราต้องทำอย่างไร เราต้องมีกระบวนการในการผลิตคอนเทนต์แบบไหน ยุทธศาสตร์ในการตลาด หรือแม้แต่ทางการเมืองที่จะต้องมีกับจีน เพื่อที่จะเปิดตลาดให้ผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยเรา จะต้องมียุทธศาสตร์อย่างไรบ้าง คือเราเรียนรู้จากหลายประเทศที่เขามียุทธศาสตร์ชัดเจนในการสร้าง Soft Power มาก่อนหน้านี้ ของเราที่ผ่านมาเราไปเน้นอุตสาหกรรมหนักอย่าง ยานยนต์ การท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดสำคัญ แต่มาถึงวันนี้ผมคิดว่ามันเป็นจังหวะและโอกาสที่เราต้องเน้นเรื่อง Soft Power ด้วย 

 

เรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจและเห็นตัวอย่างชัดเจน เราต้องมานั่งทบทวนยุทธศาสตร์กันอีกทีว่าต้องทำอย่างไร เพราะผมเข้าใจว่าจริงๆ แล้วแต่ละประเทศมีจุดเด่น จุดด้อย แตกต่างกัน

มีบริบทประเพณีวัฒนธรรมหรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน เราเรียนรู้ได้จากทุกประเทศว่าเขาทำอย่างไร แต่การหยิบยกวิธีการของเขามาใช้โดยไม่มีการดัดแปลงให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย

 

ขอย้อนกลับมาเรื่องการเงินการคลัง ผมรู้สึกว่ามีโจทย์หลายเรื่องในระดับโลก ตามที่คุณกรณ์เกริ่นว่า เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด โลกไปอย่างไร เราต้องเอาอันนั้นเป็นโจทย์ด้วย ตอนนี้โจทย์หนึ่งที่ผมเห็นคือ ธนาคารแต่ละประเทศพยายามที่จะอัดฉีดและทำให้หนี้สินสาธารณะสูงขึ้น เข้าไปซื้อพันธบัตรกันหมด ดอกเบี้ยก็ต่ำมาก คุณกรณ์มองว่าหลังจากนี้ระบบการเงินของทั้งโลกจะเป็นอย่างไร

เราจะอยู่ในโลกดอกเบี้ยต่ำต่อไป ความจริงมันต่ำมากจนติดลบมาแล้วตั้งแต่วิกฤตซัพไพรม์ นโยบายของธนาคารกลาง ทั้งยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ที่อัดฉีดเงินเข้ามาเพื่อหล่อเลี้ยงระบบ เดิมทีเราคิดว่า เราจะค่อยๆ กลับไปสู่ภาวะปกติในแง่ของอัตราดอกเบี้ย แต่ตอนนี้ไม่เห็น ความหมายต่อประชาชนคือ เราไม่สามารถที่จะพึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยอีกต่อไป ในยุคสมัย 20 กว่าปีที่แล้ว อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 20% ผู้สูงอายุอยู่ได้ด้วยดอกเบี้ยเงินฝาก เดี๋ยวนี้ต้องคิดใหม่ ไม่มีทางที่จะพึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากได้ ต้องหันมาหาความรู้ในเรื่องการลงทุน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในทางตรงกันข้าม เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย ผลตอบแทนจากธนาคารต่ำ ก็ไปวิ่งหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์มากที่สุดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาคือ หุ้น เพราะฉะนั้นใครที่ขาดความรู้และไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเสียเปรียบมาก ผลตอบแทนผมไม่แน่ใจ แต่มันน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10% อย่างน้อยต่อปี เทียบกับเกือบจะ 0% ถ้าคุณทิ้งเงินไว้ในบัญชีเงินฝากอย่างเดียว ความต่างมันมหาศาล เพราะฉะนั้นช่วงนี้มันต้องมีการให้ความรู้ทางด้านการเงินระดับพื้นฐาน เพื่อให้คนรู้ว่าในยุคดอกเบี้ยต่ำคุณควรที่จะบริหารเงินของคุณอย่างไรไม่ให้เป็นความเสี่ยงต่อคุณ 

 

พูดถึงสถาบันทางการเงิน ผมอยากหยิบยกตัวอย่างของสถาบันทางการเงินให้เห็นว่าหลังโควิด-19 มีความจำเป็นที่เขาต้องดิสรัปชันตัวเองอย่างไร เพราะก่อนโควิดเราจะได้ยินเรื่อง Digital Banking หรือ Mobile Banking แต่ลองนึกภาพหลังโควิด-19 ผู้คนมีความคุ้นเคยและต้องการการรักษาความห่าง เราต้องการทำทุกอย่างอยู่ที่บ้านโดยโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ยิ่งเป็นตัวบีบบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัว ถ้าใครปรับไม่ได้ก็จะแข่งขันไม่ได้ ตอนนี้ในประเทศที่เขาเลือกได้ว่าสามารถที่จะใช้บริการจากธนาคารที่เป็น Digital Bank ไม่ต้องมีสาขาเลย สิงคโปร์และฮ่องกงก็ออกใบอนุญาตมาแล้ว มาเลเซียกำลังจะออกใบอนุญาตให้มี Digital Bank หรือผู้ประกอบการประเภทอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นธนาคารวิ่งไปขอใบอนุญาต เช่น Grab ก็ไปสมัครขอใบอนุญาตที่สิงคโปร์ โดยที่เขาเชื่อว่าด้วยความใกล้ชิดกับประชาชน จากการที่เขามี Grab Delivery และ Grab Taxi เขามีข้อมูลต่างๆ เขาสามารถที่จะใช้ข้อมูลประเมินความต้องการทางการเงินของลูกค้าเขาได้แม่นยำ และแม่นยำกว่าแบงก์ที่แทบจะไม่มีข้อมูลแบบนี้กับลูกค้าเลย เขาก็เชื่อว่าเขาแข่งได้ ฉะนั้นสิ่งที่ผมเชื่อว่าเราจะเห็นก็คือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านการให้บริการทางการเงิน ธนาคารรูปแบบใหม่ ธนาคารรูปแบบเดิมจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีให้บริการทั้งหมด ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็ควรจะเป็นประชาชนผู้ใช้บริการ แต่มันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่งที่เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก

 

คุณกรณ์กำลังบอกว่า ​Landscape ของสถาบันทางการเงินหรือ Banking กำลังจะเปลี่ยนไปอีกครั้งใช่ไหมครับ

ใช่ เพราะประเภทตัวสินค้าของเขาเป็นสินค้าที่มันไม่ต้องจับต้องก็คือ เงิน โอนระหว่างบัญชีกันเราไม่ต้องเห็นตัวสินค้าเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นมันยิ่งเอื้อต่อการที่จะใช้เทคโนโลยีมาเป็นผู้ให้บริการ แม้แต่สินค้าร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ห้างร้านต่างๆ ผมคิดว่าวันนี้คนไทยมีความเคยชินหรือคุ้นเคยกับการสั่งออนไลน์อย่างมาก สิ่งที่เราเห็นคือการพัฒนาการให้บริการในเรื่องโลจิสติกส์ การส่งของให้มีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อทุกประเภท ผมคิดว่ามีโอกาสที่เราจะได้เห็นแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่จะมาแข่งขันกับแพลตฟอร์มเดิม เพื่อรองรับความต้องการในยุคนี้ของการบริการออนไลน์ E-Commerce ที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น 

 

คุณกรณ์คุ้นเคยกับ FinTech พอสมควร คิดว่าโจทย์ของ FinTech หลังจากนี้คืออะไร คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ผู้ประกอบการ หรือสตาร์ทอัพ เราพร้อมที่จะรับกับกระแสดิสรัปชันที่กล่าวมาหรือไม่

พูดถึงสตาร์ทอัพไทยโดยรวมก่อน ผมคิดว่าก็ยังมีปัญหาในแง่การขยายและเติบโต การเข้าถึงแหล่งเงินทุนยังไม่สะดวกหรือคล่องเท่าสตาร์ทอัพในประเทศเพื่อนบ้านเราโดยเฉพาะอินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพราะฉะนั้นเรายังมีปัญหานี้อยู่ ส่วน FinTech ก็คล้ายกับสตาร์ทอัพทางด้านอื่นๆ แต่ผมคิดว่า FinTech เองก็ได้ประโยชน์จาก Land Scape ที่เปลี่ยนไปด้วย ในแง่ของความต้องการบริการในระบบดิจิทัลโดยประชาชนที่เป็นผู้บริโภค ผมเองคิดว่าความร่วมมือระหว่างองค์กรในที่นี้คือสถาบันทางการเงินกับ FinTech เป็นเรื่องจำเป็น เพราะสถาบันทางการเงินเองก็ต้องการการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลายเรื่องคิดเองภายในองค์กรอาจไม่ค่อยคล่องตัว ในขณะที่ตัว FinTech เองก็อาจขาดเครือข่าย ขาดกำลังทุน สมมติว่าเชื่อมโยงกันได้ ผมคิดว่านั่นอาจเป็นโมเดลหรือรูปแบบการพัฒนา FinTech ในประเทศไทย ซึ่งต่างกับประเทศอื่นๆ เราจึงต้องมีโมเดลที่เหมาะสม แต่ผมเชื่อและมั่นใจว่า การพัฒนาการใช้บริการทางการเงินด้วยเทคโนโลยีมันมีแต่ที่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น 

 

คุณกรณ์บอกว่า หลังจากนี้คนที่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนจะเสียเปรียบพอสมควร ผมนึกถึงต่อไปว่า มันจะมีความเหลื่อมล้ำ คนที่มีเงินสดอยู่กับตัวคือคนรวย พวกเขามีสินทรัพย์ มีความรู้เรื่องการลงทุน มีเครือข่าย สามารถกระจายความเสี่ยงเรื่องการลงทุนได้ ในขณะที่เมื่อผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไป คนที่เป็นรากหญ้าจริงๆ อาจเหนื่อยมาก แค่เงินสดก็เหนื่อยแล้ว แต่กลายเป็นว่าหลังจากนี้เขาไม่สามารถที่จะเข้าถึงพวกนี้ได้อีก สินทรัพย์ลงทุนก็ยากขึ้นอีก โจทย์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ภาพภูมิทัศน์ประเทศไทยเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่านี่คือปัญหาอย่างมาก ประเด็นเปรียบเทียบที่น่าสนใจ ย้อนกลับไปดูช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เกาหลีใต้โดนหนักเท่าเราเลย ตอนนั้นมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่ของเขาด้วย ซึ่งตอนนั้นก็ทำให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ของเขาต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ จริงๆ ถ้าย้อนกลับไปดูมันจะเป็นที่มาของซัมซุงแและฮุนไดยุคใหม่ที่เกิดขึ้นจากวิกฤต ทางรัฐบาลเกาหลีก็มีนโยบายชัดเจนว่าต้องการที่จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน เกิดผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ ไม่ต้องการที่จะเห็นการผูกขาดโดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่เหมือนกับที่เป็นรูปแบบหรือวิธีการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีก่อนหน้านั้น จึงมีนโยบายต่างๆ เกิดการแก้กฎหมาย กฎเกณฑ์กติกา เข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า การลดจำนวนกฎหมายลง เพราะเขามองว่ามันเป็นอุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจมันอุ้ยอ้าย ยากลำบากในการก่อตั้งกิจการ คือเพิ่มความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจในทุกด้าน ผมคิดว่าต้องมี Mindset แบบนั้น รัฐเองต้องปรับให้ทันต่อยุคสมัยมากขึ้น 

 

รัฐเองควรมีพัฒนาระบบบริการโดยราชการ ถ้าเราเปรียบเทียบช่วงโควิด-19 ประเด็นปัญหาหลายอย่างในเรื่องประสิทธิภาพการให้บริการโดยรัฐมันล้วนเกิดขึ้นเพราะระบบราชการมันอุ้ยอ้าย อย่างมาตรการ 5,000 บาท ยิงไม่ถูกที่ ขึ้นทะเบียนก็ล่ม ระบบการกลั่นกรองก็ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่เป็นธรรม ทั้งหมดนี้มันเป็นเพราะเทคโนโลยีเราไปไม่ถึง หน้ากากหายไม่รู้ว่าผลิตแล้วไปอยู่ที่ไหนบ้าง ทำไมไต้หวันไม่มีปัญหานี้ ทำไมเขาถึงสามารถที่จะกำหนดโควตาให้กับประชาชนชาวไต้หวันทุกคนว่า มารับหน้ากากได้ที่ไหน เมื่อไร คนละกี่ชิ้น อย่างแม่นยำ อันนี้เป็นเพราะเทคโนโลยีที่เขามี หรือแม้แต่การศึกษาออนไลน์ ทำไมสิงคโปร์ถึงทดสอบแป๊บเดียว แล้วเขาสามารถที่จะประกาศนโยบายให้เด็กสิงคโปร์สามารถเรียนออนไลน์ได้เลย นั่นก็เพราะเขามีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี ทางด้านการฝึกอบรมบุคลากรทางด้านการศึกษาของเขาให้สามารถที่จะอยู่ในระบบออนไลน์ได้ ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงจุดอ่อนที่เราต้องเร่งแก้ไข 

 

เราอาจจะมีแผลอยู่แล้ว แต่อาจไม่เคยเปิดให้เห็น

ถูก ตรงนี้อย่างที่โบราณเขาว่า น้ำลดตอผุด เราจะเห็นว่า ประสิทธิภาพที่เราด้อยอยู่ในจุดไหนบ้าง ภาครัฐ หน่วยราชการมีความชัดเจน เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ตรงนั้น ถ้าแก้ตรงนั้นได้ มันจะมีผลในการช่วยภาคธุรกิจโดยรวมทั้งหมด ทั้งในเรื่องของข้อมูล ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพและอุปสรรคต่างๆ เพราะฉะนั้นผมถือว่าตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้น เป็นจุดแรกที่มีความสำคัญมาก

 

อีกเรื่องคือนโยบายส่งเสริมการแข่งขัน เราเลือกได้ว่า เราอยากมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ทุนใหญ่ ยึดครองพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ มีความผูกขาดมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราคิดว่านั่นคือยุทธศาสตร์หรือโมเดลธุรกิจที่ดีสำหรับประเทศ เราก็เลือกได้ที่จะไปทางนั้น ผมเองไม่คิดอย่างนั้น ผมอยากที่จะเห็นการก่อตั้งกิจการใหม่ๆ มีการแข่งขัน มีโอกาสให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง สามารถที่จะแข่งขันได้ในระดับประเทศ ซึ่งก็ต้องอาศัยนโยบายหรือชุดความคิดอีกแบบหนึ่งในการที่จะส่งเสริมให้โครงสร้างเศรษฐกิจเป็นแบบนั้น ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องเลือกและมีความชัดเจนว่าจะเดินไปทางไหน ถ้าเราต้องการที่จะลดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ แน่นอนที่สุดนโยบายการส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กอยู่ได้และโตได้ น่าที่จะตอบโจทย์มากกว่า ผมถึงได้เลือกทางนั้น

 

เป็นโจทย์ใหญ่มาก ผมคิดว่าคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดนโยบายก็ต้องลองคิดเป็นโจทย์ แต่เราในฐานะประชาชนคนตัวเล็กๆ ที่ทำตามกฎหมายและนโยบาย ทำอย่างไรให้ยังแข่งขันได้ อยากให้ช่วยให้คำแนะนำผู้ประกอบการ
อันดับแรกต้องอยู่รอดก่อน สำคัญที่สุด คุณต้องอยู่รอดให้ได้ คุณถึงจะพัฒนาปรับปรุงและแก้ไขได้ อยู่รอดตอนนี้คือ หลีกเลี่ยงภาระหนี้สิน หลายคนมีความรู้สึกว่าต้องเอาแบบเดิมให้รอด แล้วพรุ่งนี้ค่อยว่ากัน วันนี้ต้องรอดไว้ก่อน กู้ยืมมา โปะหนี้ด้วยหนี้ ซึ่งมันไม่น่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง เพราะว่าวิธีการให้บริการจริงๆ เกือบทุกกรณีที่ต้องปรับเปลี่ยน อาจจะสเกลเล็กลงหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าต้องตั้งสติให้ดี แล้วก็ลองประเมินดูว่า ช่วงนี้จะอยู่อย่างไรให้รอดในระยะยาวได้ด้วย ไม่สร้างภาระเกินตัวในช่วงที่รายได้ไม่เข้ามา

หลังจากนั้นต้องประเมินตามสถานการณ์ สมมติคุณมีร้านอาหาร แนวโน้มในอนาคต ลูกค้าจะกลับมานั่งที่ร้านคุณเหมือนเดิมไหม คุณต้องเน้นการเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นไหม ถ้าต้องเน้นแน่นอน คุณยังจะพึ่งผู้ให้บริการที่มีอยู่ เช่น Grab ต่อไป และยอมเสีย 30% เหมือนเดิมไหม หรือคุณควรพยายามที่จะสร้างเครือข่ายและฐานลูกค้าโดยตรง เพื่อคุณจะได้ไม่ต้องไปพึ่งแพลตฟอร์มที่มีค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างสูงที่จะต้องแบ่งให้กับเขา

 

เราเห็นตัวอย่างในเรื่องแพลตฟอร์ม ที่ผมเห็นแถวเสาชิงช้ามีคนทำแพลตฟอร์ม

สิ่งที่เราเองไปลองทำดูกับผู้ประกอบการบางรายคือ อาศัยร้านใหญ่พ่วงกับร้านเล็ก พูดง่ายๆ ให้ซุ้มอาหารที่มีคุณภาพเขาสามารถที่จะพ่วงสินค้าหรืออาหารของเขาไปกับร้านใหญ่ที่มีคนออร์เดอร์อยู่แล้ว คือเหมือนกับบวกเมนูเข้าไป มันเลยจะทำให้เขาสามารถที่จะติดสอยห้อยตามร้านใหญ่ไปด้วยได้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในกรณีตัวอย่างที่เราทดลองทำดู มันเป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่ทำให้เราเห็นถึงการปรับตัวที่ผมคิดว่าทุกคนจำเป็นต้องนั่งพิจารณาอย่างจริงจัง

 

อะไรคือบทเรียนที่คุณกรณ์ได้จากวิกฤตโควิด-19

เราต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมปรับต่อสถานการณ์ที่มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วก่อนโควิดเราก็จะพูดกันว่า เราอยู่ในยุคสมัยที่การเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ก็ไม่มีใครคาดว่ามันจะเร็ว แรง และคาดไม่ถึงขนาดนี้ เพราะฉะนั้นความยืดหยุ่น ความพร้อมในการที่จะปรับกรรมวิธี โดยเฉพาะการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีที่มีให้เป็นประโยชน์ ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ คือถ้าใครปรับตัวเรื่องนี้ไม่ได้ก็ทำงานไม่ได้เลย 

 

การปรับตัวไม่ใช่เรื่องยากมากนัก จริงๆ ทุกคนทำได้ อย่างวันนี้ผมเห็นเขาถกกันอยู่เรื่องการเปิดวิสามัญในสภาฯ ไม่แน่ใจว่าห้องประชุมสร้างเสร็จแล้วหรือยัง การเดินทางจะสะดวกไหม ผมคิดว่าอันนี้คือการถกปัญหาในกรอบความคิดแบบเดิม ถ้าเขาพร้อมที่จะยืดหยุ่น ปรับตัว ทำไมเขาถึงประชุมสภาฯ ออนไลน์เหมือนที่พวกเราทุกคนทำกันอยู่ไม่ได้ มันมีวิธีที่จะทำได้ เพราะหัวใจของมันคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ถามว่าคุณต้องไปประชุมสภาฯ ห้องเดียวกัน เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเหรอ ทำไมพวกเราทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ทุกวันจากที่บ้าน แล้วทำไม ส.ส. ทำไม่ได้ คืออย่าติดอยู่ในกรอบความคิดว่า มันต้องทำแบบเดิมเท่านั้นเอง คุณก็จะมีทางออกได้

 

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


Credits

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Creative ภัทร จารุอริยานนท์

Sound Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Video Editor ฐิติกาญจน์ กาญจนภักดี

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Videographer ภาณุ วิวัฒฑนาภา, ศศิพิมพ์ อนัตกรณีวัฒน์

Video Team ณัฐพงษ์ กุลพันธ์, ทศพล บุญคง

Show note หนึ่งฤดี ธนสารวิสุทธิ์

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

Music westonemusic.com

 

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising