×

ทำไมเศรษฐศาสตร์แก้จนได้รับรางวัลโนเบล และเราจะปรับใช้มันอย่างไร

18.10.2019
  • LOADING...

ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2019 ซึ่งปีนี้มีผู้รับรางวัลทั้งหมด 3 คน ได้แก่ อภิจิต บาเนอร์จี, เอสเธอร์ ดัฟโล ศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และ ไมเคิล เครเมอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทั้งสามคน ได้รับรางวัลเพราะนำวิธีการทำวิจัยเชิงทดลอง (Experiment-Based Approach) มาใช้ในการจัดการกับปัญหาความยากจน

 

รางวัลนี้น่าสนใจ เพราะกระบวนการวิจัยของพวกเขาเป็นสิ่งที่เราสามารถนำไปปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาได้ในหลายเรื่อง ผมยกเนื้อหาบางส่วนจากบทความ เหตุผลที่เศรษฐศาสตร์แก้จนได้รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ 2019 ของ คุณต้า-ภัทราภา เวชภัทรสิริ มาเล่าใน Executive Espresso เอพิโสดนี้

 


 

คุณต้า ภัทราภา เล่าในบทความไว้ว่า

 

ผู้เขียนมีความคุ้นเคยกับชื่อของทั้งสามคนนี้อยู่พอสมควร เพราะเคยเรียนวิชา International Economic Development ซึ่งหนังสือและงานวิจัยที่อาจารย์นำมาใช้ในการเรียนการสอนมักมีชื่อของทั้งสามคนนี้ให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ 

 

ส่วนตัวเคยมีโอกาสได้ไปฟังดัฟโลเล่าถึงงานวิจัยของเธอ และเพื่อนร่วมงานจากสถาบันวิจัยที่ผู้เขียนไปฝึกงาน (Financial Access Initiative Research Center) เป็นนักเรียนในที่ปรึกษาของเครเมอร์ สำหรับส่วนที่ทำให้รู้สึกยินดีและดีใจมากคือ ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในคนที่ใช้วิธีวิจัยเชิงทดลองในการทำงานวิจัยเช่นกัน

 

ปัญหาความยากจนเป็นเรื่องเรื้อรังมายาวนาน วิธีการแก้ปัญหาของหลายหน่วยงาน มักมุ่งเป้าไปที่การมอบปัจจัยที่คิดว่าจะสามารถช่วยเยียวยาได้ ยกตัวอย่างปัญหาเรื่องการศึกษา เด็กไม่ยอมไปโรงเรียนหรือไม่มีโอกาสด้านการเรียน องค์กรบางแห่งจึงเข้าไปมอบหนังสือให้ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เมื่อเห็นปัญหาความยากจน ก็แจกเงิน หรือให้กู้ยืมเงิน เป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ เปรียบเทียบเหมือนการให้ ‘ปลา’ แต่ไม่ให้ ‘เบ็ดตกปลา’

 

บาเนอร์จีและดัฟโลจึงสร้าง The Poverty Action Lab ขึ้นภายใน MIT เมื่อปี 2003 เพื่อผลิตงานวิจัยและออกแบบนโยบายที่ช่วยลดระดับความยากจน โดยมุ่งเน้นการใช้ข้อมูลที่มาจากงานวิจัยเชิงทดลอง ซึ่งมีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ก่อนที่จะนำผลลัพธ์จากการทดลองมาใช้เป็นนโยบายจริง

 

พวกเขาเปลี่ยนมุมมองจากแค่ภาพใหญ่ที่มีความซับซ้อนมาโฟกัสในจุดที่เล็กลง เน้นการแก้ปัญหาให้ตรงจุด เห็นผลชัดเจน รวมทั้งสามารถวัดผลได้ว่า นโยบายที่ทำนั้นมีผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจอย่างไร

 

ผมลองสรุปกระบวนการของพวกเขาออกมาเป็น 4 ข้อย่อย เพื่อให้จดจำง่ายและสามารถเอาไปใช้ต่อได้ ดังนี้

 

1. แตกปัญหาใหญ่ให้เป็นปัญหาย่อยที่สามารถเข้าถึงได้

หากพูดถึงปัญหาในที่ทำงาน เราอาจนึกถึงเรื่องใหญ่ เช่น การทำ Digital Transformation หรือปัญหาการเมืองในบริษัท แต่เมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียด ทุกเรื่องใหญ่ย่อมมีเรื่องย่อยที่เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาซ่อนอยู่ ดังนั้น สิ่งที่ผู้แก้ปัญหาควรทำคือ การใช้วิธีคิดแบบ  Bottom Up ซอยปัญหาเล็กๆ ย่อยๆ แล้วค่อยแก้ไขให้ตรงจุดว่าต้นตอของเรื่องคืออะไร

 

ย้อนกลับมาที่งานวิจัยของ The Poverty Action Lab พวกเขาเล่าว่า ก่อนออกแบบวิธีการแทรกแซง พวกเขาจะพยายามเข้าใจกลุ่มเป้าหมายว่ามีความคิดและพฤติกรรมอย่างไร และอะไรจะช่วยทำให้พวกเขาเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เช่น ทำอย่างไรเพื่อให้เด็กๆ ไปโรงเรียนได้มากขึ้น ทำอย่างไรให้เด็กๆ ได้รับวัคซีนมากขึ้น ทำอย่างไรให้ผู้คนใช้มุ้งเพื่อป้องกันยุง เพื่อเป็นบ่อเกิดของโรคมาลาเรียมากขึ้น

 

2. ลงไปคลุกคลีเพื่อทำความเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายมีความคิดและพฤติกรรมอย่างไร

บาเนอร์จีเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า วิธีการทำวิจัยที่พวกเขาใช้ เป็นการมองจากมุมของคนยากไร้ จากมุมมองของคนเหล่านั้นจริงๆ ไม่ได้มองจากที่นโยบายรัฐบาลมีให้พวกเขา

 

นโยบายส่วนใหญ่ของผู้นำประเทศมักมาจากความหวังดีในกลุ่มผู้ร่วมประชุม แต่ขาดความเข้าใจ เพราะพวกเขาอาจไม่เคยจนมาก่อน ไม่เคยเข้าใจว่าความจนนั้นคืออะไร เช่นเดียวกับปัญหาของคนในองค์กร ถ้าผู้บริหารมัวแต่คิดจากมุมมองตัวเอง ก็ไม่มีทางแก้ไขได้อย่างแท้จริง ฉะนั้นหากอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นอกจากแตกหัวข้อปัญหาย่อยๆ ลองเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจจากมุมของพนักงานอย่างตรงไปตรงมา และเลิกคิดจากตัวเองเพียงอย่างเดียว

 

3. ออกแบบการทดลองว่าวิธีใดใช้ผลดีที่สุด

ทีม The Poverty Action Lab มีวิธีการที่ใช้ในการทำวิจัยเชิงทดลองเรียกว่า Randomised Controlled Trials (RCTs) ซึ่งพวกเขาเป็นคนแรกๆ ที่นำวิธีนี้มาใช้กับงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ 

 

ในความเป็นจริง RCTs เป็นวิธีการที่นิยมมากในทางการแพทย์ เช่น หากต้องการทราบว่ายา A มีประสิทธิภาพทำให้คนไข้หายจากโรคได้หรือไม่ สิ่งที่นักวิจัยยาสามารถทำได้ก็คือ ให้ยา A แก่คนไข้กลุ่มหนึ่ง และให้ยาหลอกซึ่งทำมาจากแป้ง (Placebo) แก่คนไข้อีกกลุ่ม หากกลุ่มที่ได้รับยา A มีอาการที่ดีขึ้นกว่ากลุ่ม Placebo อาจสรุปได้ว่า ยา A มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค 

           

ผลลัพธ์จากการใช้ RCTs กับงานด้านเศรษฐศาสตร์ ก็ทำให้สามารถบอกได้ว่า Intervention ที่ใช้ในการทำการทดลองมีประสิทธิภาพเพียงใด เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับ Intervention (Control Group) และกลุ่มที่ได้รับ Intervention ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งวิธีการนี้ส่งผลดีในการทำให้รู้ว่า ควรใช้เงินงบประมาณไปกับนโยบายใด เพื่อทำให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

 

4. วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

อีกเคสต์ตัวอย่างจากบทความของคุณต้าที่ผมชอบมาก เธอเล่าว่า

 

งานที่สร้างอิมแพ็กในการแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาที่มาพร้อมกับปัญหาเรื่องสุขภาพ หากคิดถึงว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆ ที่ยากจนในทวีปแอฟริกามาเรียนที่โรงเรียนมากขึ้น นโยบายที่สามารถทำได้มีหลากหลาย เช่น จัดอาหารเช้าและกลางวันให้เด็กรับประทาน แจกชุดนักเรียน หรือให้เรียนฟรี อย่างไรก็ดี พวกเขาพบว่า ปัญหาหนึ่งที่เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะว่าพวกเขาป่วยจากโรคพยาธิลำไส้ ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้ และสามารถรักษาให้หายได้ด้วยต้นทุนที่ถูกมาก 

            

งานวิจัยได้ใช้วิธี RCTs แสดงเปรียบเทียบให้เห็นว่า จำนวนปีที่นักเรียนจะมาเรียนเพิ่มขึ้นหลังจากได้รับ Intervention เมื่อเทียบกับเงิน 100 ดอลลาร์ ที่ใช้ในการทำนโยบายจะเป็นเท่าไร ซึ่งผลที่ออกมาพบว่า การให้ยาถ่ายพยาธิส่งผลให้พวกเขามาเรียนได้เพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่วิธีอื่นๆ เช่น การเพิ่มจำนวนคุณครู การจัดให้มีอาหารทานฟรี การให้ชุดนักเรียน การให้ทุนเรียนฟรี ส่งผลให้จำนวนปีที่นักเรียนจะมาเรียนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 

 

ทั้งนี้ ก็เนื่องจากต้นทุนของยาถ่ายพยาธิมีราคาถูกมาก และสามารถสร้างผลลัพธ์ในระยะยาวได้ด้วย ปัจจุบันมีการจัดให้มีวันถ่ายพยาธิในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เช่น เอธิโอเปีย อินเดีย เคนยา ไนจีเรีย และเวียดนาม โดยจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของ J-PAL พบว่า ในปี 2017 มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 285 ล้านคนทั่วโลกในประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับ Intervention นี้ และส่งผลให้พวกเขามีสุขภาพกายที่ดีขึ้น และทำให้สามารถไปโรงเรียนได้

 

​นักวิจัยทั้งสามคนได้รับรางวัลโนเบล จากการที่พวกเขาใช้วิธีการวิจัยเชิงทดลอง และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่าสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ยากไร้ได้จริง 

 

ลองกลับมานึกถึงวิธีการที่เราใช้ในการตั้งต้นแก้ปัญหา คนจำนวนไม่น้อยมักลงมือทำไปเลย แล้วค่อยดูผลลัพธ์ว่าเป็นอย่างไร ครั้งต่อไปใช้วิธีการ RCTs เป็นเครื่องมือช่วย เพื่อให้เรารู้ว่าการลงทุนเงินกับเรื่องอะไรคุ้มค่าที่สุด หรือการแก้ปัญหาแบบไหนได้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising