×

อนาคตพลังงานไทยไปทางไหน เราต้องปรับตัวอย่างไร สัมภาษณ์ สนธิรัตน์ รมว.พลังงาน

25.12.2019
  • LOADING...

โรงไฟฟ้าถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ รถยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ อะไรจะอยู่ อะไรจะไป อะไรจะได้รับความสนใจและให้ความสำคัญต่อไปบ้าง ทิศทางพลังงานของประเทศไทยกำลังมุ่งไปทางไหน

 

เคน นครินทร์ คุยกับ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรายการ The Secret Sauce: Executive Espresso

 


 

ความตื่นตัวด้านพลังงานทางเลือกกำลังอยู่ในความสนใจของใครหลายคนจากปัญหา Climate Change ซึ่งเป็นภัยคุกคามของทั่วโลก ทำให้เกิดคำถามมากมายตามมาเกี่ยวกับทิศทางในการพัฒนาทรัพยากรด้านพลังงานอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ คงไม่มีใครตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีเท่า สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้มีหน้าที่กำกับและดูแลนโยบายพลังงานของไทยในปัจจุบัน

 

ทิศทางพลังงานโลก

เมื่อพูดถึงเรื่องของพลังงานนั้นไม่สามารถให้ความเห็นเฉพาะเพียงในประเทศไทยเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องมองให้เห็นภาพกว้างของทั้งโลกไปพร้อมกัน ซึ่งในปัจจุบันทิศทางที่สำคัญของการบริหารจัดการพลังงานทั่วโลกมีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ ดังนี้

 

1. ความมั่นคง (Security) ความมั่นคงด้านพลังงานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไฟดับเพียงไม่กี่วินาทีก็ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจมหาศาล

 

2. ความสมเหตุสมผลของราคา (Affordable) ราคาของพลังงานต้องไม่เป็นภาระแก่ประชาชน เป็นต้นทุนการประกอบการที่จะทำให้สามารถแข่งขันได้ 

 

3. พลังงานสะอาด (Clean Energy) ที่มาของพลังงานและการใช้พลังงานนั้นต้องไม่ก่อเกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เพราะทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ให้ความสนใจกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก รวมถึงทิศทางของเศรษฐกิจก็ต่างเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โรงงานที่เป็นลักษณะแบบถ่านหินในประเทศไม่น่าจะเกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว สัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในเยอรมนีเพิ่มขึ้นถึง 50% แล้ว ไทยเองก็เป็นผู้นำด้านพลังงาน Renewable ของภูมิภาคอาเซียน โดยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสูงที่สุดในอาเซียน 

 

ทิศทางพลังงานไทย

ในแง่ของนโยบายด้านพลังงาน สนธิรัตน์ชูเรื่องพลังงานเพื่อทุกคน ผลักดันเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากจุดแข็งของประเทศไทยมี 2 ประเด็นใหญ่ด้วยกัน คือการเป็นศูนย์กลางพลังงานของอาเซียน และกระจายโอกาสด้านพลังงานสู่ฐานราก 

 

นโยบายแรก มาจากข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่อยู่ตรงกลางท่ามกลางเพื่อนบ้านอาเซียน อันเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โจทย์สำคัญคือไทยจะใช้ประโยชน์จากการเป็น Center of ASEAN อย่างไร เพื่อให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาคอาเซียนต่อไปด้วย 

 

พื้นฐานสำคัญของประเทศไทยด้านพลังงานไฟฟ้าคือเรามีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ดำเนินงานมายาวนานกว่า 30 ปี มีการวางรากฐานระบบสายส่งที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เจ้ากระทรวงพลังงานคนปัจจุบันจึงปรับวิธีคิดใหม่ด้วยการ ‘มองให้ทั่วทั้งอาเซียน’ ว่าแต่ละพื้นที่มีความต้องการไฟฟ้ามากน้อยเพียงใด แล้วใช้ประโยชน์จากการเป็นคนที่อยู่ตรงกลาง ปรับตัวเองเป็น Trader of ASEAN คอยบริหารจัดการไฟฟ้า ในเมื่อลาวเป็น Battery of Asia สร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวนมาก ส่วนเมียนมากำลังเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก แต่โรงไฟฟ้าเกิดไม่ทัน ส่วนกัมพูชาก็มีปัญหาไฟฟ้าติดๆ ดับๆ ไม่เสถียร เมื่อมองภาพรวมทั้งหมดก็จะเห็นว่าไทยสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานแข็งแรงอยู่แล้วบริหารจัดการพลังงานของภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมองไปถึงการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ไทยมีความมั่นคงทางพลังงานมากขึ้น และสามารถรับซื้อพลังงานไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงได้ด้วย

 

มั่นใจในความมั่นคง

เรื่องของพลังงานเป็นเรื่องของความมั่นคง สัญญาการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศจึงเป็นสัญญาระยะยาวตามแผน Power Development Plan – PDP ซึ่งวางไว้นานถึง 20 ปีให้สอดคล้องกับทิศทางการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศจากแหล่งต่างๆ รวมกับที่เพื่อนบ้านผลิตส่งมาให้นำไปขายต่อ โดยรัฐบาลไทยมีแนวทางว่าการบริหารจัดการไฟฟ้าต้องไม่ลืมบริหารจัดการน้ำด้วย เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนไซยะบุรีนั้นส่งผลกระทบกับแม่น้ำโขงโดยตรง สนธิรัตน์เน้นย้ำว่าไทยมีเงื่อนไขที่จะไม่ซื้อไฟฟ้าโดยปราศจากแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่กับลาวเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปทั้งภูมิภาค รวมไปถึงจีนตอนใต้ด้วย

 

แก๊สธรรมชาติเหลว พลังงานแห่งอนาคต

นอกจากไฟฟ้าแล้ว แก๊สธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas – LNG) จะมีบทบาทสำคัญมากเช่นเดียวกันในอนาคต เพราะมีการประเมินว่าแก๊สธรรมชาตินั้นมีมากเพียงพอที่จะใช้งานไปได้อีกถึง 200 ปี แถมยังเป็นพลังงานจากฟอสซิลที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด กลับมาที่นโยบายการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ไทยจึงมีแผนซื้อแก๊สธรรมชาติเหล่านี้มาในปริมาณมากแล้วนำมาแบ่งขาย ทำให้ได้ทั้งกำไรและความมั่นคง เนื่องจากแหล่งแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทยที่ใช้มาเกือบ 30 ปีกำลังจะหมดลงในอีก 10 ปีข้างหน้า จึงต้องเตรียมการด้วยการลงทุนสร้างท่าเรือและ Storage Tank เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะไม่ใช่แค่เราที่อยากเป็น LNG Hub แต่เวียดนามและฟิลิปปินส์เองก็ประกาศตัวแล้วเช่นเดียวกัน สิ่งที่ไทยต้องรีบทำคืออาศัยความได้เปรียบจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดใหม่ๆ ลงทุนการเชื่อมต่อกับสายส่งของเมียนมา เจรจาเรื่องการซื้อไฟเพิ่มเติมกับลาวในอนาคตก็นำมาผนวกกัน แล้ววางแผนร่วมกันไปพร้อมกับการเพิ่มเติมโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จะมาสนับสนุนแนวทางนี้

 

นโยบายใหญ่เอื้อคนตัวเล็ก

อีกนโยบายของกระทรวงพลังงานนั้นมีฐานคิดมาจากการที่ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นเกษตรกร ที่ผ่านมาธุรกิจพลังงานเดิมนั้นอยู่ในมือผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก แต่สนธิรัตน์มองว่าความมั่นคงของพลังงานนั้นไม่ควรกระจุกอยู่ข้างบนเพียงอย่างเดียว ควรจะถูกกระจายลงมาข้างล่าง นโยบาย Energy For All พลังงานเพื่อทุกคนจึงหมายถึงใช้พลังงานเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนร่วมกันผลิตพลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะมาจากของเสียจากการเกษตรหรือพืชเกษตรพลังงานก็ตาม 

 

ตัวอย่างเช่น ซังข้าวโพดจากไร่ข้าวโพดในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องถูกเผาทิ้งไปเปล่าๆ ปีละถึง 9 หมื่นตัน ตั้งแต่ปีหน้าจะถูกแปลงสภาพเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ซึ่ง กฟผ. จะรับซื้อกิโลกรัมละ 50-70 สตางค์ เกิดการทำประชาคมของเกษตรกรกับโรงไฟฟ้าชุมชน กลายเป็นโอกาสของคนตัวเล็กที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก 

 

นอกจากของเสียแล้วยังรวมไปถึงการส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อส่งให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวล เช่น การปลูกหญ้าเนเปียร์ ซึ่งตามแผนของรัฐบาลจะผลักดันให้มีสัญญาผูกพันระยะยาว ทำให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง เรียกว่าการพัฒนาที่มีการการันตีรายได้ โดยที่เอกชนขนาดเล็กเป็นผู้ลงทุนและมีเงื่อนไขให้ชุมชนเข้ามาถือหุ้นบางส่วน ส่วนธุรกิจใหญ่ที่ศักยภาพสูงอยู่แล้ว รัฐบาลจะผลักดันให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการแข่งขัน

 

เส้นทางสู่พลังงานสะอาด

สิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางพลังงานของโลกและของประเทศไทยด้วย โดยกระทรวงพลังงานตั้งเป้าว่าในอนาคตสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดจะมาจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30% 

 

รวมทั้งมีมาตรการลดปริมาณ PM2.5 ด้วยการปรับเกรดน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยที่ปัจจุบันอยู่ในเกรดยูโร 4 ไปสู่ยูโร 5 ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีกประมาณ 4-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากต้องค่อยๆ ปรับไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพโรงกลั่นและอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในช่วงเวลาไม่เกินกลางปีหน้า เราจะได้เห็นมาตรการผลักดันให้ปรับเปลี่ยนน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานของไทยจาก B7 กลายเป็น B10 ที่แม้จะต้องกระทบส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของปริมาณปาล์มน้ำมันในประเทศไทย โดยมาอยู่ในธุรกิจไบโอดีเซลราว 2.2 ล้านตัน ทำให้นอกจากจะช่วยเรื่องราคาปาล์มของเกษตรกรไทยแล้วก็ยังก็มีบทบาทในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

 

อีกก้าวต่อไปก็คือการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยการออกมาสเตอร์แพลนของรัฐบาลออกมาสร้างความมั่นใจให้เกิดการลงทุนทำ Charging Station รองรับ โดยคาดว่าต้นปีหน้าจะประกาศเรื่องนี้ออกมาได้อย่างชัดเจน มีการกำหนดว่าจะต้องมี Charging Station ตั้งอยู่ทุกกี่กิโลเมตรโดยไม่ทับซ้อนกัน กระจายการลงทุนไปตามพื้นที่ทั้งในเมืองและต่างจังหวัดเพื่อเร่งให้เกิดการตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้ามากขึ้น พร้อมกับส่งเสริมการวิจัยเทคโนโลยีเกี่ยวกับแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และดึงนักลงทุนอุตสาหกรรมนี้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ชิงความเป็นผู้นำด้านแบตเตอรี่ของภูมิภาคนี้ไว้ให้ได้ เพราะแบตเตอรี่จะเป็นตัวเปลี่ยนผ่านสำคัญมากของพลังงานทางเลือก 

 

ไม่แน่นอน แต่ไม่นิ่งนอนใจ

สำหรับประเทศไทยแล้ว ความท้าทายที่สำคัญที่สุดสำหรับการมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานของอาเซียนคงหนีไม่พ้นความไม่แน่นอนของนโยบาย หลายปัญหาต้องอาศัยเวลาและการบริหารจัดการธุรกิจควบคู่ไปกับบริหารจัดการภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผลักดันอย่างจริงจังให้ภาคประชาชนเห็นความสำคัญของการสร้างโอกาสใหม่ๆ จากต้นทุนอุปกรณ์ผลิตพลังงานทางเลือกที่ถูกลงเรื่อยๆ เช่น ‘กาญจนบุรีโมเดล’ ที่ชุมชนใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มาทำห้องเย็น เก็บผักปลอดสารพิษให้คงความสดไว้ได้นาน จึงขายได้ราคาดีขึ้น อีกตัวอย่างคือการใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มาผลิตน้ำแข็ง เมื่อต้นทุนต่ำก็ทำให้ขายได้ในราคาถูกลง ขายได้ปริมาณมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้สำหรับใช้เป็นกระแสไฟฟ้าสำรองในครัวเรือนมากขึ้น

 

เกลี่ยทุกมิติเข้าหากัน

จากประสบการณ์ทำธุรกิจตั้งแต่ศูนย์จนกระทั่งเป็นพันล้าน จนกลับมาศูนย์ใหม่ ทำธุรกิจครอบคลุมเกือบทุกเซกเตอร์ ทำให้จุดยืนในการบริหารของสนธิรัตน์คือการให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของคนข้างล่างมากที่สุด ให้คนตัวใหญ่อยู่ได้ คนตัวเล็กได้รับการดูแล หรือขณะเดียวกันคนขนาดกลางๆ หรือเป็น Value Chain ไปด้วยกันได้ โดยเริ่มจากภาพใหญ่ก่อน มองว่าทั้งโลกคิดอะไร มองหาจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองให้เจอ การแข่งขันเป็นอย่างไร โครงสร้างของสังคม โครงสร้างของธุรกิจเราเป็นอย่างไร แล้วจะเกลี่ยโครงสร้างนี้อย่างไรให้เป็นมิติที่ผสมผสานเข้าหากัน

 

และนี่คือทิศทางการพัฒนาธุรกิจพลังงานของไทยที่ผู้นำชี้ให้เห็นว่าเราทุกคนต่างก็มีส่วนได้ส่วนเสียในวัฏจักรของการผลิตและใช้สอยพลังงานเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ประโยชน์จากพลังงานเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

The Guest สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Show note สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising