×

เมื่อ Disney ท้าทาย Netflix ใครจะอยู่ ใครจะไป

20.11.2019
  • LOADING...

สงครามสตรีมมิงเริ่มขึ้นแล้ว เจ้าตลาดอย่าง Netflix กำลังถูกท้าทายจากคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้ออย่าง Disney จากการเปิดตัว Disney+ เมื่อไม่นานมานี้ รวมถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิงอีกหลายๆ เจ้าที่กำลังรุมกินโต๊ะ Netflix 

 

เคน นครินทร์ ชวน นัท-ปณชัย อารีเพิ่มพร Content Creator สายธุรกิจและเทคโนโลยีประจำ THE STANDARD มาคุยถึงภาพรวม วิเคราะห์ความเคลื่อนไหว กลยุทธ์ไม้เด็ดของแต่ละแพลตฟอร์ม ใน The Secret Sauce: Executive Espresso

 


 

ภาพรวมตลาดแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง

ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ตลาดของแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงทั่วโลกในปี 2018 ที่ผ่านมามีมูลค่าในเชิงรายได้อยู่ที่ 22,919 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้น 15% จากปีก่อนหน้า โดยในปี 2019 นี้คาดว่าตลาดของแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 24,771 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+8%) 

 

อย่างไรก็ดี การเติบโตของตลาดตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไปมีแนวโน้มจะ ‘คงที่’ เพราะมีเปอร์เซ็นต์การเติบโตเป็นเลขหลักเดียว เนื่องจากตลาดอาจจะเริ่มอิ่มตัวในเชิงผู้ใช้งาน โดยคาดว่ามูลค่าตลาดในปี 2023 จะอยู่ที่ราว 28,151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โตจากปีก่อน 1% เท่านั้น

 

นอกจากนี้ประเด็นการเข้าไปแย่งชิงฐานผู้ใช้งานหน้าใหม่ๆ จาก ‘จีน’ ได้ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามที่น่าจับตาเหมือนกัน

 

ทำไมใครๆ ก็กลัว Disney+ ผู้เล่นน้องใหม่รายน้ีน่าจับตาอย่างไร

Disney เพิ่งเปิดตัวบริการวิดีโอสตรีมมิงของตัวเองครั้งแรกไปเมื่อ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมาเฉพาะใน 3 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเนเธอร์แลนด์ สนนค่าบริการอยู่ที่ประมาณ 7 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 212 บาท โดยผลตอบรับดีมากๆ แค่วันเดียวก็มียอดผู้ใช้บริการ 10 ล้านรายไปแล้ว แถมข้อมูลจาก Apptopia ก็บอกว่า ในวันนั้นมียอดการสตรีมคอนเทนต์สูงถึงกว่า 1.3 ล้านชั่วโมง

 

แม้จะเปรียบเทียบกับ Netflix แบบตรงๆ ไม่ได้ เพราะ Disney+ เกิดมาในช่วงเวลาที่ผู้ใช้งานคุ้นชินกับบริการสตรีมมิงแล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นสถิติที่น่าสนใจและมีนัยสำคัญมากๆ

 

(ส่วนในประเทศไทยแม้จะยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ก็คาดการณ์กันว่าภายในปี 2021 การบุกตลาดให้บริการประเทศในโซนเอเชียน่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น)

 

3 จุดแข็งของ Disney+ ที่ใครจะประมาทไม่ได้ คือ 

 

1. Disney+ มีคอนเทนต์ระดับแม่เหล็กมากมายมหาศาลที่ดูได้บนแพลตฟอร์มของพวกเขาเท่านั้น เช่น Disney, Pixar, Marvel, Star Wars, 20th Century Fox, National Geographic ฯลฯ รวมถึง Original Content ที่จะผลิตเองต่อจากนี้ โดยจะใช้กลยุทธ์ทำเส้นเรื่องของภาพยนตร์ที่ฉายในโรงเป็นเส้นเรื่องเดียวกันกับคอนเทนต์ที่ออนแอร์ผ่าน Disney+ 

 

2. ชัดเจนว่าเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายเป็น ‘ครอบครัว’ (Family) ด้วยความโดดเด่นและความช่ำชองในการผลิตคอนเทนต์การ์ตูน ภาพยนตร์แนวฮีโร่ ซึ่งต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ต้องเริ่มจากศูนย์และยังไม่มีคอนเทนต์ระดับแม่เหล็กที่สามารถดึงดูดผู้ใช้งานกลุ่มนี้ได้ดีสักเท่าไร 

 

อย่างไรก็ดี TechRadar วิเคราะห์ว่า Disney+ อาจจะยังเป็นรองเจ้าอื่นๆ ตรงที่ ‘ความ Niche ของคอนเทนต์ โดยบอกว่าถ้าใครไม่ใช่แฟนเดนตายของ Disney ก็อาจจะไม่รู้สึกอินกับคอนเทนต์บน Disney+

 

3. Disney ยังขายแพ็กเกจพ่วงกับ Hulu และ ESPN+ ด้วยราคาแค่ 12.99 ดอลลาร์ หรือประมาณ 395 บาท ถือว่าครบเครื่องมากๆ เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ

 

นอกจาก Disney+ ยังมี Apple TV+ ที่เปิดตัวไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ด้วยราคาค่าบริการแค่ 99 บาท รวมถึง HBO Max ที่เตรียมจะเปิดตัวในช่วงเดือนพฤษภาคม 2020 โดยเป็นบริการจากค่าย AT&T’s WarnerMedia นั่นหมายความว่าภายใน 2 ปีต่อจากนี้ ภูมิทัศน์ของการแข่งขันในศึกแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คู่แข่งจะมากขึ้น การแข่งขันจะดุเดือดกว่าเดิม

 

เมื่อ Netflix ถูกท้าทายครั้งสำคัญ

ปัจจุบัน Netflix มียอดผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 158 ล้านราย (นับจนถึงไตรมาส 3/2019) โดยผลประกอบการในช่วงไตรมาส 3/2019 มีรายได้รวมที่ประมาณ 5,245 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 31% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 665 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 65%

 

ถึงอย่างนั้นก็ดี สัดส่วนผู้ใช้งานหน้าใหม่ๆ ของ Netflix เริ่มนิ่งเช่นกัน โดยยอดผู้ใช้งานรายใหม่ๆ ในช่วง 2 ไตรมาสล่าสุด (2/2019 และ 3/2019) กลับโตต่ำกว่าเป้ามากๆ

 

กลยุทธ์ที่ Netflix ให้ความสำคัญในตอนนี้คือ การเร่งพัฒนาออริจินัลคอนเทนต์โดยใส่ส่วนผสมของความ ‘Localize’ ลงไปเพื่อดึงดูดผู้ชมในแต่ละตลาดให้โดนใจให้ได้มากที่สุด ตัวอย่างล่าสุดกับการเปิดตัวซีรีส์ความยาว 8 ตอน และ Original Content เรื่องแรกของประเทศไทย เคว้ง (The Stranded)

 

และยังมีความเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นกลยุทธ์การปรับตัวโมเดลราคาค่าบริการใหม่ ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Netflix ในอินเดียได้เริ่มทำแพ็กเกจ Mobile Plan ราคาเริ่มต้น 199 อินเดียรูปีต่อเดือน หรือประมาณ 85 บาท ดูได้เฉพาะบนมือถือและแท็บเล็ตเท่านั้น และได้ผลตอบรับที่ดีมากๆ 

 

Gregory K. Peters หัวหน้าเจ้าหน้าที่ผลิตภัณฑ์ Netflix เลยบอกเอาไว้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะปรับโครงสร้างแพลนบริการแพ็กเกจต่างๆ ให้มีประโยชน์สำหรับสมาชิกผู้ใช้งานในตลาดอื่นๆ ที่ให้บริการอยู่มากที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการแข่งขัน Reed Hastings ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Netflix เชื่อว่า Disney+ และ Apple TV+ จะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว แต่เขายังโฟกัสไปที่การแย่งเวลาผู้ชมจากการดูโทรทัศน์เคเบิลแบบเดิมๆ เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญกว่า

 

ภาพรวมการแข่งขันในตลาดไทย

LINE TV ยังคงเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่ง เพราะเป็นแพลตฟอร์มฟรีที่มีคอนเทนต์ Local และหลากหลายให้เลือกชมเยอะมากๆ นอกจากนี้ยังมี Viu ที่โดดเด่นมากๆ กับคอนเทนต์ไทยและเกาหลี 

 

ที่ต้องจับตาอีกรายคือ ‘WeTV’ จาก Tencent ที่มีความพร้อมมากๆ ด้านเทคโนโลยีและทุนทรัพย์ โดยได้ประกาศความร่วมมือกับค่าย GDH ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์ ‘ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์’ เตรียมออกอากาศพร้อมกันทั้งในไทยและจีน (ผ่านแพลตฟอร์ม Tencent Video) กลางปี 2563 และในปีหน้าตั้งเป้าว่าจะผลิต Original Content ของไทยให้ได้อย่างน้อยไตรมาสละ 2 เรื่อง

 

เมื่อผู้ให้บริการหน้าใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ผู้บริโภคมีเวลาแค่ 24 ชั่วโมงต่อวัน การแข่งขันของแพลตฟอร์มแต่ละเจ้าต่อจากนี้จึงน่าจะยกระดับความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

The Co-host ปณชัย อารีเพิ่มพร

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Show note ปณชัย อารีเพิ่มพร

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising