×

ลงทุนสูตรถนน 5 สาย เกษียณไวทำได้จริง Feat. นิ้วโป้ง Fundamental VI

25.01.2021
  • LOADING...

มนุษย์ทุกคนมีวันที่ต้องตกงาน เราจะออมและลงทุนอย่างไรให้มีเงินใช้เมื่อถึงวันนั้น

 

โค้ชหนุ่ม และ โอมศิริ ชวน นิ้วโป้ง-อธิป กีรติพิชญ์ นักลงทุนมากประสบการณ์ เจ้าของเพจ นิ้วโป้ง Fundamental VI มาย้อนเส้นทางชีวิตมนุษย์เงินเดือน จุดเปลี่ยนกระตุกใจ และสูตรลงทุนแบบถนน 5 สายที่จะทำให้คุณเกษียณได้ไว มีเงินใช้ตามที่ต้องการ กลายเป็นคนส่วนยอดพีระมิดที่มีเงินเก็บได้จริง

 


 

อยากได้ความรู้เพิ่มเติมที่ตอบโจทย์การลงทุน เหมาะกับผู้ที่อยากเตรียมพร้อมก่อนเริ่มลงมือ เข้าไปอ่านข้อมูลดีๆ ได้ที่ https://www.setinvestnow.com/th/home ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

อยากเปิดบัญชีลงทุน www.setinvestnow.com/openacc คลิกไปที่เมนูเปิดบัญชี และคลิกต่อไปยังโบรกเกอร์ที่พร้อมให้บริการได้ง่ายๆ

 


 

 

ชีวิตวัยทำงานกับการออม

ผมเรียนจบ พ.ศ. 2539 จนถึงตอนนี้ทำงานมาได้ 24 ปีแล้ว อาชีพแรกเป็นวิศวกรทำโทรศัพท์บ้าน ช่วงนั้นรายได้ดีมาก แต่เรากลับไม่มีเงินเก็บเลย เพราะใช้ชีวิตเที่ยวเล่นสนุกสนานกับเพื่อนๆ เป็นหลัก จนมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งแรกในชีวิต ผมประสบอุบัติเหตุขณะขับรถไปทำงานที่นครปฐม ตอนนั้นเพื่อนถามว่ามีประกันไหม ผมตอบว่าไม่มี

 

โชคดีที่ตอนนั้นบริษัทดูแลรักษาให้ เหตุการณ์นั้นมันทำให้ผมฉุกคิดได้ว่า ถ้าเราเป็นอะไรไป เราจะไม่มีเงินเก็บไว้ให้พ่อแม่เลย ผมจึงตัดสินใจซื้อประกันชีวิต โดยที่ผมไม่รู้ว่ามันคือแผนเกษียณ และไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันใช้ลดหย่อนภาษีได้ จากนั้นก็รู้จักกับกองทุนประกันสังคม บริษัทจะหักจากเงินเดือนของเราไปส่วนหนึ่ง ซึ่งก็มีกองทุนชราภาพอยู่ในนั้นด้วย แต่รุ่นพี่บอกผมว่า อย่าไปคาดหวังกับเงินส่วนนี้มาก มันไม่ได้เยอะขนาดนั้น 

 

จากนั้นก็ได้รู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทมีให้ พอทำงานมาได้ 24 ปีก็พบว่า กองทุนนี้มันใหญ่อยู่เหมือนกันถ้าเรารู้จักเก็บออมดีๆ ต่อมาผมก็ได้รู้จักกับ LTF RMF ซึ่งนำมาหักภาษีได้ จากนั้นก็มาลงทุนในภาคความสมัครใจ เช่น ซื้อหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ทั้งหมดนี้คือการลงทุน 5 อย่าง ผมเชื่อว่า ถ้าเราทุกคนทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง แผนเกษียณสำเร็จได้แน่นอน 

 

เริ่มต้นแผนเกษียณครั้งแรกในชีวิต

แผนเกษียณสำหรับผมคือ แผนรองรับในวันที่เรามีแรงและเวลาเหลือเฟือ แต่ไม่มีรายได้ มนุษย์ทุกคนต้องมีวันตกงาน ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรก็ตาม วันตกงานของคุณคือวันเกษียณ ดังนั้นแผนเกษียณคือแผนที่เตรียมพร้อมสำหรับวันนั้น ซึ่งวันนั้นจะยาวนานอย่างน้อย 20 ปี นั่นคือช่วงอายุประมาณ 60-80 ปี สำหรับตัวผมไม่ได้มีการวางแผนเกษียณไว้ชัดเจน แต่ถ้าเราลงทุนครบ 5 อย่างตามที่กล่าวมาอย่างสม่ำเสมอ เราก็สามารถวางแผนเกษียณสำเร็จได้ ยิ่งกว่านั้นสิ่งที่เราลงทุนยังสามารถนำมาหักภาษีได้ด้วย อะไรที่หักภาษีได้แสดงว่าคุณทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ และคุณกำลังรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ถ้ายังไม่พอก็ออมภาคสมัครใจเพิ่ม อย่างหุ้นหรือที่ดิน สิ่งที่ผมทำทั้งหมดนี้เป็นการตั้งหลักด้วยกระบวนการ ซึ่งแตกต่างจากการตั้งเป้าด้วยตัวเลข

 

แผนเกษียณสำหรับผมคือ แผนรองรับในวันที่เรามีแรงและเวลาเหลือเฟือ แต่ไม่มีรายได้ มนุษย์ทุกคนต้องมีวันตกงาน ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรก็ตาม วันตกงานของคุณคือวันเกษียณ

 

สัดส่วนในการออมช่วงแรก 

เรื่องของสัดส่วนในการออมอยู่ที่แต่ละบุคคล เพราะบางคนที่บ้านมีภาระ บางคนต้องดูแลพ่อแม่ ผมอยากบอกว่าให้เราทำตามที่เราไหว 

 

ผมเชื่อว่า ถ้าเราทำสิ่งที่ถูกต้องอย่างไม่หักโหมและทำไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วมันจะสำเร็จในปลายทาง 

 

พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจากเริ่มวางแผนเกษียณ 

ต้องยอมรับว่าเปลี่ยน หลังจากที่เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตคือการประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ในวัยเริ่มทำงาน ผมก็ขอย้ายกลับมาอยู่ที่กรุงเทพฯ มาใช้ชีวิตกับพ่อแม่ พอมีเวลาว่างเราก็ใฝ่หาความก้าวหน้าด้วยการไปเรียนปริญญาโท ทำให้เวลาเริ่มไม่มี ชีวิตจึงเข้าสู่ลู่ของการพัฒนาตัวเอง เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน เราก็ได้เจอเพื่อนๆ ที่พัฒนาตัวเองเหมือนกัน หลังจากนั้นผมก็เริ่มศึกษาเรื่องการออมมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วพอได้มาเจอผู้หญิงที่เราอยากจะแต่งงานด้วย ชีวิตเราก็เริ่มเปลี่ยนอีกครั้ง เรื่องนี้ผมเชื่อว่าเกิดขึ้นกับผู้ชายทุกคน เพราะมันทำให้เราอยากมีอนาคตและความมั่นคงมากขึ้น

 

ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ คิดว่ามาเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ไหม 

ต้องเรียกว่าเกินมาเยอะมาก รุ่นพี่คนหนึ่งเคยบอกผมว่า อย่าหยุดคิด อย่าหยุดฝัน เพราะระหว่างทางเราอาจจะมีเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นก็ได้ ทุกวันนี้ผมเน้นกระบวนการ ไม่ได้ตั้งเป้าที่ตัวเลข มันจึงทำให้ผมมาไกลเกินที่ตั้งเป้าไว้แต่แรกแล้ว ผมมองว่ามันเป็นกิจกรรมที่ผมทำไปเรื่อยๆ และผมเลือกที่จะคิดว่าตัวเองไม่มีเวลาและไม่มีเงิน ดังนั้นการใช้ชีวิตของผมจึงเน้นกระบวนการที่สม่ำเสมอมากกว่า

 

อย่าหยุดคิด อย่าหยุดฝัน เพราะระหว่างทางเราอาจจะมีเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นก็ได้

 

ตัวอย่างเคสที่ 1 น้องนาวทำงานมาได้ 2 ปี ปัจจุบันอายุ 25 ปี เงินเดือน 25,000 บาท เคยฟังพี่โป้งจากรายการ The Money Growth ซีซัน 1 จึงเริ่มหัดออมด้วยการตัดเงินเดือน 15% ตอนแรกตัดมาเพื่อเป็นเงินฉุกเฉิน 6 เดือน และอยากมีแผนเกษียณเพราะอยากมีเงินใช้หลังอายุ 55 ปี เดือนละประมาณ 30,000 บาท ปัจจุบันไม่มีหนี้สินเลย มีเพียงค่าเช่าคอนโดเดือนละ 4,500 บาท และมีแผนจะแต่งงานกับแฟนอีกประมาณ 6 ปี ส่วนพ่อแม่ก็มีรายได้ดูแลตัวเองอยู่แล้ว อยากให้พี่โป้งช่วยแนะแนวเกี่ยวกับเป้าหมายและแผนการเกษียณ

คีย์เวิร์ดสำคัญคือ อายุ 25 ปี เงินเดือน 25,000 บาท คำว่าเกษียณอายุ 55 ปี และอยากมีเงินใช้หลังเกษียณ 30,000 บาท อย่างแรกคือน้องอายุยังน้อยอยู่ เพิ่งจะทำงานได้ประมาณ 3 ปี เพราะฉะนั้นยังอยู่ในช่วงออมเงินได้ ใช้เงินเป็น หาเงินเก่ง ต่อเงินงอกเงย จริงๆ แล้วออมเงินได้ ใช้เงินเป็น ต้องทำให้ได้ก่อนจบมหาวิทยาลัย และตั้งแต่อายุ 22 ปีเป็นต้นไป เราจะเข้าสู่กระบวนการหาเงิน

 

ดังนั้นพอถึงอายุ 25 ปี ให้ตั้งเป้าเลยว่าต้องพัฒนาตนเอง และทำให้ตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพนั้นๆ เพื่อทำให้เงินเดือนเพิ่มพูนมากที่สุด หาเงินเก่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการสร้างรายได้จะเป็นต้นน้ำของการออมทั้งหมด และการหาเงินเก่งจะทำให้แผนเกษียณมาเร็วขึ้น สำหรับในยุคนี้การเพิ่มเงินเดือนอาจจะเป็นเรื่องยาก ให้มองหาการมีรายได้หลายทาง เพราะต่อไปจะเป็นยุคสมัยของสิ่งเหล่านี้ คำแนะนำต่อไปคือ เงินหลังเกษียณ 30,000 บาท น้องอยากใช้เงินตั้งแต่อายุ 55-80 ปี คือใช้เงินโดยที่ไม่มีรายได้เลย 25 ปี กับการที่ทำงานมา 30 ปี ตอนนี้เงินเดือนอยู่ที่ 25,000 บาท แสดงว่าการเพิ่มรายได้สำคัญมากอย่างที่บอกไป ส่วนการออม 15% ดีอยู่แล้ว แค่ต้องเร่งสร้างรายได้จากการพัฒนาตนเอง เพื่อที่จะลงทุนใน 5 อย่างแบบเน้นกระบวนการ ถ้าทำแบบนี้ได้ก็สำเร็จได้

 

หาเงินเก่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการสร้างรายได้จะเป็นต้นน้ำของการออมทั้งหมด และการหาเงินเก่งจะทำให้แผนเกษียณมาเร็วขึ้น

 

ตัวอย่างเคสที่ 2 นายจอม ปัจจุบันอายุ 35 ปี มีรายได้เฉลี่ย 40,000 บาทต่อเดือน อยากเกษียณตอนอายุ 60 ปี และมีเงินใช้ประมาณ 50,000 บาท ตอนนี้มีเงินสำรองแล้ว 6 เดือน ภาระอื่นๆ ไม่มีนอกจากผ่อนคอนโดเดือนละ 8,000 บาทต่อเดือน และส่งเงินให้ที่บ้านเดือนละ 5,000 บาท ด้วยความที่บริษัทไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เขาจึงรับผิดชอบชีวิตตนเองด้วยการซื้อ RMF ในช่วงหลัง ตอนนี้รับความเสี่ยงได้ไม่สูงมาก อยากทราบว่าจะออกแบบเป้าหมายแผนการเกษียณได้อย่างไรบ้าง 

คีย์เวิร์ดสำคัญคือ อายุ 35 ปี รายได้ 40,000 บาทต่อเดือน ต้องการเกษียณ 60 ปี มีเงินใช้ 50,000 บาท เส้นทางการทำงานจากอายุ 35-60 ปี เป็นเวลา 25 ปี ถือว่าเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน จุดเริ่มต้นคือรายได้ 40,000 บาท แต่อยากมีเงินใช้หลังเกษียณ 50,000 บาท ดังนั้นระบบการออมต้องดี และที่สำคัญต้องเพิ่มรายได้ ปัจจุบันเป็นยุคสมัยของการอัปสกิล รีสกิล และการสร้างรายได้หลายทาง ถ้าเราทำตรงนี้ได้แล้ว สุดท้ายมันสำคัญที่กระบวนการ ให้มามองเรื่องการออมในกองทุนประหยัดภาษี เพราะรายได้เท่านี้ต้องเสียภาษี อะไรที่ออมแล้วหักภาษีได้ สิ่งนั้นดีเสมอ การออมไปก่อนและใช้เท่าที่มีในปัจจุบันเป็นการสร้างฐานความมั่นคงในชีวิตให้เพิ่มมากขึ้น ยิ่งทำยิ่งดีกับตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้แนะนำให้ลงทุนในประกันชีวิตและลงทุนในภาคสมัครใจต่อไป

 

การออมไปก่อนและใช้เท่าที่มีในปัจจุบันเป็นการสร้างฐานความมั่นคงในชีวิตให้เพิ่มมากขึ้น ยิ่งทำยิ่งดีกับตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

ข้อดีของการเป็นมนุษย์เงินเดือน 

ข้อดีของมนุษย์เงินเดือนมีเยอะ อย่างแรกคือมีรายได้ที่แน่นอน สิ่งนี้คนที่ทำธุรกิจหรือฟรีแลนซ์ไม่มี เพราะเขาต้องบริหารจัดการเองทั้งหมด มนุษย์เงินเดือนจะรู้ล่วงหน้าว่าจะออมได้เท่าไร แล้วยุคหลังโควิด-19 เทรนด์ Work from Home และ Work from Anywhere จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นมนุษย์เงินเดือนจะมีข้อได้เปรียบในเรื่องการมองหาอาชีพที่ 2 จากการใช้สกิลของตนเอง ทำอะไรได้ให้ทำ แต่อย่าลืมว่าเราต้องเป็นมนุษย์ 200% คือต้องขยันและทำงานได้มีประสิทธิภาพด้วย 

 

ดังนั้นผมแนะนำว่า มนุษย์เงินเดือนให้วางแผนเกษียณจากฐานเงินเดือนของตนเอง และหารายได้ทางอื่นไปด้วย เพื่อที่จะออมในช่องทางต่างๆ ต่อไป ถ้าทำสิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้องและไม่หักโหม ทำไปให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ คุณจะประสบความสำเร็จในแผนเกษียณอย่างแน่นอน

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Money Growth by The Money Coach
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Hosts จักรพงษ์ เมษพันธุ์, โอมศิริ วีระกุล

Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Executive Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Project Manager ณปภัช ฤทธิอัครกุล

Show Producer โอมศิริ วีระกุล

Sound Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Video Editor เสาวภา โตสวาท

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Graphic Designer นิสากร ฤทธาภัย
Show note หนึ่งฤดี ธนสารวิสุทธิ์
Proofreader วรรษมล สิงหโกมล, ภาวิกา ขันติศรีสกุล
Webmaster ไชยพร ศิริกลการ
Channel Admin เอกราช มอเซอร์

Social Media Admin สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วนัชพร ดวงนิล 
Archive Officer ชริน จำปาวัน

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X