ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2017 มีคนหลังไมค์มาถามมันนี่โค้ชกันเยอะมากว่า Cryptocurrency น่าลงทุนไหม? Bitcoin น่าซื้อเก็บไว้หรือเปล่า? เป็นคำถามสั้นๆ ที่ตอบยาก และตอบสั้นๆ ไม่ได้ เพราะมันมีหลายแง่มุมให้ต้องคำนึงและทำความเข้าใจ
The Money Case เอพิโสดนี้ เชิญ คุณแม็กซ์ ก่อตระกูล และ คุณตูน ภาวลิน จาก StockRadars ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการ Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิทัล มาให้ความรู้และตอบคำถามกันแบบตรงไปตรงมา
จุดกำเนิดของ Cryptocurrency
คริปโตฯ ช่วงแรกคนที่ร่วมวงน่าจะอยู่ในสายเกมมากๆ เพราะในเกมจะมีสกุลเงินดิจิทัลอยู่แล้ว แต่มันยังไม่ได้ใช้ในโลกจริง จนวันหนึ่งคนมองเห็นโอกาสว่า การที่ของสิ่งนั้นมีค่า ก็คือคนสองคนให้ค่า bid กับ offer ตรงกัน ก็เกิดเป็นมูลค่า บวกกับปัจจุบันที่ความน่าเชื่อถือในระบบ Centralize ลดลง เพราะการปั๊มแบงก์และมีซัพพลายผลิตที่ไม่จำกัด เลยมีคนหัวขบถหน่อย ที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto เขาเขียนโปรแกรมแล้วเอาข้อมูลการแลกเปลี่ยนให้ทุกคนรับรู้ เช่น ปกติเราไปฝากเงินธนาคาร เราก็ต้องเชื่อว่าธนาคารจะจำได้ว่าเรามีเงินอยู่เท่าไร อันนี้คือความเชื่อแบบ Centralize แต่ถ้าสมมติผมยืมเงินพี่หนุ่ม 1,000 บาท รู้กันสองคน วันหลังผมมาบอกพี่หนุ่มว่ายืมแค่ 100 บาท แบบนี้มันเชื่อถือกันไม่ได้ กลับกันถ้าผมประกาศลงเฟซบุ๊กว่ายืมเงินพี่หนุ่ม 1,000 บาท ถ้าจะไปแก้ คือต้องแก้กับทุกคนที่ได้อ่านข้อความของผม มันคือการ Decentralize กลายเป็นว่า เอาข้อสำคัญที่สุดในระบบการเงินคือ ความไว้ใจ (Trust) จากจุดกลางกระจายไปให้ทุกคนถือ ซึ่งเอาระบบ Blockchain ที่เป็นเทคโนโลยีในการสร้างคริปโตฯ มาทำให้ความเชื่อของคนต่างออกไป สมมติว่าต่อไปนี้เราไม่ต้องเชื่อถือตัวกลาง ไม่ต้องเชื่อถือธนาคาร หรือผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian) มันจะหายไปหมด และทั้งวงจรจะถูกทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
กลายเป็นว่ามีความมั่นคงสูงขึ้น
จริงๆ แล้วความมั่นคงสูงกว่าธนาคาร เพราะมันไม่ได้มีจุดเดียวอีกต่อไป
แล้วระบบฐานข้อมูลตรงนี้ที่รับรู้รับทราบร่วมกัน ก็กลายเป็นพื้นฐานของคริปโตฯ
ตัวแรกเริ่มจากบิตคอยน์ซึ่งเป็นเหมือนต้นแบบ คนก็อยากทำบิตคอยน์ที่ดีกว่าเดิม มันก็เลยมีคริปโตฯ อื่นๆ ออกมาเต็มไปหมด
ตอนนี้มีประมาณเท่าไร
ประมาณ 1,000-2,000 ตัว
คนไทยรู้จักกันแค่บิตคอยน์ แต่จริงๆ มันคือหนึ่งในพันของคริปโตฯ
ใช่ครับ พอมันมีเยอะมาก คุณค่ามันก็จะอยู่ที่เฉพาะตัวหลักๆ ใหญ่ๆ ที่คนสนใจ มันก็จะมี Global Scale หลายตัว ที่รองจากบิตคอยน์คือ Ethereum มันใส่ข้อมูลสัญญา (Smart Contract) ลงไปได้ด้วย เช่น ผมบอกว่าถ้าคุณตูนขายของได้ตามเป้าได้เงินโบนัส ข้อมูลนี้ก็จะอยู่ใน Smart Contract ที่แก้ไม่ได้ ผมจะเบี้ยวไม่จ่ายคุณตูนไม่ได้ เรียกว่าเป็นเวอร์ชันที่ฉลาดขึ้นของคริปโตฯ
ทุกวันนี้วงการการซื้อขายเกิดจากคนกลุ่มไหน อย่างไร แล้วทำไมมันถึงดังมาก จนคนที่ไม่สนใจก็เริ่มสนใจ
มันดังด้วยกราฟ ถ้ามันขึ้นเอาๆ คนก็สงสัยว่ามันทำอะไรกันอยู่ พอมันแห้งลงก็คงไม่สนใจแล้ว
เราตีราคาคริปโตฯ กันอย่างไร
ต้องแยกเรื่องของคริปโตฯ ออกจากพวก Token ก่อน คริปโตฯ เป็นตัวกลางการแลกเปลี่ยนมูลค่า กับอีกอย่างเป็น Store of Wealth เอาไว้สะสมมูลค่า ความมั่งคั่ง เหมือนการเก็บทอง
Bitcoin คล้ายทองมากๆ เพราะว่ามีปริมาณจำกัด เหมือนทองที่มีอยู่ในโลกนี้จำกัด แล้วคนก็ให้ค่ามันแล้ว
เขาบอกว่า 21 ล้านบล็อก ไม่มีเพิ่มแล้ว เรียกว่าแต่ละคนก็อยากจะเอาไปเก็บ เพราะมันมีค่าและคนให้ค่า มันอยู่ที่ว่าแต่ละคนจะเอาไปใช้ได้เยอะแค่ไหน เช่น เงินบาทไทยอาจใช้ไม่ได้ในซิมบับเว แต่เงินบาทไทยใช้ได้ในลาว กัมพูชา คือมีคนให้ค่าเงินตามปริมาณ แข็งอ่อนก็ขึ้นอยู่กับยูเอสดอลลาร์ นัยหนึ่งบิตคอยน์ก็จะคล้ายๆ ยูเอสดอลลาร์ แต่คริปโตฯ ตัวอื่น คนก็ให้ค่าน้อยลงเหมือนเงินตราประเทศอื่นๆ
ตอนนี้ระหว่างคนที่ศึกษามาจริงจังและเริ่มเก็บลงทุน กับที่เป็นเม่า อัตราเทียบกันเท่าไร
มันน่าจะเหมือนทุกการลงทุน คือ เม่า (นักลงทุนหน้าใหม่ตามกระแส) น่าจะเยอะกว่าคนที่เป็นเซียน คนส่วนใหญ่เข้ามาในช่วงปี 2017-2018 อย่างผมเองถือว่าช้ามาก เพราะเริ่มศึกษาจริงๆ คือต้นปี 2017 และเริ่มเทรดกลางปีเพื่อเอาจังหวะ ไม่อย่างนั้นจะไม่อินกับมัน
มีศัพท์เรียกคนกลุ่มหนึ่งว่า ปลาวาฬ (Whale พ้องเสียงกับ Wealth) ปลาวาฬตัวใหญ่ที่ลงทุนหนัก เขามีเรตเลยว่าต้องมีกี่ BTC (บิตคอยน์) ถึงจะเป็นปลาวาฬ รู้สึกจะ 5,000 BTC มีคนรีไทร์เยอะมากจากการลงทุนตั้งแต่ช่วงแรก พวกที่เขามาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว มันโตขึ้นอย่างมหาศาล จำได้ว่าครั้งหนึ่งมีคนซื้อพิซซ่า 2 ถาดด้วยมูลค่ากี่บิตคอยน์จำได้ไม่ชัด แต่มูลค่าปัจจุบันคือสามารถซื้อเครื่องบินได้ลำหนึ่ง มันมาไกลมาก และมีสตอรีแบบนี้เต็มไปหมด คนก็ยิ่งเข้ามาเยอะ
ดูเหมือนบิตคอยน์ หรือ คริปโตฯ จะเป็นโลกการเงินในอนาคต คำถามคือแล้วทำไมความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่ถึงสงสัยว่ามันจริงหรือเปล่า
อยู่ๆ มาเปลี่ยนความเชื่อคนมันยากมาก เพราะว่าเราเชื่อแบงก์มาทั้งชีวิต แล้วมาบอกว่าแบงก์ไม่น่าเชื่อถือเท่าเดิม มันเลยเชื่อได้ยาก ตัวผมเองแรกๆ มองว่ามันคือการโกง ฟอกเงิน ยาเสพติด หรืออะไรที่น่ากลัวด้วยซ้ำ แต่พอมานั่งดูว่าโลกมันเริ่มเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ คนให้ค่าให้มันเยอะขึ้น แล้วยิ่งตอนนี้ผลิตเงินปกติมันก็ไม่ได้มีทองคำไปค้ำอีกต่อไปแล้ว เขาเลิกกันไปตั้งนานแล้ว สรุปเราสงสัยอะไรอยู่ เพราะสุดท้ายมันคือการให้ค่าของผู้คนเท่านั้นเอง ของบางอย่างขอแค่มีคนให้ค่าและรับซื้อมัน แล้วเราก็มีสินทรัพย์ที่เอาเข้าเอาออกได้
อีกอย่างที่ทำให้บิตคอยน์ดูไม่น่าเชื่อถือ เป็นเพราะพวกคนโกงเอาคำว่า บล็อกเชน บิตคอยน์ ไปหลอกคนในรูปแบบแชร์ลูกโซ่ ทำให้คนที่ไม่เข้าใจก็ยิ่งมองคริปโตฯ ในด้านลบ มันเลยมีทั้งคนที่รู้จักจริงเข้าใจจริง กับอีกกลุ่มที่โดนหลอกแล้วไม่เชื่อไปเลยว่าโลกของเงินดิจิทัลมีจริง บางคนตั้งคำถามว่า Satoshi ยังไม่รู้เลยว่าเป็นใคร จะเชื่อได้อย่างไร
แต่มันคลาสสิกอยู่อย่างตรงที่เจ้าของต้องเป็นคนที่เทพมาก ถ้าเขายังไม่ตาย คิดดูสิว่าดังขนาดนี้แต่ไม่เปิดเผยตัวตน และไม่มีอีโก้ในการอยากได้รับการยอมรับจากคนเลย มันผิดหลัก Self-esteem ปกติต้องเคลมกันแล้ว ถ้าเขาไม่ออกมาจริงๆ ถ้าไม่ใช่คนแต่กลายเป็นองค์กร เราก็ไม่รู้ว่าใครแบ็กอัปองค์กรนี้อยู่ หรือถ้าเขาไม่ออกมาจริงๆ แล้วคนเชื่อมั่นจริงๆ ความเชื่อนี้เหมือนเป็นศาสนาเลย เพราะตัวเขาเองก็ไม่อยากทำตัวเป็นศูนย์กลางด้วย ถือว่าน่าเคารพทีเดียว
เหมือนเขามองเห็นปัญหาต่างๆ แล้วสร้างระบบนี้ขึ้นมา
มันต่างจากระบบเดิมตรงที่เขาเปิดเผยซอฟต์แวร์ให้ดู แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปดู Source Code พอเขาเปิดเผยทั้งหมด มันแปลว่าโปร่งใส ในระบบอย่าง Smart Contract ที่แก้ไม่ได้และมีจำกัด เราสามารถเห็นกระเป๋าตังค์ทุกคนในโลกเลยว่าแต่ละใบมีเงินเท่าไรชัดเจน แต่เราไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของแต่ละใบ พอเราเอามาประยุกต์ใช้กับแต่ละคนที่มีประสบการณ์ชีวิตต่างกัน มันก็ยากที่จะเข้าใจ แต่เราก็มองว่าสุดท้ายถ้าโลกมันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ เราอยู่ในกระแสของการเปลี่ยนแปลง และเราเปิดใจโดยเริ่มจากเล็กๆ ก่อน เพื่อให้ได้ทักษะใหม่ มันก็จะทำให้เราไม่เสียโอกาส แต่ต้องเตือนว่าอย่าไปขายรถขายบ้านซื้อ มันเป็น Asset Class ที่เสี่ยงสูงที่สุด สูงกว่าหุ้นไม่รู้กี่เท่า ผมว่าตีตัดศูนย์ไปเลยเหมือนการซื้อหวย มันก็อาจจะยังได้ แล้วเราก็จะได้ทักษะว่าอย่างน้อยเราก็เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่
จริงๆ มันอาจจะไม่จำเป็นต้องเรื่องคริปโตฯ อย่างเดียว ถ้าย้อนกลับไปคือ มันอยู่บนพื้นฐานของบล็อกเชนเทคโนโลยี ซึ่งมันไปได้หลายทาง แต่ว่าตอนนี้ที่เป็นเรื่องคริปโตฯ ที่จับต้องง่ายและเห็นว่ามันทำอะไรได้บ้าง ถ้าคนที่ศึกษาจะรู้ว่ามันทำอะไรได้มากกว่านี้ เช่น บล็อกเชนเอาไปเลือกตั้ง บริจาคเงิน โซลาร์เซลล์ มันได้ทุกเรื่องจนรู้สึกว่า มันคือความรู้ที่ทุกคนต้องจับตามให้ทัน
มาถึงคำถามสำคัญที่หลายคนสนใจคือ คริปโตฯ น่าลงทุนไหม
ผมมองว่าน่าลงทุนมาก เพราะเป็น Asset Class ที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่อัปไซส์ไม่จำกัด แต่ดาวน์ไซส์จำกัด คือสมมติลงไป 100 บาท ดาวน์สุดก็คือเหลือ 0 แค่นั้น แต่อัปไซส์คือ 100 บาทก็มีโอกาสได้ 100 เท่าก็มี มันก็จะทำให้พอร์ตโดยรวมของเรามีฟังก์ชันพิเศษที่ช่วยให้มีความเสี่ยงสูง และมีอัปไซส์ที่สูง เพียงแต่ว่าต้องจำกัดความสูญเสียดีๆ เงินที่ลงทุนต้องเย็นเป็นน้ำแข็ง อย่าเอาเงินในชีวิตประจำวันมาใช้ สมมติผมลงไป 10,000 บาท ได้มา 2 เท่าก็เริ่มโลภ เลยลงไป 1 ล้านบาท ซึ่งอาจจะเย็นไม่เท่ากัน เพราะ 1 ล้านบาทดันไปกู้มา ฉะนั้นต้องศึกษาของที่จะลงทุนแล้วดูว่าเราเหมาะแค่ไหนมากกว่า
ถือว่าเป็นสินทรัพย์แห่งอนาคตที่ความเสี่ยงสูง
สูงมากครับ แต่การไม่ลงทุนก็เป็นความเสี่ยง ฉะนั้นชีวิตเราอยู่บนความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ยิ่งเราศึกษามาก เราจะจัดการความเสี่ยงได้
สุดท้ายเราต้องตัดสินใจกันเอง ว่าควรลงทุนแค่ไหนอย่างไร ต้องจัดสรรเงินส่วนที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ในระดับที่เรารับความเสี่ยงได้ ถ้าเงินก้อนนี้หายไป เราไม่เป็นอะไร ควรเป็นเงินลักษณะนี้จะดีกว่า หรือลงทุนเล็กน้อยเพื่อเป็นการเรียนรู้
ฟังรายการ The Money Case by The Money Coach พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน
Credits
The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์
The Guests ธีรชาติ ก่อตระกูล, ภาวลิน มาสะกี
Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic