เป็นที่ถกเถียงกันเสมอว่า เงินซื้อความสุขได้จริงหรือไม่ ฟังมุมมองและงานวิจัยที่หยิบมาเล่าโดยมันนี่โค้ช พร้อมเรื่องราวและเหตุผลว่าทำไมเราควรใช้เงินไปเที่ยวเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์บ้าง รวมถึงวิธีเริ่มวางแผนเที่ยวแบบง่ายๆ แต่เอาไปใช้ได้จริง
เงินกับความสุข
วันหนึ่งโค้ชลองเอาเรื่องนี้ไปถามความคิดเห็นในแฟนเพจว่า เงินซื้อความสุขได้จริงหรือไม่? ไม่ถึงชั่วโมงมีคนเข้ามาตอบกว่า 200 ความคิดเห็น เกือบทุกความเห็นตอบกันมายาวมาก มีความคิดเห็นชัดเจนร่วมกันอย่างหนึ่งคือ คนเราตีความหมายของคำว่าความสุขไม่เหมือนกัน บางคนตีความถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐาน มีเงินกินใช้ไม่ขาด ไม่ต้องรวยมาก คนกลุ่มนี้จะตีความว่าเงินซื้อความสุขได้ บางคนก็มองอีกด้านว่าเงินซื้อชีวิต ซื้อเวลาที่ผ่านไปแล้วไม่ได้
มีความคิดเห็นหนึ่งที่ตอบมาแล้วโค้ชชอบก็คือ “เงินไม่ได้ซื้อความสุขให้เราโดยตรง แต่ความรู้สึกต่างหากที่สร้างความสุขให้กับเรา เช่น เราซื้อบ้านหลังใหม่แล้วมีความสุข จริงๆ ความสุขเกิดจากความภูมิใจและการได้อยู่กับครอบครัวหรือเปล่า หรือการซื้อรถแล้วมีความสุข ไม่ใช่รถทำให้เรามีความสุข แต่ความภูมิใจจากการที่เอารถไปรับพ่อแม่ ความอิ่มเอมใจเหล่านี้ต่างหากที่สร้างความสุข ถ้าเราค้นพบว่าความรู้สึกแบบไหนกันแน่ที่สร้างความสุขให้เรา หลายความสุขไม่ต้องใช้เงินเลย อีกอย่างถ้าเราคิดว่าเงินใช้แลกความสุข รับรองได้เลยว่าสุขของเราจะสั้นมาก เพราะถ้าเงินหมด สุขของเราก็หมดตาม แตกต่างจากคนที่สุขจากความรู้สึก อย่างนี้จะอยู่ไปอีกระยะเวลาหนึ่ง”
“มุมมองที่เรามีต่อเงินหรือความสุขเป็นอย่างไร การดำรงชีวิตของเราจะเป็นแบบนั้น”
งานวิจัยเรื่องเงินกับความสุข
มีงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Consumer Psychology ที่ก่อนหน้านั้นได้มีการสะสมข้อมูลวิจัยมาว่า เมื่อเราใช้เงินซื้อของ เราจะมีความสุขขึ้น ถึงตรงนี้หลายคนน่าจะมองตรงกันว่าความสุขบางอย่างใช้เงินซื้อได้ และบางอย่างอาจจะไม่ต้องใช้เงิน หลังจากนั้นก็มีงานวิจัยที่ลึกลงไปจนชัดเจนขึ้นมาว่า เมื่อมีการใช้จ่ายในแต่ละครั้ง เงินที่เราจ่ายไปกับประสบการณ์ เช่น การท่องเที่ยว การดูภาพยนตร์ ฟังเพลง รับประทานอาหารร้านอร่อย การจ่ายเงินลักษณะนี้จะก่อให้เกิดความสุขได้มากกว่าการจ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งของเป็นครั้งๆ ไป และถ้าเกิดการจ่ายครั้งนั้นสร้างประสบการณ์ดีๆ มีเรื่องให้จดจำ ยิ่งทำให้คนมีความสุขมากกว่าการเป็นเจ้าของสินค้า โดยงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวถึงเหตุผลที่การซื้อประสบการณ์ก่อให้เกิดความสุขมากกว่าการซื้อสินค้าคือ
1. เราสามารถเรียกคืนประสบการณ์ดีๆ ในช่วงเวลาที่รู้สึกเหงา เบื่อ หรือไม่มีความสุขได้ พูดง่ายๆ คือเมื่อไรที่ทุกข์ เราก็มักนึกถึงวันดีๆ ในขณะที่ข้าวของซื้อมาแล้วเราก็จะลืมๆ มันไป เคยมีงานวิจัยบอกว่าหลายครั้งที่มนุษย์ซื้อของอะไรมาสักอย่างแล้วรู้สึกเสียใจ เพราะรู้สึกแพง แต่ตอนนั้นอยากได้มาก แถมมีบรรยากาศแก่งแย่งระหว่างซื้อทำให้เราก็อยากหยิบซื้อบ้าง มีจุดสังเกตอยู่จุดหนึ่งว่าเราซื้อเกินสิ่งที่อยากได้หรือเปล่า ให้ดูว่าเมื่อไรที่เราจับจ่ายสิ่งของ พอกลับถึงบ้าน ถ้าความตื่นเต้นตอนซื้อจางลงจนถึงขั้นเปิดสิ่งของได้ในวันหลัง ก็มีโอกาสที่ข้าวของอันนั้นไม่ได้เติมเต็มความสุขของเราได้จริงๆ แค่เราอยากจับจ่าย หลายครั้งเรียกว่าเป็นการจับจ่ายเชิงบำบัดความว่างของอารมณ์
2. ประสบการณ์สร้างความรู้สึกเชิงสัญลักษณ์ให้จดจำได้นานกว่า เวลาเราซื้อข้าวของ เช่น โทรศัพท์ เรายังจำไม่ได้เลยว่าเครื่องแรกที่ซื้อคือรุ่นไหน วันที่ซื้อเหตุการณ์เป็นอย่างไรบ้าง แต่กับเหตุการณ์ท่องเที่ยวในทริปหนึ่งมันน่าจะมีอะไรที่ทำให้เรามีความสุข เช่น ทริปแรกที่โค้ชพาแม่ไปเที่ยวต่างประเทศก็จำได้แม่น เพราะแม่เป็นคนที่สร้างเนื้อสร้างตัวมาจากคนที่ไม่มีอะไรเลย ท่านไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะไม่มีเงินส่งเรียน เลยเรียนจบแค่ ป.1 และทำงานหาเลี้ยงลูก 4 คน ชวนท่านไปเที่ยวกี่รอบก็ไม่ไป เพราะรู้สึกว่าลูกหาเงินมาลำบาก ไม่อยากให้ลูกใช้จ่ายเงินเพื่อเอาไปเที่ยว แต่ครั้งแรกที่ไปเที่ยวต่างประเทศที่เกาหลีใต้ ครั้งแรกที่เห็นแม่ขึ้นเครื่องบิน นั่นคือประสบการณ์ของโค้ชที่มีความสุขมากๆ เพราะแม่ไม่เคยขึ้นเครื่อง กลัวทั้งเครื่อง กลัวเปลืองต่างๆ แต่พอได้ไปเที่ยว ถ่ายรูป และมีประสบการณ์แลกเปลี่ยนกันได้ไม่รู้จบ นั่นคือสิ่งที่การท่องเที่ยวให้เราได้จริงๆ เมื่อไปบ่อยๆ แม่ก็เริ่มติดใจ
3. มันเป็นสิ่งที่เปรียบเทียบกันได้ยาก เวลาเราซื้อของ เราอาจมีความทุกข์ง่ายมาก เช่น เพื่อนซื้อของแบบเดียวกับเรา แต่ราคาถูกกว่า 50 บาท เราก็ทุกข์แล้ว โดยส่วนตัวเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวหรือประสบการณ์ดีๆ มันเปรียบกับการซื้อของไม่ได้จริงๆ ต่อให้เที่ยวในประเทศอย่างเชียงใหม่ หัวหิน ถ้าบอกว่าเที่ยวยุโรปหรือสิงคโปร์ดีกว่าก็บอกกันไม่ได้ มันคนละมิติ อาจจะคนละสถานที่ เวลา คนที่ไปด้วยก็อาจทำให้เรามีความสุขและสนุกไม่เหมือนกันก็ได้
ความสุขจากการท่องเที่ยว
โค้ชค่อนข้างเห็นด้วยกับเรื่องที่บอกว่า การท่องเที่ยวหรือประสบการณ์ทำให้เรามีความสุขได้มากกว่า โค้ชตั้งใจเป็นคนคนหนึ่งที่เกิดมาแล้วควรจะใช้ชีวิตให้มีความสุข โค้ชเองชอบและยินดีเวลาที่จะต้องจับจ่ายเพื่อประสบการณ์ใหม่ในชีวิต โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว
ทุกปีจะวางแผนเรื่องท่องเที่ยว และพบว่านี่คือมิติหนึ่งในชีวิตที่คนเราไม่ควรจะขาดไป โลกใบนี้กว้างและเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย สำหรับครอบครัวโค้ชเองเที่ยวเป็นประจำทุกเดือน แต่ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนไกล และมีการจัดสรรค่าใช้จ่ายเตรียมไว้ ซึ่งไม่ได้เยอะเลย เดือนไหนที่โค้ชงานเยอะ เวลาน้อย ก็อาจจะตั้งโจทย์ว่าไปพักใกล้ๆ เช่น ไปอัมพวา ไปหาของกินริมคลอง แต่ความสุขระหว่างเดินทางที่ได้พูดคุย ร้องเพลงไปด้วยกัน นี่คือสิ่งที่ครอบครัวโค้ชทำด้วยกัน บางครั้งอาจจะไม่ใช่ทริปท่องเที่ยวด้วยซ้ำ เช่น ลูกชาย 2 คนของโค้ชชอบฟุตบอลมาก เลยจัดทริปเล็กๆ พาลูกไปดูฟุตบอลทีมเมืองทองฯ ที่เตะที่พัทยา จองตั๋วล่วงหน้า หาที่พัก นี่คือทริปเล็กๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
โค้ชจะจัดทริปไปต่างประเทศ ทริปยาว 1 ครั้ง ทริปสั้น 1 ครั้ง เวลาไปทริปพวกนี้ คนส่วนใหญ่จะรู้สึกสิ้นเปลือง แต่เอาเข้าจริงแล้วพอลองมานั่งดู เงินเดือนเดือนหนึ่งที่เราหาได้มันวิ่งผ่านกระเป๋าเราพอสมควร สมมติว่าคนหนึ่งเงินเดือน 20,000 บาท ปีหนึ่งมีเงินผ่านกระเป๋า 240,000 บาท ถ้าเราเริ่มต้นจากทริปเล็กๆ ที่ไม่ไกลมาก เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ทริปหนึ่งใช้เงินประมาณ 10,000-20,000 บาท คิดเป็น 10% ของเงินที่หาได้ ในชีวิตประจำวันของเรา เงินไหลไปกับสิ่งไม่คาดคิด แต่กับการซื้อประสบการณ์ดีๆ ที่เป็นประโยชน์ หลายคนกลับไม่ยอมจ่าย
หลักการของโค้ชคือมนุษย์ที่เวลาน้อยควรวางแผนข้ามปี เช่น ปีหน้าเอาเวลาที่จะไปเที่ยวเป็นตัวตั้ง ยึดปิดเทอมใหญ่ของลูกเป็นหลักเพื่อให้ได้ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการท่องเที่ยว จากนั้นเริ่มเสิร์ชหาข้อมูล โค้ชกับภรรยาจะแบ่งหน้าที่กัน ภรรยาจะหาสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนโค้ชมีหน้าที่หลักเป็นสปอนเซอร์ เราจัดเวลาสบายๆ ไม่เที่ยวแน่นเกินไปอย่างชะโงกทัวร์ เพราะรู้สึกว่าการไปเที่ยวแต่ละครั้งควรจะอิ่มเอม มีเวลาได้อยู่กับตรงนั้นนานๆ
โค้ชจะจัดตารางท่องเที่ยวก่อนจัดตารางงาน ถ้ารอให้เราว่างแล้วค่อยใส่ตารางเที่ยว เราจะไม่เหลือสล็อตเวลาที่นานพอจะไปเที่ยวแล้วสนุก หลายครั้งที่เที่ยว 10 วัน สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือความสุขส่วนตัว ความสุขที่เห็นคนที่เรารักมีความสุข เวลาไปก็จะมีกล้องเล็กๆ ราคาไม่แพงให้ลูกไว้คนละตัว ให้เขาถ่ายในสิ่งที่อยากถ่าย แล้วให้สมุดเขาไว้เล่มหนึ่ง ให้เขียนประสบการณ์ว่าไปทำอะไรมา โค้ชคิดว่าสิ่งที่ทำตรงนี้อาจจะไม่มีประโยชน์ทันที แต่เมื่อวันที่เขาโตขึ้น นี่คือความทรงจำที่มีค่ามากๆ นอกจากนั้นแล้วโค้ชยังได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ยิ่งเวลาไปประเทศที่เจริญกว่าเรา เรายังได้ข้อคิดกลับมาพัฒนาตัวเรา งานของเรา และประเทศชาติของเราได้ด้วย
สิ่งหนึ่งที่ได้เมื่อไปเที่ยวนานพอ วันท้ายๆ เราจะอยากกลับมาทำงาน ไฟในการทำงานจะมากผิดปกติ หลังๆ เริ่มเป็นคนชักชวนคนอื่นไปเที่ยว อย่างการไปขึ้นเขา วัยย่าง 44 ปีอย่างโค้ชเริ่มขึ้นเขาแล้วเหนื่อย รู้สึกว่ามันน่าเสียดายที่คนอายุน้อยๆ มัวแต่ทำงานเก็บเงินแล้วไม่ได้ใช้ โดยบอกตัวเองว่ามีเงินเยอะก่อนแล้วค่อยเที่ยว โค้ชในฐานะที่อยู่ในวัยกลางคนไม่แนะนำแบบนี้เลย แต่อยากให้จัดสรรเวลาและเงินไปเที่ยวบ้าง
น้องของโค้ชคนหนึ่งทำงานเป็นนักข่าวสายกีฬา เขาทำงานสายกีฬาอย่างเต็มที่ 11 เดือนและเก็บเงิน เดือนสุดท้ายไปเที่ยวยาว 20 วัน เลยถามเขาว่าไปเที่ยวนานขนาดนั้นเอาเงินมาจากไหน เขาตอบว่าเก็บเงิน อาจจะรับทำงานพิเศษบ้าง และถามเขาว่ามีการลงทุนเพื่ออนาคตหรือเปล่า เขาตอบว่าซื้อ LTF, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และมีเงินเก็บสำรอง ซึ่งเพียงพอกับการใช้ชีวิตคนเดียว
ในมุมหนึ่ง บางคนอาจจะมองว่ารวยช้า แต่โค้ชกลับมองว่าเขาเป็นคนมีความสุขมากคนหนึ่ง หลังๆ โค้ชเริ่มชวนลูกศิษย์ไปเที่ยว เพราะบางคนเก่งเรื่องหาเงิน แต่ไม่เก่งเรื่องใช้ชีวิต เลยแนะนำให้เขาเจียดเงินไปเติมความสุขเรื่องพวกนี้ดู
“เราจะรู้เลยว่าเงินมีความสำคัญกับชีวิตอย่างไร ทำให้เรามีกำลังใจอยากจะสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองมากขึ้น เพราะเราจะรู้ว่า ชีวิตที่มีความสุขต้องมีหลากหลายมิติ”
เริ่มเที่ยวอย่างไรดี
สำหรับคนที่ไม่เคยท่องเที่ยวและอยากจะเริ่ม อยากให้ลองวางแผนเริ่มต้นจากการเที่ยวที่รู้สึกปลอดภัยและสบายใจ อาจจะเริ่มจากใกล้ๆ วิธีการที่แนะนำคือค่อยๆ ซึมซับความสุขในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่เสิร์ชหาข้อมูล ซื้อหนังสือท่องเที่ยว กำหนดวัน ลางาน ส่วนเรื่องการเงิน ให้เริ่มศึกษาตั๋วเครื่องบิน ปัญหาของคนที่ท่องเที่ยวแล้วไม่กล้าใช้เงินเพราะกลัวว่าจะ over budget คนที่กลัวจะเป็นกลุ่มที่ไม่ศึกษามาก่อนว่าต้องใช้เงินเท่าไร แก้ได้ด้วยการเสิร์ชข้อมูลดู สมมติว่าเสิร์ชแล้วต้องใช้เงินประมาณ 35,000-40,000 บาท ดูว่าจากวันหนึ่งถึงวันที่ไปเที่ยวมีระยะเวลาอีกกี่เดือน จากนั้นตั้งโปรแกรมว่าเราจะเก็บเดือนละเท่าไร อย่างไร บางคนใกล้วันเดินทางแล้วเสียดายเงิน เลยอยากบอกว่าถ้ากลัวออมเงินอย่างเดียวแล้วเสียดาย ให้ลองมองหาช่องทางหารายได้แหล่งที่สองดู ไอเดียนี้มาจากถ้าเรามีรายได้แหล่งที่สองมาเก็บรวบรวมสะสมแล้วไปเที่ยว ความกังวลจะลดลง เพราะเงินเราไม่ได้หมดหรือหายไป เมื่อเรากลับมา งานของเรายังอยู่ อาชีพที่สอง ธุรกิจที่สองของเรายังอยู่ มันมีธุรกิจใหม่ที่จะสร้างเงินพาเราไปเที่ยวได้ทุกปี และเติมความมั่งคั่งให้กับเราด้วย ถ้าเงินออมเดียวทำให้เราไม่สบายใจ ลองหารายได้แหล่งที่สองดู
กุญแจที่สำคัญในการดำรงชีวิตนั้น มีคนเคยถามว่าที่โค้ชมาถึงตรงนี้ มีหลายสิ่งอย่างในชีวิตค่อนข้างสมบูรณ์ อะไรที่สำคัญที่สุดในชีวิตคนเรา คำตอบของโค้ชคือชีวิตเราสำคัญที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นจงเป็นคนคนหนึ่งที่มีชีวิตในทุกขณะในการดำรงชีวิต คิดถึงตัวเอง ทำในสิ่งที่เติมเต็มความสุขให้กับเราอย่างพอเหมาะพอสม ไม่เบียดเบียนทั้งตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น จัดสรรทุกอย่างให้เหมาะสม อย่ามองแต่มิติทางการเงินเพียงอย่างเดียว ชีวิตคนเรามีแง่มุมอีกมากมาย และมิติทางด้านความสัมพันธ์นี่แหละที่จะทำให้เรามีความสุขในทุกขณะ ความสัมพันธ์ดีๆ กับคนรอบตัวก็จะช่วยพยุงให้เราเดินไปข้างหน้าได้
“ทุกจังหวะของชีวิตไม่ได้มีแค่ความสุข แต่วันที่มีความทุกข์ เราจะผ่านมันไปได้ด้วยความสุขจากประสบการณ์ดีๆ ในชีวิต”
Credits
Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริณ ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Music Westonemusic.com