×

ชาตินี้ไม่มีวันจน: โปรเจกต์แก้จนของคนตำน้ำพริกที่พลิกชีวิตได้ด้วยมือตัวเอง

27.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

00:58   ไอเดียธนาคารคนจน

02:35   เปิดโปรเจกต์

10:20   เคสคนตำน้ำพริก

15:26   ปัญหาของรัฐบาลและคนทำกิจการขนาดย่อม

22:36   เคสนี้สอนให้รู้ว่า

เรื่องเล่าจากโปรเจกต์ ‘ชาตินี้ไม่มีวันจน’ ที่เดอะมันนี่โค้ชเข้าไปให้ความรู้และให้สินเชื่อแก่ชาวบ้านตัวเล็กๆ ตามหมู่บ้านต่างๆ

ฟังเรื่องราวของคนตำน้ำพริก หรือแม้แต่ช่างเย็บผ้า ที่หาทางแก้หนี้และมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง เพื่อเปลี่ยนมุมมองและลดข้ออ้างในการแก้ปัญหาเรื่องเงิน


 

00:58

 

  • ในสมัยปี 2553 มันนี่โค้ชเริ่มศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับคนที่มาขอคำปรึกษา ตอนนั้นชื่นชอบไอเดียเกี่ยวกับธนาคารคนจน ที่ชื่อว่า ธนาคารกรามีน (Grameen Bank)

 

  • แนวคิดของกรามีนจะให้ไฟแนนซ์แบบที่เรียกว่า ไมโครไฟแนนซ์  พัฒนาขึ้นโดย ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนูส เพื่อจะให้สินเชื่อกับคนที่เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก อาจจะด้วยรายได้หรือฐานะ หลักการของแนวคิดนี้จะเชื่อว่า ทุกคนมีสัจจะ มีศักดิ์ศรี เชื่อถือได้ เพียงแต่บางครั้งขาดโอกาส การให้สินเชื่อคือการหยิบยื่นโอกาสให้เขา

 

  • กรามีนพัฒนาการให้สินเชื่อ ระบบการคัดกรอง การติดตามกับชาวบ้านที่ไม่มีหลักทรัพย์อะไรมาค้ำประกัน แต่มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างรายได้ เลี้ยงดูตัวเอง และขาดเงินทุนเล็กน้อย

 

02:35

 

  • ด้วยความคิดอุตริเล็กน้อย และอยากจะรู้ว่ามันใช้กับบ้านเราได้รึเปล่า มันนี่โค้ชเลยตั้งโปรเจกต์ชื่อว่า ‘ชาตินี้ไม่มีวันจน’ ไฟแนนช์เริ่มต้นด้วยเงินตัวเอง 200,000 บาท

 

  • ช่วงนั้นได้ไปช่วยพรรคการเมืองพรรคหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้สินให้ชาวบ้าน เลยใช้กลุ่มตัวอย่างที่มีอยู่ อย่าง สุโขทัย อุทัยธานี และอุบลราชธานี

 

  • เริ่มจากลงพื้นที่ไปพูดคุย ในแต่ละจังหวัดจะใช้เวลา 2 วัน วันแรกอบรมให้ความรู้ วันที่สองให้คำปรึกษา ใครมีโปรเจกต์อะไร มันนี่โค้ชมีสินเชื่อให้กู้ในอัตรา 15% ต่อปี ไม่แพงเมื่อเทียบกับในตลาดตอนนั้น แต่รูปแบบเก็บตังค์คืนจะประหลาดหน่อยคือเป็นรายสัปดาห์ เพราะศึกษามาจากกรามีนที่ต้องติดตามด้วยความต่อเนื่อง  

 

  • ที่น่าสนุกคือใน 3 จังหวัด 3 หมู่บ้านเหมือนกันเป๊ะ คือชาวบ้านที่มาฟังหน้าตาจะหงุดหงิด ดูเบื่อๆ เพราะชาวบ้านคิดว่ามันนี่โค้ชจะมาแจกเงิน เอาเงินมาให้ชาวบ้านแก้หนี้ แต่พอรู้ว่ามีเพียงสินเชื่อให้เพียงไม่มาก และไม่สามารถเอาเงินมาแก้หนี้ให้ได้ทุกคน ต้องหาทางแก้ปัญหาทางการเงินด้วยตัวเราเอง พูดแบบนี้ปุ๊บ จบวันจาก 100 คน วันต่อมา เหลือเพียง 4 คน

 

“เวลาทำงานเกี่ยวกับการเงิน ผมไม่ค่อยสนใจคนที่ไม่มา ไม่ใช่ เฮ้ย ทำไมคนมาน้อย ก็เอาใจไปผูกกับเค้า แต่เราเอาใจไปผูกกับคนที่มา”

 

  • มันนี่โค้ชก็นึกสนุกอยากรู้ว่า สี่คนนี้คิดอะไร ทำไมถึงยังมา พี่ๆ เขาก็บอกว่า “มันน่าจะพอได้แล้วอาจารย์ จนมาจะตลอดชีวิตแล้ว มันต้องหยุดได้แล้ว เดี๋ยวอีกหน่อยก็ตายแล้ว อยากมีความสุขเหมือนกับคนอื่นเขาเหมือนกัน”

 

  • มันสะท้อนอะไรหลายๆ อย่าง บางกลุ่มรอให้คนอื่นมาช่วยเหลือ แต่กลุ่มนี้แสวงหา โดยที่พวกเขายังไม่รู้เลยว่าโปรเจกต์นี้จะพาไปถึงไหน แต่รู้ว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้มันไม่ใช่

 

10:20

 

  • คนเราจะแก้ปัญหาเรื่องหนี้ได้ ลดรายจ่ายไม่มีประโยชน์แล้ว ต้องสร้างรายได้เพิ่ม พอตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ติดปัญหาเรื่องทุนเลยนะ อยากทำอะไร หรือมีความสามารถพิเศษอะไรที่ทำเพื่อหารายได้ได้บ้าง พอถามเรื่องหารายได้ เขาคิดกันไม่ออก

 

  • พอเปลี่ยนคำถามใหม่ มีอะไรไหมที่ทำแล้วคนชอบคนชื่นชม หรือทำให้คนมีความสุข พอเปลี่ยนคำถามเขาก็คิดกันง่ายขึ้น ง่ายแบบมีคนหนึ่งในกลุ่มคิดได้ว่า เขาเคยชนะเลิศประกวดตำน้ำพริกด้วย แต่ไม่รู้จะทำธุรกิจจากตรงนี้ยังไง เขาเคยทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ

 

  • เขาบอกว่า ถ้ามีทุนซัก 5,000 บาท ซื้อพวกพริก หอม กระเทียม มาโขลกมาตำ ใส่กระปุกขาย สามารถทำมาขายได้ 10,000 บาท นี่เป็นสินค้าที่กำไรขั้นต้น 100% แต่ตอนนี้ไม่มีทุน 5,000 และอยากได้เครื่องบดมาทุ่นแรง

 

“บางครั้งคนเราเวลาถามว่า ทำไมไม่ทำธุรกิจ ทำไมไม่หาวิธีสร้างรายได้ เขาก็จะบอกอย่างเดียวว่าไม่มีทุน แต่พอมานั่งไล่คุยจริงๆ ของบางอย่างมันไม่ต้องใช้เงินมากมายอะไรก็ได้ บางทีโจทย์ตรงนั้นมันเป็นโจทย์ที่ตั้งมาเพื่อไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม แล้วก็รอคอยความช่วยเหลือ”

 

  • มันนี่โค้ชก็จัดสรรทุนให้ และถามหาเครื่องบดจากเพื่อนๆ มาให้ พอได้เครื่องบด สิ่งสำคัญของการทำธุรกิจคือการหาตลาด เขาก็ไปติดต่อตลาดวโรรสที่เชียงใหม่ เพราะพี่เค้าไปชนะประกวดที่นั่น ก็มีคนรับเอาไปขาย

 

  • ไอเดียตอนนั้นคือมันนี่โค้ชจัดสรรเงินให้ 10,000 บาท เพื่อเป็นทุน 5,000 บาท และอีก 5,000 เพื่อใช้จ่ายหมุนเวียน แต่ขอว่าห้ามเอาไปชำระหนี้เก่า ให้เอาเงินไปทำกิน

 

15:26

 

  • ปัญหาหนึ่งของรัฐบาล เวลาส่งเงินไปให้คน นึกภาพว่าคนที่มีหนี้สามสี่แสน สมมติให้เขากู้ 50,000 แล้วไม่บอกวิธีจัดการกับเงิน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เจ้าหนี้สามสี่แสนก็มาทวง คนที่กู้ก็ต้องเอาเงินไปจ่ายหนี้ซะ ซึ่งก็จ่ายไม่หมดอยู่ดี แล้วก็ยังเป็นหนี้จากที่กู้มาใหม่อยู่ดี ชีวิตก็ไม่ได้ทำอะไรเพิ่ม มองหาอีกว่าจะมีใครมาหยิบยื่น

 

  • คนที่ทำธุรกิจส่วนตัวขนาดย่อมๆ หรือพนักงานประจำที่เอาเวลาว่างมาทำงานพิเศษ จะมีปัญหาเรื่องการบริหารเงิน เรื่องแรกคือเขาแยกไม่ออกระหว่างเงินกิจการกับเงินส่วนตัว เวลาไปลงทุนขายของ ได้เงินมาก็เอาเงินที่ขายได้มากิน มันผิด ต้องจัดสรรเหลือกำไรเท่าไหร่ค่อยมากินมาใช้

 

  • ถ้า 5,000 เอาไปทำได้ 10,000 เราต้องกัน 5,000 ออกมาทุกครั้ง เพื่อไปลงทุนต่อ กำไร 5,000 อาจจะดูน้อย แต่สุดท้ายเราควรจัดสรรให้ได้ 3 ก้อน คือกินใช้ ใช้หนี้ และออม ถ้าทำอย่างนี้ชีวิตจะไปได้

 

  • เขาก็ลองทำจริง แล้วก็ขายได้จริงๆ เพราะฝีมือดี พอมีกำไร มีออเดอร์เข้ามามาก มันนี่โค้ชก็จัดหาเครื่องอบมาให้ จากนั้นก็ทำสเกลใหญ่ขึ้น มียอดขาย 2-3 หมื่นบาทต่อเดือนในที่สุด เขาก็บริหารจัดการเงินได้ถูกต้อง และคืนเงินได้ตรงเวลา

 

  • สุดท้ายเคสคนตำน้ำพริก เขาก็ไม่ได้รวยขึ้น มั่งคั่ง แต่เริ่มหายใจหายคอคล่องขึ้น หนี้ลดลง ลองเจรจาหนี้เพื่อลดดอกเบี้ย แล้วรีไฟแนนช์ พอ 2-3 ปีก็เคลียร์หนี้ได้

 

19:25

 

  • อีกเคสหนึ่งจากโครงการนี้ เป็นพี่ผู้หญิงที่ตัดเย็บเสื้อผ้า พี่เค้ามีจักรเก่าๆ อยู่หนึ่งตัว มันนี่โค้ชเลยลองคำนวณว่าถ้ามีจักรเพิ่มอีกหนึ่งตัว จะมีรายได้เพิ่มเท่าไหร่

 

  • โครงการนี้พิเศษตรงไม่ได้จ่ายเงินเลย ก็หาจักรให้เขาตัวนึง เป็นจักรถีบธรรมดา เขาก็จ้างคน อุปกรณ์ก็ซื้อจัดการเอง ทำๆ ไป สามปีเจอกันอีกที ปรากฏว่าเขามีจักรอยู่สี่ตัว แล้วก็มีคนมาช่วยทำงาน การบริหารเงินก็ตามที่มันนี่โค้ชบอกทุกอย่าง ชำระเงินคืนตรงตามกำหนดทุกอย่าง  

 

21:12

 

  • เคสเหล่านี้ทำให้มุมมองของโค้ชเปลี่ยนไป จากปกติที่ทำงานกับคนในเมือง คนที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาสูงกว่า นึกง่ายๆ ว่า แค่มีสลิปเงินเดือนถ้ามีหนี้หนักหนาสาหัสอยู่ พวกเขาก็สามารถกู้เงินดอกเบี้ยต่ำมารีไฟแนนซ์ได้ แต่คนกลุ่มนี้แทบไม่มีโอกาสอย่างนั้นเลย พอมีโอกาสหยิบยื่นมาให้เค้าก็ทำได้ และทำได้ดี

 

22:36

เคสนี้สอนให้รู้ว่า

  1. ถ้าจริงจังตั้งใจกับชีวิต ความทุกข์ทางการเงินโดยเฉพาะเรื่องหนี้ คนที่จะพาเราออกมาได้คือตัวเราเอง และความคิดของตัวเอง
  2. เชื่อมั่นในเรื่องความรู้ทางการเงิน ความพยามยามหยิบยื่นให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ถ้าเราหยิบยื่นเงิน โดยไม่ให้ความรู้ทางการเงินกับเขา สุดท้ายเค้าก็ออกจากวังวนนี้ไม่ได้

 

“เงินที่คุณหามาได้ต้องบริหารให้เป็น ทุกครั้งที่คุณออกแรงเพิ่ม เหนื่อยเพิ่ม ต้องไม่ให้มันสูญเปล่า เงินที่ได้มาเอาไปใช้หนี้ทั้งหมดก็ทำให้เราหมดแรง …ทำงานมาทั้งเดือน หาเงินมาแทบตาย สุดท้ายอย่าให้คนอื่นหมด”

 

  • สุดท้ายนี้คนที่อดทนแก้ปัญหาหนี้ด้วยตัวเอง คนกลุ่มนี้จะไม่กลับมาจนอีก แล้วเขาจะมีชีวิตชาตินี้ เป็นชาติเดียวที่ไม่มีวันจน

 


Credits

 

The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์

 

Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Music Westonemusic

FYI
  • มูฮัมหมัด ยูนูส (Muhammad Yunus) นายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 2549
  • ไมโครไฟแนนซ์ หรือ ไมโครเครดิต คือ การให้กู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยจะให้กู้แก่ผู้ประกอบการหรือชาวบ้านซึ่งยากจนเกินกว่าจะมีคุณสมบัติพอเพียงที่จะกู้เงินจากธนาคารทั่วไป
  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising