×

FIRST-JOBBERS: เริ่มเหมือนกัน แต่ต่างกันคนละองศาภายใน 5 ปี เพราะวิธีบริหารเงิน

06.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS


01:04   
เงินกับเฟิร์สจ็อบเบอร์

05:08   สลิปของเรา ใช้ซะ

08:32   ใช้สลิปไปลงทุน

11:01   ผ่านไป 5 ปี

12:23   3 จุดตายในการสร้างหนี้ก้อนโต

15:48   7 แนวคิดทางการเงินสำหรับคนรุ่นใหม่

 

 

เรื่องเล่าของเด็กจบใหม่วัยเริ่มทำงานที่พื้นฐานคล้ายกัน เป็นวิศวกรเหมือนกัน เงินเดือนเท่าๆ กัน แถมไม่มีภาระทางบ้านทั้งคู่ ต่างกันที่คนแรกใช้เต็มเหนี่ยว แต่คนที่สองเลือกลงทุน นำไปสู่ชีวิตที่ต่างกันจนน่าเรียนรู้

 

พร้อมเกร็ดเรื่องจุดตายการเป็นหนี้ 3 ครั้งใหญ่ๆ ในชีวิต และคำแนะนำสำหรับ 10 ปีแรกในการทำงานที่จะทำให้คุณเกษียณทางการเงินได้เร็วขึ้น

 


01.04

  • มีน้องกลุ่มหนึ่งหลังไมค์มาสอบถามเรื่องการบริหารเงินสำหรับคนที่เริ่มต้นชีวิตการทำงาน อยากเกษียณแบบมีกินมีใช้ ต้องวางแผนยังไงบ้าง
  • คนกลุ่มที่ Money Coach อยากเข้าไปสอนเรื่องเงินมากที่สุดคือกลุ่มที่เริ่มต้นทำงาน เพราะก่อนหน้านี้เคยไปบรรยายให้เด็กจบใหม่ ปรากฏว่าไม่ได้ผล เพราะว่าเขายังไม่ได้เจอของจริง ยังใช้สตางค์พ่อแม่อยู่ เลยไม่ฟังกันเท่าไร จึงเปลี่ยนไปพูดกับ First Jobber แทน เพราะกลุ่มนี้เริ่มเห็นภาพ เงินเดือนหมื่นกว่าบาท ถ้าเผลอไผล ชีวิตอาจพังได้
  • “ช่วงอายุ 20-30 ปี เป็นช่วงสำคัญของความสำเร็จทางด้านการเงินมากๆ ถ้าตั้งหลักดี ชีวิตมันก็จะง่าย แต่ถ้าตั้งหลักไม่ดี ชีวิตมันจะเหนื่อย”
  • 10 ปีแรกของการทำงานแทบไม่มีหนี้หรือภาระอะไรเลย พออายุ 30 เริ่มมีบ้าน มีรถ ต้องแต่งงาน มีลูก แพตเทิร์นชีวิตคนเราแทบจะเหมือนกันหมดเลย พออายุ 50 ลูกเรียนจบ บ้านผ่อนหมด เพราะฉะนั้นเราควรจะใช้ชีวิตดีตั้งแต่แรกๆ

 

“จะรวยหรือเปล่าไม่รู้ แต่สุดท้ายขอเป็นคนที่ไม่ปวดหัวเรื่องเงินไปตลอดชีวิตน่าจะเป็นเรื่องที่ดี”

 

05:08

เด็กจบใหม่สองคน อายุเท่าๆ กัน เงินเดือน 14,000-15,000 บาทเท่าๆ กัน ไม่มีภาระทางบ้าน เป็นวิศวกรทั้งคู่ แต่วิธีบริหารเงินที่แตกต่างพาให้ทั้งคู่ต่างกันมาก

 

คนแรกใช้เต็มเหนี่ยว ทำบัตรเครดิต 3 ใบ มีสินเชื่อส่วนบุคคล 1 รายการ และออกรถอีก 1 คัน สุดท้ายเริ่มติดลบเดือนละ 4,000-5,000 บาท เลยไปยืม

 

“อาการติดหนี้เหมือนเสพติดยาแก้ปวด เรานอนดึก นอนน้อย ดื่มแอลกอฮอล์ นั่นคือต้นเหตุ แต่เวลาเราปวดหัว เราจะหยิบพาราฯเพราะมันง่ายกว่า เราไม่แก้ที่พฤติกรรม เป็นหนี้ก็เหมือนกัน เราขาดเงิน เราไม่ไปแก้ที่ต้นเหตุ ไม่พยายามตัดหนี้หรือหารายได้เพิ่ม แต่เราหยิบยาแก้ปวด ก็คือยืมคนอื่น”

 

08:32

คนที่สองใช้สลิปเงินเดือนไปซื้อคอนโดฯ เล็กๆ มา 4 ห้อง ห้องละประมาณ 2-3 แสนแล้วมาปล่อยเช่า เดือนหนึ่งต้องผ่อนธนาคาร หักค่าส่วนกลางไปก็ได้กำไรมาแค่เดือนละ 1,000 บาท รวมแล้วเป็น 4,000 บาท เพื่อนก็แซวแบบดูแคลน โอ๊ย เศรษฐีห้องเช่า แต่คนที่เขาสะสมทรัพย์สินแล้วมีส่วนต่างเพิ่มเข้ามาในแต่ละเดือนก็ทำให้ชีวิตเขาคล่องขึ้น  

 

Money Coach ก็แนะนำว่า คนลงทุนแล้วประสบความสำเร็จ หลักคิดก็คือเวลาได้ผลกำไรมา อย่าเพิ่งรีบเอาไปกินไปใช้ ต้องเอาไปลงทุนต่อ

 

“คนที่ลงทุนแล้วนึกถึงความเสี่ยงไว้ รอดทุกคน แต่ถ้าคนที่ลงทุนแล้วนึกถึงแต่ว่าจะได้อะไร ได้เท่าไร ได้มากแค่ไหน มักไม่รอด”

 

Money Coach เลยแนะนำคนที่สองให้เก็บเงินไว้ก่อน ถ้าเกิดคนเช่าออก ควรมีเงินซัพพอร์ตสัก 3 เดือนแล้วหาคนเช่าใหม่ พอสุดท้ายเริ่มมีเงินส่วนเกิน เขาก็เริ่มมองหาว่าจะไปลงทุนอะไรใหม่

 

11:01

ผ่านไป 5 ปี   

  • คนแรก ชีวิตเหนื่อยยากขึ้นเรื่อยๆ หน้าที่การงานเติบโตขึ้น เครดิตสูงขึ้น แต่เขาเอาเครดิตไปสร้างหนี้หมดเลย
  • คนที่สอง ทยอยขายห้องคอนโดฯ มีเงินเก็บอีกประมาณ 500,000 พอเคลียร์หนี้คอนโดฯ ได้ เขาก็เริ่มวางแผนใหม่แล้วลงทุนเพิ่ม

 

12.23

จุดตายในการสร้างหนี้ก้อนโต

  1. กู้มาจัดงานเลี้ยงรับปริญญา
  2. รถยนต์
  3. หนี้แต่งงาน

 

15.48

7 แนวคิดทางการเงินสำหรับคนรุ่นใหม่

  1. อย่าก่อหนี้จน 10 ปีแรกในการทำงานอย่าสร้างหนี้ โดยเฉพาะหนี้บริโภค เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ผ่อนของ บัตรกดเงินสด นอกระบบ เพราะมันเคลียร์ไปได้ยากมาก เนื่องจากดอกเบี้ยสูง
  2. ออมให้ได้ 20% ของรายได้ ถ้าทำได้ อายุ 30 จะตั้งหลักได้หมดเลย แต่ถ้าไม่ไหว เริ่มสัก 10% หรือ 5% ก่อนก็ได้
  3. ต้องรู้เรื่องการลงทุน ในยุคที่การออมไม่พออีกต่อไป แบ่งเวลามาหาความรู้เรื่องการลงทุน เลือกลงทุนในแบบที่สนใจ อย่าลงทุนผิดจริต
  4. ทำงานเน้นประสบการณ์ ความรู้ซื้อได้ แต่ประสบการณ์ซื้อไม่ได้ ประสบการณ์ที่เราลุยเองจะทำให้เราเก่งขึ้น เวลาผ่านไป คนที่สามารถทำเงินได้คือคนเก่ง
  5. สร้างทรัพย์สินก่อนซื้อหนี้สิน เรื่องแก็ดเจ็ตต่างๆ ก็ซื้อเอาพอเหมาะ สร้างทรัพย์สินจำพวกอสังหาริมทรัพย์ กองทุน หรือสลากออมสิน  
  6. ทำอะไรให้คิดถึงวันข้างหน้าไว้เสมอ มีภูมิคุ้มกัน คิดเผื่อเรื่องที่ไม่คาดฝันเข้ามากระทบการเงิน ไม่เป็นภาระคนข้างหลัง เจ็บป่วยมีเงินจ่าย
  7. ลองเปลี่ยนความคิดเรื่องการเงิน วางแผนเกษียณทางการเงินตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน ทุกอย่างที่เป็นภาระใช้จ่ายอยู่ในความควบคุมเราหมดแล้ว หมดกังวลเรื่องเงิน

 

29.59

“คุณอยากจะเป็นแบบตัวอย่างที่ 1 หรือตัวอย่างที่ 2….”

วิธีการของตัวอย่างที่ 2 ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แค่พอมีพอกิน ถ้าเราตัดความกังวลออกจากชีวิตได้ นั่นคือความสุขอย่างหนึ่ง เงินซื้อทุกอย่างไม่ได้ แต่หลายอย่างในชีวิตต้องใช้เงินซื้อ สมองของเราก็จะมีเวลาในกับมิติอื่นๆ ในชีวิต เช่น สุขภาพ ครอบครัว หน้าที่การงาน การพัฒนาตัวเอง

 

Credits

The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์

 

Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Music Westonemusic.com

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising