×

Work-Life Balance ทำได้จริงไหม และอย่างไรถึงจะสมดุล

04.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

00:51 Work-Life Balance คือปัญหาของคนทำงานแทบทุกคน

04:31 เคสตัวอย่างชีวิตที่ไม่บาลานซ์ของท้อฟฟี่ แบรดชอว์

15:58 เคสตัวอย่างชีวิตที่ไม่บาลานซ์ของบองเต่า

21:45 ทำอย่างไรเราถึงจะมี Work-Life Balance ที่ดี

การทำงานคือส่วนสำคัญของชีวิต ทำให้เรามีรายได้และเป็นเครื่องมือพิสูจน์ตัวตน แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะจริงๆ แล้วชีวิตเรายังมีหลายด้าน ทั้งความฝันของตัวเองที่อยากไปให้ถึง สุขภาพร่างกายที่ต้องดูแล ครอบครัวและความสัมพันธ์ที่ยังต้องรับผิดชอบ และยังไม่รวมความสนใจหรืองานด้านอื่นๆ ที่เราอยากทำให้มันดี

 

I HATE MY JOB เอพิโสดนี้ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ และ บองเต่า เลยจะมาช่วยหาคำตอบว่า ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ที่ไม่สามารถแยกร่าง แต่อยากทำหลายอย่างให้ดี มันทำได้จริงไหม จุดที่สมดุลคืออะไร และทำอย่างไรถ้าถึงวันที่ต้องเลือกระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว

 


งานกับชีวิต

ปัญหาหนึ่งของมนุษย์ออฟฟิศที่ระยะหลังถูกพูดถึงและหลายคนเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น คือการพยายามทำให้ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวสมดุลกัน หรือที่เราได้ยินกันคุ้นหูว่า Work-Life Balance หากมองดูเผินๆ มันคือการจัดการชีวิตและงานให้สมดุลกันแบบแบ่งครึ่ง เรื่องงานครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งเป็นชีวิตส่วนตัว แต่สำหรับคนที่เริ่มเป็นมนุษย์ออฟฟิศมาสักระยะจะรู้ว่ามันไม่ได้ถูกแบ่งกันอย่างง่ายๆ ขนาดนั้น เพราะในแต่ละด้านมันมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่เราต้องเอาให้อยู่

 

เรื่องงานมีทั้งตัวเนื้องานที่เราต้องรับผิดชอบ ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า นี่ยังไม่รวมถึงตัวตนของเราในที่ทำงาน อย่างแพสชันในการทำงาน ความเจริญเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงาน และรายได้ เหล่านี้คือรายละเอียดของการทำงานที่เราต้องรับผิดชอบให้ดีในฐานะพนักงานออฟฟิศคนหนึ่ง

 

ในด้านส่วนตัว แค่ตัวเรา 1 ชีวิตที่ต้องดูแลก็มีรายละเอียดมากมาย ทั้งความฝันส่วนตัวที่นอกเหนือจากการทำงาน งานอดิเรกและความชอบที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจ สุขภาพร่างกายที่ต้องบำรุงรักษาเพื่อให้มีแรงและประสิทธิภาพในการทำงาน ความสามารถพิเศษที่ต้องเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะให้ตัวเอง แค่เพียง 1 ชีวิตยังมีเรื่องให้ต้องดูแลมากมายขนาดนี้ หากในอนาคตเรามีคนรักและวางแผนจะใช้ชีวิตร่วมกันก็เป็นเรื่องยากมากขึ้นไปอีกที่จะประคองรักษาไปให้ตลอดรอดฝั่ง

 

ไม่เพียงแค่นั้น สำหรับคนในวัย 30 ที่เริ่มเปลี่ยนสถานะจากเป็นเพียงสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวกลายมาเป็นหัวหน้า ก็ต้องเริ่มดูแลพ่อแม่ที่ไม่เพียงการส่งเสียเลี้ยงดูด้วยการให้เงิน แต่ยังต้องสละเวลา เอาใจใส่ แถมในวัยนี้เราจะเริ่มเห็นท่านเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องเป็นหน้าที่ของเราในฐานะลูกคนหนึ่ง

 

5 แนวคิดที่จะทำให้ชีวิตและการทำงานมีความสุข

จากสถานการณ์ที่เล่ามา คงเริ่มเห็นแล้วว่าการจะทำให้ชีวิตส่วนตัวและการทำงานมีความสุขสมดุลกันนั้นไม่ใช่เพียงการจัดชีวิตเพียง 2 ฝั่ง แต่คือการจัดการหน้าที่หลายสิบอย่างที่เรา ‘เป็น’ และ ‘ต้องทำ’ ไว้อย่างเหมาะสม มีคนเปรียบให้เห็นภาพว่าคือการโยนลูกบอลหลายสิบลูกในอากาศ เราต้องทำให้ลูกบอลเหล่านั้นหมุนวนอย่างไม่หล่นลงพื้นด้วย 2 มือ แค่ฟังดูก็เป็นเรื่องยาก แต่ของจริงกลับยากกว่า เพราะหลายสิบเรื่องที่พูดมานั้นมีแค่ตัวเรา 1 คน กับเวลา 24 ชั่วโมงที่ต้องรับผิดชอบ ‘Work-Life Balance’ จึงเป็นเรื่องที่หลายคนพยายามทำแต่ไม่เคยสำเร็จ เพราะมันไม่เคยง่ายและไม่มีสูตรตายตัว แถมความยากง่ายของชีวิตแต่ละคนก็ยังไม่เหมือนกัน

 

แต่อย่าเพิ่งท้อ การจะพยายามทำทุกอย่างให้สมดุลอย่างยั่งยืนนั้นอาจไม่ได้ใช้เวลาชั่วข้ามคืน แต่มันจะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพราะมันไม่ใช่การตัดสิ่งหนึ่งเพื่อเลือกทำสิ่งหนึ่ง แต่มันคือการทำหลายสิ่งไปพร้อมกันอย่างกลมกลืน ซึ่งเราทำได้สำเร็จหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในและภายนอกต่างๆ ซึ่งถ้าหากลองทำความเข้าใจปัจจัยเหล่านั้นตั้งแต่ต้น ความสมดุลที่เราต้องการอาจตามมาได้อย่างไม่ยาก

 

1. Work-Life Balance ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงของชีวิต

เมื่อเราลองพิจารณาชีวิตตัวเอง จะพบว่าในแต่ละช่วงของชีวิตเรามีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบ เรื่องที่สนใจ เรื่องที่ต้องทำให้ดีแตกต่างกัน ในสมัยเริ่มทำงาน เราอาจมีแค่งานกับชีวิตส่วนตัวที่ต้องทำให้ดี ช่วงนั้นเราอาจแค่ทำงานกับการออกกำลังกายหรืองานอดิเรก จนเวลาผ่านไป เรามีคนรักและวางแผนจะสร้างครอบครัว ความรับผิดชอบในชีวิตเราอาจเป็นส่วนผสมของงาน ชีวิตส่วนตัว และความสัมพันธ์ และสุดท้ายเมื่อเราดูแลตัวเองได้ ปัจจัยในชีวิตที่เราต้องดูแลเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างคือการรับผิดชอบพ่อแม่ ในขณะที่ส่วนประกอบด้านอื่นๆ ของชีวิตก็ยังคงอยู่

 

ในแต่ละช่วงชีวิตเรามีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะทำให้ชีวิตสมดุลนั้นก็ต้องปรับเปลี่ยนตามเงื่อนไขที่เข้ามาด้วย วันที่เราอายุ 20 ปี เริ่มทำงานใหม่ จุดสมดุลของเราอาจคืออย่างหนึ่ง อายุ 30 เริ่มมีโจทย์เรื่องคนรักเข้ามาสมดุลก็เปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่ง จนถึงวันที่เรา 40 ปี และต้องดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วยพร้อมกับครอบครัวเราเองไปด้วย สมดุลก็เป็นแบบหนึ่ง

สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าจุดสมดุลของแต่ละช่วงอายุของเราคือตรงไหน แล้วเราค่อยๆ ปรับไปให้ได้ตามนั้น บาลานซ์ที่เป็นคำตอบของวันนี้อาจจะไม่ใช่คำตอบของวันพรุ่งนี้ก็ได้

2. Work-Life Balance ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของงานและวัฒนธรรมองค์กร

งานบางงานอาจมีลักษณะที่เรียกร้องให้เราต้องอุทิศเวลาทั้งหมดให้โดยไม่สามารถแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นได้ การที่จะปลีกเวลาไปดูแลชีวิตด้านอื่นๆ จึงไม่สามารถทำได้จริง เพราะงานอาจต้องการคนที่สามารถรับมือกับความเครียดและกดดันได้ตลอดเวลา ต้องอยู่หามรุ่งหามค่ำเพื่อทำงานออกมาให้ทัน หรือต้องใช้ชีวิตตอนกลางคืน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่ใช่งานที่ดี ถ้าสุดท้ายอยากทำงานนี้อาจลองถามตัวเองดูว่าคุ้มไหมที่จะแลกชีวิตส่วนตัวทั้งหมดเพื่อให้ได้ทำงานนี้ ลองพิจารณาประสิทธิภาพทั้งร่างกายและจิตใจว่าเราสู้ได้ไหม เงื่อนไขชีวิตของเราตอนนั้นสามารถทำงานนี้ได้หรือเปล่า เพราะการที่เราได้เห็นข้อจำกัดเรื่องเวลาหรือข้อเสียที่เราไม่สามารถสร้างสมดุลให้กับชีวิตตั้งแต่ต้นและเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้า งานนี้ที่ไม่มี Work-Life Balance นี้อาจเป็นงานที่เหมาะกับเราก็ได้

 

3. Work-Life Balance ขึ้นอยู่กับวิธีการทำงาน

ด้วยเทคโนโลยีของทุกวันนี้เอื้อเราสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลามากขึ้น จึงมีอีกแนวคิดหนึ่ง คือ ‘Work-Life Integration’ เราสามารถผสมกลมกลืนชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวโดยที่ไม่แยกขาดออกจากกัน เช่น ในขณะที่เลิกงานแล้วและใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว เราก็สามารถตอบลูกค้าหรือคุยงานเล็กๆ น้อยๆ ทางโทรศัพท์มือถือเพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้โดยที่เราไม่ต้องมุ่งหน้าเข้าออฟฟิศ หรือในขณะเดียวกันเวลาทำงาน เราก็สามารถใช้โซเชียลมีเดียสอบถามสารทุกข์สุขดิบของพ่อแม่ได้บ้างตามความเหมาะสม เพียงแต่การทำตามแนวคิดนี้อาจจะสุ่มเสี่ยงอยู่ตรงที่เมื่องานและชีวิตรวมเข้ากันเป็นหนึ่งเดียวจนเราไม่สามารถแยกชีวิตส่วนตัวและการทำงานออกได้อย่างชัดเจน เมื่อนั้นสมดุลของเราอาจจะเสีย สิ่งสำคัญคือการที่เราต้องรู้จักตัวเองว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรและอยู่ในบทบาทไหนเป็นหลัก ถ้าเป็นเวลางานเราก็ควรอยู่ในฐานะพนักงานออฟฟิศที่ต้องทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ และเมื่ออยู่นอกเวลางาน หลักใหญ่ใจความของเราคือการต้องมีชีวิตส่วนตัวที่ดี เป็นลูกและเป็นคนรักที่ดี การเตือนตัวเองอยู่บ่อยๆ แบบนี้ก็อาจทำให้ชีวิตและการทำงานของเรามี ‘Work Life-Integration’ ที่ดีได้

 

4. Work-Life Balance ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญ

เอาเข้าจริงแล้วการทำให้ชีวิตเรื่องงานสมดุลกันมันไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำทุกอย่างในเวลาเดียวกันหรือพร้อมๆ กัน คงไม่มีใครที่โทรศัพท์ข้างหนึ่งยกหูคุยเรื่องงานแต่อีกข้างหนึ่งโทรศัพท์หาพ่อแม่ที่บ้านด้วยความห่วงใย เพราะในความเป็นจริงเราต้องเลือกทำสิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานั้นให้สำเร็จ ก่อนจะทำอย่างต่อไป เพราะฉะนั้น ในแง่ปฏิบัติมันอาจกลายเป็น ‘Work-Life Priority’ คือการจัดลำดับก่อน-หลังของแต่ละอย่างที่ต้องทำในชีวิตต่างหาก

 

ลองกลับไปที่ข้อแรก คือดูความจำเป็นของชีวิตของเราช่วงนั้นว่าควรให้ความสำคัญอะไรก่อนหลัง แล้วเราก็ค่อยๆ ปรับไปตามข้อจำกัดของเรา เช่น หากช่วงนี้เรามีโปรเจกต์งานที่ต้องรับผิดชอบ เราก็ทำงานก่อน ซึ่งอาจกินเวลาการอยู่กับครอบครัวไปบ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะนั่นคือความสมดุล ณ เวลานั้น แต่หากเมื่อไรที่ร่างกายเราเริ่มไม่ไหว เกิดล้มป่วยขึ้น Priority หรือการให้ความสำคัญที่เคยให้งานเป็นที่หนึ่งนั้นก็ต้องถูกจัดลำดับใหม่ให้สุขภาพร่างกายของเราขึ้นมาเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด อย่าลืมว่า ถ้าหากเราเป็นอะไรขึ้นมา บริษัทสามารถหาคนมาแทนเราได้อย่างไม่ยากและอาจมีความสามารถมากกว่าเราด้วยซ้ำ แต่ในขณะเดียวกันเราเองในฐานะคนในครอบครัว เราอาจเป็นเพียงสามีคนเดียว ภรรยาคนเดียว และลูกเพียงคนเดียวของคนในครอบครัวที่ไม่สามารถหาใครมาทดแทนได้

กุญแจสำคัญของ Work-Life Balance จึงคือการรู้จักจัดลำดับความสำคัญของแต่ละด้านในชีวิต ซึ่งเราสามารถยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

5. Work-Life Balance ขึ้นอยู่กับความพอใจ

หลายครั้งที่เราเห็นโฆษณาหรือเห็นภาพคนที่อยู่ในสื่อแล้วเขามีหลายบทบาท เป็นเจ้าของกิจการที่ดี เป็นสามีที่ดี เป็นลูกที่ทำให้พ่อแม่มีความสุข จนบางครั้งเราติดภาพนั้นและคิดว่าคนที่ทำได้อย่างนั้นคือคนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในความจริงอาจไม่ใช่เลย เพราะชีวิตคนเราไม่เหมือนกัน ที่เขาประสบความสำเร็จนั้นอาจมีปัจจัยเกื้อหนุนมากมาย เช่น เขาอาจมีลูกน้องที่ช่วยทำงานหลายสิบคน เลยมีเวลาไปดูแลครอบครัวได้ หรือไม่เขาอาจมีพ่อแม่ที่แข็งแรงสามารถดูแลตัวเอง เลยมีเวลาทุ่มเทให้กับงานเต็มที่ เพราะฉะนั้นแล้วอย่ายึดภาพความสำเร็จนั้นจนเกินไป แต่อยากให้ลองกลับมามองตัวเองว่า ในแต่ละด้าน แต่ละบทบาท เราพอใจกับมันหรือยัง ถ้าเราพอใจและคิดว่ามีความสุขแล้ว ก็ไม่ต้องสนใจภาพความสำเร็จที่หลายคนประโคมอยู่ก็ได้

 

เราอาจเป็นลูกที่ละเลยพ่อแม่บ้าง แต่เมื่อไรที่เรารู้ตัว เรามีเวลา เราก็ดูแลท่านอย่างเต็มที่ หรือช่วงเวลาที่อยู่กับคนรัก เราอาจแอบเอางานมาทำบ้างเพราะพรุ่งนี้จะมีพรีเซนต์ใหญ่ที่ต้องทำให้เสร็จ มันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะในความเป็นจริงแล้วแทบไม่มีมนุษย์คนไหนที่สมบูรณ์แบบในทุกด้านตลอดเวลา กุญแจสำคัญมันขึ้นอยู่กับว่าเราพอใจตัวเองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้หรือเปล่า

 

สิ่งที่อยากทิ้งท้ายคือ Work-Life Balance คือเรื่องของคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ ไม่ได้หมายความว่าเราทำงานและมีงานอดิเรกอีกสิบอย่างแล้วชีวิตจะดี หรือไม่ใช่ว่าเราทำงานสิบอย่างพร้อมกับดูแลพ่อแม่ได้เราก็อาจไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จ เพราะการทำให้ชีวิตสมดุลคือเรื่องของคุณภาพ บางช่วงเวลาที่เราต้องก้มหน้าก้มตาทำงานหนักทั้งเดือนเพราะมีงานใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบ และมีเวลาพักผ่อนเพียง 5 วัน แต่ถ้าเราสามารถทำ 5 วันนั้นให้เป็นวันหยุดที่มีคุณภาพ ได้ใช้เวลากับคนรัก ได้พาพ่อแม่ไปทานข้าวนอกบ้าน ทุกคนมีความสุขและพอใจในทุกฐานะที่เราเป็น ความสมดุลทุกอย่างอาจเกิดขึ้นจริงได้ด้วยเช่นกัน

 


 

Credits

The Hosts ท้อฟฟี่ แบรดชอว์, ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X