×

“ผู้ที่ชนะ Band Lab ไม่ใช่คนที่ได้เงินรางวัล แต่คือคนที่อยู่ในวงการนี้ได้นานที่สุด”

18.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:26 อะไรคือ Gene Lab

04:57 อะไรคือ Band Lab

24:01 คัดผู้เข้าแข่งขันจนเหลือ 4 วง

26:14 ปัญหาที่วงรุ่นใหม่มักจะมี

33:26 วงรุ่นเก่าจะมีปัญหาการเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างไร

41.26 สิ่งที่รายการต้องการจากวงรุ่นใหม่

ท่ามกลางความงงงวยของธุรกิจค่ายเพลง ปัณฑพล ประสารราชกิจ หรือ โอม Cocktail กลับลุกขึ้นมาก่อตั้งค่ายเพลงนาม Gene Lab และพร้อมกันนั้นก็เปิดตัวรายการค้นหาศิลปินเข้าสู่ค่ายนี้นามว่า Band Lab ซึ่งเขานิยามว่าเป็นรายการแข่งดนตรีที่ไม่ได้สอนเล่นดนตรี แต่สอนให้ศิลปินเอาชีวิตรอดได้ในวงการเพลง

 

กดปุ่มเพลย์ด้านบน เพื่อฟัง โอม และ อู๋ The Yers ในฐานะโปรดิวเซอร์คนหนึ่งของรายการ Band Lab เกี่ยวกับการอยู่ในวงการเพลงไทย และประสบการณ์ที่พวกเขาคิดว่าสอนกันได้ แต่ถ้าใครสะดวกอ่านก็เลื่อนลงไปด้านล่างได้เลย

 


 

 

อะไรคือ Band Lab

มันคือรายการประกวดวงดนตรีของ Gene Lab ค่ายเพลงใหม่ของแกรมมี่ที่มีโอม Cocktail นั่งตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งเริ่มมาจากการที่คุณนิค จีนี่ เรคคอร์ดส์ รู้สึกว่าพื้นที่ในค่ายจีนี่ไม่ค่อยเหมาะจะรับศิลปินใหม่เท่าไร ด้วยความที่มีศิลปินรุ่นเก๋าและรุ่นกลางอยู่มากมาย ศิลปินใหม่น่าจะเกร็ง เลยเปิดตัวค่ายใหม่ขึ้นมาเพื่ออิสระในการทำงานของทีมและศิลปินใหม่

 

อะไรคือ Band Lab

เป็นรายการที่เรียกได้หลายแบบ เป็นทั้งเรียลิตี้ ทั้ง documentary ทั้งเกมโชว์ ซึ่งอู๋ The Yers ก็ได้มานั่งเป็นหนึ่งในโค้ชของรายการนี้ ร่วมกับโอม Cocktail เอง เจ๋ง Big Ass และหนุ่ม กะลา

 

และ Band Lab ก็เริ่มขึ้นมาจากความคิดว่าอยากให้ความรู้ในเรื่องดนตรีและวงการดนตรี ตบกันไปมาก็กลายเป็นรูปแบบนี้ที่เหมือน entrepreneur ที่นักดนตรีเป็นเจ้าของไอเดีย ส่วนค่ายเป็นเจ้าของทุน ที่ต้องทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เป็นเจ้านายกับลูกน้อง

 

ก็กลายเป็นว่ามีมิชชันขึ้นมา 12 มิชชันในแต่ละสัปดาห์ ให้ศิลปินมานำเสนอตัวเอง แล้วถ้าเราเชื่อใครก็จ่ายให้คนนั้นไป

 

และการทำเป็นรายการมันทำให้ค่ายมีคอนเทนต์ตั้งแต่วันที่เริ่มสร้างศิลปิน ซึ่งน่าจะดีกว่าการทำเพลงก่อนแล้วทำรายการมาสนับสนุนทีหลัง ที่อาจแป้กได้ถ้าเพลงไม่มา

 

และในแง่สปอนเซอร์ถ้าใครเข้ามาสนับสนุนก็ได้ช่วยเกื้อหนุนศิลปินตั้งแต่ day 1 ซึ่งอาจทำให้มีสิทธิ์ต่างๆ ในอนาคตหากศิลปินหรือค่ายมีชื่อเสียงมากขึ้น

 

รูปแบบของ Band Lab

อยากพาไปดูกระบวนการของการทำเพลงหนึ่งเพลง ตั้งแต่เริ่มแรกที่ศิลปินจรดปากกาเซ็นสัญญากับค่าย ไปจนถึงวันที่เพลงกลายเป็นเอ็มวีให้คุณดูและฟังในหน้าจอโทรศัพท์

 

ตัวคอนเทนต์ของรายการ โอมจะใช้คำว่า Startup ของวงดนตรี การเป็นศิลปินต้องเริ่มคิดตั้งแต่เมื่อเข้าค่ายมาต้องทำอะไร? ต้องแต่งเพลง งั้นแต่งกันเองมั้ย? หรือต้องจ้างคนแต่ง ทำเพลงให้เสร็จสมบูรณ์ยังไง? พอเพลงเสร็จก็ต้องคิดอีกว่า แสดงสดเพลงนี้ยังไง? รับมือกับสถานการณ์หน้างานยังไง? ซึ่งในรายการนี้จะมีสถานการณ์โยนลงไปให้เขาแก้ปัญหากัน ทั้งหมดล้วนเป็นปัญหาที่ทุกวงเคยเจอ ไม่ว่าจะเป็น The Yers, Cocktail หรือแม้แต่ Bodyslam

 

คนทั่วไปจะไม่รู้ว่าวงดนตรีต้องเจออะไรบ้าง แต่ถ้าดูรายการนี้จะได้รู้กัน

 

หรือมากไปกว่านั้นคือ รายการจะไม่ได้พูดถึงวงดนตรีในฐานะ Performer อย่างเดียว แต่จะเล่าไปถึงธุรกิจดนตรี ทั้งการตีความลูกค้า การตีโจทย์ การสื่อสารระหว่างคนกับเพลง ไปถึงการอยู่ร่วมกับเพื่อนในวง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำเอ็มวีที่นักดนตรีก็ควรจะรู้ เพื่อให้ทำงานกับคนอื่นรู้เรื่อง

 

เป็นการเอาประสบการณ์ของรุ่นพี่ทุกคนมาให้น้องๆ ได้เรียนรู้ในเวลาแค่ 12 สัปดาห์

 

การเลือกโค้ชในรายการ

ในรายการมีโค้ชคือหนุ่ม กะลา, เจ๋ง บิ๊กแอส และอู๋ เดอะเยอร์ส ซึ่งแต่ละคนมีที่มาน่าสนใจต่างกัน คนแรกมาจากการประกวด และใช้เวลา 12 ปีในวงการอยู่กับค่ายเดียว ตั้งแต่ยุคที่ค่ายทำทุกอย่างให้ มาถึงยุคที่ศิลปินต้องทำเกือบทุกอย่างเอง

 

พี่เจ๋ง โตมาในสลัม เดินทางเข้ากรุงมาเล่นดนตรีกลางคืน และได้มาเป็นนักร้องของวงดนตรีที่ดังที่สุดวงหนึ่งของไทย แถมมาแทนคนเดิมซึ่งก็ดังมากด้วย

 

อีกคนคืออู๋ที่เป็นศิลปินอินดี้มานานตั้งแต่กรุงเทพมาราธอน มีพี่ชายดังมาก่อน และเป็นศินปินที่มาจากอินดี้สู่แมสจริงๆ

 

หรือแม้แต่ผู้เข้าแข่งขันเองก็มาจากหลายที่มา มีทั้งยูทูเบอร์ที่มีคนติดตามหลักล้านคน มีทั้งวงดนตรีจากอุตรดิตถ์ที่เอาชื่อถนนที่ยาวที่สุดของจังหวัดมาตั้งเป็นชื่อวง ความหลากหลายนี่แหละที่ทำให้รายการสนุก

 

ซึ่งทางค่ายไม่ได้คีปลุคว่าต้องเป็นค่ายเพลงรุ่นใหม่ที่มีภาพลักษณ์เป็นวงดนตรีคนเมือง เพราะประเทศไทยไม่ได้มีแค่กรุงเทพมหานครนี่

 

คัดเลือกให้เหลือ 4 วง

จริงๆ มีคนส่งออดิชันมาถึง 400 กว่าวง แต่หลายวงไม่ได้เข้าคัดเลือกเพราะส่งรายละเอียดมาไม่ครบบ้าง เพราะโอมเขียนใบสมัครวางยาไว้ ว่าให้ส่งเพลงตัวเองหรือเพลงคัฟเวอร์มา 2 เพลง ให้เราสนใจที่สุด ซึ่งแปลว่าควรจะส่งเพลงตัวเองมาทั้ง 2 เพลงเลย เพราะนั่นคือสิ่งที่น่าสนใจกว่าเพลงคัฟเวอร์ แต่เกือบทุกวงก็ไม่เก็ตตรงนี้

 

หรือหลายวงที่ส่งรายละเอียดมาไม่ครบก็มีบ่นว่าไม่ครบแค่นิดๆ หน่อยๆ เอง หยวนๆ ไม่ได้เหรอ ก็ต้องบอกว่าทางรายการจะหาศิลปินมืออาชีพ การอ่านใบสมัครไม่ครบถ้วนก็เป็นคุณสมบัติที่ไม่ดีของศิลปินเช่นกัน อีกหน่อยไปทำงานจริงก็ต้องไปอ่านเอกสารพรีเซนเตอร์นะ ต้องอ่านให้ครบถ้วน เราไม่ได้อยากได้คนที่เล่นดนตรีเป็นอย่างเดียว

 

 

ปัญหาที่วงหน้าใหม่มักจะมี

อู๋คิดว่าเป็นการหาตัวเองไม่เจอ ซึ่งอาจจะมาจากการมีอินพุตน้อยหรือมากเกินไป ทำให้หาความเป็นวงของตัวเองไม่เจอ หลายครั้งที่สมาชิกในวงมีอินพุตต่างกัน ทำให้ความเป็นแบนด์ไม่โผล่ออกมา บ้างก็เป็นนักร้องแอนด์เดอะแบนด์

 

หรือบางทีอินพุตเยอะ ก็ทำให้มีดาต้าเยอะ แต่ไม่ได้สังเคราะห์มันมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเอง เทคโนโลยีมัน disrupt ให้เด็กยุคใหม่มีอุปนิสัยที่เปลี่ยนไป การอ่านเรื่องคนอื่นเยอะๆ ทำให้เราคิดแต่ในมุมของเรา มันไม่มีการสังเคราะห์ข้อมูลที่จะทำให้เราเข้าใจคนอื่นจริงๆ

 

ในสังคมดนตรีก็ต้องเข้าใจคนอื่นแบบนี้ บางวงทำเพลงไม่ดังก็บอกว่าคนดูแม่ง…ไม่ฟัง ซึ่งศิลปินทุกคนน่าจะเคยผ่านจุดนี้มาก่อนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือเราจะจัดการกับความรู้สึกหรือสถานการณ์นั้นอย่างไร

 

อีกประเด็นคือไม่เป็นตัวของตัวเอง ก๊อบปี้วงอื่น ไม่ว่าจะประกวดวงดนตรีจะกี่ปีก็ต้องเจอเพลงเดิมๆ ที่เล่นตามศิลปินต้นฉบับร้อยเปอร์เซ็นต์ เราจะมี Bodyslam สองวงทำไมล่ะ

 

การก๊อบปี้เพลงมาเล่นไม่ได้ผิดนะ การเล่นดนตรีเริ่มมาจากการเลียนแบบ แต่วงหน้าใหม่ควรจะเอาเพลงคัฟเวอร์นั้นมาเล่นในแบบของตัวเอง

 

มันจะกลับมาที่วิชาเศรษฐศาสตร์ 101 เราจะมีสินค้าเดียวกันเยอะๆ ทำไม ราคามันก็ตกสิ

 

วงดนตรีรุ่นเก่ามีปัญหาการเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างไร

รุ่นใหญ่มักจะมีปัญหาว่าไม่หมุนตามโลก ไม่เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ จากศิลปินใหม่ๆ อย่าง เจค บักก์ (Jake Bugg) ที่เพิ่งมาก็เป็นรุ่นใหม่มากๆ เด็กมาก แต่ประสบความสำเร็จแล้ว เราก็ควรจะเรียนรู้อะไรบางอย่างจากเขาหรือเปล่า

 

เราจะคิดว่าเราเก๋าไม่ได้เลย มันมีรุ่นใหม่ที่คอยขึ้นมาใหม่เสมอ ถ้าเราไม่เรียนรู้จากเขาเราก็ไม่สามารถเป็นรุ่นพี่ที่ดีได้เลย คิดแบบนี้แล้วมันก็เห็นสัจธรรมเหมือนกันนะ

 

แม้แต่ศิลปินในตำนานอย่างเดวิด โบวี ยังทำเพลงใหม่ๆ สไตล์ใหม่ๆ จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตเลย

 

เราเคยเห็นว่าเราแซงศิลปินรุ่นก่อนทั้งในแง่ค่าตัวหรือผลงาน ซึ่งมันทำให้เห็นสัจธรรมว่าถ้าเราแซงได้ เราก็โดนศิลปินใหม่ๆ แซงได้เหมือนกัน ฉะนั้นต้องโฟกัสที่การทำงาน พัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นไป

 

สิ่งที่รายการต้องการจากวงรุ่นใหม่

รายการไม่ได้อยากให้พวกเขาเก่งกว่า แต่อยากให้พวกเขาดีกว่าพวกเรา ไม่ใช่แค่การเล่นดนตรี แต่รวมถึงการทำงาน ทั้งการทำงานร่วมกับคนอื่น การเข้าใจคนอื่น การรับมือตามสถานการณ์ การยอมรับความจริง การให้ความเคารพผู้อื่น เคารพความเห็น การรับแรงกดดัน มันเห็นอยู่ทุกที่ไม่ใช่แค่ในวงการดนตรี

 

เพื่อนโอมคนหนึ่งเคยบอกว่าอยากให้โอมทำรายการการศึกษา และสุดท้ายมันก็รวมกันออกมาเป็นรายการ Band Lab นี่เอง

 

สุดท้ายมันไม่ใช่แค่รายการประกวดดนตรี แต่มันสอนวิธีการทำงาน การใช้ชีวิต ถ้าคุณไม่ได้เล่นดนตรี แค่ดูคุณก็อาจได้แนวคิดไปใช้ในชีวิตเหมือนกัน

 

ไม่ใช่แค่ผู้ชนะใน Band Lab เท่านั้นที่ได้อยู่ในค่าย ทุกวงที่แข่งขันได้เป็นศิลปินค่าย Gene Lab ทั้งหมด และผู้ชนะที่แท้จริงไม่ใช่คนที่ได้เงิน 100,000 ไปในตอนจบรายการ แต่คือคนที่อยู่ในวงการดนตรีได้นานที่สุดต่างหาก

 


ฟังรายการ Eargasm Deep talk พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน


Credits


The Host
แพท บุญสินสุข

The Guest ปัณฑพล ประสารราชกิจ, ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์


Show Creator
แพท บุญสินสุข

Show Producer นทธัญ แสงไชย

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising