×

Music City เป็นอย่างไร และทำไมกรุงเทพฯ ถึงมีศักยภาพพอจะเป็นเมืองดนตรี

20.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

00:54 พงศ์สิริ เหตระกูล กับแนวคิดว่ากรุงเทพฯ สามารถเป็น Music City ได้

02:35 ไลฟ์โชว์แบบ Sofar Sounds Bangkok

08:29 นิยามของ Music City คืออะไร

17:38 เฟสติวัล SXSW ในเมืองออสติน Live Music Capital of the World

23:08 ศักยภาพของกรุงเทพฯ ในการเป็น Music City

33:14 เมืองอื่นๆ ในประเทศไทยที่สามารถเป็น Music City ได้

Music City ไม่ใช่ชื่อร้านขายเครื่องดนตรี แต่คือคอนเซปต์ของเมืองที่ผลักดันให้ดนตรีเป็นตัวชูโรงด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ถ้านึกเร็วๆ เราอาจคิดถึงเมืองแจ๊ซอย่างนิวออร์ลีนส์ เสียงดนตรีคันทรีจากแนชวิลล์ เมืองต้นกำเนิดวงบีเทิลส์อย่างลิเวอร์พูล หรือแม้แต่เมืองที่ไลฟ์เฮาส์และสตรีทมิวสิกคึกคักมากอย่างญี่ปุ่นและนิวยอร์ก

 

Eargasm Deep Talk ตอนนี้ เราอยากตั้งคำถามว่า แล้วกรุงเทพฯ มีศักยภาพในการจะเป็น Music City ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกได้หรือไม่ ร่วมพูดคุยกับ ต้อม-พงศ์สิริ เหตระกูล หัวแรงหลักของ Sofar Sounds Bangkok หนึ่งในคนที่พยายามริเริ่มให้กรุงเทพฯ ไปถึงจุดนั้น

 

 

ต้อม พงศ์สิริ กับ Sofar Sounds Bangkok

คุยกับ ต้อม-พงศ์สิริ เหตระกูล กรรมการบริหารเครือแม่บ้าน ผู้มีอาชีพหลักในการทำสื่อไลฟ์สไตล์อย่างนิตยสาร แม่บ้าน, Time Out Bangkok และ Nylon Thailand ควบงานอดิเรกอย่างการเป็นมือเพอร์คัสชัน ทั้งอัดสตูดิโอและเล่นแบ็กอัพกับหลายวง อาทิ The Paradise Bangkok Molam International Band

 

ปัจจุบันต้อมเป็นหัวแรงหลักของงานไลฟ์มิวสิกชื่อว่า Sofar Sounds Bangkok ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2009 รูปแบบคือจะเป็นงานดนตรีสดที่จัดตามสถานที่ที่คาดไม่ถึง เช่น สถานีรถไฟฟ้า ห้องนั่งเล่น ห้องออฟฟิศ ห้องประชุม ห้องนอน หรือแม้แต่โบสถ์คริสต์ก็มีมาแล้ว

 

ซึ่งเกิดจากผู้ก่อตั้ง (Rafe Offer) ที่ไม่ชอบใจบรรยากาศคอนเสิร์ตที่เคยเจอ ซึ่งคนฟังไม่มีสมาธิกับโชว์เลย และส่วนมากก็มีแต่คนมาฟังเพลงดังแล้วก็กลับ เขาจึงร่วมมือกับเพื่อนนักดนตรีจัดงานไลฟ์มิวสิกที่ไม่บอกว่าใครเล่น สถานที่ก็ประกาศก่อนเล่นแค่ 24 ชั่วโมง และเชิญแต่คนที่อยากให้มาร่วมงานเท่านั้น จำนวนไม่กี่สิบคน เพื่อให้คนได้เสพดนตรีที่ดีโดยไม่ต้องคำนึงว่าวงที่มาจะเป็นศิลปินดังหรือไม่ แต่รับประกันความดีงามของการแสดง

 

ซึ่ง Sofar Sounds ดำเนินงานด้วยอาสาสมัครล้วนๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดทุน ทีมงานทุกคนล้วนมาด้วยความคิดที่อยากให้เกิดซีนดนตรีในเมืองของฉัน

 

 

สามารถลงทะเบียนแสดงความสนใจเข้าร่วมดู Sofar Sounds Bangkok ครั้งต่อไปได้ที่นี่

 

ซาวด์แบบกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร

เราคุ้นกับ Music City อย่างนิวออร์ลีนส์ที่เป็นเมืองแจ๊ซ หรือซีแอตเทิลก็เป็นเมืองกรันจ์ ญี่ปุ่น เกาหลี ก็มีซาวด์ของเขา กรุงเทพฯ ก็มีวงดนตรีหลายวงที่มีซาวด์น่าสนใจ อาทิ Jelly Rocket, Yellow Fang, My Life As Ali Thomas เป็นต้น

 

เมื่อก่อนจะมีสื่อหลายหัวที่พยายามนิยามซีนดนตรีของเมืองไทย หรือของกรุงเทพฯ ขึ้นมา ด้วยการทำชาร์ตเพลงต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้สตอรีของดนตรีมันหายไป การมาถึงของระบบ auto play ของยูทูบหรือสตรีมมิงต่างๆ ทำให้เรื่องราวหายไป การฟังเพลงใหม่ๆ กลายเป็นแค่การแรนดอมของระบบ

 

คนอาจจะฟังเพลงมากขึ้น แต่มูฟเมนต์มันหายไป ความกระหายในการฟังเพลงเท่ๆ ที่เราไม่รู้จักมันหายไป ปัจจุบันก็มีสื่อหนึ่งที่พยายามทำสิ่งนี้ก็คือ ฟังใจ Fungjai ซึ่งคุณพาย ฟังใจ (ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี) กับต้อม ก็พูดคุยกันในเรื่องนี้อยู่ตลอด

 

นิยาม Music City คืออะไร

Music City เกิดขึ้นเมื่อเมืองต่างๆ ในโลกริเริ่มเอาดนตรีมาเป็นตัวชูโรงเพื่อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว เราจะเห็นหลายเมืองที่ไม่มีอะไรเลย ไม่รู้จะเที่ยวอะไร แต่นำคอนเทนต์ด้านครีเอทีฟมาชูเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่ได้จำกัดแค่ดนตรีเท่านั้น

 

มันจะมีเมืองชื่อ ลินซ์ (Linz) ที่ออสเตรีย ด้วยความอิจฉาว่าเมืองซาลซ์บูร์กที่อยู่ประเทศเดียวกันมีสถานที่ท่องเที่ยวจากหนังเรื่อง The Sounds of Music ต่างกับลินซ์ที่ไม่มีอะไรเลย เขาเลยสร้างเฟสติวัลเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์อาร์ตขึ้นมา ปรากฏว่าทุกวันนี้นักท่องเที่ยวที่เมืองเขาต่อปีมีจำนวนเท่าๆ กับประชากรเมืองเลย

 

 

Music City น่าจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือหนึ่ง เมืองที่ร่ำรวยวัฒนธรรมอยู่แล้ว ซีนดนตรีในเมืองนั้นๆ ก็เจริญไปด้วย เช่น นิวยอร์ก โตเกียว เบอร์ลิน ชิคาโก ส่วนอีกประเภทคือเมืองที่ไม่ได้มีเนื้อหาด้านดนตรีเลย แต่จงใจสร้างภาพลักษณ์ขึ้นมาด้วยฝีมือขององค์กรหรือคนกลุ่มหนึ่ง

 

เช่น เมืองออสติน เท็กซัส ถ้าเคยไปจะรู้ว่ามันไม่มีอะไรเลย เป็นทะเลทราย นอกจากดาวน์ทาวน์ก็ไม่มีอะไรเลย สิ่งเดียวที่ดีคือมหาวิทยาลัย (University of Texas at Austin) ทำให้มีวัยรุ่นเยอะ และชอบฟังดนตรีดีๆ ทำให้ช่วงปี 1991 เมืองออสตินนิยามตัวเองให้เป็น Live Music Capital of The World เริ่มบัญญัติข้อบังคับต่างๆ ให้เอื้อกับนักดนตรีและการเล่นดนตรีสด ทำให้เมืองคึกคักมาก นักท่องเที่ยวก็เข้ามามาก คนก็แฮปปี้ เมืองแฮปปี้ นักท่องเที่ยวแฮปปี้ รัฐบาลแฮปปี้

 

ซึ่งที่ออสตินนี้มีงาน SXSW (South by Southwest) ซึ่งเริ่มจากเป็นมิวสิกเฟสติวัลที่มีผู้เข้าชมงานเพียงหลักร้อย แต่ปัจจุบันกลายเป็นงานที่มีทั้งดนตรี ภาพยนตร์ เกม อินเตอร์แอ็กทีฟคอนเทนต์ วิชวลอาร์ต ซึ่งคิดว่าเป็นงานดนตรีที่แสดงความเป็นออสตินได้ดีมาก เป็นงานที่คนอยากจะมาค้นพบเทคโนโลยี หนัง และวงดนตรี ศิลปินที่ยังไม่มีใครค้นพบ ยังไม่โด่งดัง ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

 

 

สิ่งที่ดีที่สุดของที่นี่คือบาร์ ซึ่งเรียงรายกันติดกันเป็นแพในถนนหนึ่งเส้นที่ยาวประมาณทองหล่อ คือ 6th Street และเหล่าศิลปินฝีมือดีที่ยังไม่ถูกค้นพบจากงาน SXSW เหล่านั้น ก็จะมาเล่นในบาร์เหล่านี้นี่เอง

 

ศิลปินที่ถูกค้นพบจากงาน SXSW

หลายคนเคลมว่าจอห์น เมเยอร์ ดังจากการได้มาเล่นที่เฟสติวัลนี้, เอมี ไวน์เฮาส์มาเล่นที่อเมริกาครั้งแรกที่งานนี้, เจมส์ บลันต์ก็ใช่, เดีย แฟรมป์ตันที่ไปประกวด The Voice USA รวมไปถึงเทคโนโลยีอย่างเช่นแอปฯ Foursquare, Twitter ก็บอกว่าได้ ยูเซอร์และเข้าสู่กระแสแมสจากงานนี้ หรือแม้แต่ศิลปินสแตนด์อัพอย่างวง Flight of the Conchords

 

งานแบบ SXSW สามารถเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ​ ได้หรือเปล่า

คิดว่ากรุงเทพฯ มี potential นะ คนไทยฟังเพลงกันอยู่แล้ว และชอบฟังด้วย มีเวลาฟัง พูดในด้านสถิติตัวเลขยอดวิวในยูทูบของเพลงไทย 200-300 ล้านวิวกันเยอะมากนะ ทั้งๆ ที่ภาษาไทยนี้ไม่ได้ฟังกันอย่าง worldwide เหมือนภาษาอังกฤษ

 

หลักๆ คือเราต้องจุดกระแสให้การฟังเพลงหรือวงดนตรีที่ไม่รู้จักเป็นเรื่องเท่ ถ้าทำอย่างนั้นได้ อีกสัก 5-10 ปีเจอกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ มองกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ถ้ามีใครบอกว่าเกาหลีใต้จะกลายเป็นผู้นำด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์ของเอเชีย คนคงจะไม่เชื่อ แต่พอถึงวันนี้ใครจะหัวเราะพวกเขาได้บ้าง

 

ถ้าพูดถึงเมืองไทย ผมว่าป๋าเต็ดเคยเกือบจะจุดกระแสนี้ติดแล้วนะ มันเกือบแล้ว ซึ่งถ้า Music City จะเกิดขึ้น บรรยากาศเหมือนยุคอินดี้ต้องกลับมาก่อน ซึ่งมีศักยภาพมากทีเดียว ถ้ามองจากมุมมองนักดนตรี กรุงเทพฯ ค่าใช้จ่ายในเมืองเราไม่แพง มีกลุ่มคนฟังจากทั่วโลก ทั้งนักท่องเที่ยว คนต่างชาติที่มาอยู่ รวมถึง expat ต่างๆ ที่มาใช้ชีวิตในเมือง สถานที่เล่นดนตรีก็มีมาก เป็นเมืองมันๆ เมืองหนึ่ง

 

 

ทางรอดของซีนดนตรีกรุงเทพฯ คือไลฟ์เฮาส์?

เป็นไปได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือโตเกียว ที่แม้จะมีจุดเด่นหลายด้านทั้งอาหาร วัฒนธรรม เทคโนโลยี แต่ดนตรีก็โดดเด่นมากๆ พวกเราถ้าเคยไปญี่ปุ่นจะเห็นซีนดนตรีได้ชัดเจน เช่น นักดนตรีที่เล่นกันอยู่ข้างถนน ที่เก่ง อยากจะเล่น และคนฟังก็เอ็นจอย กระโดดโลดเต้นกัน ให้กำลังใจนักดนตรี ไม่มีการตัดสินคนที่ยังไม่เก่ง ไม่โห่ ไม่ด่า แต่เอ็นจอยไปกับดนตรี

 

เมืองอื่นๆ ในไทยที่มีศักยภาพจะเป็น Music City

ผมยังไม่เคยไปมาทุกเมือง แต่เห็นว่าเชียงใหม่เป็นได้ เพราะที่นั่นวัยรุ่นเยอะ ซีนดนตรีมักขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ และยังชอบศิลปะ แถมยังติดตามผลงานศิลปินอย่างจริงจัง เคยไปจัดงานที่เชียงใหม่ 5 ปีต่อมายังเจอแฟนเพลงคนเดิมอยู่เลย แปลว่าเขาจริงจัง

 

อีกอย่างคือเชียงใหม่มีถนนที่รวมร้านบาร์ไว้ในถนนเส้นเดียวคือ นิมมานเหมินทร์ ซึ่งสะดวกกับการเกิดขึ้นของซีนดนตรี ไม่ต่างจาก 6th Street ที่ออสตินเลย

 

อีกจังหวัดน่าสนใจคือมหาสารคาม เป็นจังหวัดที่คนติดตามดนตรีกันอย่างจริงจัง มีคลื่นอินดี้ ร้านอินดี้โดยเฉพาะ

 

เมืองที่มีบุคลิกแบบนี้ต้องมีพื้นที่ให้ความคิดสร้างสรรค์ได้ระบายออก ซึ่งเอาจริงๆ กรุงเทพฯ เสียเปรียบในเรื่องนี้มาก ลองนึกว่าถ้าอยากเล่นดนตรีในกรุงเทพฯ จะเล่นที่ไหนที่ไม่โดนไล่ หรือไม่ต้องขออนุญาตก่อน ซึ่งใช้เวลานาน แต่ถ้ามองไปที่ต่างประเทศ ตามสวนสาธารณะนี่เขาเปิดกว้างให้ทำอะไรก็ได้นะที่เป็นงานศิลปะ

 

 

อีกอย่างคือกรุงเทพฯ ไม่มีวัฒนธรรมของการเดิน เมื่อคนเดินกันเยอะ ศิลปะที่เกิดขึ้นตามถนนมันก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ และยังสร้างบรรยากาศให้คนในเมืองเดินจากบาร์หนึ่งไปบาร์หนึ่ง หรือจากโชว์หนึ่งไปอีกโชว์หนึ่ง ไม่ใช่การขับรถซึ่งลำบากและใช้เวลามากกว่ามาก

 

ที่น่าสนใจคือมีงานวิจัยบอกว่าคนกรุงเทพฯ ​เดินเยอะไม่แพ้คนญี่ปุ่นหรือเกาหลีเลย แต่เดินแค่ไม่กี่ที่ เช่น ในห้างสรรพสินค้า สิ่งที่เราควรคิดคือทำยังไงถึงจะเกลี่ยการเดินในสถานที่จำกัดมาเป็นการเดินไปนั่นไปนี่ได้โดยไม่ต้องกังวลและสะดวกสบายพอ

 

น่าจับตามองว่าเจริญกรุงจะเป็นถนนที่เป็นหัวหอกของวัฒนธรรมการเดินในกรุงเทพฯ เป็นย่านที่ไม่อันตรายมากนัก มีบาร์กระจายอยู่ทั่ว มีแหล่งศิลปะอยู่ในระยะเดินถึงได้

 

 

นั่นแปลว่ากรุงเทพฯ สามารถเป็นเมืองดนตรีอย่างเมืองดนตรีอื่นๆ ในโลกได้

ถ้าเทียบกับเมืองอย่างออสตินแล้ว กรุงเทพฯ มีความพร้อมกว่ามากนะ หลายเมืองที่เจริญด้านวัฒนธรรมอยู่ตอนนี้เคยไม่มีอะไรเลยมาก่อน แต่กรุงเทพฯ มีหลายอย่างที่ดี เหลือเพียงแต่ว่ากระแสการแสวงหาฟังดนตรีจะกลับมาอีกครั้ง และมีคนที่นำทางกระแสนี้ให้มันไปได้

 

 


ฟังรายการ Eargasm Deep talk พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 


Credits


The Host
แพท บุญสินสุข

The Guest พงศ์สิริ เหตระกูล

Show Creator แพท บุญสินสุข

Show Producer นทธัญ แสงไชย

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Music Westonemusic

Photo Sofar Sounds Bangkok, พงศ์สิริ เหตระกูล, ญาณิกา เลิศพิมลชัย

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising