นักฟังเพลงอายุ 30 ปีขึ้นไปคงคุ้นกับ Zeal วงดนตรีร็อกผสมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เปิดตัวอัลบั้มแรก (ใช่แล้ว อัลบั้ม) ด้วยเพลงเร็วที่หนักและมันอย่าง เหวี่ยง, คนบ้า และเพลงช้าที่บาดและฮิตมากอย่าง สองรัก ที่ทุกวันนี้ก็วงร้านอาหารหรือผับเธคก็ยังเล่นกันอยู่
ผ่านมา 15 ปี ยังมีอะไรใหม่กับวงร็อกรุ่นเก๋าอย่าง Zeal บ้าง และมีอะไรในชีวิตของวงดนตรีวงหนึ่งที่พวกเขายังไม่ได้ทำบ้าง มาติดตามฟังใน Eargasm Deep Talk สัปดาห์นี้
เพลงใหม่ อัลบั้มใหม่
ช่วงที่ผ่านมาออกเพลงปีละ 1 ซิงเกิลมา 3 ปี ซึ่งจะนำไปสู่การทำอัลบั้มในช่วงปี 2018 นี้ เพลงล่าสุดคือ ปลุก (Rizing) ซึ่งวงลองเปลี่ยนระบบการทำงานดูด้วยการไปขลุกรวมตัวกันแต่งเพลงที่สตูดิโอที่พัทยา ก็ได้เพลงนี้ออกมา ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาเพื่อเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่เผชิญหน้ากับปัญหาอยู่ ซึ่งบางคนอาจผ่านมันมาได้ แต่หลายคนผ่านไม่ได้ บ้างก็ถึงกับเกิดอาการซึมเศร้าหรือคิดฆ่าตัวตาย
ปัญหาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เราสามารถอยู่เคียงข้างเขาได้ มองเห็นว่าเขามีปัญหา และช่วยดึงเขาให้ลุกขึ้นมาก่อนจะสายเกินไป เพลงนี้ก็เป็นตัวแทนความรู้สึกของคนที่ต้องการกำลังใจ พวกเราเองก็เคยเป็น เคยมีปัญหา เราก็ต้องการแสงสว่างเหมือนกัน แสงนั้นแหละที่มีความหมายให้พวกเรามีชีวิตต่อไป ทำผลงานต่อไปได้
Zeal เมื่อ 15 ปีก่อน และ Zeal ทุกวันนี้
วงซีลขึ้นชื่อเรื่องเอาซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ของซินธ์มาผสมกับดนตรีร็อกหนักหน่วง เมื่อ 15 ปีที่แล้ว การทำซาวด์แบบนั้นเป็นเรื่องยาก เครื่องก็ใหญ่เทอะทะ แต่เดี๋ยวนี้มันง่ายขึ้นมาก
แต่อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีสะดวกสบายขึ้น แต่การคิดงาน ทำเพลงก็ยังต้องการไอเดียที่ดีอยู่ดี มนุษย์คือคนตัดสินใจว่าซาวด์ไหนจะวางไว้ตรงไหน บางคนอาจบอกว่าเครื่องมือดิจิทัลวางงานให้เราได้ แต่หากขาดการควบคุม ขาดไอเดีย จินตนาการ ก็ยากที่จะเป็นผลงานที่ดี
การมีมือกีตาร์เข้ามาในวงอีก 1 คน
สมาชิกล่าสุดของวงคือ ศิลา ที่เข้ามาเล่นกีตาร์ ในขณะที่มี ชุ (ณัฐบวร เศรษฐกนก) เป็นมือกีตาร์อยู่แล้ว แต่ไม่มีปัญหาในการทำงานอะไร เพราะแบ่งหน้าที่กันชัดเจนว่าศิลาเป็นกีตาร์ rhythm ส่วนชุเป็นกีตาร์โซโล่
ช่วงที่ทำเพลงนี้ ศิลาไปฟังดนตรีเจร็อกเยอะขึ้นมาก อาทิ Luna Sea ซึ่งมีบทสัมภาษณ์อิโนรัน (Inoran – มือกีตาร์วง Luna Sea) ว่าเขาชอบเล่น rhythm มากกว่า เพราะรู้สึกว่ามันโอบอุ้มวงไว้ และทำให้วงอยู่ได้เป็นปึกแผ่น แต่ก็คิดงานด้วยกัน ลูกจิ้มกีตาร์ในอินโทรเพลง ศิลาก็เป็นคนคิด แต่ให้ชุเล่น ด้วยการแบ่งงานกันนี้เอง
สไตล์การทำงานที่เปลี่ยนไปหลังผ่านเวลา 15 ปี
คือคิดงานให้ซับซ้อนน้อยลง ไม่ใช่ว่าคิดน้อยลงนะ แต่การเล่นจะซับซ้อนน้อยลง ส่วนทางด้านของเบส ก็มีการพูดคุยถึงทิศทางของซิงเกิล ที่ย้อนไปถึงอารมณ์กรันจ์ สาดๆ เหมือนช่วงแรกที่ทำวง
ทางเบสเนี่ย ป๊อกอยากให้ซาวด์เบสที่มี distortion แตก สากๆ ให้ได้อารมณ์ใหม่ ที่จริงๆ ก็อยากได้มานานแล้วตั้งแต่ตอนทำอัลบั้มที่สอง (อัลบั้ม Trip) แต่ไม่เคยหาซาวด์แบบนี้เจอเลยมาสิบกว่าปี แต่พอถึงจุดที่เจอ มันก็เจอซะอย่างนั้น ไม่ได้ใช้ก้อนเอฟเฟกต์ด้วยซ้ำ
การทำเพลงหลังจากนี้
จากนี้น่าจะได้ฟังเพลงกันถี่ยิ่งขึ้น ปีนี้อาจจะมีอีก 2-3 เพลง Zeal เองผ่านการทำงานในยุคทำอัลบั้มมาแล้ว 3-4 อัลบั้ม ซึ่งเพลงในนั้นก็จะมีฟังก์ชันต่างกันไป ซึ่งมันก็สนุก แต่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมการบริโภคดนตรีมันเปลี่ยนไป หลายครั้งมองย้อนกลับไป เราก็เสียดายหลายเพลงในอัลบั้มที่เป็นเพลงหลืบๆ ไม่ได้ปล่อยเป็นซิงเกิล ซึ่งน่าจะมีคนอีกหลายคนไม่ได้ฟัง ก็เปลี่ยนมาปล่อยเป็นซิงเกิลตามสมัยนิยม
ซึ่งถ้าต่อไปภายภาคหน้า พฤติกรรมการฟังคนเปลี่ยนไปอีก โหยหาการฟังอัลบั้มอีก เราก็พร้อมจะกลับมาทำอัลบั้มนะ
เพลงที่เสียดายที่ไม่ได้ปล่อยเป็นซิงเกิล
ที่เป๊กชอบมากคือเพลงชื่อ เก็บ ของอัลบั้มที่แล้ว (อัลบั้ม Grow) ซึ่งเพราะมาก อยากให้ลองไปฟังกันดู
เจ้าพ่องานผับ
วงซีลไม่ได้เอ็นเตอร์เทนดุดัน หรือพูดจาจริงจังซีเรียสมาก เป็นสายแซวมากกว่า ตลกโปกฮากันไป เราคิดว่าถ้าคนฟังทุกคนมีความสุข สนุกกับมัน เราก็โอเคนะ ก็ต้องดูสถานการณ์หน้างานด้วย ถ้าลองฮาแล้วคนยังไม่แฮปปี้มาก เราก็อาจเปลี่ยนกระบวน ส่งให้เคนโซโล่กลองกายกรรมสักหน่อย คนก็อาจจะฮือฮาขึ้นมา
มันต้องมีหลายมิติ สนุกบ้าง ฮาบ้าง โชว์ความสามารถบ้าง หรือถ้าคนอยากได้อารมณ์จริงจัง เป๊กก็อาจพูดเข้าเพลงซีเรียสบ้างก็ได้ ส่วนเพลงไม้ตาย แน่นอนว่าคือเพลง สองรัก ที่ทุกคนคุ้นหู แต่เราจะไม่เล่นกันตั้งแต่กลางโชว์ เพราะหลายคนฟังเพลงนี้เพลงเดียวแล้วก็กลับ ก็จะเอาไปไว้เพลงสุดท้ายมากกว่า ซึ่งได้ผลนะ คนอยู่รอฟัง
มีบางโชว์เราเคยเล่น สองรัก อยู่ 2-3 รอบ เพราะคนขอขึ้นมาอยู่นั่นแหละ บางคนเพิ่งมาแต่เราเล่นไปแล้วก็ขอให้เล่น สองรัก เราก็เล่นอีกอยู่นั่น
สิ่งที่วงอายุ 15 ปียังไม่ได้ทำ
คงเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ ที่ยังไม่เคยมีอย่างเป็นทางการเลย คิดว่าหลังจากออกอัลบั้มชุดนี้ ซึ่งเป็นชุดที่ 6 ก็น่าจะได้จัดคอนเสิร์ตควบคู่กันไป
การเล่นดนตรีต่างประเทศก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่เราอยากทำ ไปเล่นให้คนไทยในต่างประเทศฟังก็ยังดี เราก็ถือโอกาสไปใช้ชีวิต ทัวร์ในต่างแดนด้วยกันด้วย
วง Zeal เคยไปเล่นไลฟ์เฮาส์ที่ญี่ปุ่นด้วยกันครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ได้รับคำตอบรับที่ดีมากๆ ที่แปลกใจคือคนที่มาดูโชว์เป็นคนญี่ปุ่นไปครึ่งหนึ่ง เป็นคนญี่ปุ่นที่ชอบฟังเพลงไทย มาจากหลายเมืองเลย ตอนแรกก็ไม่รู้นึกว่าคนไทย เพราะเขาร้องเพลงเราได้ทุกเพลง แต่พอเข้าไปคุย เฮ้ย คนญี่ปุ่นนี่หว่า แถมมีถือซีดีมาให้เซ็นอีกต่างหาก ซึ่งไม่ใช่ซีดีที่เราขนไปขาย บางแผ่นเป็นอัลบั้มเก่าแล้ว แปลว่าเขาติดตามเรามานาน ก็น่าประทับใจจริงๆ
วงการดนตรียุคนี้มันเป็นอย่างไร สำหรับวงดนตรีที่อยู่มาหลายยุค
มันหลากหลายขึ้น ทุกคนแสดงความสามารถของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ต้องเอาเดโมไปยื่นที่นั่นที่นี่ รอค่ายใหญ่ๆ ให้โอกาสเรา แต่ยุคนี้เราเสนอผลงานให้คนฟังโดยตรงได้เลย
นอกจากจะดีสำหรับผู้บริโภคแล้ว แต่ศิลปินก็ต้องเปลี่ยนแปลงตาม ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดีไปอีกแบบ เมื่อก่อนมีฉลองล้านตลับ เดี๋ยวนี้ก็มีฉลองล้านวิว มันก็มีเสน่ห์ไปคนละแบบ ไม่ใช่ดีกับไม่ดี อีกหน่อยก็คงมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกระลอก มันก็คงไม่แย่ แค่ต้องปรับกัน คือถ้าใครเริ่มบ่นก็อาจจะแปลว่าเขาเริ่มถอยจากวงการเพลงแล้ว
ไปฟัง Zeal อัลบั้มแรกที่หลายคนยกให้เป็นมาสเตอร์พีซที่นี่
เอ็มวีซิงเกิลใหม่ ปลุก (Rizing) ก็ออกมาให้ดูแล้ว
ฟังรายการ Eargasm Deep talk พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน
Credits
The Host แพท บุญสินสุข
The Guest ปราชญ์ พงษ์ไชย, ปรัชญา มีบำรุง, ณัฐบวร เศรษฐกนก, ศิลา นามเทพ, ต่อยศ จงแจ่ม
Show Creator แพท บุญสินสุข
Show Producer นทธัญ แสงไชย
Episode Editor นทธัญ แสงไชย
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Music Westonemusic