×

บทเรียนดีเบต ภาวะผู้นำ ผู้ว่าฯ กทม.

19.05.2022
  • LOADING...
บทเรียนดีเบต ภาวะผู้นำ ผู้ว่าฯ กทม.

ถ้าเกิดการรัฐประหารในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง ท่านจะแสดงภาวะความเป็นผู้นำกับเหตุการณ์นี้อย่างไร?

 

ผู้ว่าฯ กทม. จะแก้ปัญหารถที่ติดจากขบวนรถนำทางจากคนใหญ่คนโตอย่างไร เพราะถนนก็เป็นเงินภาษีของประชาชน ดังนั้นไม่ควรเลือกปฏิบัติ นอกจากเป็นรถฉุกเฉินที่ควรจะกั้นแล้วให้เขาไปก่อนเท่านั้น?

 

 

นี่เป็น 2 คำถามที่ถูกหยิบขึ้นมาถามในเวที THE CANDIDATE BATTLE ที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา 

 

คำถามเหล่านี้ทำให้ผู้ชมข้างเวทีหลายคนนั่งไม่ติดเบาะ คอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียไหลบ่ารุนแรงไม่หยุดหย่อน และอาจทำให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ บางคนรู้สึกอึดอัดใจที่ต้องเปิดเผยทัศนคติ จุดยืนทางการเมือง รวมถึงต้องตอบคำถามยากๆ ที่ไม่มีสื่อไหนเคยถามมาก่อน 

 

คำถามเหล่านี้ทำให้ผมใจหวิวไปชั่วขณะ และย้อนนึกไปถึงระหว่างที่ผมกับแบงค์ บรรณาธิการข่าว THE STANDARD กำลังตัดสินใจร่วมกันว่า จะทำอย่างไรดีกับ 2 คำถามนี้ที่ผู้คนถามกันเข้ามามากที่สุด 

 

เพราะประเด็น ‘รัฐประหาร’ ไม่ได้บ่งบอกถึงความสามารถในการบริหารเมืองของผู้ว่าฯ กทม. ประเด็น ‘ขบวนรถนำทาง’ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ โดยตรง และว่าตามตรงคำถามเหล่านี้มีความอ่อนไหว และอาจนำมาสู่ผลลัพธ์ในรูปแบบที่ไม่อาจคาดเดา ในฐานะสื่อเราจึงต้องขบคิดถึงเรื่องนี้กันให้ดีๆ  

 

อย่างที่หลายคนเห็น ในที่สุดคำถามเหล่านี้ได้ออกไปปรากฏอยู่บนเวที ด้วยเหตุผลเพราะพวกเราเห็นตรงกันว่า นี่คือเสียงจากประชาชน และประชาชนต้องการคำตอบ

 

หลังจบดีเบต ผู้ชมแยกย้ายกันกลับบ้าน ทีมงานเตรียมเก็บข้าวของ ความกลัดกลุ้มกังวลที่สั่งสมมากว่า 5 ชั่วโมงค่อยๆ คลี่คลาย หัวใจที่เต้นแรงเริ่มสงบลง กลายเป็นความรู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจ – ดีเบตวันนี้สำเร็จในสายตาของคนอื่นไหม ผมไม่รู้ แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่า ในสถานการณ์ที่เราต้องตัดสินใจด้วยเวลาอันจำกัด มีหลายเรื่องที่ต้องประเมิน ผมพอใจที่พวกเราตัดสินใจทำแบบนั้น 

 

 

สำหรับผม เหตุการณ์นี้นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญแห่งปี เพราะทำให้ได้ค้นพบบทเรียน 4 ข้อ เพื่อใช้ย้ำเตือนตัวเองในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่ง และในฐานะผู้นำขององค์กรสื่อ THE STANDARD 

 

1. สื่อต้องกล้าหาญ 

เราอยู่ในสังคมที่สอนว่า ‘กล้านักมักบิ่น’ ผมว่ามีส่วนจริง และเป็นคำสอนที่น่าฟัง เพียงแต่ว่าในฐานะสื่อมวลชน ผมมีความเชื่อว่า สื่อเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคม สื่อจึงต้องมีความกล้าหาญเป็นที่ตั้ง สื่อจะต้องไม่อดทนกับความไม่ถูกต้อง ไม่พินอบพิเทากับอำนาจของคนใหญ่คนโต และต้องกล้าที่จะนำเสนอประเด็นที่ในบางครั้งอาจแหลมคมหรือคาบเส้นบ้าง หากเรื่องนั้นสำคัญ สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ 

 

2. สื่อต้องยืนข้างประชาชน

กล้าอย่างไรให้ไม่กลายเป็นบ้าบิ่น? ผมคิดว่าเราต้องกล้าที่จะยืนข้างประชาชน เอาเสียงของประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้น หาก 2 คำถามที่ถูกหยิบขึ้นมาถามกลางเวทีดีเบต ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากความอยากรู้ของประชาชน เราคงจะไม่ถาม 

 

แต่หากคำถามนั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการคำตอบ หรือเป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจของเขา ต่อให้คำถามจะคาบเส้นหรืออยู่นอกเหนือจากบรรทัดฐานของสังคม (Norm) ไปบ้าง แต่หากเป็นประโยชน์ ผมถือว่านี่คือความกล้าหาญที่สร้างสรรค์ 

 

3. เมื่อเลือกแล้วต้องยอมรับผลกระทบที่ตามมา 

เมื่อมีความกล้าหาญ โดยมีประชาชนเป็นที่ตั้งแล้ว ยังมีอีกสิ่งที่คนทำสื่อจะต้องประเมินและถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาคือ การนำเสนอประเด็นนี้ การถามคำถามนี้ อะไรบ้างคือราคาที่ต้องจ่าย เราได้คุ้มเสียหรือไม่ ผลกระทบที่ตามมาคืออะไร 

 

ผมเชื่อว่าการตัดสินใจของ THE STANDARD ในวันนั้น ถึงจะมีประชาชนมากมายรู้สึกพึงพอใจ แต่คำถามเหล่านั้นย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับคนบางส่วนเช่นกัน นอกจากดอกไม้ที่ประชาชนหยิบยื่นให้เรา อย่าลืมว่าย่อมมีก้อนอิฐที่เขวี้ยงมาหาเราได้เช่นกัน 

 

4. Team Spirit คือหัวใจ

วันนั้นไม่ได้มีแต่เวทีดีเบตเท่านั้นที่ดุเดือด แต่ในห้องสี่เหลี่ยมขนาดย่อมๆ หรือ ‘วอร์รูม’ ของเรานั้นเต็มไปด้วยทีมงานหลายสิบชีวิตที่ทำงานอย่างดุเดือดบ้าคลั่งไม่แพ้กัน ทั้งทีมโซเชียล เขียนข่าว ตัดต่อวิดีโอ พิสูจน์อักษร กราฟิก ไปจนถึงลงเสียงใน TikTok ฯลฯ หลายคนออกจากบ้านมาตั้งแต่เช้ามืด ได้กลับไปอีกทีก็มืดค่ำแล้ว 

 

 

การพาตัวเองออกมาทำงานในวันหยุดไม่น่าจะใช่เรื่องที่หลายคนอยากจะทำสักเท่าไร แต่ทุกคนกลับมีพลังในการทำงานอันล้นเหลือ ทั้งหมดผมคิดว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Team Spirit และการมองไปยังเป้าหมายเดียวกัน ทุกครั้งที่มีคนถามว่าเราคือใคร? เราคือสื่อที่ยืนข้างประชาชน (Stand up for the people) ซึ่งเราทำคนเดียวไม่ได้ แต่ด้วยความเป็นทีมของ THE STANDARD ทำให้เราทำได้ 

 

Team Spirit จึงสำคัญที่สุด เปรียบเหมือนเส้นเลือดหลักหรือออกซิเจนที่สำคัญมากของร่างกาย หากขาดสิ่งนี้ไป Magic Moment บนเวทีดีเบตในวันนั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย  

 

การได้ย้อนมองและทบทวนบทบาทของตัวเอง ผมพบว่า 4 บทเรียนที่ได้เรียนรู้ในฐานะคนทำสื่อ อาจใช้เป็นตัวชี้วัดคัดเลือกผู้ว่าฯ กทม. ที่จะมาเป็นผู้นำบริหารเมืองเมืองนี้ได้เช่นเดียวกัน 

 

ในมุมมองของผม การเป็นผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังเต็มไปด้วยปัญหาและความท้าทายรอบด้าน เพราะหนึ่ง คนมีความคาดหวังสูง สอง ปัญหา กทม. มีอยู่มากมาย แก้ยาก และสาม อำนาจผู้ว่าฯ มีอยู่จำกัด พูดตามตรงคืออำนาจนิดเดียว แต่คนกลับคาดหวังผลลัพธ์สูงมาก เพราะฉะนั้นสำหรับผมสิ่งที่ผู้ว่าฯ ควรจะมีคือ

 

1. ผู้ว่าฯ ต้องกล้าตัดสินใจ

เวทีดีเบตที่ 2 ของวันนั้น ได้รวบรวมคำถามสดจากตัวแทนคนกรุงเทพฯ 16 กลุ่ม ซึ่งจริงๆ แล้วต้องบอกว่าปัญหาของ กทม. มีเยอะมาก แต่ละปัญหาแก้ยาก แต่ทุกปัญหาจำเป็นต้องแก้  

 

ผู้ว่าฯ กทม. ต้องกล้าตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไขให้กรุงเทพฯ ดีขึ้น เราปล่อยให้ทุกหน่วยงานยังเป็นเหมือนเดิม ทุกคนยังทำแบบเดิม เปิดโหมด Autopilot แบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป

 

2. ผู้ว่าฯ ต้องยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง 

การตัดสินใจทำอะไรก็ตาม ผู้ว่าฯ จะต้องยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ต้องฟังเสียงคนกรุงเทพฯ ต้องรู้ว่าคนกรุงเทพฯ ต้องการอะไร และต้องเปิดใจรับฟังอย่างจริงใจ ไม่ใช่การคิดจากข้างบนหรือส่วนกลาง 

 

ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้ทำงานเพื่อกรม กระทรวง หรือหน่วยงานใดๆ ไม่ได้ทำงานเพื่อตำรวจหรือทหาร แต่เขาทำงานเพื่อคนกรุงเทพฯ​ เพราะฉะนั้น เวลาประชาชนส่งเสียงเรียกร้อง หรือบอกความต้องการของตัวเองออกมา คำพูดที่ผู้ว่าฯ ไม่ควรพูดเด็ดขาดคือ “นี่ไม่ใช่หน้าที่ของผม” หรือ “ผมไม่มีอำนาจตรงนี้” 

 

3. ทุกการเลือกของผู้ว่าฯ ย่อมมีผลกระทบตามมา 

ใครก็ตามที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ ไม่ว่าความฝันในการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ของเขาคืออะไร สิ่งที่จะต้องทำคือการเรียงลำดับความสำคัญ เพราะด้วยระยะเวลาอันจำกัดเพียงแค่ 4 ปี เขาไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง ดังนั้นผู้ว่าจะต้อง ‘เลือก’ และ ‘ไม่เลือก’ รวมถึงการยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา 

 

เพราะการเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหากรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ย่อมจะต้องไปขัดผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เช่น ถ้าคิดว่าประชาชนกลุ่มคนเปราะบาง อย่างเช่น คนพิการ เด็ก หรือคนที่มีรายได้น้อย ควรได้รับการดูแลก่อน ก็อาจส่งผลให้นักธุรกิจหรือนายทุนสูญเสียผลประโยชน์บางอย่างไป ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะส่งผลกระทบต่างๆ ตามมา นี่คือราคาที่ผู้ว่าฯ อาจต้องจ่าย 

 

4. ผู้ว่าฯ ต้องสร้าง Team Spirit 

ผู้ว่าฯ ไม่ใช่ซูเปอร์แมนนำเดี่ยว หรือสามารถใช้อำนาจเบ็ดเสร็จสั่งการทุกอย่างได้ หน้าที่ของผู้ว่าฯ คือหน้าที่ในการเจรจาต่อรอง ประสานงานเพื่อผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ ซึ่งต้องดีลกับบุคคล องค์กร หน่วยงานต่างๆ มากมาย ทั้ง ส.ก. เอ็นจีโอ ข้าราชการ รวมถึงภาคส่วนของการเมืองระดับชาติ 

 

ดังนั้นผู้ว่าฯ จะต้องสร้าง Team Spirit ให้ได้ ซึ่งไม่ใช่การสร้างแค่ในทีมของเขาเท่านั้น แต่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับองค์กรทุกองค์กร หน่วยงานทุกหน่วยงาน และบุคคลทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนใหญ่คนโตคับฟ้า หรือชาวบ้านรากหญ้า ผู้ว่าฯ ต้องรับฟังทุกฝ่าย เข้าใจหัวใจทุกดวง และผลักดันให้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นให้ได้

 

 

กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยปัญหามากมาย แก้ยาก ไม่รู้ว่าจะแก้ได้ไหม หรือจะแก้หมดเมื่อไร อาจทำให้หลายๆ คนหมดหวังในการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างน้อยจากสิ่งที่ผมได้เห็นบนเวทีดีเบตวันนั้น อีกทั้งปัญหาต่างๆ นานาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูด การถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ของผู้สมัครที่ตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหากรุงเทพฯ และการส่งเสียงเรียกร้องจากประชาชนที่เป็น Active Citizen ทำให้ผมเห็นว่ากรุงเทพฯ จะไม่เหมือนเดิม จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะเราอยู่กันต่อไปแบบนี้ไม่ได้แล้ว

 

มาร่วมกันแสดงพลังให้วันที่ 22 พฤษภาคมนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงกันนะครับ!

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X