×

ทำความรู้จัก PMDD เพื่อตอบคำถามว่า ‘อาการก่อนมีประจำเดือนของคุณอยู่ในเกณฑ์รุนแรงเกินไปหรือเปล่า’

04.06.2021
  • LOADING...
ประจำเดือน

HIGHLIGHTS

  • PMDD หรือ Premenstrual Dysphoric Disorder คือกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน มีอาการรุนแรงเช่น หงุดหงิด เครียดอย่างรุนแรง ควบคุมอารมณ์ตนไม่ได้ มีการระเบิดอารมณ์ จนเกิดผลกระทบกับชีวิตประจำวันของผู้เกิดอาการและผู้คนรอบข้างเป็นอย่างมาก
  • ผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ถึงร้อยละ 80 มีกลุ่มอาการผิดปกติก่อนประจำเดือนจะมา ไม่ว่าทางกายหรือทางใจ แต่เมื่อทำวิจัย กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน PMS (Premenstrual Syndrome) ที่มีอาการชัดเจน ‘จนต้องรักษา’ มีเพียงร้อยละ 3-8 โดยในจำนวนนั้นร้อยละ 2 ของผู้หญิงเป็น PMS ขั้นรุนแรง หรือ PMDD 
  • การวินิจฉัยอาการ PMDD คือสังเกตอาการทางใจ เช่น อารมณ์แกว่ง เศร้ากะทันหัน มีอารมณ์สิ้นหวัง ซึมเศร้า โทษตนเอง รู้สึกตนเองไร้ค่า โดยจะเกิดขึ้นร่วมกับอาการทางกาย เช่น ขาดสมาธิ อ่อนเพลียง่าย ไม่มีแรง นอนไม่หลับ หรือหลับอย่างไรก็ไม่พอ เป็นต้น 
  • เกิดเฉพาะก่อนเป็นประจำเดือนภายใน 5 วัน และหายไปได้เองเมื่อประจำเดือนเริ่มมา พบได้ทุกช่วงอายุที่ยังมีประจำเดือน และเมื่อตรวจร่างกาย/ตรวจเลือด มักปกติ 
  • ในกลุ่มที่ไม่รุนแรง การปรับวิถีชีวิต เช่น การลดน้ำหนัก ออกกำลังกายเป็นประจำช่วยได้มาก แต่หากรุนแรงควรพบสูติแพทย์รักษาตามอาการและปรับฮอร์โมน

มีความเชื่อว่าผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ถึงร้อยละ 80 มีกลุ่มอาการผิดปกติก่อนประจำเดือนจะมา ไม่ว่าทางกายหรือทางใจ เช่น ท้องอืด นมคัด ปวดศีรษะ บวม ปวดเมื่อย เครียด กระสับกระส่าย โมโห ฉุนเฉียว แต่เมื่อทำวิจัย กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน PMS (Premenstrual Syndrome) ที่มีอาการชัดเจนจนต้องรักษา มีเพียงร้อยละ 3-8 โดยร้อยละ 2 ของผู้หญิงเป็น PMS ขั้นรุนแรง หรือเรียกว่ากลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) เช่น หงุดหงิด เครียดอย่างรุนแรง ควบคุมอารมณ์ตนไม่ได้ มีการระเบิดอารมณ์ จนเกิดผลกระทบกับชีวิตประจำวันของผู้เกิดอาการและผู้คนรอบข้างเป็นอย่างมาก 

 

เรามาทำความรู้จักกับกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน PMDD กันค่ะ

 

PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) เป็นกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน PMS ที่รุนแรงและเป็นอันตราย ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังนี้

 

1. พันธุกรรม คนที่เป็น PMS รุนแรง หรือ PMDD พบยีน ESR1 (Estrogen Receptor Alpha) ที่ถ่ายทอดจากพันธุกรรม

 

2. ความแปรปรวนของฮอร์โมนเพศหญิง เชื่อว่าเป็นความไวของแต่ละคน พบค่าของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในคนที่เป็น PMS และไม่เป็น ไม่แตกต่างกัน แต่ในคนที่เป็น PMS รุนแรงหรือ PMDD หากรังไข่หยุดทำงาน ไม่มีการแปรปรวนของฮอร์โมน เช่น กินยาคุม โดนตัดรังไข่สองข้าง หรือได้รับยาหยุดการทำงานของรังไข่ อาการจะหายไป แต่เมื่อเสริมฮอร์โมนอาการทั้งหมดจะกลับคืนมา

 

3. อุปนิสัยและสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาพบว่า คนยากจน การศึกษาน้อย สูบบุหรี่ เครียดง่าย เป็นมากกว่า

 

4. สารสื่อประสาท (Neurotransmitter) การแปรปรวนของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ลดสารสื่อประสาทโอปิออยด์ (Opioid), กาบา (GABA), เบตาเอ็นดอร์ฟิน (Beta Endorphin) และเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า งานวิจัยพบสารสื่อประสาทเหล่านี้ลดลงในคนที่เป็น PMS การใช้ยาที่ทำให้ระดับของสารสื่อประสาทเหล่านี้เพิ่มขึ้นจะช่วยลดอาการ PMS ได้

 

5. วิตามิน พบความสัมพันธ์ระหว่างการกินวิตามินบี 1, บี 2 ขนาดสูง กับการลดลงของ PMS การรักษาโรคนี้ด้วยวิตามินบี 6, วิตามินอี, วิตามินซี, แคลเซียม, แมกนีเซียม หรือเชสต์เบอร์รีได้ผลในบางราย

 

6. มีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจมาก่อน หรือเป็นโรควิตกกังวล ซึมเศร้า

 

ประจำเดือน

 

การวินิจฉัย PMDD: มีอาการทางอารมณ์อย่างน้อย 1 ข้อหรือมากกว่าดังนี้ 

 

อาการทางอารมณ์

 

  • อารมณ์แกว่ง เศร้ากะทันหัน 
  • บอกปัดหรือโยนความผิด
  • โมโห หงุดหงิด
  • มีอารมณ์สิ้นหวัง ซึมเศร้า โทษตนเอง รู้สึกตนเองไร้ค่า
  • ตึงเครียด วิตกกังวล กระสับกระส่าย ตื่นกลัว

 

โดยอาการที่พบบ่อยมากที่สุดคือ หงุดหงิด ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ และมีอาการทางร่างกายอย่างน้อย 1 ข้อหรือมากกว่า รวมกับอาการทางอารมณ์ได้ 5 ข้อขึ้นไป ดังต่อไปนี้

 

อาการทางร่างกาย 

 

  • ขาดสมาธิ
  • เบื่ออาหาร หรืออยากกินอาหารอย่างรุนแรง กินได้มากกว่าปกติ
  • ลดความสนใจในกิจวัตรประจำวัน
  • อ่อนเพลียง่าย ไม่มีแรง
  • รู้สึกว่าตนเองถูกควบคุม หรือควบคุมตนเองไม่ได้
  • นมคัด แน่นท้อง ท้องอืด น้ำหนักเพิ่ม ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • นอนไม่หลับ หรือหลับอย่างไรก็ไม่พอ 

 

ลักษณะพิเศษของ PMDD

 

1. เกิดเฉพาะก่อนเป็นประจำเดือน โดยเกิดก่อนมีประจำเดือนภายใน 5 วัน และหายไปได้เองเมื่อประจำเดือนเริ่มมา หรือเมื่อประจำเดือนหยุด มีอาการนานเฉลี่ย 6 วัน เกิดขึ้นอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน อาการนี้รุนแรงจนทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคม

 

2. พบได้ทุกช่วงอายุที่ยังมีประจำเดือน พบมากในหญิงอายุ 20 ปีต้นๆ

 

3. การตรวจร่างกายและตรวจเลือดมักปกติ 

 

4. เมื่อมีอาการทางอารมณ์ นอกจากขาดสมาธิ ไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ขาดงาน ยังเพิ่มความเสี่ยงของการฆ่าตัวตาย

 

5. อาการจะคล้ายกับคนที่มีอาการทางจิต ติดสารเสพติด โรคไทรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นไทรอยด์ต่ำ หรือเป็นพิษ และอาการวัยทอง ดังนั้น ต้องตรวจวินิจฉัยแยกโรคเหล่านั้นไปก่อน

 

ประจำเดือน

 

เราจะรักษาและอยู่ห่างไกล PMDD ได้อย่างไร

เพราะผู้หญิงต้องอยู่อย่างมีประจำเดือนเป็นเพื่อน ดังนั้น เรามาดูกันว่าจะสามารถใช้ชีวิตให้ห่างไกลอารมณ์บูด บรรเทาความไม่สบายตัวไม่สบายใจในช่วงก่อนเป็นประจำเดือนได้อย่างไรบ้าง

 

1. หากเป็นกลุ่มอาการก่อนเป็นประจำเดือนที่ไม่รุนแรง การปรับวิถีชีวิตจะช่วยได้มาก เช่น การลดน้ำหนัก ออกกำลังกายเป็นประจำ ผ่อนคลาย ลดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ทำสมาธิ มองโลกแง่บวก รับประทานอาหารที่มีวิตามินสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว อาหารทะเล ปลา ไข่ เลี่ยงการสูบบุหรี่ เสริมวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น น้ำมันพริมโรส วิตามินบี 6 วิตามินอี แคลเซียม แมกนีเซียม สมุนไพรเชสต์เบอร์รี

 

2. กรณีที่มีอาการรุนแรง ควรพบสูติแพทย์ รักษาตามอาการ และปรับฮอร์โมน โดยใช้ยาคุมกำเนิด หรือเสริมฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เพื่อไม่ให้ฮอร์โมนแปรปรวนก่อนประจำเดือนมา

 

3. หากสังเกตว่ามีอาการทางจิตร่วมกับทางกายอย่างรุนแรง เข้าข่าย PMDD ควรพบจิตแพทย์เพื่อตรวจรักษา และแยกโรคที่อาจมีอาการคล้ายคลึง

 

4. ใช้ยารักษา PMDD ได้แก่ ยาเพิ่มสารซีโรโทนิน (SSRIs: sertraline, citalopram, escitalopram, fluoxetine) ยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมน (GnRH Agonists) เพื่อหยุดการทำงานของรังไข่ ยาต้านเศร้า (Tricyclic Antidepressant)

 

5. จิตบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy) มักใช้ร่วมกับการใช้ยา ได้ผลดีในการลดอาการซึมเศร้า วิตกกังวล 

 

6. ฝังเข็ม ได้ผลในบางราย

 

7. ผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้าง เพื่อหยุดการทำงานของฮอร์โมนเพศหญิง วิธีนี้จะทำก็ต่อเมื่อการรักษาวิธีอื่นๆ ทุกวิธี ไม่ได้ผล

 

ภาพประกอบ : พลอยณิศา จั่นบำรุง

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X