เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.) วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่ากรมควบคุมมลพิษและสำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 16 (สงขลา) ได้วางแผนเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคใต้ ปี 2562 ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเกิดหมอกควันช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนของทุกปี
เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งของภูมิภาคอาเซียนตอนล่าง มีโอกาสเกิดไฟป่าขึ้นบริเวณเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย และการเกิดไฟในพื้นที่พรุเป็นเหตุให้พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากหมอกควันทั้งในประเทศและจากหมอกควันข้ามแดน
โดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอธิบายต่อว่า ในส่วนของไทย สถานการณ์หมอกควันภาคใต้ปีที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน พบปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินเกณฑ์มาตรฐาน 1 วัน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ใน 4 จังหวัดคือ สตูล, สงขลา, ยะลา และนราธิวาส โดยค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุดตรวจวัดได้ 63 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนจุดความร้อนสะสมบริเวณเกาะสุมาตราและบอร์เนียวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงกลางเดือนสิงหาคม และทิศทางลมที่พัดในทิศตะวันตกเฉียงใต้ทำให้พัดพากลุ่มควันที่ปกคลุมที่บริเวณเกาะสุมาตรามาถึงตอนใต้ของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคใต้ปีนี้ว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ด้วยการซักซ้อมทำความเข้าใจแนวทางการดำเนินงาน การเผยแพร่ข้อมูล แจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควันด้วยการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ให้คำแนะนำต่อประชาชนในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ การประสานการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนราชการ การสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือ การแก้สถานการณ์เพื่อบรรเทาผลกระทบผ่านแผนปฏิบัติการ 3 ขั้นคือ ขั้นเตรียมการ ขั้นรับมือ และขั้นฟื้นฟูและสร้างความยั่งยืน
ภาพ: Lillian Suwanrumpha / AFP / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: