×

ฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มีแนวโน้มลดลง ส่วนเขตชานเมืองยังพบปริมาณฝุ่นสูง กรมอนามัยแนะเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง

13.12.2019
  • LOADING...
PM25 air pollution

วันนี้ (13 ธันวาคม) กรมควบคุมมลพิษรายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 46 สถานี ตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ได้ระหว่าง 31-95 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

 

โดยปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเที่ยงที่ผ่านมา พบค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานจำนวน 16 พื้นที่ 

 

โดยแบ่งเป็น 10 อันดับพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูงที่สุดดังนี้

 

  1. ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร (95)
  2. ตำบลนครปฐม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม และตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร (73)
  3. ริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน (60)
  4. แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ (59)
  5. ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ (58)
  6. แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ, ริมถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ, ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ และตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี (57)
  7. ริมถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน (55)
  8. ริมถนนพระราม 3-เจริญกรุง เขตบางคอแหลม (53)
  9. แขวงคลองเตย เขตคลองเตย และริมถนนดินแดง เขตดินแดง (52)
  10. ริมถนนลาดกระบัง เขตลาดกระบัง, ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน, ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน และริมถนนพระรามที่ 4 หน้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน (50)

 

นอกจากนี้ แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ได้ระบุถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในปัจจุบันว่า สิ่งที่ประชาชนต้องให้ความสำคัญคือการประเมินตนเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ อาทิ มีอาชีพอยู่กลางแจ้งต้องสัมผัสฝุ่นเป็นเวลานานหรืออาศัยในพื้นที่เสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด

 

หากพบว่าเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท งดกิจกรรมหรือออกกำลังกายอย่างหนักกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน 

 

แต่ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ฝุ่นสูง ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N95 แต่ต้องใส่ให้ถูกวิธี และที่สำคัญห้ามสวมใส่หน้ากากทุกชนิดขณะที่ออกกำลังกายอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ร่างกายต้องหายใจแรง เร็วขึ้น ส่งผลให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานหนักมากขึ้น และอาจเป็นอันตรายได้ อีกทั้งคอยสังเกตอาการตนเองและคนใกล้ชิด

 

หากสังเกตพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

 

ทางด้านกรมควบคุมมลพิษขอความร่วมมือประชาชนและผู้ประกอบการงดใช้รถยนต์หรือรถโดยสารควันดำอย่างเด็ดขาด งดการเผาในที่โล่งทุกประเภท รวมถึงควบคุมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละออง

 

โดยประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศแบบ Real Time ได้ทางเว็บไซต์ air4thai.com/webV2 แอปพลิเคชัน Air4Thai และ bangkokairquality.com/bma/index.php 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising