วิกฤตการณ์ฝุ่นที่เรากำลังเผชิญหน้ากันอยู่ในเวลานี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไป แต่เริ่มส่งผลกระทบกับสุขภาพและการดำเนินชีวิตของคน ตำราอายุรเวทเก่าแก่ของอินเดียบอกว่า ร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ ลมคืออากาศที่เราหายใจเข้าไป เมื่อไรที่อากาศไม่สะอาด ทำให้ธาตุเสียสมดุล ร่างกายก็ป่วยไข้ได้ง่าย อากาศจึงไม่ใช่สิ่งที่เราจะละเลย
ภาวะที่เกิดขึ้นขณะนี้เรียกว่า ‘Smog Air Pollution’ Smog มาจากคำว่า Smoke + Fog บัญญัติขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1905 โดย Dr. Henry Antoine Des Voeux ในบทความวิชาการเรื่อง Fog and Smoke ที่นำเสนอในที่ประชุมของการสาธารณสุขแห่งชาติ
Smog เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ สาเหตุจากธรรมชาติ ก็เช่น ไฟป่า เถ้าจากภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น ส่วนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ก็อย่างที่เราพอจะรู้กันว่าเป็นฝุ่นจากการก่อสร้าง การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ผ้าเบรก การเหยียบเบรกบ่อยๆ รถติด เผาป่า โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยควันไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
Smog ที่เกิดไม่ได้มีแต่ฝุ่นดิน ฝุ่นปูนเท่านั้น แต่ยังมีละอองคาร์บอนไดออกไซด์ ไนตรัส คาร์บอนมอนอกไซด์ ปรอท แคดเมียม และสารอีกหลายอย่างปนๆ กันไป ละอองบางอันมีขนาดใหญ่ ละอองบางอันมีขนาดเล็ก ฝุ่นยิ่งมีขนาดเล็กยิ่งอันตราย เพราะสามารถผ่านเข้าไปสู่ทางเดินหายใจและปอดได้โดยง่ายดาย
เวลาวัดว่า Smog ของบริเวณนี้ มีความรุนแรงเพียงใด จะใช้ดัชนีวัดคุณภาพอากาศ หรือที่เรียกกันว่า Air Quality Index หรือ AQI ซึ่งเวลาที่เราจะวัด AQI นั้น จะต้องวัดฝุ่นละอองที่มีขนาดต่างๆ กันว่าชนิดนั้นมีเท่าไร ชนิดนี้มีเท่าไร แล้วสรุปเป็นภาพรวมออกมาว่าโดยรวมคุณภาพอากาศของแต่ละที่เป็นอย่างไร
ฝุ่นชนิด PM2.5 ที่เราพูดถึงกันทั่วไปในตอนนี้คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) คือฝุ่นที่เล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ฝุ่นที่เล็กขนาดนี้สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอดและกระแสเลือดโดยตรง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากมาย ได้แก่
1. เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคปอดเรื้อรังต่างๆ เช่น ถุงลมปอดโป่งพอง ปอดอักเสบเรื้อรัง แม้บัดนี้ยังไม่มีรายงานเรื่องมะเร็งปอด แต่ก็ไม่อาจไว้วางใจครับ
2. เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์ หลังมีวิจัยของมหาวิทยาลัย Lancaster ฉบับหนึ่งบอกว่า ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มี Smog สูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ มีความเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์มากกว่าคนปกติ [1]
3. หญิงตั้งครรภ์ที่ใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในบริเวณที่มี Smog หนาแน่น เพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ทารกในครรภ์อาจจะมีความพิการแต่กำเนิด [2] ทารกอาจคลอดก่อนกำหนด และทารกแรกคลอดอาจมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ [3]
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบ หืด โรคหัวใจ โดยเฉพาะหัวใจขาดเลือด เหล่านี้มีสิทธิ์ได้รับผลกระทบจาก Smog ได้แน่นอน คำแนะนำเบื้องต้นคือ หลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยไม่จำเป็น แต่เนื่องจากว่าคนเราจะอยู่ในบ้านตลอดไปไม่ได้ ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้านก็ควรสวมหน้ากากอนามัยแบบ N95 เพราะหน้ากากอนามัยธรรมดาไม่สามารถป้องกันฝุ่นที่มีขนาดเล็กแบบ PM2.5 ได้
นอกจากนั้นผู้เป็นหอบ หืด ควรเตรียมยาประจำตัวให้พร้อม ส่วนคนทั่วไปที่สุขภาพแข็งแรงก็อย่าได้ประมาท เพราะฝุ่นพวกนี้เรามองไม่เห็น ควรรีบพบแพทย์ ถ้าหากเรามีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บคอมาก หายใจไม่ออก มีน้ำมูก ไอ เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- [1] www.lancaster.ac.uk/news/articles/2016/toxic-air-pollution-nanoparticles-discovered-in-the-human-brain
- [2] Pedersen, Marie; Giorgis-Allemand, Lise; Bernard, Claire; Aguilera, Inmaculada; Andersen, Anne-Marie Nybo; et al. (2013). “Ambient air pollution and low birthweight: A European cohort study (ESCAPE)”. The Lancet Respiratory Medicine. doi:10.1016/S2213-2600(13)70192-9.
- [3] Padula, AM; Mortimer, K; Hubbard, A; Lurmann, F; Jerrett, M; Tager, IB (2012). “Exposure to traffic-related air pollution during pregnancy and term low birth weight: Estimation of causal associations in a semiparametric model”. American Journal of Epidemiology. 176 (9): 815–24. doi:10.1093/aje/kws148. PMC 3571254. PMID 23045474.
- หน้ากากอนามัยมีหลายชนิด ที่ใช้กันบ่อยมี 3 แบบ คือ
- หน้ากากอนามัยชนิด N95 ซึ่งทำด้วยเส้นใยละเอียดขนาดเล็ก สามารถป้องกันฝุ่นละอองและเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กถึง 0.3 ไมครอน
- หน้ากากอนามัยแบบผ้าฝ้ายมีลักษณะคล้ายเยื่อกระดาษบางๆ ปกติใช้ป้องกันการกระจายของน้ำมูก, น้ำลายจากการไอจาม ใช้ป้องกันฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 ไมครอนขึ้นไป แต่เนื่องจากฝุ่นละอองที่พบในเวลานี้มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หน้ากากชนิดนี้จึงไม่สามารถป้องกันได้
- หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น ใช้ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคจากการไอหรือจาม สามารถกรองได้เฉพาะเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา แต่ไม่สามารถกรองเชื้อไวรัสซึ่งมีอนุภาคเล็กระดับไมครอนได้ ดังนั้น ฝุ่น PM2.5 จึงไม่สามารถกรองได้เช่นกัน