×

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แนะห้ามข้าราชการขับรถส่วนตัวมาทำงาน หากค่าฝุ่นเกิน 90 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน

22.01.2019
  • LOADING...

สถานการณ์ของมลพิษและฝุ่นจาก PM2.5 หลายจุดยังคงอยู่ในเกณฑ์ ‘มีผลกระทบต่อสุขภาพ’ ล่าสุด หลังการประชุมการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เสนอ 3 แนวทางแก้ปัญหา โดยหนึ่งในนั้นเสนอให้มีมาตรการควบคุมการจราจร โดยห้ามข้าราชการนำรถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน หากค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในเขต กทม. เกิน 90 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน

 

เมื่อวานนี้ (21 ม.ค.) นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เผยภายหลังการประชุมการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาว่า ผลการหารือได้ข้อสรุป 3 แนวทางเพื่อนำเสนอต่อ รมว.ทรัพยากรฯ เพื่อนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาต่อไป ดังนี้

 

1. ขอให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการตามแนวทางที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เช่น ทาง บก.จร. มีด่านตรวจวัดควันดำ 20 จุดในพื้นที่รอบนอก กทม. จากนี้จะเพิ่มหน่วยเคลื่อนที่อีก 5 หน่วย เพื่อดำเนินการในพื้นที่ กทม. ชั้นใน และจุดที่ได้รับร้องเรียนในเรื่องค่าฝุ่นละออง ขณะที่กรมการขนส่งทางบก เร่งตรวจรถโดยสาร ขสมก. โดยทำไปแล้ว 1,500 คัน และเร่งทำให้ครบโดยเร็ว ขณะที่กรมฝนหลวงจะเร่งทำฝนหลวงอย่างเข้มข้นในช่วง 7 วันนี้ เพิ่มจุดทำฝนหลวงเป็น 2 จุด คือจากในพื้นที่ จ.ระยอง เป็น จ.นครสวรรค์ด้วย ยืนยันว่าการทำฝนหลวงและฉีดน้ำนั้นช่วยลดค่าฝุ่น PM2.5 ได้

 

2. หากสถานการณ์ของฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ยทั่วทั้งพื้นที่ กทม. ยังเกิน 90 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน ทางอธิบดีกรมอนามัย และรองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอให้มีมาตรการควบคุมการจราจร และการก่อสร้างที่เข้มข้นขึ้น โดยให้เริ่มจากหน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น อาจจะห้ามข้าราชการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน เพื่อลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน ซึ่งจำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากแต่ละหน่วยงานด้วย

 

3. หากดำเนินการตามมาตรการต่างๆ แล้วพบว่าค่าฝุ่นละอองไม่มีแนวโน้มลดลง จะให้กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พ.ศ. 2561 ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งระบุว่าหากเกิดปัญหาที่สร้างความรุนแรง และมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รมว.สาธารณสุขสามารถออกประกาศดังกล่าว โดยมอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ กทม. ในการออกประกาศ กทม. เพื่อให้แหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษหยุดกิจกรรมใดๆ ได้ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจตามประกาศนี้อยู่แล้ว

 

นายประลอง ดำรงค์ไทย ได้เสริมต่อว่า สำหรับการเสนอให้ออกประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ กทม. ตามมาตรา 9 พ.ร.บ. ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม 2535 นั้น มองว่าควรแก้ไขปัญหาตาม 3 ขั้นตอนข้างต้นก่อน เพราะการประกาศอะไรที่รุนแรงออกมา จำเป็นต้องคิดถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้วย เพราะช่วงนี้กำลังส่งเสริมการท่องเที่ยว และมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะห่วงภาพลักษณ์ของประเทศ มากกว่าสุขภาพของประชาชน โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าตัวเลขผู้ป่วยจากสถานการณ์นี้ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่าใด ซึ่งต้องยึดตามข้อมูลทางวิชาการด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X