×
SCB Omnibus Fund 2024

นายกฯ กระตุ้น ‘บีโอไอ’ หาช่องดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ เผยยอดขอรับการส่งเสริมครึ่งปีแรกทะลุ 2.1 แสนล้านบาท

17.08.2022
  • LOADING...
ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกฯ ประชุมบอร์ด บีโอไอ ย้ำหาแนวทางดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ ขณะที่บีโอไอเห็นชอบปรับนโยบายรองรับเทคโนโลยีใหม่ เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือน กว่า 2.1 แสนล้านบาท กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมดิจิทัลมาแรง 

 

ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันนี้ (17 สิงหาคม) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้กรรมการทุกคนช่วยกันพิจารณาทั้งเรื่องเชิงนโยบาย และการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อร่วมกันดำเนินการในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน 

 

โดยเน้นย้ำถึงการเร่งดำเนินการในเรื่องการลงทุนในสิ่งใหม่ๆ และเทคโนโลยีใหม่ให้เกิดขึ้น ควบคู่กับการศึกษาข้อมูลการดำเนินการการส่งเสริมการลงทุนของประเทศต่างๆ รวมถึงในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงวิธีการ แนวทางการดำเนินงาน และหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนให้เหมาะสมกับประเทศไทย และสามารถสร้างแรงจูงใจดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศได้มากขึ้น 

 

พล.อ. ประยุทธ์ระบุว่า ขณะนี้มีนักลงทุนหลายประเทศที่ให้ความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้นต้องมีการปรับหลักเกณฑ์ให้เหมาะสม ชัดเจน ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนจะได้รับ 

 

นายกรัฐมนตรียังกล่าวให้ความสำคัญกับการดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อน BCG ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดตามที่ได้ประกาศไว้ ซึ่งต้องการให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ในอนาคตแบบเต็มรูปแบบ

 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังให้ข้อเสนอแนะให้มีการทำข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ให้ชัดเจนเป็นระบบ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาในการบริหารงาน และการดำเนินการส่งเสริมการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ได้รับทราบถึงผลประโยชนที่ได้รับจากการส่งเสริมการลงทุนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

สำหรับมติที่ประชุมบอร์ดบีโอไอในประเด็นสำคัญ มีดังนี้ 

 

ที่ประชุมรับทราบภาวะส่งเสริมการลงทุนโดยสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน) ปี 2565 มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 784 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4% และมูลค่ารวม 219,710 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 42% เนื่องจากในปี 2564 มีการขอรับการส่งเสริมการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมาก มีเงินลงทุนรวมสูงถึง 75,780 ล้านบาท 

 

สำหรับคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีจำนวนทั้งสิ้น 358 โครงการ คิดเป็น 46% ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด และมีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 153,480 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมดิจิทัล มีอัตราการขยายตัวสูงสุด โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดที่ 42,410 ล้านบาท ขยายตัว 212% อุตสาหกรรมดิจิทัล มูลค่าเงินลงทุน 1,450 ล้านบาท ขยายตัว 202% 

 

ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 395 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 130,081 ล้านบาท โดยการลงทุนจากไต้หวันมีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 36,100 ล้านบาท เนื่องจากมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน สอดคล้องกับนโยบายบีโอไอที่มุ่งให้การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันไทยไปสู่ศูนย์กลางการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในภูมิภาค และคาดว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มาตรการสนับสนุนของรัฐบาลได้รับความสนใจจากผู้ผลิตยานยนต์อย่างกว้างขวาง 

 

สำหรับพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับการส่งเสริมจำนวน 217 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 104,850 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนถึง 49% เนื่องจากโครงการยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ รองลงมาคืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี 30% ซึ่งพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของภูมิภาคอยู่แล้ว 

 

นอกจากนี้ มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 141 โครงการ เงินลงทุน 11,830 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อการใช้พลังงานทดแทน การประหยัดพลังงาน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับทิศทางของโลกที่ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน ซึ่งกำลังจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าสู่ตลาดด้วย ส่วนคำขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการ SMEs มีจำนวน 21 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 1,050 ล้านบาท 

 

อีกทั้งที่ประชุมได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ รวม 4 โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก มูลค่า 17,891 ล้านบาท จากประเทศจีน กิจการผลิตก๊าซธรรมชาติ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มูลค่า 18,000 ล้านบาท กิจการขนส่งทางเรือของบริษัท ฐิตติ ภูมิ จำกัด มูลค่า 4,310 ล้านบาท และบริษัท ศานติ ภูมิ จำกัด มูลค่า 4,310 ล้านบาท  

 

รวมทั้งได้เห็นชอบให้เพิ่มประเภทกิจการผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ 1. กิจการผลิตเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง รวมถึงการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วน และการซ่อมแซมเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ผลิตเอง ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และ 2. กิจการซ่อมแซมเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน)

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising