พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีในวาน (25 มิถุนายน) เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย
โดยการตั้งคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว สืบเนื่องจากระดับหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวและมีความอ่อนไหว ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชน
ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบและเป็นธรรม ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่ และอำนาจดังต่อไปนี้
องค์ประกอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วย
- รองนายกรัฐมนตรี (สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เป็นประธานกรรมการ
ส่วนกรรมการ ได้แก่
- ปลัดกระทรวงการคลัง หรือรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย
- ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย
- ปลัดกระทรวงยุติธรรม
- เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
- อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
- เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
- ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี
- ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- ประธานสมาคมธนาคารไทย
- ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ
- วิรไท สันติประภพ
- วิทัย รัตนากร
- เลขาธิการ ก.พ.ร.
- รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- สภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ
- ขจร ธนะแพสย์
ส่วนหน้าที่และอำนาจคือ การศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาวอย่างเป็นระบบและเป็นประสิทธิภาพ เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา
ขณะเดียวกันจะทำหน้าที่บูรณาการและติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือนให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจง แสดงความคิดเห็น ส่งเอกสาร ให้ข้อมูล หรือดำเนินการอื่นที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ
นอกจากนี้ยังทำหน้าที่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความจำเป็นเหมาะสม รวมทั้งปฏิบัติภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง กับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งตามคำสั่งนี้ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 หรือตามระเบียบทางราชการแล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
ทั้งนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ยิ่งหลังเศรษฐกิจไทยเผชิญวิกฤตดังกล่าว ทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทวีความรุนแรงขึ้น ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ล่าสุด ณ สิ้นปี 2563 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 89% ต่อ GDP นับเป็นระดับสูงสุดในประวัติการณ์
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์