×

นายกฯ บอก ไม่ต้องห่วง​ มีมาตรการรับมือ หลังสหรัฐฯ เคาะภาษีนำเข้าจากไทยสูง​ 36% ย้ำต้องไม่ให้กระทบเป้า​ GDP​

โดย THE STANDARD TEAM
03.04.2025
  • LOADING...
ภาษีนำเข้า

วันนี้ (3 เมษายน) ​แพทองธาร​ ชิน​วัตร​ นายกรัฐมนตรี​ กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกา​ ขึ้น ภาษีนำเข้า สินค้าจากไทย 36% ว่า​ ที่จริงแล้ว​ เราต้องปรับโครงสร้างภาษี​นำเข้ากับสหรัฐ และตั้งคณะทำงานเจรจาต่อรอง เนื่องจากภาษี​นำเข้าที่เราเก็บแพงทำให้ไทยโดนเป็นอันดับต้น​ๆ​ 36% ซึ่งสูงพอสมควร เราถึงได้มีการเตรียมทั้งแผนระยะสั้นระยะยาว​ โดยระยะสั้น​ต้องดูสามารถเจรจาต่อรอง​เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ส่งออก​เยียวยาอะไรได้บ้าง​ ขณะนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์​ กำลังหาข้อสรุปเพราะตัวเลขภาษี 36% เพิ่งออกมา​ ยังไม่ได้ Activate มีแค่บางหัวข้อ

 

นายกรัฐมนตรี​กล่าวอีกว่า มาตรการต่างๆ ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว​ พร้อมเปิดเผยว่า ตัวเลขเฉลี่ยเก็บภาษีสหรัฐอยู่ที่ 9% และจำกัดสินค้าแต่ละประเภท เช่น​ ข้าวโพดอาจมีการนำตัวเลขนั้นมาเป็นค่าเฉลี่ยทำให้เป็น 72%​ แล้วลดให้ครึ่งนึงก็คือ 36% ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณที่ไม่เคยมี ไม่เคยคิดแบบนี้ แต่ก็เข้าใจ จึงต้องมาดูว่าสามารถปรับสมดุลอะไรได้บ้าง​ 

 

และเมื่อเช้านี้ได้พูดคุยกับ จุลพันธ์​ อมร​วิวัฒน์​ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง​ หลังมีตัวเลขออกมา จะมีการตั้งทีมเจรจาซึ่งขณะนี้อยู่ในการดูแลของปลัดกระทรวงพาณิชย์ และปลัดกระทรวงการคลัง ต้องดูด้วยว่าจะไปพูดคุยกับใคร​ ในระดับไหน​ เนื่องจากมีหลายขั้น ไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องนี้​ 

 

ส่วนการประเมินถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยนั้น​ นายกรัฐมนตรี​กล่าวว่า เรามีมาตรการ​ที่จะดูแลผู้ประกอบการ​ แต่เรื่องของความเสียหายคิดว่า​ ยังสามารถเจรจาได้อยู่​หากปรับโครงสร้างภาษีให้สมเหตุสมผล​ ยิ่งสมัยนี้เป็นแบบ More for Less -​ Less for More เป็นเรื่องการต่อรองกันที่จะต้องลงรายละเอียด

 

นายกรัฐมนตรี​กล่าวด้วยว่า​ เราต้องไม่ปล่อยให้ไปจุดที่จะทำให้ GDP พลาดเป้า​ และจะชี้แจงรายละเอียดต่อประชาชนเร็วที่สุด​ เนื่องจากเพิ่งได้ตัวเลขมาเมื่อคืนนี้​ ส่วนแผนหรือโครงที่เรารับวางไว้​ค่อนข้างที่จะแน่นพอสมควร​ โดยมีหัวหน้าคณะ​ คือ​ พันศักดิ์​ วิญญรัตน์​ ประธานคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี​ ที่ทำเรื่องการค้าขายกับสหรัฐอเมริกา​ ซึ่งดูทุกสินค้าที่เรานำเข้าและส่งออก​ ดังนั้น​เร็วๆ นี้น่าจะมีมาตรการออกมา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising