วันนี้ (27 มีนาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ครั้งที่ 2/2567
โดยก่อนเริ่มการประชุม นายกฯ ได้มองหาพร้อมสอบถามว่า “ท่านผู้ว่าฯ (เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) ติดภารกิจหรือครับ” ซึ่ง รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวตอบว่า “ท่านผู้ว่าฯ ติดภารกิจไปต่างประเทศ”
จากนั้นนายกฯ กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาการเจริญเติบโตต่ำกว่าศักยภาพเป็นเวลายาวนาน และเผชิญกับปัญหาทั้งภายในและภายนอก รวมถึงการฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนที่ไม่เท่ากันหลังสถานการณ์โควิด-19 และภาระดอกเบี้ยที่ยังสูงตลอดเวลา ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
นายกฯ กล่าวอีกว่า ตนขอเน้นย้ำโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนี้เป็นหนึ่งในมาตรการระยะสั้นที่จะช่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นผ่านประชาชนผู้ได้รับสิทธิ์และผู้ประกอบการร้านค้า ดังนั้นการดำเนินงานในขอบเขตที่มีเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ จากที่กล่าวมา โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจึงควรถูกขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว นอกจากนี้ตนยังทราบมาว่าคณะทำงานรวบรวมข้อมูลความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะทุกภาคส่วนได้จัดตั้งขึ้นแล้ว และอยู่ระหว่างรอหน่วยงานต่างๆ ให้ความเห็นกลับมา ซึ่งตนก็ขอให้การดำเนินโครงการนี้คำนึงถึงความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน
“วันนี้ในการประชุมผมจึงเห็นว่าควรพิจารณาทางเลือกแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการ และมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินโครงการไปพิจารณาจัดทำรายละเอียดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเป็นไปตามข้อพึงระวังหรือความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับมา
“ผมขอเน้นย้ำว่ารัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 โดยกระบวนการต่างๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ และที่สำคัญ การใช้อำนาจต่างๆ ในการดำเนินการโครงการนี้จะต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์และสุจริต รอบคอบและระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด” นายกฯ กล่าว
10 เม.ย. เคาะจบดิจิทัลวอลเล็ต
ภายหลังการประชุมประมาณ 30 นาที นายกรัฐมนตรีแถลงระบุว่า ที่ประชุมมีการรับทราบว่าเศรษฐกิจมีปัญหา มีความจำเป็นว่าจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเสนอความเป็นไปได้ของแหล่งเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.เงินกู้
โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปดำเนินการ รวมถึงมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์สรุปหลักเกณฑ์ร้านค้าและสินค้า นอกจากนี้มีการมอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบอร์ดรัฐบาลดิจิทัล สรุปการพัฒนาระบบและเปิดให้สถาบันการเงิน รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจกระเป๋าเงินเข้าร่วมโครงการ นำมารายงานในที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 10 เมษายนนี้
นอกจากนี้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติวางกรอบการตรวจสอบวินิจฉัยกล่าวโทษ ร้องทุกข์ และการเรียกเงินคืนในวันเดียวกัน
นายกรัฐมนตรียังเปิดเผยว่า วันที่ 10 เมษายนเมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดก็จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนเมษายน พร้อมยืนยันว่ากรอบเวลาไทม์ไลน์เป็นไปตามที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงก่อนหน้านี้ คือ
- ไตรมาสที่ 3 เปิดให้ร้านค้าและประชาชนลงทะเบียน
- ไตรมาสที่ 4 เงินถึงมือประชาชน
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ที่ประชุมวันนี้ทุกภาคส่วนเห็นด้วยทั้งหมด อาทิ เลขาธิการสภาพัฒน์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นด้วยในขั้นตอนทั้งหมด ฉะนั้นขอให้ฟังข่าวดีในวันที่ 10 เมษายนนี้
มั่นใจดิจิทัลวอลเล็ตออกมาสมบูรณ์ ตอบทุกข้อกังวล
ด้าน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีมั่นใจหรือไม่ว่าหลังจากนี้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติจะไม่เห็นต่างกับการประชุมในวันนี้ว่า ตนเองคงตอบแทนไม่ได้ แต่ครั้งที่แล้วผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้ให้ขอนำความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปศึกษาโดยละเอียด โดยทางฝ่ายเลขาฯ ได้เตรียมเอกสารและส่งมอบให้แล้ว แต่การประชุมครั้งนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้
จุลพันธ์ยืนยันว่าต้องรับฟังความเห็นทุกคน ทุกฝ่าย และที่ประชุมในวันนี้ก็ชัดเจนว่าต้องเดินหน้า ขอให้ประชาชนรอฟังข่าวดีในวันที่ 10 เมษายนนี้ ขณะเดียวกันในวันนี้ที่ประชุมไม่ได้พูดคุยกันถึงเรื่องกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ส่วนจะสามารถจ่ายเงินก้อนเดียว หรือรอบเดียวหรือไม่นั้นขอให้รอวันที่ 10 เมษายนนี้
ด้าน ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความจริงแล้วโครงการนี้มีการพัฒนามาโดยตลอด อาจจะไม่เร็วทันใช้ เพราะเรารับฟังข้อคิดเห็น ข้อท้วงติง ข้อแนะนำ และนำไปปรับตลอดเวลา เชื่อว่าในวันที่ 10 เมษายนนี้ โครงการนี้จะออกมาอย่างสมบูรณ์ และตอบโจทย์ข้อกังวลของทุกภาคส่วน