×

นายกฯ กระทุ้งแบงก์ชาติ ช่วยลดดอกเบี้ยเหลือ 2.25

โดย THE STANDARD TEAM
06.02.2024
  • LOADING...
เศรษฐา ทวีสิน

วันนี้ (6 กุมภาพันธ์) ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงโอกาสที่จะหารือกับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาการเงิน ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจว่า นโยบายการคลังได้คุยผ่านทางด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้อธิบายแล้ว โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อที่ติดลบ อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือประชาชนลดค่าใช้จ่าย 

 

เศรษฐากล่าวว่า จึงอยากเรียนว่า จริงๆ แล้วเรื่องเงินเฟ้อกับอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องใหญ่ แต่อย่าลืมว่าเงินเฟ้อที่ติดลบเกิดจากรากปัญหาต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น แต่เมื่อคุมตรงนั้นได้เงินเฟ้อก็ไม่มี แต่มาตรการที่จะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ลดดอกเบี้ย ต้องดูที่เงินเยอะที่เกิดจากการใช้จ่ายหรือ Demand-Pull หมายถึง ความต้องการไม่มี เงินเฟ้อไม่มี หากตรงนี้ไม่เกิดแสดงว่าปลอดภัยที่จะต้องลดดอกเบี้ยได้แล้ว เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

หากลดดอกเบี้ยมาแล้วเกิดมีปัญหาเรื่องของดีมานด์ซึ่งเยอะอยู่แล้วอาจก่อให้เกิดเงินเฟ้อได้ แต่ตนเองคิดว่า หากพิจารณาจากตัวเลขทั้งสองฝ่ายแล้ว เงินเฟ้อที่เกิดจากราคาแพง หรือ Cost-Push ดังนั้นเรื่องการพูดคุย ได้มีการพูดคุยกันชัดเจนอยู่แล้ว คงเป็นเรื่องความเห็นต่าง หรือจะเป็นเรื่องทิฐิ ตนไม่ทราบ 

 

แต่ชัดเจนอยู่แล้วว่า เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 4 เดือนแล้ว เรื่องมาตรการที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่าย ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมันต่างๆ รวมถึงการพักชำระหนี้เป็นการบรรเทารายจ่ายของประชาชน และยังไม่สามารถใช้งบประมาณได้จนกระทั่งเดือนพฤษภาคมนี้ ตอนนี้รัฐบาลขับเคลื่อนช่วยเหลือประชาชนได้โดยนโยบายอย่างเดียว นโยบายวีซ่าและการกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนซึ่งถือเป็นการใช้นโยบายอย่างเดียว 

 

ดังนั้นรัฐบาลต้องการให้เกิดการลงทุนเพื่อจับจ่ายใช้สอย การลดดอกเบี้ยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่สำคัญ รัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าดอกเบี้ยเป็นภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หากลดดอกเบี้ยไปเรื่องการเกิดเงินเฟ้อมองว่าความเสี่ยงเกือบจะไม่มีเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว 

 

ส่วนนโยบายของ ธปท. จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัลหรือไม่ เศรษฐกล่าวว่า เรื่องนี้สื่อมวลชนต้องไปพิจารณาเอง แต่ตนเองเชื่อว่าจะสามารถทำงานด้วยกันต่อไปได้ โดยนโยบายการเงินต้องเดินไปพร้อมกัน ควบคู่กันไป และวันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้ว ประเด็นเงินกรอบเงินเฟ้อตอนนี้ยังไม่อยู่ในจุดที่ตั้งไว้ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.50 ต้องลดลงไป เหลือ 2.25 ก็ยังมีพื้นที่ 

 

ความเห็นที่ต่างจะสามารถลงตัวกันได้หรือไม่ เศรษฐากล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกัน โดยครั้งล่าสุด ทางผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า มีการสื่อสารผ่าน สศค. ตลอดอยู่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการแสดงออกที่ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีการก้าวร้าว ตรงนี้เป็นบทพิสูจน์อยู่แล้ว ตัวเลขก็เห็นด้วยตรงกัน และไม่มีใครมาถกเถียงว่าตัวเลขที่ติดลบเป็นตัวเลขที่ไม่จริงและไม่ตรงกัน ดังนั้นก็ยอมรับมา ว่าจริงๆ แล้วเงินเฟ้อมันไม่ใช่ปัญหาเลย ตอนนี้ปัญหาคือว่าเป็นเงินฝืดแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ย ถึงเวลาแล้ว ก็ขอฝากคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ที่จะประชุมกัน

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเงินดิจิทัลว่าจะไม่รอหนังสือจาก ป.ป.ช. ใช่หรือไม่  นายกฯ กล่าวว่า เดินหน้าคู่ขนานกันไป  ส่วนการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่เงินดิจิทัลนั้น คาดว่าเป็นกลางสัปดาห์หน้า และจะมีคำแนะนำจาก ป.ป.ช. ในเร็ววันนี้

 

ภูมิธรรม ห่วงเงินเฟ้อติดลบ ถามความรับผิดชอบแบงก์ชาติ

 

ด้าน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่วนหนึ่งสาเหตุมาจากนโยบายของรัฐบาลใช่หรือไม่ว่า วานนี้ (5 กุมภาพันธ์) กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงตัวเลขทางเศรษฐกิจ

แต่ตนอยากทำความเข้าใจว่ามาตรการที่รัฐบาลออกมาเป็นมาตรการในการควบคุมดูแลไม่ให้ร้านค้าหรือผู้ประกอบการเอากำไรมากเกินไป เพื่อให้หาจุดสมดุลร่วมกันได้ ซึ่งเหตุที่ทำให้ประชาชนประสบวิกฤตภาวะเดือดร้อนมีปัญหาเรื่องค่าครองชีพก็เป็นเรื่องที่ทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ต้องหาจุดสมดุลร่วมกัน โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ทั้งหมดเกิดขึ้น เพราะเราทำงานเราดูแลประชาชนเป็นหลัก 

 

ขณะเดียวกัน เราทำงานในการเสริมให้ราคาสินค้าถูกควบคุมดูแล และสนับสนุนให้ผู้ผลิตต่างๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ เราจะแถลงชี้แจงให้มีความชัดเจน ทั้งเรื่องยางพารา ข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพด ที่มีการขึ้นราคา จะเห็นว่าเราจะใช้มาตรการเพื่อให้มีความสมดุลในหลายฝ่าย เพื่อดูแลทั้งผู้ประกอบการและเอกชน 

 

ภูมิธรรมกล่าวว่า ในทางปฏิบัติรัฐบาลใช้มาตรการการคลังเกือบทุกเรื่องและทุกกระทรวงได้ดำเนินการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือปัญหามาตรการทางการเงิน หากจะให้ปัญหาได้รับการแก้ไขเป็นอย่างดี ในประเทศอื่นมาตรการการเงินการคลังต้องทำควบคู่กัน จึงต้องถามว่าผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลมาตรการทางการเงินได้ดำเนินการอะไรบ้าง มีการลดดอกเบี้ยหรือไม่ 

 

“ผมว่าตอนนี้ภาระหน้าที่อยู่ที่แบงก์ชาติ และผู้ที่รับผิดชอบดูแลมาตรการทางการเงิน ซึ่งมันจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้ มันต้องทำทั้งสองเรื่องควบคู่กันถึงจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ถ้าดูเรื่องเดียวดูไม่หมด จะต้องดูทั้งสองเรื่อง เป็นสองขาประกอบกัน มันถึงจะแก้ปัญหาได้ กระทรวงพาณิชย์เพียงสะท้อนตัวเลข แต่การวิเคราะห์ตัวเลขต้องมาพูดคุยกัน” ภูมิธรรมกล่าว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการพูดคุยกับผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่าอาจเป็นขั้นตอนต่อไป ถ้า ธปท. รู้สึกว่ามันมีประเด็นที่เราควรหารือกัน เรายินดีคุยอยู่แล้ว แต่ความคิดเห็นของเราในตอนนี้ กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ปฏิบัติการ เรารู้ว่าถ้าไม่มีมาตรการการเงินช่วยทุกเรื่อง เช่น ราคาสินค้า กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการลำบาก หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง ธปท. ควรตระหนักในเรื่องนี้

 

ภูมิธรรมกล่าวว่า ขณะนี้วิกฤตการณ์ไม่ใช่วิธีการทั่วไปธรรมดา แต่มีวิกฤตการณ์การเงินเข้ามาแทรก และเห็นแนวโน้มที่จะมีปัญหา ฉะนั้นตรงนี้ ธปท. ต้องดูให้ละเอียด อย่าดูหรือเพ่งเล็ง เอาใจใส่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องดูทั้งระบบถึงจะช่วยแก้ปัญหาได้ วันนี้จะแก้ไขวิกฤตการณ์ของประเทศได้ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ถ้าฝ่ายหนึ่งจะทำ แต่อีกฝ่ายจะยืนค้านอยู่ มันไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมที่จะเกิดขึ้น และถ้ามันเป็นปัญหาอย่างที่เรากังวลและคาดหวังไว้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นมันคือความล้มเหลวในวิกฤตที่จะเกิดขึ้น

 

ถ้าดูก็จะเหมือนปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 วิกฤตการณ์ตอนนั้น ธปท. ไม่เห็นอะไรเลย ทั้งที่ถ้าท่านดูรายละเอียดท่านก็จะเห็น ซึ่งอันนี้ก็เหมือนกัน มีนักเศรษฐศาสตร์มองว่าถ้ารัฐบาลไม่ขยับทำอะไรที่แข็งแรง และมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ วิกฤตต่างๆ จะเกิดขึ้น 

 

“วันนี้รัฐบาลมองว่า หนึ่งคือดิจิทัลวอลเล็ต เป็นประเด็นสำคัญที่จะกระตุ้นกำลังซื้อทั้งหมดให้เกิดขึ้น และอีกหลายมาตรการของเราที่รออยู่ แต่หากมาตรการหลักไม่ขยับ มันทำให้อีกหลายเรื่องเราทำไม่ได้ วันนี้รัฐบาลมาบริหารประเทศเกือบ 5 เดือนแล้ว อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีเงินดำเนินการ ไม่มีเงินลงทุน เพราะงบประมาณปี 2567 จะสามารถใช้ได้ในเดือนพฤษภาคม 

 

“แต่สิ่งที่เราไม่ได้นิ่งนอนใจ คือเราทำงานเต็มที่ อยากวิงวอนขอร้องผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ดูทั้งระบบ อย่าให้เป็นเรื่องติดใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะการมองแยกส่วน ไม่มองทั้งระบบมันก่อให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 มาแล้ว วันนี้อยากฝากสิ่งที่สำคัญ ต้องไปถามผู้ดูแลการเงินของประเทศว่าคิดอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนี้ เห็นด้วยหรือมีปัญหาไหม ถ้าคิดว่าไม่มีปัญหา เราก็ต้องดูอนาคตว่าใครประเมินได้ถูกทาง เพราะถ้าหากเกิดวิกฤตการเงินอย่างที่รัฐบาลบอก ผู้บริหารการเงินทั้งหลายที่ไม่อะเลิร์ต ไม่สามารถเข้ามาดูแล และยังไม่จัดการจะต้องรับผิดชอบ” ภูมิธรรมกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising