×

นายกรัฐมนตรีมอบหมายทีมเศรษฐกิจ ศึกษาผลกระทบข้อตกลงการจัดเก็บภาษีของกลุ่ม G7 หวั่นกระทบแผนลงทุน EEC

08.06.2021
  • LOADING...
G7

อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อสั่งการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ศึกษาการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีในปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้ระบบการจัดเก็บภาษีโลกในประเทศกลุ่ม G7 ได้มีการลงนามข้อตกลงการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีของโลก ซึ่งจะทำให้มีประเด็นเรื่องของการเก็บภาษีการทำธุรกิจต่างๆ ของบริษัทข้ามชาติในประเทศกลุ่ม G7 และการกำหนดภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ

 

โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมทั้งทางกระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้พิจารณาถึงผลกระทบกับประเทศไทย ว่าจะมีในด้านใดบ้างหรือกระทบกับมาตรการดึงดูดการลงทุนของไทย เช่น การลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือไม่

 

ด้าน เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหารบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนักว่าเกณฑ์การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลกับบริษัทข้ามชาติตามข้อตกลงเบื้องต้นของกลุ่มประเทศ G7 นั้นจะออกมาในรูปแบบใดและครอบครองอุตสาหกรรมใดบ้าง จะครอบคลุมเฉพาะกลุ่มอีเซอร์วิสหรือรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตด้วย แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองก็ยังมีความเห็นเป็นสองทาง โดยพรรครีพับลิกันไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

 

“หากถามว่าเรื่องนี้จะกระทบกับประเทศไทยอย่างไร คงต้องบอกว่าประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ใช้การให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุนผ่านบีโอไอ หากเราไม่สามารถให้ตรงนี้กับนักลงทุนได้ ก็ต้องไปดูว่าเราจะมีอะไรอย่างอื่นมาดึงดูดเขาได้อีกบ้าง หากการเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติเน้นไปที่เฉพาะกลุ่มบริษัทเทคขนาดใหญ่ ไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากในระยะสั้น เพราะนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ใช้เราเป็นฐานการผลิต แต่แผนในอนาคตที่ไทยต้องการจะดึงกลุ่มอุตสาหกรรมเทคให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC คงจะได้รับผลกระทบแน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องรอฟังรายละเอียดในเรื่องนี้เพิ่มเติมก่อน เพราะข้อมูลที่ออกมายังมีน้อยมากทำให้ประเมินสถานการณ์ลำบาก” เชาว์กล่าว

 

สำหรับการลงนามในข้อตกลงการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีของโลกโดยกลุ่ม G7 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา อิตาลี และญี่ปุ่น ร่วมด้วยสหภาพยุโรป มีขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่กรุงลอนดอน โดยร่วมกับบรรดาผู้นำขององค์กรทางเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ของโลก ซึ่งได้บรรลุข้อตกลงที่สื่อมวลชนต่างระบุว่าเป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ที่จะปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีในระดับโลก

 

ข้อตกลงดังกล่าวมุ่งเป้าโดยตรงไปยังบริษัทข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและได้กำไรมากที่สุด โดยจะบังคับให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ต้องจ่ายภาษีในประเทศที่พวกเขาไปขายสินค้าและบริการอยู่ ไม่ใช่จ่ายภาษีเฉพาะในประเทศที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลต่ำและบริษัทเหล่านั้นเลือกไปตั้งสาขาอีกต่อไป ซึ่งบริษัทที่คาดกันว่าจะเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มที่จะต้องจ่ายภาษีตามกฎใหม่หากเกิดขึ้นจริง ก็เช่นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google, Amazon หรือ Facebook

 

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X