วันนี้ (7 กุมภาพันธ์) ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ช่วงเวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ 19-43 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบว่าไม่เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด (มาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝุ่นลดลง กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ช่วงนี้สภาพอากาศมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้มีฝนเล็กน้อยในบางพื้นที่ ส่งผลให้ฝุ่นละอองและหมอกควันในภาพรวมลดลง
นอกจากนี้ หากจำแนกเป็นพื้นที่ต่างๆ ทั่วเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะพบว่า ฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน ปรากฏว่า ไม่พบพื้นที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน (เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และอยู่ในเกณฑ์ ‘คุณภาพดี’ ถึง ‘คุณภาพปานกลาง’ โดยสามารถแบ่งเป็น 5 อันดับพื้นที่ที่พบค่าฝุ่นสูงได้ ดังนี้
- ริมถนนลาดพร้าว ซอยลาดพร้าว 95 เขตวังทองหลาง (43)
- ริมถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม (38)
แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม
- ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน (37)
- แขวงคลองเตย เขตคลองเตย (36)
แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่
ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
ริมถนนลาดกระบัง เขตลาดกระบัง
ริมถนนนวมินทร์ แยกบางกะปิ เขตบางกะปิ
- ริมถนนดินแดง เขตดินแดง (35)
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร ยังคงติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถประสานงาน และดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที แม้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อยู่ในเกณฑ์ค่ามาตรฐาน 50 สำนักงานเขต ยังคงดำเนินการล้างทำความสะอาดถนนและทางเท้า ฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศเพื่อดักจับฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งทุกหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ตรวจสภาพเครื่องยนต์ตามระยะทางหรือระยะเวลาที่กำหนด ดูแลบำรุงรักษารถยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ เพื่อป้องกันไม่ให้มลพิษเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนได้มีการกำชับพนักงานขับรถยนต์ให้ดับเครื่องยนต์ทุกครั้ง เมื่อไม่ได้ปฏิบัติงานหรือจอดรถรอรับ-ส่ง
นอกจากนี้ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตรวจสอบสภาพรถไม่ให้ปล่อยควันดำ งดเผาในที่โล่งแจ้ง รวมถึงการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีและลดมลพิษในอากาศ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ได้ทางเว็บไซต์ AirVisual หรือทางแอปพลิเคชัน AirVisual ทั้งในระบบ Android และ iOS เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นบริเวณนั้นๆ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์