×

จับไต๋การผ่องถ่ายนักเตะจากเชลซีไปซาอุดีอาระเบีย

20.06.2023
  • LOADING...
chelsea to saudi

HIGHLIGHTS

  • เชลซีเตรียมโละนักเตะออกจากทีม ซึ่งมีกลุ่มนักเตะหลายรายที่อยู่ในข่ายที่คาดว่าจะโดนปล่อยตัวออกไปเนื่องจากทำผลงานได้ไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือไม่ก็เป็นกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในแผนการทำทีมของโปเชตติโนในฤดูกาลหน้า เพียงแต่คำถามคือเชลซีจะโละนักเตะออกไปอย่างไรให้รวดเร็วที่สุด?
  • ผู้รับเหมาคือลีกซาอุดีอาระเบียที่เริ่มจาก เอ็นโกโล ก็องเต ต่อด้วย ฮาคิม ซิเยค, คาลิดู คูลิบาลี และ เอดูอาร์ เมนดี้ รวมถึง ปิแอร์ เอเมอริก โอบาเมยอง และ โรเมลู ลูกากู ที่มีข่าวเชื่อมโยงด้วย
  • ที่น่าสนใจคือการที่ PIF นั้นเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการฟุตบอลอังกฤษด้วย โดยนอกจากจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทีมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด PIF ยังเป็นผู้ร่วมลงทุนกับ Clearlake Capital ซึ่งเป็นผู้ลงทุนหลักของเชลซีด้วย

ความเคลื่อนไหวในโลกฟุตบอลที่น่าจับตามองมากที่สุดเวลานี้ ย่อมหนีไม่พ้นการเดินหน้ารุกตลาดนักเตะอย่างรุนแรงของซาอุดีอาระเบีย ที่กวาดต้อนนักฟุตบอลในระดับซูเปอร์สตาร์ไปร่วมโชว์เพลงแข้งระดับโลกบนแผ่นดินทะเลทราย

 

จาก คริสเตียโน โรนัลโด ผู้เปิดประตูคนแรก สู่ คาริม เบนเซมา และตอนนี้มีชื่อนักฟุตบอลอีกมากมายทั้งที่อยู่ในช่วงวัยที่อาจจะเรียกได้ว่าไม้ใกล้ฝั่ง และคนที่กำลังจะไต่ระดับไปสู่จุดสูงสุดของอาชีพการเป็นนักฟุตบอลอย่าง รูเบน เนเวส ซึ่งเป็นกรณีที่สร้างความสั่นสะเทือนมากพอสมควร

 

แต่ในบรรดากลุ่มนักเตะที่มีข่าวเชื่อมโยงกับลีกซาอุดีอาระเบียนั้น มีกรณีที่น่าจับตามองมากเป็นพิเศษคือกลุ่มนักเตะจากทีมเชลซีที่มีความเชื่อมโยงหลายราย

 

นอกเหนือจาก เอ็นโกโล กองกลางฮาร์ดแมนระดับตำนาน ที่กระแสข่าวไปในทิศทางที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าจะย้ายไปปิดฉากชีวิตการเล่นของตัวเองที่ซาอุดีอาระเบีย ยังมีชื่อของ คาลิดู คูลิบาลี, ฮาคิม ซิเยค และ เอดูอาร์ เมนดี้

 

การขายเหมาแบบมัดรวมนี้มีอะไรซ่อนอยู่ข้างหลังที่เราควรต้องจับตาหรือไม่?

 

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 1 ปีที่แล้ว เชลซีมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อ โรมัน อบราโมวิช เจ้าของสโมสรเดิมชาวรัสเซีย ผู้สร้างอาณาจักร ‘Roman Empire’ อันยิ่งใหญ่ นำทีมเก่าแก่ของลอนดอนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของวงการฟุตบอลอังกฤษและวงการฟุตบอลระดับยุโรป ถูกรัฐบาลอังกฤษบีบบังคับให้ขายสโมสรออกไปด้วยข้อกล่าวหามีส่วนในการสนับสนุนรัฐบาลเครมลินในการก่อสงครามกับยูเครน

 

ทอดด์ โบห์ลี นักธุรกิจกีฬาชาวอเมริกัน เจ้าของทีมเบสบอลแอลเอ ดอดเจอร์ส เป็นผู้ที่ชนะการประมูลคว้าสิทธิ์ในการซื้อสโมสรมาครองได้สำเร็จ ในมูลค่า 4.25 พันล้านปอนด์

 

อย่างไรก็ดี โบห์ลีไม่ได้เป็นผู้ที่ออกเงินเพียงคนเดียว โดยพาร์ตเนอร์ที่ร่วมลงทุนด้วยกันคือกองทุน Clearlake Capital ที่นำโดย เบห์ดัด เอ็กห์บาลี หนึ่งในผู้ก่อตั้งร่วมที่เข้ามามีบทบาทบริหารสโมสรเชลซีร่วมกับโบห์ลี

 

นับจากที่เข้ามาซื้อกิจการ โบห์ลี และ Clearlake Capital ได้ลงทุนมหาศาลในการซื้อนักเตะเข้ามาเสริมทีมเชลซีใน 2 รอบตลาดการซื้อขาย ทั้งช่วงฤดูร้อนและช่วงฤดูหนาว โดยใช้เงินลงทุนไปมากมายมหาศาลถึงกว่า 600 ล้านปอนด์

 

แต่ผลตอบรับที่ได้กลับเข้าขั้นเลวร้าย เมื่อเชลซีประสบปัญหาอย่างสาหัสภายในทีม จบฤดูกาลด้วยการเป็นทีมอันดับที่ 12 และตกรอบฟุตบอลทุกรายการ

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาใหญ่ของเชลซีที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือการที่ทีมมีผู้เล่นมากเกินไป มากจนถึงขั้นมีช่วงที่ประสบปัญหาห้องแต่งตัวไม่เพียงพอสำหรับนักเตะภายในทีม ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่สโมสรต้องจัดการเป็นการเร่งด่วน ก่อนที่จะดำเนินการปรับทัพเสริมทีมตามความต้องการของ เมาริซิโอ โปเชตติโน ผู้จัดการทีมคนใหม่ที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

 

โดยที่ยังมีความกังวลว่าการทุ่มเงินถึง 600 ล้านปอนด์ในฤดูกาลที่แล้วจะส่งผลต่อเรื่องสถานภาพทางบัญชีของเชลซีว่าจะเกินลิมิตในกฎการเงิน Financial Fair Play ด้วยหรือไม่

 

เรื่องนี้นำไปสู่การเตรียมโละนักเตะออกจากทีม ซึ่งมีกลุ่มนักเตะหลายราย (ไม่นับรายที่ขายออกได้ราคาอยู่แล้วอย่าง มาเตโอ โควาซิช, เมสัน เมาท์ และ ไค ฮาเวิร์ตซ์) ที่อยู่ในข่ายที่คาดว่าจะโดนปล่อยตัวออกไปเนื่องจากทำผลงานได้ไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือไม่ก็เป็นกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในแผนการทำทีมของโปเชตติโนในฤดูกาลหน้า เพียงแต่คำถามคือเชลซีจะโละนักเตะออกไปอย่างไรให้รวดเร็วที่สุด?

 

เพราะหากจะมัวรอเจรจาว่าความกันทีละคนสองคน บางทีตลาดนักเตะปิดแล้วก็อาจจะยังโละไม่เสร็จด้วยซ้ำไป

 

 

คำตอบสำหรับเชลซีในเรื่องนี้คือการหา ‘ผู้รับเหมา’ (หรือรับเซ้ง) เอานักเตะไปยกแพ!

 

โดยผู้รับเหมาดังกล่าวคือลีกซาอุดีอาระเบียที่กำลังมีข่าวขอรับเซ้งนักเตะหลายรายของเชลซี ซึ่งสัญญาณนั้นถูกส่งมาจากการเจรจาเพื่อขอซื้อ เอ็นโกโล ก็องเต กองกลางระดับตำนานของสโมสรที่กำลังเข้าสู่วัยโรยรา เริ่มประสบปัญหาอาการบาดเจ็บเรื้อรังก่อน

 

แต่การเจรจาไม่ได้จบที่ก็องเต เพราะปรากฏชื่อของ ฮาคิม ซิเยค, คาลิดู คูลิบาลี และ เอดูอาร์ เมนดี้ รวมถึง ปิแอร์ เอเมอริก โอบาเมยอง และ โรเมลู ลูกากู ด้วย เพียงแต่ 2 รายหลังดูเหมือนจะไม่สนใจข้อเสนอที่จะย้ายไปเล่นในซาอุดีอาระเบียเวลานี้แต่อย่างใด

 

นั่นเท่ากับว่านอกจากก็องเตที่เตรียมจะไปรับทรัพย์ปีละ 86 ล้านปอนด์ที่ซาอุดีอาระเบีย ยังจะมีเพื่อนอย่างซิเยค, คูลิบาลี และเมนดี้ ย้ายตามไปเล่นในลีกเดียวกันด้วย แม้ว่าจะยังไม่แน่ชัดว่าอยู่กับสโมสรใดก็ตาม

 

มีการประเมินกันคร่าวๆ ว่าเชลซีน่าจะได้เงินกลับมาจากการขายนักเตะกลุ่มเหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านปอนด์เลยทีเดียว ซึ่งสำหรับทีมที่หน้ามืดจ่ายไปเยอะแบบพวกเขา เงินก้อนนี้เปรียบเหมือนยาหอมช่วยให้หายใจได้คล่องขึ้น และจะเป็นต้นทุนสำหรับการซื้อนักเตะเข้ามาเสริมทีม โดยมีเป้าหมายที่ นิโกลัส แจ็คสัน กองหน้าจากบียาร์เรอัล ที่มีค่าปลดสัญญา 30 ล้านปอนด์ และ มอยเซส ไกเซโด กองกลางตัวแกร่งที่อยากได้มาแทนก็องเต โดยไบรท์ตันก็ตั้งค่าตัวไว้ที่ 100 ล้านปอนด์

 

กระนั้นความเคลื่อนไหวของเชลซีและซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ก็นำไปสู่เครื่องหมายคำถามตัวใหญ่เช่นกัน

 

เพราะมันมีกลิ่นทะแม่งๆ จากการที่ลีกซาอุดีอาระเบียนั้นได้รับการสนับสนุนครั้งใหญ่จากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ‘PIF’ ซึ่งเพิ่งประกาศสนับสนุน 4 สโมสรใหญ่ของประเทศ อันได้แก่ อัล ฮิลาล, อัล อิติฮัด, อัล นาสเซอร์ และ อัล อาห์ลี ตามยุทธศาสตร์ในการสร้างซาอุดี โปรลีก ให้เป็นที่ระบือนามไปทั่วโลก ใช้กีฬานำภาพลักษณ์ที่ดีสู่ประเทศ

 

จุดนี้คือจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การกวาดต้อนนักเตะระดับท็อปของโลกมาไว้ในลีกซาอุดีอาระเบียให้มากที่สุด คล้ายๆ กับปรากฏการณ์ลีกฟุตบอลจีนเมื่อหลายปีก่อน

 

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ PIF นั้นเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการฟุตบอลอังกฤษด้วย โดยนอกจากจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทีมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วถึงขั้นจากทีมตกชั้นกลายเป็นได้ไปแชมเปียนส์ลีกในระยะเวลาไม่ถึง 2 ฤดูกาล

 

PIF ยังเป็นผู้ร่วมลงทุนกับ Clearlake Capital ซึ่งเป็นผู้ลงทุนหลักของเชลซีด้วย

 

และตัวของโบห์ลีเองก็มีประวัติในการทำธุรกิจร่วมกับทางซาอุดีอาระเบียมายาวนาน

 

เพราะเหตุนี้หรือเปล่าซาอุดีอาระเบียจึงเข้ามาช่วยช้อนนักเตะเหลือใช้ของเชลซีไป? โดยที่นักเตะเองก็แฮปปี้เพราะจะได้รับเงินก้อนใหญ่ยิ่งกว่าที่ได้รับจากการเล่นในพรีเมียร์ลีกด้วยซ้ำไป แม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นการย้ายทีมด้วยเหตุผลทางการเงินมากกว่าการตามหาเกียรติยศและชื่อเสียงก็ตาม

 

เรื่องความเชื่อมโยงกับ PIF นั้นเชลซีปฏิเสธที่จะให้ความเห็นมาก่อนหน้านี้ แต่การที่ PIF เชื่อมโยงกับทั้ง 2 สโมสรในพรีเมียร์ลีก (เหมือนมีเจ้าของเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น) และยังเป็นแบ็กอัพของลีกซาอุดีอาระเบีย ย่อมหลีกหนีคำถามไม่พ้น

 

เพียงแต่นั่นอาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับพวกเขา

 

ใครใคร่ซื้อก็ซื้อ ใครใคร่ขายก็ขาย ใครใคร่ย้ายก็ย้าย ขีดเส้นใต้ไว้จบแค่ตรงนี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising