×

ย้อนรอยโรคระบาดจากโบราณคดี ต้นตอโรคร้ายที่มาจากมนุษย์

28.04.2021
  • LOADING...
ย้อนรอยโรคระบาดจากโบราณคดี ต้นตอโรคร้ายที่มาจากมนุษย์

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • โรคระบาดเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลาอย่างน่าสนใจ แล้วการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้กำลังชี้ให้เห็นเราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงใดบ้างในสังคม
  • การเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้งเกี่ยวข้องกับ หนึ่ง การนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงและกิน สอง การเกิดขึ้นของสังคมเมืองที่แออัด สาม การค้าขายและติดต่อกันในอัตราที่สูง หรือจะเรียกว่าโลกาภิวัฒน์ก็ได้ สามปัจจัยนี้เป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ 
  • การระบาดของโควิด-19 ได้เผยให้เห็นถึงปัญหาของประเทศชัดขึ้น ที่รัฐบาลไม่แสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพในการบริการจัดการโรคและวัคซีน ทั้งๆ ที่มีประสบการณ์มาร่วมปี และมีตัวอย่างจากหลายๆ ประเทศ 

มนุษย์ต้องเผชิญกับโรคระบาดมาอย่างน้อยตั้งแต่ 6 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งมันไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ทำให้คนตายเป็นจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และประชากรอย่างรุนแรง ถึงอย่างนั้น โรคระบาดก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลาอย่างน่าสนใจ ซึ่งควรนำมาตั้งคำถามกับการเกิดขึ้นของโรคระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ด้วยว่า โควิด-19 กำลังชี้ให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงใดบ้างในสังคม 

 

ปีเตอร์ มิตเชลล์ (Peter Mitchell) นักโบราณคดีด้านโรคระบาดวิทยา ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์กับโรคระบาดในแต่ละช่วงเวลาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเขาทบทวนประวัติความเป็นมาของโรคระบาดตั้งแต่ 6 ล้านปีมาแล้ว จนถึงในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ผมขอสรุปอย่างสั้นๆ ดังนี้ 

 

เมื่อ 6 ล้านปีที่แล้ว ได้พบว่า บรรพบุรุษของมนุษย์ (Hominin) เป็นโรคภัยต่างๆ หลายชนิด เช่น เป็นโรคจากหนอนปรสิต มาลาเรียที่มาจากลิง ซิฟิลิส ไข้เหลือง ไข้หวัด และอีกหลายโรค ซึ่งได้เล่นงานมนุษย์ให้เจ็บป่วยจนขั้นเสียชีวิตก็มี แต่การระบาดในยุคนี้ก็ไม่ได้รุนแรง เพราะประชากรมีน้อย ไม่ระบาดติดต่อกัน และยังไม่เลี้ยงสัตว์ที่เป็นพาหะของโรค

 

ต่อมาเมื่อราว 10,000 ปีมาแล้ว ปลายยุคน้ำแข็งในเขตยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ได้เริ่มทำการปศุสัตว์และเลี้ยงสัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ด วัว หมู ทำให้เชื้อโรคจากสัตว์แพร่ระบาดสู่มนุษย์ อีกทั้งสัตว์เลี้ยงพวกนี้ยังถูกซื้อขายไปยังที่ต่างๆ ทำให้โรคระบาดกระจายไปได้ไกล เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากหมูและเป็ด โรคหัดที่ไปพร้อมกับวัวและสุนัข นอกจากนี้อุจจาระจากสัตว์เหล่านั้นยังได้ปนเปื้อนลงในน้ำ ก็ทำให้เกิดโรคระบาดอื่นๆ ตามมาอีก 

 

อนึ่ง ตัวเลขอย่างเป็นสถิติพบว่า เชื้อโรคที่มนุษย์ติดจากสัตว์เลี้ยงต่างๆ นั้นมีดังนี้ สัตว์ปีก 26 โรค หนู 32 โรค ม้า 35 โรค หมู 42 โรค แกะและแพะ 46 โรค วัว 50 โรค และสุนัข 65 โรค อีกทั้งยังมีโรคจากสัตว์อื่นๆ ที่อาจติดสู่คน เช่น เชื้อโรคจากกระต่าย ลิง และค้างคาว ซึ่งอย่างหลังนี้มักเป็นเชื้อที่รุนแรง (ในหนังสือที่ผมอ่านไม่ได้ระบุว่ามีเชื้อโรคจากแมวที่ติดคนได้สักกี่โรค และปัจจุบันโรคจากสัตว์ที่ติดต่อสู่คนคงมีมากกว่านี้ เพราะข้อมูลที่ผมใช้ค่อนข้างเก่า แต่ก็ใกล้เคียงกับข้อมูลปัจจุบัน) (McNeill 1976: 45-46) 

 

 

เมื่อสังคมมนุษย์ก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมหมู่บ้านขนาดใหญ่ และเป็นเมืองเมื่อ 3,000-6,000 ปีมาแล้ว ส่งผลให้ประชากรเกิดความหนาแน่นและกระจุกตัว ทำให้โรคระบาดสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วขึ้น และเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นประจำในชุมชน เช่น ไข้หวัด อหิวาตกโรค โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ  

 

เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว เป็นยุคที่เกิดการค้าข้ามภูมิภาค ข้ามทวีป ส่งผลทำให้โรคระบาดเฉพาะถิ่นกลายเป็นโรคระบาดระดับโลก โรคระบาดในช่วงเวลานี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของมนุษยชาติ เพราะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นเมืองขนาดใหญ่ เนื่องจากเกิดการพัฒนาระบบชลประทานขนาดใหญ่เพื่อปลูกข้าว ทำให้สามารถเลี้ยงประชากรได้มาก ผู้คนจำนวนมากจึงเข้ามารวมกันในเมือง 

 

ตัวอย่างเช่น เมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาล ได้เกิดการระบาดของกาฬโรคที่กรุงเอเธนส์ ซึ่งบันทึกไว้โดย ทิวซีดิดิส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ก็เกิดโรคระบาดในจีน เช่น การระบาดของมาลาเรียในเขตจีนตอนใต้แถบแยงซีเกียง แต่ข้อดี (บนความเลวร้าย) ก็คือเป็นช่วงเวลาที่ทำให้การแพทย์ของจีนเกิดการรุดหน้าไปอย่างมาก 

 

เมื่อ 450 ปีที่แล้ว หลังการค้นพบทวีปอเมริกาของโคลัมบัส ทำให้ชาวยุโรปเดินทางไปยังอเมริกาและหมู่เกาะแปซิฟิก ทำให้โรคของชาวยุโรป เช่น ฝีดาษ หัด กาฬโรค และซิฟิลิส แพร่ระบาดไปยังชนพื้นเมือง อาณาจักรแอซเท็กถึงกับล่มสลายเพราะโรคฝีดาษจากทาสชาวแอฟริกัน หรือเกาะฮิสแปนิโอลา จากประชากรหลักหมื่นลดลงเหลือไม่กี่ร้อยคน 

 

เมื่อ 100-200 ปีมาแล้วนี้ เป็นยุคเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์การแพทย์และระบบสาธารณสุข ทำให้ความเชื่อว่าอาการป่วยเกิดจากผีสางและอำนาจทางไสยศาสตร์ค่อยๆ หายไป ผีถูกอธิบายว่าเป็นเชื้อโรคชนิดหนึ่ง เป็นอาการป่วยแบบหนึ่ง (ทางจิตหรือทางร่างกายก็ตาม) แต่ในห้วงเวลานี้ยังเป็นยุคของการเกิดระบบขนส่งมวลชนและข้ามทวีปขนานใหญ่ ตามมาด้วยการแพร่กระจายของอาณานิคม ส่งผลทำให้โรคระบาดแพร่กระจายได้รวดเร็วขึ้นยิ่งขึ้นและไปทั่วโลก ทว่ายังโชคดีที่เกิดการคิดและพัฒนาการฉีดวัคซีนขึ้น ทำให้โรคระบาดอยู่ในวงจำกัด 

 

ร่องรอยของโรคระบาดพวกนี้ นักโบราณคดีสามารถสืบได้จากรอยโรคในกระดูกของมนุษย์ เช่น ซิฟิลิส จะทำให้กระดูกมีรอยผุ ถูกกัดเป็นรู หรือที่ก้าวหน้าขึ้นในปัจจุบันคือการศึกษาจากดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่จากโครงกระดูก 

 

ปีเตอร์ มิตเชลล์ ให้ความเห็นด้วยว่า บางทีร่องรอยบนกระดูกและดีเอ็นเออาจไม่เหลือให้ศึกษาได้มากนัก ดังนั้น อีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานได้ว่า คนตายตายจากโรคระบาด อาจลองสังเกตจากหลุมศพที่มี ‘ความผิดปกติ’ (Abnormal) ไปจากหลุมฝังศพอื่นๆ เช่น ตำแหน่งของหลุมฝังศพที่ถูกฝังไว้ในพื้นที่พิเศษ แยกจากคนทั่วๆ ไป หลุมฝังศพที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน หรือที่ง่ายหน่อยก็คือศพที่ถูกฝังรวมกลุ่มกันมากๆ แต่การขุดค้นก็ต้องระมัดระวัง เพราะเชื้อโรคบางชนิดยังไม่ตาย แม้จะผ่านมาหลายร้อยปีแล้วก็ตาม 

 

เขาได้ยกตัวอย่างหลุมฝังศพแบบผิดปกตินี้ที่เขตเหมืองในเมืองคอฟฟีฟอนทีน ประเทศแอฟริกาใต้ ที่พบว่าถูกฝังแยกออกไปต่างหาก ไกลจากพื้นที่ฝังศพหลัก เมื่อสืบจากเอกสารทางประวัติศาสตร์พบว่า ในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้เกิดโรคไทฟอยด์ระบาดในหมู่กรรมกร ทำให้มีการฝังศพแยกออกไปต่างหากเพื่อหลีกเลี่ยงจากพื้นที่หลักที่คนทั่วไปจะไปฝังศพ 

 

ชาร์ลอตต์ โรเบิร์ตส์ และ เคท แมนเชสเตอร์ นักโบราณคดีด้านเชื้อโรคและโรคระบาด ได้ให้ความเห็นว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมนุษย์นั้นส่งผลโดยตรงต่อการระบาดของโรคร้ายแรง หนทางที่จะลดการระบาดลงได้นั้นต้องควบคุมอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร ดังเห็นได้ว่าโรคบางชนิดเช่น โรคหัด ที่สามารถแพร่ระบาดจากการสัมผัสจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง หากจะลดโรคระบาดนี้ลงได้จะต้องควบคุมให้ประชากรอยู่ในระดับไม่เกิน 250,000 คนต่อเมืองเมืองหนึ่ง (แต่ไม่ได้ระบุขนาดเมืองเอาไว้) และสร้างระยะห่างที่พอเหมาะก็จะทำให้เชื้อโรคตาย ไม่สามารถติดต่อกันได้ง่ายๆ อีก และที่สำคัญคือต้องสร้างระบบสาธารณสุขที่สอดคล้องกับจำนวนประชากร และมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพของประชากรด้วย จึงจะทำให้สังคมนั้นปลอดภัยจากโรคระบาด

 

 

ตรงกันข้ามกับสังคมที่ตั้งถิ่นฐานถาวรและทำการเกษตร ที่โรคระบาดจะดำรงอยู่นานและแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าหลายเท่า ยิ่งมนุษย์เริ่มรวมกลุ่มเป็นสังคม เกิดการค้า การเดินทาง และมีศาสนา ยิ่งส่งผลทำให้โรคระบาดแพร่กระจายรวดเร็วยิ่งขึ้น 

 

วิลเลียม แมคเนล ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การเกิดขึ้นของศาสนาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนรวมกลุ่มกันในสถานที่เฉพาะ ส่งผลทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายผ่านพาหะไปยังที่ต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1848 ที่ซีเรียกับอียิปต์ได้เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคในหมู่ชาวมุสลิมที่ไปแสวงบุญที่ Ahmad al-Badawi ที่เมืองตันตา (Tanta) ซึ่งในครั้งนั้นมีคนติดโรคมากถึง 165,000 คน และมีคนตายไป 3,000 คน ทางการพยายามกักตัวแต่ก็มีคนแอบหนี จึงทำให้โรคระบาดไม่สงบโดยง่าย แต่การระบาดของอหิวาตกโรคในสองประเทศนี้เองที่ทำให้เกิดการพัฒนาระบบสาธารณสุขขึ้น เพื่อรองรับผู้มาจาริกแสวงบุญจำนวนมาก จนกระทั่งเมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองในปี 1882 จึงได้กำหนดมาตรฐานความสะอาดเสียใหม่ และพยายามกำจัดโรคอหิวาตกโรคให้หมดไปจากเมืองตันตา ซึ่งขึ้นชื่อมาตลอดหลายทศวรรษว่าเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคนี้

 

อย่างไรเสีย ชาร์ลอตต์ โรเบิร์ตส์ และ เคท แมนเชสเตอร์ ได้ให้ความเห็นว่า โรคภัยไข้เจ็บดูจะรุนแรงมากขึ้นในยุคอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดโรคใหม่ๆ เช่น โรคหัวใจ ซึ่งทำให้บางคนนิยามว่ามันเป็นโรคที่มาพร้อมกับความร่ำรวย หรือ ‘เชื้อโรคจากความมั่งคั่ง’ (Diseases of Affluence) เพราะมันเป็นโรคที่มาจากการขาดการออกกำลังกาย ความอ้วน ไขมัน และการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป นอกเหนือไปจากนี้แล้วก็ยังเป็นผลมาจากพิษภัยจากสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และความยากจนอีกด้วย  

 

 

จากที่เล่ามาทั้งหมด การระบาดของโรคนั้นสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของมนุษย์จากอดีตมาถึงปัจจุบัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้งเกี่ยวข้องกับ หนึ่ง การนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงและกิน สอง การเกิดขึ้นของสังคมเมืองที่แออัด สาม การค้าขายและติดต่อกันในอัตราที่สูง หรือจะเรียกว่าโลกาภิวัฒน์ก็ได้ สามปัจจัยนี้เป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ 

 

ในกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรวดเร็วนี้ ก็เป็นผลมาจากการที่อัตราของการเดินทางในโลกที่สูงมากขึ้น และประชากรที่กระจุกตัวเข้าสู่เขตเมืองมากกว่าในยุคที่ผ่านมา แม้ว่าจะโชคดีอยู่บ้างที่การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ อินเทอร์เน็ตและระบบออนไลน์ต่างๆ ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาก่อนหน้านี้ ไม่อย่างนั้นโลกคงเป็นอัมพาต เศรษฐกิจอาจล่มสลายไปนานแล้ว 

 

แต่ที่แน่ๆ คือ โรคระบาดครั้งนี้ได้เผยให้เห็นถึงปัญหาของประเทศชัดขึ้น ที่รัฐบาลไม่แสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพในการบริการจัดการโรคและวัคซีน ทั้งๆ ที่มีประสบการณ์มาร่วมปี และมีตัวอย่างจากประเทศมากมาย ในไม่ช้าโควิด-19 คงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดีขึ้น  

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • Boyle, Stephanie Anne. “Cholera, Colonialism, and Pilgrimage: Exploring Global/Local Exchange in the Central Egyptian Delta, 1848-1907,” Journal of World History. Vol.26, No.3, pp.581-604.
  • Little, Lester K. The End of Antiquity: The Pandemic of 541-750. Cambridge: Cambridge University Press, 2007.
  • McNeill, William H. Plagues and Peoples. New York: Anchor Press, 1976. 
  • Mitchell, Peter. “The Archaeological Study of Epidemic and Infectious Disease,” World Archaeology. Vol. 35, No. 2, pp.171-179. 
  • Roberts, Charlotte and Manchester, Keith. The Archaeology of Disease, Third Edition. Gloucestershire: The History Press, 2010.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X