×

ออเจ้ารู้ไหม ย้อนยุคไปอโยธยาจักต้องเจอโรคร้ายใด

11.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • บาดทะยักเป็นโรคร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Clostridium Tetani ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความทนทาน สมัยอยุธยาเรียกโรคนี้ว่า ‘ตะพั้น’ หรือ ‘สะพั้น’ เป็นโรคที่หมอแผนโบราณหวั่นวิตกมาก เพราะคนไข้มักจะไม่รอด
  • ถ้าหากออเจ้าต้องย้อนเวลากลับไปในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สิ่งที่ควรจักนำติดตัวไปด้วยคือยาปฏิชีวนะ ยาล้างแผล และจักต้องเตรียมฉีดวัคซีนกันโรคบาดทะยักไปล่วงหน้า

ด้วยกระแส ‘ออเจ้า’ จากละครโทรทัศน์ชุด บุพเพสันนิวาส ที่กำลังมาแรงทั่วบ้านทั่วเมืองในขณะนี้ หลายคนคงนึกฝันว่าถ้าหากมีโอกาสได้เดินทางย้อนเวลากลับไปในสมัยยุคกรุงศรีอยุธยายังรุ่งเรืองก็คงจะดีไม่น้อย

 

แน่นอนที่เราจะได้เห็นพระราชวัง วัดวาอาราม บ้านเมืองในสภาพที่สวยงามสมบูรณ์ เหมือนในบันทึกต่างๆ ของชาวต่างชาติที่บอกว่าอยุธยาเหมือนเมืองสวรรค์ งดงามไปด้วยอัญมณีและทองคำอันล้ำค่า ประดับประดาพระพุทธรูปและพระที่นั่งต่างๆ แต่ในอีกมุมหนึ่ง โลกของเราในวันนั้น โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางการแพทย์ มีความแตกต่างไปจากวันนี้มากมายนัก

 

เอาล่ะ…สมมติว่าถ้าคุณสามารถเดินทางย้อนเวลากลับไปในช่วงปี พ.ศ. 2174-2231 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้จริงๆ ละก็ เรามีคำแนะนำให้เตรียมพร้อมก่อนการเดินทางข้ามเวลาดังนี้

 

  1. เตรียมยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ไปด้วย

เป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะในช่วงเวลานั้นโลกของเรายังไม่รู้จักยาปฏิชีวนะ ไม่รู้ว่าโรคติดเชื้อต่างๆ เกิดจากอะไรกันแน่ โลกทัศน์ของคนอยุธยาในเวลานั้นเชื่อกันว่าอาการป่วยของคนเกิดจากธาตุดินน้ำลมไฟในร่างกายไม่สมดุลกัน บางโรคก็มีสมมติฐานว่าเกิดจากโลหิตเป็นพิษ การรักษาก็ใช้ยาพื้นบ้าน ซึ่งหลายขนานก็ได้ผลดี แต่บางขนานก็อาจจะรักษาได้ไม่หายขาด

 

แบคทีเรียหรือเชื้อโรคมีมานานมากแล้ว แต่มนุษย์เพิ่งรู้จักเชื้อแบคทีเรียก็เมื่อปี พ.ศ. 2218 นี่เอง โดยการค้นพบของ แอนโทนี วาน ลีเวนฮุค (Antonie van Leeuwenhoek) ตอนนั้นเขาเรียกเชื้อโรคเหล่านั้นว่า Animalcule ซึ่งแปลว่าสัตว์ตัวเล็กๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และไม่รู้เลยว่าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ นี้คือตัวการที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ

 

ส่วนยาปฏิชีวนะที่ใช้ฆ่าพวกมันนั้นเพิ่งจะค้นพบเมื่อไม่นาน โลกการแพทย์เปลี่ยนแปลงไปแบบก้าวกระโดดเมื่อ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Alexander Fleming) นักวิทยาศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ ค้นพบเพนิซิลลิน ยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก เมื่อปี พ.ศ. 2471 ซึ่งตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 7 กรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากนั้นการรักษาโรคติดเชื้อก็กลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับมนุษยชาติ

 

  2. เตรียมยาล้างแผลและฉีดวัคซีนบาดทะยักไปล่วงหน้า

เพราะถ้าเราไปใช้ชีวิตอยู่ในอยุธยายุคสมเด็จพระนารายณ์ โอกาสเกิดบาดแผลสกปรกจนทำให้เกิดเป็นบาดทะยักมีสูงมาก และในสมัยนั้นยังไม่มีการรักษา ใครเป็นต้องตายสถานเดียว

 

บาดทะยักเป็นโรคร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Clostridium Tetani ซึ่งพบได้ทั่วไปในดินและมูลสัตว์ เป็นเชื้อที่มีความทนทาน สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นปีๆ สามารถเติบโตได้ดีในที่ซึ่งไม่มีออกซิเจน ดังนั้นถ้าเกิดบาดแผลที่ไม่สะอาด เช่น ถูกมีดบาด เดินเท้าเปล่าไปถูกไม้ ถูกหินตำ แล้วโชคร้ายแผลไปปนเปื้อนกับเชื้อบาดทะยักเข้า เชื้อก็จะเข้าไปแฝงตัวและเติบโตในร่างกาย หลังจากนั้นราวๆ 5 วันถึง 15 สัปดาห์ คนไข้ก็จะเกิดมีไข้สูง ร่วมด้วยอาการขากรรไกรแข็ง อ้าปากยาก กินอาหารไม่ได้ ต่อมาก็จะเกิดอาการชัก หลังแอ่น เกร็งไปทั้งตัว มาถึงขั้นนี้ โอกาสรอดชีวิตก็น้อยเต็มที สมัยอยุธยาเรียกโรคนี้ว่า ‘ตะพั้น’ หรือ ‘สะพั้น’ เป็นโรคที่หมอแผนโบราณหวั่นวิตกมาก เพราะคนไข้มักจะไม่รอด

 

ที่น่าสนใจอีกประการก็คือ ตะพั้นในยุคนั้นมักเกิดกับมารดาหลังคลอดบุตร เพราะหลายครั้งการคลอดนั้นไม่สะอาด หมอตำแยบางคนใช้ไม้ไผ่ตัดสายสะดือเด็ก หากโชคร้ายไม้ไผ่สกปรก บางทีก็เกิดตะพั้นได้ทั้งแม่และเด็ก ว่ากันว่าอัตราการตายของแม่และเด็กในสมัยอยุธยานั้นมีสูงมาก

 

ดังนั้นหากออเจ้าทั้งหลายมีโอกาสเดินทางย้อนเวลากลับไปสมัยสมเด็จพระนารายณ์  ได้ไปพบรักกับคุณหลวง และแต่งงานกัน Happy Ending แบบในนวนิยายแล้วละก็ ตอนที่มีท้องและใกล้จะคลอดนั้น เราขอแนะนำให้ออเจ้าเลือกหมอตำแยที่ชำนาญ มีเครื่องไม้เครื่องมือที่สะอาดถูกหลักอนามัยด้วยก็จะเป็นการปลอดภัยกับแม่และเด็ก

 

  3. อีกหนึ่งคำแนะนำก็คือเรื่องของน้ำดื่ม การเตรียมความพร้อมเรื่องน้ำดื่มที่สะอาดถูกอนามัยเป็นเรื่องจำเป็นมากไม่แพ้เรื่องอื่นๆ แต่คงเป็นการยากที่ออเจ้าจะแบกเอาเครื่องกรองน้ำติดตัวไปในอดีตด้วย แต่เรื่องของน้ำดื่มนั้นมีความสำคัญไม่ใช่น้อย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีหลักฐานว่ามีระบบท่อประปาใช้แล้วก็จริง แต่เป็นระบบสำหรับขนส่งน้ำเท่านั้น ไม่ได้มีระบบฆ่าเชื้อโรค การใช้คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคนั้นเพิ่งเริ่มขึ้นในยุโรปเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2371 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งรัตนโกสินทร์

 

แม้ในสมัยอยุธยาจะยังไม่มีระบบสาธารณูปโภคที่ทันสมัยเหมือนอย่างปัจจุบัน แต่ข้อดีของเวลานั้นก็คือ สิ่งแวดล้อมยังคงสะอาดกว่าปัจจุบันนี้หลายสิบเท่า คนอยุธยาสามารถดื่มน้ำฝนและน้ำจากลำคลองได้อย่างปลอดภัย แถมน้ำฝนยังมีรสชาติหอมหวานกว่าในปัจจุบันอีกด้วย

 

น้ำสะอาดจะมีความสำคัญมากในคราวที่ห่าลง หากเราศึกษาประวัติศาสตร์มาบ้างละก็ จะทราบดีว่า โรคห่า หรืออหิวาตกโรคนั้นเป็นโรคระบาดร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนไปพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก ห่าลงคราใดเมืองแทบจะทิ้งร้างไปเลยทีเดียว ดังนั้น หากคุณได้ย้อนกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในยุคสมัยนั้นจริงๆ ละก็ ความรู้เรื่องการต้มน้ำให้สะอาดก่อนนำมาบริโภคจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากในการดำเนินชีวิต

 

เล่าพอหอมปากหอมคอแค่สามเรื่องนี้ คุณคงเห็นว่าชีวิตในอดีตไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คนในช่วงเวลานั้นก็ใช้ภูมิปัญญาของเขาแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี การที่คนปัจจุบันจะย้อนกลับไปใช้ชีวิตในอดีตจึงต้องเข้าใจในสภาพความเป็นอยู่และข้อจำกัดที่มีหลากหลาย รวมถึงต้องสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดียิ่ง กว่าออเจ้าจะได้สมรสสมรักกับคุณหลวง จึงต้องใช้สติปัญญาและความสามารถไม่ใช่น้อย

FYI
  • ในแวดวงนักวิชาการมีการสืบค้นกันอยู่ว่า นวนิยายแนว Time Travel เรื่องแรกของไทยคือเรื่องอะไร ยังไม่มีข้อยุติจนถึงวันนี้ แต่ถ้าถามถึงนวนิยายแนว Time Travel ที่โด่งดังที่สุดในบ้านเราเห็นจะไม่พ้น ทวิภพ ของ ทมยันตี หรือ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เรื่องราวของ มณีจันทร์ ที่เดินทางกลับไปในอดีตช่วงเวลา ร.ศ.112 ที่ประเทศไทยกำลังสุ่มเสี่ยงต่อการเสียเอกราชให้กับฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก มณีจันทร์ได้พบรักกับคุณหลวงหนุ่ม และได้เรียนรู้ถึงข้อจำกัดต่างๆ ในอดีต รวมถึงเรียนรู้ว่าเราไม่อาจจะนำความคิดของคนในปัจจุบันไปตัดสินการกระทำของผู้คนในอดีตได้
  • ส่วนนวนิยายแนว Time Travel เรื่องแรกของโลกก็คือ ยานเวลา หรือ The Time Machine นวนิยายวิทยาศาสตร์ของ H. G. Wells ซึ่งเขียนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2438 และสร้างความฮือฮาให้กับผู้อ่านในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างมาก ยานเวลา กลายมาเป็นต้นแบบของนวนิยายแนวท่องกาลเวลาในเวลาต่อมาอีกมากมายหลายเรื่องจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising