×

ก้าวหน้าเปิดแคมเปญ ‘ส.ว. มีไว้ทำไม’ ปิยบุตรเผย ส.ส. ก้าวไกล ถูกอดีตอนาคตใหม่แจ้งหมิ่นย้ายพรรค

โดย THE STANDARD TEAM
04.06.2020
  • LOADING...

วันนี้ (4 มิถุนายน) ที่อาคารรัฐสภา ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกรณีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีมติให้ สุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง มีนบุรี ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 6 วรรคสอง รับรองไว้ชัดเจนว่า ให้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่เป็นสมาชิกรัฐสภา ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ ส.ว. เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ แต่ยังไม่มี ส.ส. และ ส.ว. ในบทเฉพาะกาล มาตรา 263 ก็รับรองให้ สนช. ทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภา ส.ส., ส.ว. ไปก่อน นอกจากนี้อยากให้ไปย้อนดูจุดเริ่มต้นของ สนช. หน่วยธุรการที่เขานำไปใช้ก็คือ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่ประชุมก็เป็นของวุฒิสภา นี่ถือเป็นนัยสำคัญอันหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า สนช. เท่ากับ ส.ส. หรือ ส.ว.

 

ปิยบุตรกล่าวว่า นี่ถือเป็นความผิดเพี้ยนของรัฐธรรมนูญ ด้านหนึ่งต้องรักษาความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ไม่มีส่วนได้เสีย แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น เพราะระบบการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เรียกว่าเป็นระบบผลัดกันเกาหลัง วนกันอยู่เพียงกลุ่มคนเดิมๆ ส.ว. ก็เลือกสุชาติ ซึ่งเคยเป็น สนช. มาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ปัญหาต่อมาก็คือ ไม่รู้ว่าจะให้องค์กรไหนวินิจฉัย และวินิจฉัยแล้วต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน วินิจฉัยแบบใดก็ควรจะรักษาบรรทัดฐาน ไม่ใช่เปลี่ยนไปตามที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ก็มีมาตรฐานไปอีกแบบหนึ่ง เช่น ตัดสิทธิผู้ที่เคยเป็น สนช. จะไม่สามารถดำรงตำแหน่ง กสม. ได้ 

 

ปิยบุตรกล่าวต่อว่า พรุ่งนี้ (5 มิถุนายน) หากจำกันได้ มีการเลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดย 500 เสียง มี 249 เสียงเป็นวุฒิสภา เว้นประธานวุฒิสภาที่งดออกเสียง ซึ่ง ส.ว. เหล่านี้มาจากการเลือกโดย คสช. จึงชัดเจนที่สุดว่า วุฒิสภาชุดนี้ตั้งมาเพื่อการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ถ้าไม่ชัดพอก็ไปดูเอกสารต่างๆ ตอนยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าต้องการมีวุฒิสภาเพื่อประกันการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

ปิยบุตรกล่าวอีกว่า พรุ่งนี้ (5 มิถุนายน) คณะก้าวหน้าจะเปิดแคมเปญ ‘ส.ว. มีไว้ทำไม’ อย่างเป็นทางการ และวันที่ 6 มิถุนายน จะมีการจัดเสวนาออนไลน์โดย New Consensus ซึ่งเชิญตนไปร่วมเสวนา พร้อมกับ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา ปี 2540 จากการเลือกตั้ง และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และ พริษฐ์ วัชรสินธุ มาร่วมเสวนาด้วย เพื่อให้สังคมพิจารณาว่า ส.ว. ที่ทำหน้าที่มาแล้ว 1 ปี เพื่อประกันการสืบทอดอำนาจ สังคมจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป วุฒิสภาแบบนี้ยังมีความจำเป็นต่อประเทศไทยหรือไม่

 

ปิยบุตรยังกล่าวถึงการฟ้องคดีความและการใช้กระบวนการทางกฎหมายว่า ตั้งแต่ยุบพรรคอนาคตใหม่มา ตนเองก็ยังมีคดีความค้างคา ได้แก่ เรื่องดูหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญจากกรณีวิจารณ์การยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) นอกจากนี้ยังได้ทราบข่าวว่า มี ส.ส. บางท่านไปแจ้งความเพิ่มอีกหลายเรื่อง ไม่เคยคิดว่าการมาเป็นนักการเมืองจะถูกฟ้องมากขนาดนี้ กฎหมายหมิ่นประมาทออกมาเพื่อคุ้มครองตัวบุคคล แต่ไม่ได้มีไว้เพื่อกลั่นแกล้งหรือปิดปากคนอื่น โดยเฉพาะกับบุคคลที่เป็นบุคคลสาธารณะซึ่งใช้อำนาจรัฐด้วย ควรจะมีความอดทนอดกลั้น ไม่เช่นนั้นก็ไม่ควรมาเล่นการเมือง เพราะในระบบประชาธิปไตย การแสดงความคิดเห็นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

 

ปิยบุตรยังตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ดัชนีการใช้เสรีภาพในการแสดงออกลดลงเป็นอย่างมาก ปัจจุบันนี้มีคดีความเกิดขึ้นทุกวัน หน่วยงานของรัฐเองก็ใช้มาตรา 116 เกี่ยวกับการยุยงปลุกปั่น ใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ การดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาลบ้าง ในส่วนบุคคลทั่วไปก็เอากฎหมายหมิ่นประมาทมาใช้กัน ฟ้องจนเฝือไปหมด นานวันเข้าการกระทำลักษณะแบบนี้จะกลายเป็นการใช้กฎหมายปิดปากไม่ให้ใครวิพากษ์วิจารณ์ หลังๆ จนถึงขั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายตรวจสอบกัน ยังมีการเอาไปแจ้งความหมิ่นประมาทเลย พูดกันที่สภาฯ แห่งนี้ แต่ไปแจ้งที่จังหวัดพะเยา มิหนำซ้ำยังมีการข่มขู่ว่า จะไปฟ้องที่จังหวัดนราธิวาส เพราะมีบ้านอยู่ที่นั่นด้วย 

 

“นอกจากนี้ยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการโยกย้ายพรรค ผมทราบข่าวมาว่า ส.ส. พรรคก้าวไกลหลายคนถูก ส.ส. ที่เป็นอดีตเพื่อนร่วมพรรคที่ย้ายไปพรรคอื่นแล้ว ก็เที่ยวไปแจ้งความว่าไปหมิ่นประมาทเขา ตกลงว่านักการเมืองจะไม่ทำอะไรอย่างอื่น นอกจากค้าความกัน จะฟ้องกันไปมาอย่างนี้หรือ สุดท้ายผลประโยชน์ของประชาชนอยู่ตรงไหน ผมจึงเห็นว่า เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องสำคัญ” ปิยบุตรกล่าว ทั้งยังระบุอีกว่า

 

 

ตั้งแต่เข้ามาทำงานการเมือง ถูกโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาโดยตลอดไม่น้อยไปกว่าใคร แต่จนถึงวันนี้ ตนไม่เคยฟ้องหมิ่นประมาทใครเลย เพราะตนเชื่อว่า ระบอบประชาธิปไตยต้องถูกตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ได้ และสังคมจะเป็นคนตัดสิน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising