×

‘พิธา’ เข้าสภาอุตสาหกรรมฯ รับฟัง 5 ข้อเสนอเร่งด่วนจากเอกชน ระบุ “บางเรื่องที่ต้องรวดเร็วก็ต้องรวดเร็ว บางเรื่องก็ต้องรอบคอบ”

23.05.2023
  • LOADING...
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกรัฐมนตรี เข้าพบสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมรับฟังข้อเสนอ 5 ข้อเร่งด่วน ค่าแรง ค่าไฟ ค่าครองชีพ ผลักดัน SME และขอให้ปฏิรูปกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าเศรษฐกิจ เอกชนมองการหารือวันนี้ถือเป็นมิติใหม่ในการแลกเปลี่ยน เปิดมุมมองซึ่งกันและกัน ด้านประธาน ส.อ.ท. ชื่นชมทีมทำงาน ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ขณะที่พิธาย้ำนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 450 บาท “บางเรื่องที่ต้องรวดเร็วก็ต้องรวดเร็ว บางเรื่องก็ต้องรอบคอบ” 

 

รายงานข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุ ช่วงเช้าวันนี้ (23 พฤษภาคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเข้าหารือกับภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่า กรณีความกังวลต่อการออกเสียงสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้น ดูท่าทีวันนี้ ‘ยังไม่มีปัญหา’ หากมีการเจรจาอย่างไรจะอัปเดตให้สาธารณชนรับทราบ ขณะเดียวกันหาก ส.ว. มองว่าเป็นเรื่องของระบบมากกว่าเรื่องของบุคคล ก็ต้องประคับประคองเพื่อหาทางออก ส่วน ส.ว. ท่านที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ แกนนำพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมกำลังพยายามเจรจาหารือกันอยู่ 

 

ดังนั้นการเดินทางมาที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็มี ส.ว. หลายท่านที่เคยทำงานในยุครัฐบาลไทยรักไทย หรือสมัย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็เคยทำงานที่นี่ ซึ่งผูกพันกัน อีกทั้ง ส.ว. หลายท่านก็เคยทำงานในหลายกระทรวงเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ เคยเห็นผมมาตั้งแต่อายุ 20 กว่าปี ความชัดเจนจะมากขึ้นแน่นอน ซึ่งตรงนี้เข้าใจว่าคงต้องใช้เวลาในการอธิบายให้นักธุรกิจมั่นใจต่อเสถียรภาพของรัฐบาล จึงเป็นเหตุผลที่มาเข้าพบในวันนี้ พร้อมรับฟัง 5 ข้อเสนอของภาคเอกชน และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. นำเสนอไปก่อนหน้านี้ 

 

โดยเป็นไปตามนโยบายพรรคคือ เน้นบรรเทาทุกข์ เน้นความเท่าเทียม เน้นเรื่องความทันสมัย เป็นธรรม และต้องเป็นการให้เศรษฐกิจเติบโตไปพร้อมกับการลดความเหลื่อมล้ำ 

 

ภาคเอกชนห่วงการขึ้นค่าแรง

 

ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อนักธุรกิจได้รับฟังก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนในการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจโลกซบเซา ส่วนนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 450 บาทนั้น พิธาระบุว่า “บางเรื่องที่ต้องรวดเร็วก็ต้องรวดเร็ว บางเรื่องที่ต้องรอบคอบก็ต้องรอบคอบ”

 

โดยที่ภาคเอกชนเสนอให้ปรับค่าแรงแบบ Pay by Skill นั้น หลักการของพรรคก้าวไกลเองก็มีแนวคิดเช่นเดียวกัน 

 

“สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แรกที่ถือเป็นการเปลี่ยนผ่าน จึงต้องมาคุยกับ ส.อ.ท. และ กกร. เพื่อรับฟังภาคเอกชน ทั้งเรื่องของแรงงาน SME ซึ่งเราจะพิจารณาให้รอบด้านภายในสัปดาห์นี้ และจะนำไปคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยเองก็เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 

 

“แต่ในเรื่องของตัวเลขอัตราค่าจ้างนั้น เข้าใจว่าการขึ้นค่าแรงในลักษณะนี้อาจจะกระชากไปนิดหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะเคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์มาแล้ว แต่ทางคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านกำลังไปศึกษาแพ็กเกจการขึ้นค่าแรงสมัยปี 2556 และจะมาอัปเดตรายละเอียดเรื่องการช่วยเหลือแรงงานและภาคอุตสาหกรรมด้วย พร้อมพิจารณาเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป” พิธากล่าว

 

ส่วนการที่ภาคเอกชนขอให้เร่งจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จก่อนเดือนสิงหาคม พิธากล่าวว่า “เรื่องนี้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และต้องรอ กกต. รับรอง ถ้ารับรองเร็ว กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน”

 

ส.อ.ท. มองเป็นมิติใหม่ที่ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกันและกัน 

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเสนอเร่งด่วน 5 ข้อ ได้แก่ แก้ไขปัญหาแรงงาน แก้ไขปัญหาต้นทุนพลังงาน ส่งเสริม SME ปรับปรุงกฎระเบียบรัฐ และพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน 

 

“ประเทศไทยที่เคยแข็งแกร่งในอดีตวันนี้กลับหายไป เสน่ห์ ขีดความสามารถการแข่งขันลดลงไปเยอะ ผมคิดว่าเราต้องเติมอะไรเข้าไป ซึ่งในอนาคตจะทำงานร่วมกัน โดยเรามี 11 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม และทีมทำงานทุกจังหวัด ทั้งนี้ ก็ขอชื่นชมทีมทำงานที่ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี” เกรียงไกรกล่าว

 

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การพบปะวันนี้เป็นการพบปะเพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่น โดยมีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นค่าแรง ค่าไฟ ค่าน้ำ การช่วยเหลือค่าครองชีพ และผลักดัน SME รวมไปถึงการปฏิรูปกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าเศรษฐกิจ ถือเป็นมิติใหม่ที่พรรคจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาเปิดมุมมองและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน 

 

สำหรับประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ในนามภาคเอกชนมองว่าต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ไม่กลัวว่าจะมีการปรับขึ้น แต่การปรับขึ้นต้องพิจารณาตามความเหมาะสมกับทุกฝ่าย 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X